ในความเล็กกะทัดรัดกลับจัดเต็มด้วยที่เที่ยวมากมาย
ในความเรียบง่ายกลับมากหลายไปด้วยสิ่งน่าสนใจ
ในความเคลื่อนไหวกลับยังคงไว้ซึ่งความสงบและสวยงาม
นี่คือเสน่ห์อันโดดเด่นของจังหวัด“น่าน” เมืองเล็กๆแต่น่ารัก ประเภท “Small is Beautiful” ที่ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้คัดสรรให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” ภายใต้แนวคิด “กระซิบรักเสมอดาว” ซึ่งได้นำเอา 2 ไฮไลท์เลื่องชื่อทางการท่องเที่ยวของเมืองน่านมาผสานกันได้อย่างน่าสนใจยิ่ง นั่นคือ ภาพกระซิบรัก ที่วัดภูมินทร์ และดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
นอกจากนี้น่านยังได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเก่าที่มีชีวิต” ที่แม้พลวัตรของโลกจะขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว แต่บรรยากาศส่วนใหญ่ในเมืองน่าน กลับยังคงไว้ด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันสงบงามเสมือนดังหยุดเวลาไว้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้ “ตะลอนเที่ยว”เลือกขึ้นเหนือไปแอ่วน่านอีกครั้ง เพื่อสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชุมชนควบคู่ไปกับธรรมชาติแสนงามของเมืองเก่าที่มีชีวิตแห่งนี้
-อ.เมือง : ผู้เฒ่าใจดีที่วัดพระเกิด
มนต์เมืองน่านมีเสน่ห์สำคัญทางการท่องเที่ยวอยู่ ณ บริเวณ“ข่วงเมือง” ที่อวลไปด้วยเสน่ห์ของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม อันได้แก่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” ซึ่งมีงาช้างดำของโบราณเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองน่าน และอุโมงค์ต้นลีลาวดี จุดถ่ายรูปสุดโรแมนติก, “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” โดยมีสถาปัตยกรรมภายในวัดซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัย และ “วัดภูมินทร์” ที่โดดเด่นไปด้วยจิตรกรรมฝาผนัง“ปู่ม่าน-ย่าม่าน” หรือ “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” อันสุดคลาสสิก
นอกจากนี้ในเมืองน่านก็ยังมีวัดน่าสนใจอีกหลากหลาย ซึ่งแต่ละวัดล้วนต่างยังคงไว้ซึ่งความผูกพันกับชาวบ้านและวิถีชุมชนอย่างเหนียวแน่น ภาพของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยพาลูกหลานมาทำบุญ ไหว้พระ ฟังเทศน์ฟังธรรม หรือมาทำกิจกรรมงานบุญต่างๆที่วัดยังคงมีให้เห็นกันชินตาในเมืองน่าน
สำหรับหนึ่งในจุดที่โดดเด่นมากในเรื่องความผูกพันระหว่างวัดกับชุมชนก็คือ “วัดพระเกิด” (ต.ในเวียง) ซึ่งด้วยวิสัยทัศน์ของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยแห่งชุมชนวัดพระเกิดที่เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พวกท่านจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง“พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด”ขึ้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้คู่ชุมชนและคนภายนอกที่สนใจ โดยนอกจากจะจัดแสดงศิลปวัตถุและข้าวของเครื่องใช้โบราณรวมทั้งหีบพระธรรมโบราณลงรักปิดทองจำนวนหลายใบอันน่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตจากปากคำการบอกเล่าให้ข้อมูลของผู้รู้และพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยผู้ใจดี
นอกจากนี้ที่วัดพระเกิดยังเปิดให้ผู้สนใจได้ร่วมกิจกรรมทำ “ตุงก้าคิง” ตามความเชื่อแบบล้านนากับตุงลักษณะพิเศษ ที่จำลองรูปแบบของคนมา มีปีนักษัตร มีหน้า ตา คิ้ว จมูกปาก และมีความสูงเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง ใช้เพื่อสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา
โดยเหล่าพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยจะมาคอยช่วยแนะนำการทำตุงก้าคิงอย่างเปี่ยมมิตรไมตรี เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม ดูอบอุ่นสุขใจ คล้ายกำลังสอนลูกสอนหลาน หรือให้คำแนะนำกับญาติสนิทมิตรสหาย(หากเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน) ซึ่งก็ยังความประทับใจให้กับผู้มาเยือนเป็นยิ่งนัก
จากวัดพระเกิดห่างไปอีกไม่ไกลชนิดสามารถเดินไปได้ เป็นที่ตั้งของ “โฮงเจ้าฟองคำ” เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี!!! บนเรือน แบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ ส่วนด้านล่างบริเวณใต้ถุน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการทอผ้า การสาธิตปั่นฝ้าย รวมถึงมีผ้าทอสวยๆงามๆจำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้าน
นอกจากชุมชนบ้านพระเกิดแล้ว ในตัวเมืองน่านยังมีชุมชนน่าสนใจให้เที่ยวชมอย่าง “ชุมชนบ้านดอนศรีเสริม” ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวแต๋นสำคัญ “ชุมชนบ้านสวนตาล” ที่ขึ้นชื่อด้านการเผาข้าวหลาม โดยมีศูนย์กลางอยู่ ณ “วัดสวนตาล” ที่ภายในโบสถ์ประดิษฐาน “พระเจ้าทองทิพย์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน
สำหรับผู้ที่อยากสัมผัสกับวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด การขี่จักรยานแอ่วเมืองน่านเป็นวิธีเหมาะสมที่สุด ส่วนถ้าใครมีเวลาน้อย “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำให้นั่งรถรางชมเมือง ซึ่งก็จะได้รู้จักกับมนต์เสน่ห์เมืองน่านในฉบับย่อ ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงแต่ว่าได้อรรถรสและอิ่มเอมในอารมณ์ดีแท้
-อ.เมือง : วิถีเมี่ยง บ้านศรีนาป่าน
อีกหนึ่งชุมชนน่าสนใจในอำเภอเมือง ไปสัมผัสกับชุมชนทำเมี่ยงหรือชาที่ “บ้านศรีนาป่าน”(บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน)(ต.เรือง) ซึ่งชาวบ้านที่นี่มีการปลูกเมี่ยงหรือชา(ตระกูลอัสสัม)แซมในผืนป่ามาเป็นร้อยปี และได้สืบสานภูมิปัญญาการทำเมี่ยงมาช้านาน ทั้งการทำ “เมี่ยงหมัก” หรือ “เมี่ยงอม” กับการทำ“ชาเมี่ยง”(ชาชง) ที่ทางชุมชนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีแบรนด์ของตัวเองในนาม “ที พนา”(Tea Phanaa) กับชาออร์แกนิก ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ชงออกมาให้รสกลมกล่อมหอมละมุน
และด้วยความโดดเด่นด้านวิถีการทำเมี่ยง ทางบ้านศรีนาป่านจึงจัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศขึ้น ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีคนกับป่า ศึกษาสมุนไพร วิถีการทำเมี่ยง ลิ้มรสอาหารที่ทำจากเมี่ยง นอกจากนี้หากวันไหนโชคดี อาจจะได้พบกับเต่าปูลูตัวเป็นๆออกมาหากินให้ได้ตื่นเต้นกับเจ้าเต่าหางยาวรูปลักษณ์คล้ายสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย
จากบ้านศรีนาป่านไปอีกไม่ไกลจะเป็น“แหล่งเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก”(บ้านบ่อสวก ต.บ่อสวก) ที่มีรอยอดีตของแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่สำคัญของเมืองน่าน ในชุมชนมีเตาเผาโบราณสำคัญอยู่ที่บ้าน จ.ส.ต.มนัส ติคำ ที่ค้นพบเตาโดยบังเอิญ ก่อนจะอนุรักษ์ปรับแต่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ “โบราณคดีชุมชน” อันสำคัญ ซึ่งที่นี่มีเตาเผาโบราณที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในล้านนาให้ชมกัน
สำหรับใครที่มาเยือนที่นี่ หากโชคดีได้เจอ จ.ส.ต.มนัส นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยัง“ม่วนเหลือหลาย” อีกด้วย
น่านตอนบน
-อ.ท่าวังผา : ยลถิ่นไทยลื้อ ชมภาพเขียนงาม
จากตัวเมือง เราออกนอกเมืองไปสัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชน เที่ยวยลธรรมชาติกันในเส้นทางน่านตอนบน(น่านเหนือ)กันบ้าง โดยเริ่มต้นจาก อ.ท่าวังผา ที่โดดเด่นไปด้วย 2 หมู่บ้านชาวไทลื้อสำคัญ คือ“บ้านดอนมูล”และ“บ้านหนองบัว”
บ้านดอนมูล(ต.ศรีภูมิ) เป็นชุมชนไทลื้อที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำน่าน มี“เจ้าหลวงเมืองล้า”เป็นที่เคารพบูชาของชาวบานมีการสร้างอนุสาวรีย์ไว้ริมน้ำใต้ต้นไม้ใหญ่ในบรรยากาศอันร่มรื่น มีวัดดอนมูลเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน
ชาวชุมชนบ้านดอนมูลดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ก็คงไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการแต่งกาย อาหารการกิน ภาษา ประเพณีก๋ำเมือง (การบวงสรวงเทวดาเมืองล้า(จากแคว้นสิบสองปันนา จีน ที่พวกเขาอพยพมาอยู่ที่นี่)และเทวดาบริวาร) โดยจะจัดทำ 3 ปี ต่อครั้งเท่านั้น
ส่วนบ้านหนองบัวเป็นอีกชุมชนชาวไทลื้อเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อในด้านฝีมือการทอผ้า โดยเฉพาะผ้าทอ“ลายน้ำไหล” อันเป็นลายเอกลักษณ์ของเมืองน่านนั้น แม่หญิงที่บ้านหนองบัวทอได้สวยงามและเก่งนัก
ขณะที่ภูมิปัญญาด้านการผลิตไก(สาหร่ายน้ำจืด)ของที่นี่ก็โดดเด่นถึงขนาดมีโรงผลิตไกในชุมชนของตัวเอง ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคมจะพบเห็นสาหร่ายไกขึ้นเต็มลำน้ำน่าน ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นแม่อุ๊ยที่นี่มานั่งยีไก ตากไก ทำไก และสับไก กันที่บ้านหนองบัว
ชาวชุมชนบ้านหนองบัวมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “วัดหนองบัว”ที่ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของเมืองน่าน ที่วิหารของวัดนอกจากจะมีรูปทรงที่สมส่วนสวยงามแล้ว ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสุดคลาสสิก ฝีมือ“หนานบัวผัน”(ทิดบัวผัน) กับงานชิ้นเอกภาพเรื่องราว “คันธชาดก” ที่มุ่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว อันเป็นนิทานธรรมเก่าแก่ปรากฏที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว
ส่วนที่เป็นเสน่ห์ของวัดและชุมชนแห่งนี้ก็คือวิถีชาวไทลื้อ ที่ปรากฏผ่านบ้านเรือนไทลื้อหลังวิหาร และผ่านการละเล่นดนตรีของเหล่าคุณลุงที่มานั่งเล่นดนตรีพื้นกันอย่างสุดชิลล์ที่หน้าวิหาร
-อ.ปัว : ดินแดนโรแมนติก
“ตะลอนเที่ยว” เดินทางขึ้นเหนือต่อไปยัง อ.ปัว ดินแดนโรแมนติกท่ามกลางแวดล้อมแห่งขุนเขา ในช่วงฤดูทำนาที่นี่จะงดงามไปด้วยทุ่งนาเขียวขจีไปจนถึงเหลืองทองอร่าม(ตามช่วงเดือน) อีกทั้งยังมีทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามให้ได้สัมผัสในมนต์เสน่ห์กัน
ในเมืองปัว มีวัดน่าสนใจให้เที่ยวชมกันมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “วัดพระธาตุเบ็งสกัด” กับพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง, “วัดต้นแหลง” ที่โดดเด่นไปด้วยวิหารไทลื้อโบราณ, “วัดปรางค์” กับอันซีนไทยแลนด์“ต้นดิกเดียม” ต้นไม้บ้าจี้ที่จะสั่นไหวเมื่อคนไปสัมผัสถูกลำต้นมัน และ “วัดภูเก็ต” กับวิวทิวทัศน์อันสวยงามและภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยใหม่สุดเก๋ มีสไปเดอร์แมนและตัวการ์ตูนวอลต์ ดิสนีย์ที่มากันเพียบ
นอกจากนี้ก็ยังมี“บ้านร้องแง”(ต.วรนคร) หมู่บ้านไทลื้อที่มี “วัดร้องแง”เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ภายในวัดมีไฮไลท์อยู่ที่วิหารหลังกะทัดรัดสมส่วน
ในวิหารนอกจากจะมีบรรยากาศอันขรึมขลังเปี่ยมศรัทธาจากองค์พระประธานและข้าวของเก่าแก่โดยเฉพาะกับธรรมมาสน์และสัตตภัณฑ์(ที่วางเทียน)โบราณอันประณีตสวยงามแล้ว ยังมีตุงแขวนห้อยอยู่ทั่วไปสื่อให้เห็นถึงวิถีความเชื่อของคนที่นี่ว่า นิยมทำตุงแล้วนำตุงมาถวายวัดเนื่องในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สืบชะตา ต่อชะตา ทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ตายไปซึ่งเชื่อว่าจะได้ขึ้นสวรรค์
สำหรับผู้ที่มาเที่ยวเมืองปัว หากมีเวลาน่าจะหาโอกาสขึ้นไปเที่ยวที่ “อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” สัมผัสกับธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็น ชมวิวทิวทัศน์และพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว, ชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกยามเย็นที่ “ลานดูดาว” ซึ่งช่วงนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งที่นี่กำลังออกดอกสีชมพูสดใสสะพรั่ง, ชมพืชพรรณไม้เด่นๆเฉพาะถิ่น อย่าง “ก่วมภูคา” ไม้ตระกูลเมปิ้ล “เสี้ยวดอกขาว” ดอกไม้ประจำเมืองน่าน “ต้นเต่าร้างยักษ์” ไม้ดึกดำบรรพ์
และที่เป็นไฮไลท์ก็คือ การทัศนา“ดอกชมพูภูคา” ดอกไม้หายากที่ปัจจุบันมีรายงานว่าพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ
-อ.บ่อเกลือ : บ่อเกลือภูเขาหนึ่งเดียวในโลก
เมื่อมาถึงปัวแล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะไปต่อยัง อ.บ่อเกลือ เพื่อสัมผัสกับความน่าทึ่งของ “บ่อเกลือภูเขาหนึ่งเดียวในโลก” อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ที่วันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือโบราณเอาไว้ โดยเฉพาะที่ “บ้านบ่อหลวง” ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ การทำเกลือ และจุดช้อปเกลือภูเขาที่ผลิตจากแหล่งกันแบบสดใหม่
เกลือที่บ้านบ่อเกลือเป็นเกลือสินเธาว์ไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล ก่อนนำมาใช้หรือนำออกขายชาวบ้านจะต้องเดิมไอโอดีนก่อน ซึ่งนอกจากกระบวนการทำเกลือแบบโบราณที่เราจะได้สัมผัสจากชาวบ้านที่นี่แล้ว เรายังจะได้เห็นประเพณีความเชื่อ ข้อปฏิบัติต่างๆเกี่ยวกับการทำเกลือ ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกลือที่นี่ยังดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ใน อ.บ่อเกลือยังมีแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา”(ต.ภูฟ้า) แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่เป็นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ภายในศูนย์มีสิ่งที่ให้เที่ยวชมและศึกษาหาความรู้มากมาย อาทิ มีห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เส้นทางการศึกษาธรรมชาติ ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า รวมถึงร้านค้าสวัสดิการที่นำสินค้าของทางการโครงที่เป็นฝีมือชาวบ้านนำมาจัดจำหน่ายให้เลือกซื้อกันมากมาย และมีพระตำหนักภูฟ้าที่สวยงามซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯ ขณะเสด็จมาทรงงานที่ศูนย์ภูฟ้าฯ
-อ.เฉลิมพระเกียรติ : ทัศนียภาพงดงามใต้พระบารมี
จากบ่อเกลือเมื่อมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ก็จะได้พบกับ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก - สะเกี้ยง” (บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ต.ขุนน่าน) ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอย แต่ด้วยพระบารมีจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงขึ้น วันนี้บ้านสะจุก - สะเกี้ยง ได้พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับอวลไปด้วยทัศนียภาพอันสวยงามของขุนเขาสายหมอก และทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามกว้างไกล(ในช่วงฤดูทำนา)
ภายในพื้นที่บ้านสะจุก – สะเกี้ยง มีแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการทำเกษตรอย่างยั่งยืนและพอเพียงอยู่มากหลายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การทำนาขั้นบันได การปลูกพืชผักเมืองหนาว อย่าง สตรอเบอร์รี่ หม่อน ผักปลอดสารพิษ การทำประมง การเลี้ยงสัตว์ ที่มี 2 สัตว์ดาวเด่นอย่างแพะและแกะที่ถือเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้บ้านสะจุก – สะเกี้ยงถือเป็นอีกหนึ่งแดนงามแห่งเมืองน่านที่พร้อมให้ผู้สนใจได้ไปท่องเที่ยวเรียนรู้ สัมผัสวิถีคนอยู่คู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน อยู่กับธรรมชาติอย่างพึ่งพิง และการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งสามารถนำสิ่งเหล่านี้กลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้
น่านตอนล่าง
-อ.ภูเพียง : ประทับใจบ้านหาดผาขน ชุมชนริมน้ำน่าน
มาแอ่วน่านนอกจากต้องไม่พลาดการไปวัดภูมินทร์แล้ว อีกวัดหนึ่งที่ห้ามพลาดก็คือ “วัดพระธาตุแช่แห้ง”(ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง) วัดคู่บ้านคู่เมืองน่าน มีองค์พระธาตุแช่แห้งสีทองอร่ามตั้งตระหง่าน เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย) ซึ่งในพักหลังมานี่ วัดพระธาตุแช่แห้งยังมีคนนิยมมาทำพิธีสืบชะตากันเป็นจำนวนมาก เนื่องในหลายๆโอกาส ไม่ว่าจะเป็น สะเดาะเคราะห์ เสริมดวง ให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น
นั่นจึงทำให้ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาทางวัดพระธาตุแช่แห้งได้จัดงานบุญสืบชะตาครั้งใหญ่ พร้อมมีการจัดทำเครื่องสืบชะตาหลวงที่สูงที่สุดในโลกกับความสูงตัวเลขมงคล 11.99 เมตรกันเลยทีเดียว
ใน อ.ภูเพียง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญอยู่ที่ “บ้านหาดผาขน”(ชุมชนอนุรักษ์ร้อยปี) (ต.เมืองจัง) ที่ชาวบ้านยังคงดำรงวิถีอย่างเรียบง่าย พอเพียง เปี่ยมอัธยาศัยไมตรี โดยชาวบ้านที่นี่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ผืนป่าใหญ่ของชุมชนไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ป่าชุมชนที่นี่ เป็นดังปอด แหล่งอาหาร แหล่งผลิตโอโซน และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งของเด็กๆในชุมชนและผู้สนใจต่างถิ่น
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบ้านหาดผาขนก็คือความเป็นชุมชนริมแม่น้ำน่าน ที่ภายในชุมชนได้จัดให้มีกิจกรรม“ล่องแพ”(ไม้ไผ่)แบบสบายๆ ไปตามสายน้ำ นั่งกินอาหารชมวิวทิวทัศน์ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ “ไก”(สาหร่ายน้ำจืดในน้ำไหล) กำลังออกเยอะในลำน้ำน่าน เราจึงได้เห็นชาวบ้านลงเก็บไก ตากไก และดำเนินกรรมวิธีผลิตไกส่งขายกันอยู่จำนวนหนึ่ง
ในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” มีโอกาสได้มาแอ่วบ้านหาดผาขนแล้วนอนโฮมสเตย์ที่บ้าน“ป้าหอม-หอม รุณอันตา” หนึ่งในโฮมสเตย์ขวัญใจนักท่องเที่ยว (ทั้งชาวไทยและต่างชาติ) ซึ่งยังความประทับใจให้กับเราเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่มีโอกาสจะต้องกลับไปเยือนที่บ้านหาดผาขนอีกครั้งหรือหลายๆครั้งเป็นแน่แท้
-อ.เวียงสา : ใส่บาตรเทียนหนึ่งเดียว
หลังเปิดประตูสู่การท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ อ.เวียงสา ก็มีผู้คนมาเยือนไม่ได้ขาด ศูนย์กลางอำเภอแห่งนี้แม้เป็นชุมชนไม่ใหญ่โต แต่ว่าก็โดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ผู้ไปเยือนต่างประทับใจไปตามๆกัน โดย อ.เวียงสา ที่เป็นประตูสู่น่านมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “วัดบุญยืน” วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอายุกว่า 200 ปี ที่ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก” ดูสวยงามเป็นสง่าสุดคลาสสิก
ทุกๆปี ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 หรือเดือน 10 เหนือ (หรือคิดง่ายๆว่าหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน) ที่วัดบุญยืนจะมีการจัดงานประเพณี“ใส่บาตรเทียน” อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียว
ภายในงานเราจะได้เห็นชาวเวียงสาตั้งแต่ผู้พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ชาย-หญิง รุ่นกลางคน วัยรุ่นหนุ่ม-สาว มาจนถึงละอ่อน เด็กน้อย มารวมตัวกัน ทำบุญไม่เหมือนที่ไหนๆด้วยการนำเทียนมาใส่บาตร ควบคู่ไปกับการจัดงานประเพณีอย่างเรียบง่ายแต่ว่าชวนประทับใจยิ่งนัก
ใน อ.เวียงสา ยังมีอาคารสำคัญตั้งอยู่ตรงข้ามวัดบุญยืนนั่นก็คือ “อาคารประวัติศาสตร์” กับรูปทรงสวยงามคลาสสิกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ว่าการอำเภอสา(ชื่อเดิม) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จมาประทับ และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ มุขหน้าชั้น 2 ในวันที่ 16 มี.ค. 2501 ยังความปลาบปลื้มปีติแก่ชาวเวียงสานับจากยุคนั้นมาถึงยุคนี้
ด้านคนรักจักรยานหรือผู้นิยมของเก่าเมื่อมาเวียงสาอย่าลืมแวะไปที่ “เฮือนรถถีบ” ของ “ลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์” ที่ตั้งอยู่ภายในปั๊มกลางเวียง
เฮือนรถถีบเป็นแหล่งรวมรถจักรยานเก่าแก่ หายาก จำนวนมาก หลายคันมีหนึ่งเดียวในเมืองไทย และบางคันมีไม่กี่คันในโลก
ใครที่มาที่นี่นอกจากจะได้ชมจักรยานเก่าแก่อันสุดคลาสสิกแล้ว หากได้มีโอกาสพูดคุยกับลุงสุพจน์ก็จะปลื้มไปกับแนวคิดของผู้ที่ทำอะไรด้วยใจรัก ซึ่งนี่ถือเป็นกำลังใจชั้นดีในการทำอะไรด้วยใจรักแล้วความสุขใจก็จะตามมา
-อ.นาน้อย : รักเธอเสมอดาว
เมื่อล่องน่านใต้มาถึง อ.นาน้อย “ตะลอนเที่ยว” ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการเที่ยวยลวิถีชุมชน มาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของธรรมชาติแสนงาม กันที่ “ดอยเสมอดาว” แห่งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ดอยเสมอดาวเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์แห่งเมืองน่าน ที่นี่ในยามเย็นจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี ส่วนในยามราตรีเป็นจุดชมดาวแสนงามท่ามกลางบรรยากาศการนอนเต็นท์พักค้างแรมแบบอาบลมห่มฟ้า โดยเฉพาะในคืนเดือนมืดราตรีบนดอยเสมอดาวจะสวยงามน่ายลไปด้วย“ทะเลดาว” อันดารดาษระยิบระยับ
ที่สำคัญคือในยามเช้าตรู่ในวันที่ฟ้าเป็นใจที่นี่จะงดงามไปด้วยท้องทะเลหมอกหนาแน่น ลอยเป็นปุยฟูฟ่องดูนุ่มนวลชวนแหวกว่ายอยู่ในแนวร่องเขาที่ทอดยาวตระหง่านในเบื้องหน้า ยิ่งยามที่แสงตะวันสาดส่องโผล่ลอดทะเลแนวม่านเมฆเป็นเส้นลำ ยิ่งทำให้ทะเลหมอกดอยเสมอดาวดูงดงามราวภาพฝัน
จนใครหลายๆคนอยากจะ“กระซิบรักเสมอดาว” บอกถึงความประทับใจในธรรมชาติแสนงามนาม“ดอยเสมอดาว”แห่งนี้
............
และนี่ก็คือบางส่วนของการแอ่วเมืองน่านผ่านมนต์เสน่ห์แห่งธรรมชาติและวิถีชุมชน ซึ่งในวิถีอันเรียบง่าย สงบงามของชุมชนหลายๆแห่ง ได้สอนให้เราเรียนรู้ว่า
ความ“พอดี” มันทำให้เรา“มี”โดยไม่รู้ตัว
ความ“พอเพียง” มันทำให้เรา“สุข”โดยไม่รู้ตัว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
คลิกอ่าน “ข้าวเกรียบปากหม้อ จ.น่าน” อร่อยนุ่มปาก มีให้กินเฉพาะหน้าหนาว
คลิกอ่านสถานที่เที่ยว ที่พัก และที่กินเก๋ๆ ในเมืองน่านได้ที่นี่ >>> เที่ยวชิลๆ ชีวิตช้าๆ กิน-พักแบบชิคๆ ที่ “น่าน” เมืองน่ารักที่ต้องห้าม...พลาด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางใน จ.น่าน เพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร.0-5452-1127 อีเมล tatphrae@tat.or.th เว็บไซต์ http://www.tourismthailand.org/phrae
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com