xs
xsm
sm
md
lg

สุดฟินถิ่นล้านนา...แอ่ว“น่าน-แพร่”งามแท้วิถีไทย ประทับใจเมืองเก่าทรงเสน่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระประธานจตุรทิศ วัดภูมินทร์
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ท้องทะเล แหล่งท่องเที่ยวแบบ Man Made หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชน แต่ละแบบนั้นล้วนมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองทั้งสิ้น

แต่สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” ขอเลือกออกไปท่องเที่ยวและสัมผัสเสน่ห์ของชุมชนต่างๆ ตามโครงการ “Lady Journey” ที่จัดขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ บัตรเครดิตยูโอบีเลดี้ ภายใต้แนวคิด “A Touch of Thainess เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” ซึ่งเน้นการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวชุมชนใหม่ๆ ในเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย

ซึ่งในทริปนี้ขอเลือกเส้นทาง “วิถีไทย-ศิลปหัตถกรรมไทย” กับชุมชนอันมีเอกลักษณ์ด้านศิลปหัตถกรรมในจังหวัดน่านและแพร่ เมืองสวยที่มีประวัติความเป็นมาช้านาน รุ่มรวยด้วยศิลปะอันงดงามและวิจิตรบรรจงแห่งดินแดนล้านนาตะวันออก
โมนาลิซ่าเมืองน่าน
จุดเริ่มต้นของเรานั้นอยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องมาเยือนสัญลักษณ์สำคัญของเมืองน่านกันเสียก่อน นั่นคือ “วัดภูมินทร์” เป็นที่ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว
นั่งรถรางชมเมือง
ในพระอุโบสถ ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่อยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก อันมีชื่อเสียงโด่งดัง ใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และอีกหนึ่งภาพจิตรกรรมที่ไม่ควรพลาดชมคือภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” หรือสาวงามแห่งเมืองน่านที่อยู่ใกล้กับประตูทางด้านทิศตะวันออก หญิงงามนางนี้มีชื่อว่านางสีไว อยู่ในอิริยาบถที่กำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้สีสวย ที่ใบหูใส่ม้วนทอง เปลือยอกไม่ใส่เสื้อ มีเพียงผ้าคล้องคอไพล่ชายไปด้านหลัง นับว่าเป็นความงามตามสมัยนิยมในยุคก่อนเลยทีเดียว
ปูนปั้นพญานาคหลายเศียร วัดศรีพันต้น
สำหรับใครที่อยากเที่ยวในตัวเมืองน่านให้รอบๆ โดยไม่ต้องเหนื่อย ทางเทศบาลเมืองน่าน ก็มีการจัดรถรางไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการชมเมือง ซึ่งเส้นทางนั้นก็จะลัดเลาะไปตามถนนเส้นต่างๆ ชมวิถีชีวิตของคนน่าน วัดวาอารามที่งดงาม และยังมีการจอดแวะในจุดน่าสนใจหลายๆ แห่ง

อย่างจุดแรกที่รถรางวิ่งผ่านไปนั้นคือ “วัดศรีพันต้น” วัดแห่งนี้สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา ภายในวัดเป็นที่ตั้งของพระวิหารสีทองอร่ามถูกตกแต่งด้วยจิตรกรรมอันงดงาม โดยเฉพาะจิตรกรรมปูนปั้นพญานาคเจ็ดเศียรบริเวณบันไดหน้าวิหารที่งดงามอย่างมาก ซึ่งเป็นผีมือของนายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ "สล่ารง" ช่างชาวน่าน อีกทั้งภายในพระวิหารยังมีการเขียนภาพลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามที่วาดเป็นประวัติของพระพุทธเจ้า และประวัติการกำเนิดเมืองน่านให้ได้ชมอีกด้วย
พระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล
จุดต่อไป รถรางแวะให้ลงไปไหว้พระขอพรกันที่ “วัดสวนตาล” วัดเก่าแก่ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ปางมารวิชัย ที่คาดว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ และยังเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างสำเร็จได้ด้วยอำนาจแห่งเทพยดา หากได้มาสักการะแล้วก็จะช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต
พระพุทธรูปเก่าแก่ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด
ถัดจากวัดสวนตาล ก็ย้ายมาที่ “วัดพระเกิด” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด” แหล่งรวบรวมของดีและของเก่าแก่อันมีคุณค่าของชุมชนบ้านพระเกิด ไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา หีบเก็บพระธรรมโบราณลงรักปิดทอง ข้าวของเครื่องใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมถึงพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก
ลงมือทำตุงค่าคิงด้วยตัวเอง
เดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์ เราก็มุ่งตรงไปยังพระอุโบสถของวัดพระเกิด มาไหว้พระประธานให้เย็นใจกันก่อน ก่อนจะมาชม “ตุงค่าคิง” (อ่านว่า ตุงก้าคิง) ซึ่งเป็นตุงตามความเชื่อแบบล้านนา ลักษณะตุงจะเป็นธงกระดาษสาที่มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง มีการจำลองหน้า ตา คิ้ว จมูก ปาก และมีปีนักษัตรของผู้ทำตุง และถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวคนทีใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวงตามความเชื่อล้านนา เชื่อกันว่าจะช่วยเสริมบารมี สะเดาเคราะห์ รับโชค และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ถวาย โดยเราสามารถร่วมทำตุงของตัวเองได้ และตุงเหล่านี้ก็จะถูกแขวนไว้ภายในพระอุโบสถ ยามใดที่มีการสวดมนต์หรือทำพิธีทางศาสนาก็เหมือนกับเราได้รับพรไปด้วยตลอดเวลา
จุดชมวิว วัดพระธาตุเขาน้อย
ไม่ไกลจากตัวเมืองน่านมากนัก ยังมีวัดอีกแห่งหนึ่งที่เป็นที่กล่าวถึงกันในด้านการเป็นจุดชมวิวเมืองน่านที่งดงามไม่แพ้จุดไหน นั่นคือ “วัดพระธาตุเขาน้อย” ที่สร้างขึ้นมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ซึ่งด้านในนั้นบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และนอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวสวยๆ ของเมืองน่าน ที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ทำให้ภาพเมืองน่านและด้านหลังของพระพุทธรูปองค์นี้กลายเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแสงสวยๆ ยามเช้าตรู่หรือยามค่ำ หรือแม้แต่ในยามกลางวันที่สามารถเห็นเมืองน่านได้อย่างเต็มตา
ผ้าพระบฏ ภายในโฮงเจ้าฟองคำ
ในตัวเมืองน่านนั้น นอกจากจะมีวัดสวยๆ ให้ชมกันแล้ว ก็ยังมีบ้านเรือนโบราณให้ได้รำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งวันวานได้ด้วย อย่างที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันแบบฟรีๆ เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือน ถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ รวมถึง “ผ้าพระบฏ” ผืนงาม ที่ยังคงสวยงามและสมบูรณ์แบบแม้ว่าจะผ่านเวลามาเนิ่นนาน ส่วนบริเวณด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้ายให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้อีกด้วย
พระธาตุแช่แห้ง
และเมื่อมาถึงเมืองน่านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดก็คือ การไปสักการะ “พระธาตุแช่แห้ง” ที่ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” โดยเฉพาะคนที่เกิดในปีเถาะ เพราะพระธาตุองค์นี้ถือว่าเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ (กระต่าย) ภายในประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้าย บรรจุรวมกับพระเกศา ด้านข้างขององค์พระธาตุเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
พระพุทธไสยาสน์ ภายในพระวิหาร
หากใครที่สักการะพระธาตุแช่แห้งแล้ว ก็อย่าลืมเดินมาที่ “วิหารพระพุทธไสยาสน์” ด้านในมีพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) องค์ใหญ่เป็นพระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ยาว 14 เมตร สูง 2 เมตร
ลงมือทำผ้ามัดย้อมหม้อห้อม
จากจังหวัดน่าน เราเดินทางกันต่อมาที่จังหวัดแพร่ ระหว่างทางก็ชื่นชมความสวยงามตามรายทาง สบายตากับความเขียวขจีของป่าไม้ริมถนน แล้วก็มาถึง “บ้านทุ่งโฮ้ง” ที่อยู่ใน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งที่นี่ได้สืบทอดภูมิปัญญาการย้อมผ้าหม้อห้อมของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงแขวง ประเทศลาว
ผลงานสวยๆ จากหม้อห้อม
ที่บ้านทุ่งโฮ้งแห่งนี้ นอกจากจะมีผ้าย้อมหม้อห้อมสวยๆ ให้เลือกซื้อหากันแล้ว เรายังได้ลงมือย้อมผ้ากันเอง ไม่ว่าจะเป็นการย้อมด้วยเทคนิคมัดย้อมแบบง่ายๆ ที่มีลายให้เลือกหลากหลายลาย หรือจะสร้างสรรค์ลวดลายตามจินตนาการของตนเองก็ได้ หรือจะเลือกย้อมหม้อห้อมด้วยเทคนิคพิมพ์ลาย-เขียนลายบาติก ก็ออกมาสวยไม่แพ้กัน
บ้านวงศ์บุรี
หลังจากได้ลงมือทำผ้าย้อมหม้อห้อมของตัวเองแล้ว เราก็ย้ายกันมาที่ในตัวเมืองแพร่ มาชมความงามของบ้านโบราณ “บ้านวงศ์บุรี” บ้านสีชมพูหลังงามแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยาสองชั้น ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นตามาจากละครเรื่องรอยไหม เพราะที่นี่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยใช้เป็นเรือนของเจ้านางมณีริน
จำลองข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน
บ้านวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ถ้ามองมาที่บ้านหลังนี้จะมองเห็นจุดเด่นที่ตัวบ้านเป็นสีชมพู และลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ต่อมาได้มีการซ่อมแซมแต่ลวดลายแกะสลักยังคงเป็นของเดิม ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส ซึ่งปัจจุบันก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามกันได้ทุกวัน
ฟังเพลงเพราะๆ ที่กาดกองเก่า
ส่วนที่ใกล้ๆ กับบ้านวงศ์บุรีนั้น ในช่วงเย็นวันเสาร์ ประมาณบ่ายสามโมงไปจนถึงสองทุ่ม จะปิดถนนจัดเป็นตลาดให้เดินช้อปกันอย่างชิลล์ๆ เริ่มจาก “กาดกองเก่า” เดินเรื่อยๆ ตรงไปยัง “กาดพระนอน” ที่อยู่ติดกัน เป็นตลาดที่มีของขายทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ไม้สอยแบบชาวบ้าน รวมถึงอาหารการกินแบบชาวเหนือ ที่เดินไปชิมไปซื้อไปจนอิ่มหนำ หรือจะเดินเล่นไปเรื่อยๆ ชมบ้านเรือนบางหลังที่ยังเป็นบ้านไม้แบบเก่า แต่จัดตกแต่งให้ดูมีเอกลักษณ์น่านั่งเล่นเพลินๆ
ร้านเก๋ๆ ที่กาดพระนอน
ใครที่ชอบของเก่า ก็คงชื่นชอบบ้านเก่าสวยๆ อย่างบ้านวงศ์บุรี แต่ถ้าชอบผ้าเก่าที่ลวดลายสวยงาม ก็ต้องมาที่ “พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ” ใน อ.ลอง จ.แพร่ ที่นี่เป็นสถานที่รวบรวมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลอง และผ้าโบราณของชุมชนต่างๆ ซึ่งริเริ่มโดยนายโกมล พานิชพันธ์

เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกที่เห็นก็คืองานจิตรกรรมเวียงต้า ซึ่งเป็นงานศิลปะพื้นบ้านล้านนา เป็นความงามตามแบบของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน เขียนอยู่บนแผ่นกระดาษไม้สัก เดินถัดเข้าไปด้านในจะจัดแสดงผ้าโบราณเมืองลอง เป็นผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง และยังมีผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งอื่นๆ ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าไม่แพ้กันเลย

ใครที่ชอบดูผ้าโบราณสวยๆ ถ้ามาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะมีให้ชมมากมาย ทั้งผ้าโบราณที่จัดเก็บไว้ และยังมีผ้าที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงภาพยนตร์หรือละครเรื่องต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ละครเรื่องรอยไหม เป็นต้น และยังมีห้องจัดแสดงตุ๊กตาบาร์บี้ ที่แปลงโฉมมาแต่งตัวแบบชาวล้านนา มีผ้าสวยๆ สวมใส่ให้ชม สามารถเรียกความสนใจจาก “ตะลอนเที่ยว” ได้อย่างมาก จนต้องเดินวนดูอยู่หลายรอบ
ผ้าสวยๆ ที่รวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
ปิดท้ายทริปนี้ที่วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่ นั่นคือ “วัดพระธาตุช่อแฮ” เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ มีสิ่งสำคัญภายในวัดคือ “พระธาตุช่อแฮ” ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระศอกด้านซ้าย การมาสักการะบูชาองค์พระธาตุนั้นมักนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย เชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
จับตุ๊กตาบาร์บี้มาแต่งตัวแบบพื้นเมือง
นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว ภายในวัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวพุทธอีกด้วย เริ่มต้นจาก “หลวงพ่อช่อแฮ” พระประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ อายุหลายร้อยปี “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นลงรักปิดทอง เชื่อกันว่าใครที่มาขอพรพระเจ้าทันใจก็จะได้สิ่งนั้นสมประสงค์ แล้วก็ยังมี พระเจ้านอน พระเจ้าไม้สัก ธรรมมาสน์โบราณ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ เมื่อปี พ.ศ.2467 ส่วนทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุนั้นก็จะต้องเดินผ่านบันไดนาค ซึ่งเป็นบันไดนาคโบราณ มีอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ อีก 1 ด้าน และแต่ละด้านนั้นจะมีความสูงและจำนวนของขั้นบันไดไม่เท่ากัน

มาเที่ยวน่าน-แพร่ แม้จะได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่นานนัก แต่ “ตะลอนเที่ยว” ก็สัมผัสได้ว่าที่นี่มีเสน่ห์มากๆ ทั้งเสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยว เสน่ห์ของชุมชน และเสน่ห์ของคน ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่มาเยือน
พระธาตุช่อแฮ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.น่าน และ จ.แพร่ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118-9, 0-5452-1127
 





* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น