โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
แม้จะชื่อจังหวัด “เลย” แต่เลยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงที่ไม่ควรเลยผ่าน
นอกจากนี้เลยยังเป็นอีกหนึ่งประตูสู่เมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง” แห่ง สปป.ลาว ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของบ้านเรา เพราะปัจจุบันเป็นเส้นทาง"เลย-หลวงพระบาง" เป็นเส้นทางคมนาคมทางถนนด้วยรถยนต์ รถโดยสารที่สะดวกสบายที่สุด ไม่ลดเลี้ยวเคี้ยวโค้ง ขึ้นเขาลงเขา เหมือนเส้นทางหนองคาย-เวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง หรือเส้นทางน่าน-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ทางบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้เปิดให้บริการเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศ “เลย-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร
และด้วยศักยภาพทางการท่องเที่ยวอันหลากหลายของจังหวัดเลย ทาง “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (อพท.) จึงเดินหน้าก่อตั้งโครงการ “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง” ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว กับพื้นที่บางจังหวัดทางภาคอีสานของไทย
1…
โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วย เมืองท่องเที่ยว 4 แหล่งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีเมืองรองในเส้นทางใกล้เคียงเข้าร่วมผนวกอีกทางหนึ่ง ในส่วนของประเทศลาว (สปป.ลาว) ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์ (ร่วมผนวกด้วยแขวงไชยะบุรี) ส่วนของไทย ได้แก่ จังหวัดเลยและหนองคาย (ร่วมผนวกด้วยหนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยมีจังหวัดเลยเป็นแม่งานในการประสานกับภาคส่วนต่างๆ
โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างมีเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ คือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง “เลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง” ซึ่งนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หนึ่งในคนสำคัญที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จะเป็นความร่วมมือไทย-ลาว โดยใช้เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยใช้จุดขายของวิถีชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ ที่ได้รับมาจากอารยธรรมล้านช้างในอดีตซึ่งยังเป็นวิถีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การตักบาตรพระตอนเช้าของหลวงพระบางและอำเภอเชียงคาน ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน หรือปู่เยอ ย่าเยอ เป็นต้น
พ่อเมืองเลยยังให้ข้อมูลอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจของหลายหน่วยงาน พบว่าจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวในประเทศไทยอยากจะไปเที่ยวอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ สอดคล้องกับแขวงหลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสนใจเช่นกัน ถ้ามีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันก็จะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
2...
หลวงพระบาง เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรล้านช้าง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง“หัวใจแผ่นดินล้านช้าง” ที่มีทั้งความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีผู้คนเดินทางมาเยือนกันเป็นจำนวนมาก
หลังได้รับการประกาศให้เป็น “เมืองมรดกโลก” จากยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2541 หลวงพระบางก็เปิดตัวสู่โลกภายนอกให้ผู้คนรับรู้ กับความเป็นดินแดน “ยูโธเปียของนักอุดมคติ” และ “ธัมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาแปรเปลี่ยนสู่ “เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ” ดังในปัจจุบัน
สำหรับผู้มาเยือนเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาตินอกเมืองอันน่ายล อย่างเช่นบรรยากาศวิวทิวทัศริมแม่น้ำโขง-แม่น้ำคาน ถ้ำติ่ง น้ำตกตาดแส้ และน้ำตกตาดกวางซี(ตาดกวางสี) สัมผัสกับวิถีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวหลวงพระบาง โดยเฉพาะกับประเพณี “ตักบาตรข้าวเหนียว” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ได้สัมผัสเที่ยวชมบรรยากาศของตัวเมืองหลวงพระบาง ที่แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชมกันมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตึกเก่าใจกลางเมือง พิพิธภัณฑ์ ไหว้พระบางที่หอพระบาง ขึ้นพระธาตุพูสีชมวิวทิวทัศน์รวมพระบางมุมสูง เที่ยววัดวาอารามต่างๆ นำโดย “วัดเชียงทอง” สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว ที่ว่ากันว่าหากใครที่ไปเที่ยวหลวงพระบางแล้วไม่ได้ไปวัดเชียงทองก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง
หันมาดูจังหวัดเลยในบ้านเรากันบ้าง เลยเป็นเมืองชายแดนอันสงบงามริมแม่น้ำโขงที่ขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งทางจังหวัดเลยภายใต้การประสานงานของ อพท.เลย(อพท.5) ได้วางวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเอาไว้ว่า “สบาย สบาย สไตล์เลย”(Leisure Loei) ขณะที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ได้คัดสรรเลยให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” ภายในแนวคิด “เย็นสุด...สุขที่เลย”
ในเมืองเลยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เที่ยวชมกันมากมาย นำโดย “ภูกระดึง”, “ภูเรือ”, “ภูหลวง” ร่วมด้วย “ภูลมโล” ดินแดนแห่งดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยอันงดงาม “ภูป่าเปราะ” กับแหล่งท่องเที่ยวฟูจิเมืองเลย, “สวนหินผางาม” ผาหินสูงสวยงามจนได้รับฉายาว่าเป็นคุนหมิงเมืองเลย, “ภูบ่อบิด” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สามารถชมวิวตัวเมืองเลยได้อย่างสวยงาม
นอกจากนี้เลยยังมี “พระธาตุศรีสองรัก” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อ.ด่านซ้าย ที่สร้างขึ้นเป็นสักขีพยานแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-ลาว, มี“ประเพณีผีตาโขน” ที่วันนี้โด่งดังไปไกลถึงเมืองนอกเมืองนา
อีกทั้งเลยยังมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่มาแรงสุดๆ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาอย่างเมือง “เชียงคาน” อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นอีกหนึ่งสถานที่ชูโรงของจังหวัดเลย ซึ่งทาง อพท.ได้ชูเชียงคานให้เป็น “เมืองแห่งวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม”
เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ อันสงบงามริมฝั่งโขง ที่โดดเด่นไปด้วยห้องแถวเรือนไม้เก่าแก่ วิถีริมฝั่งโขง วัดวาอารามอย่าง วัดศรีคุนเมือง วัดท่าคก โดยมีธรรมชาติอันงดงามอย่างแก่งคุดคู้และภูทอก เป็นอีกแม่เหล็กสำคัญ
ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลต์ทางการท่องเที่ยวสำคัญของเชียงคานก็คือประเพณี “ตักบาตรข้าวเหนียว” อันขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ และบรรยากาศของถนนคนเดินในยามค่ำคืนที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของเมืองเชียงคาน มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเดินทางมาเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศถนนคนเดินอันคึกคักของที่นี่
สำหรับประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงคาน จ.เลย นั้นมีรากมาจากเมืองหลวงพระบาง โดยบรรพบุรุษของชาวเชียงคานส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ซึ่งก็ได้นำวิถีวัฒนธรรมประเพณีติดตัวมา และกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคานจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพูดที่มีสำเนียงเหมือนกับชาวหลวงพระบาง ประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวที่เหมือนกับหลวงพระบาง งานศิลปกรรมตามวัดวาอารามบางวัดที่ได้รับอิทธิพลงานศิลปะจากหลวงพระบางมาอย่างชัดเจน เช่นที่วัดศรีคุณเมือง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งงานประเพณีผีขนน้ำหรือแมงหน้างามอันเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคาน ก็มีรากเหง้ามาจากความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับ “ปู่เยอย่าเยอ สิงห์แก้วสิงห์คำ” เทวดาที่ชาวหลวงพระบางให้ความนับถือ
นายวิโรจน์ ผู้ว่าฯ เลย บอกว่า เชียงคานกับหลวงพระบาง เป็นดังเมืองพี่เมืองน้อง โดยหลวงพระบางเป็นดังเมืองพี่ ส่วนเชียงคานเป็นเมืองน้อง เพราะบรรพบุรุษของชาวเชียงคานในวันนี้ส่วนใหญ่มาจากหลวงพระบาง
3...
ด้วยความเป็นเมืองพี่เมืองน้องของเชียงคานและหลวงพระบาง เชียงคานจึงถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในเมืองเชื่อมโยงสำคัญของโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เป็นเส้นทางท่องเที่ยว“เลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง” ที่มีทั้งเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เลือกในการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตต่อไป
อีกทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างยังมีความคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อทางการไทยและลาวได้มีการพูดคุยหารือทำบันทึกการประชุมความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลย-หลวงพระบาง โดยทางฝ่าย สปป.ลาว มีท้าว(นาย)คำขัน จันทะสีสุก เจ้าแขวงหลวงพระบาง เป็นตัวแทนหัวหน้าคณะในการพูดคุย ส่วนทางฝั่งไทยมีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นตัวแทนหัวหน้าคณะในการพูดคุย
สำหรับในการพูดคุยครั้งนั้น นายวิโรจน์ พ่อเมืองเลยได้ผลักดันให้มีการแก้ไขในบางเรื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางระหว่าง 2 ประเทศสะดวกคล่องตัวมากขึ้น ได้แก่
-การยกระดับด่านประเพณี(ด่านท้องถิ่น) 2 ด่านในฝั่งลาวที่อยู่ติดกับชายแดนจังหวัดเลยให้เป็นด่านถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกในการประทับตราหนังสือเดินทาง (Passport) เนื่องจากปัจจุบันด่านทั้ง 2 ในบ้านเราเป็นด่านถาวรที่มีความพร้อมแล้ว
-การอนุญาตให้เดินทางข้ามไปยังแขวงที่ใกล้เคียงได้ สำหรับผู้ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว(บอร์เดอร์พาส) เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ใช้บัตรผ่านแดนจากเมืองไทย สามารถข้ามไปพำนักในสปป.ลาวได้เฉพาะแขวงที่อยู่ติดกันกับด่านที่ผ่านแดน ไม่สามารถข้ามไปยังแขวงที่อยู่ใกล้เคียงได้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ใช้บัตรผ่านแดนจากด่านที่เมืองเลยไปได้แค่แขวงไชยะบุรีหรือแขวงเวียงจันทน์ที่อยู่ติดกัน ไม่สามารถข้ามไปยังแขวงหลวงพระบาง เพื่อเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางได้
-การขยายพำนักสำหรับผู้ใช้บัตรผ่านแดนจาก 2 คืน 3 วัน เป็น 6 คืน 7 วัน หรือ 4 คืน 5 วัน เพื่อให้ใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น (ข้อนี้มีความเชื่อมโยงกับข้อที่แล้ว)
นอกจากนี้ยังพูดถึงกิจกรรมท่องเที่ยวนำร่องระหว่างเลย-หลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางจักรยานเลย-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง เส้นทางล่องเรือปากลาย-เชียงคาน หรือเส้นทางรถยนต์หลวงพระบาง-เชียงคาน-เลย-พัทยา รวมถึงแผนผลักดันเส้นทางการบินจากเลยสู่หลวงพระบาง ที่จังหวัดเลยมีแผนจะขอเสนอให้ยกระดับสนามบินจังหวัดเลย เป็น “สนามบินศุลกากร” เพื่อให้สามารถขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศได้
นับได้ว่าเส้นทางเลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวไทย-ลาว ที่มากสีสันและน่าจับตายิ่ง
อย่างไรก็ดีบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาเส้นทางเส้นนี้ก็อย่ามุ่งมองเฉพาะแค่เรื่องของเม็ดเงินหรือจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงมิติของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชุมชน และผลกระทบด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งนั่นก็จะทำให้เส้นทางเลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางในฝันที่นักท่องเที่ยวต่างถวิลหา
****************************************
เส้นทางเดินรถโดยสาร(รถทัวร์)เลย-หลวงพระบาง จากเมืองไทยเริ่มต้นที่ บขส.เมืองเลย ไปข้ามพรมแดนที่ด่านบ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ จ.เลย เข้าสู่สปป.ลาวที่ด่านบ้านแก่นท้าว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และเดินทางสู่ตัวเมืองแขวงไชยะบุรี ก่อนมุ่งสู่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
เส้นทางรถทัวร์ปรับอากาศเลย-หลวงพระบาง ออกจากเมืองเลย(บขส.เลย)เวลา 8.00 น. ออกจากท่ารถหลวงพระบางเวลา 7.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง รวมระยะทาง 394 กม. มีแวะพักกินข้าวเที่ยงระหว่างทาง มีจำนวน 70 ที่นั่ง ราคาค่าโดยสาร เลย-หลวงพระบาง 700 บาท (175,000 กีบ) เลย-ไชยะบุรี 500 บาท (125,000 กีบ)
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com
แม้จะชื่อจังหวัด “เลย” แต่เลยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงที่ไม่ควรเลยผ่าน
นอกจากนี้เลยยังเป็นอีกหนึ่งประตูสู่เมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง” แห่ง สปป.ลาว ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของบ้านเรา เพราะปัจจุบันเป็นเส้นทาง"เลย-หลวงพระบาง" เป็นเส้นทางคมนาคมทางถนนด้วยรถยนต์ รถโดยสารที่สะดวกสบายที่สุด ไม่ลดเลี้ยวเคี้ยวโค้ง ขึ้นเขาลงเขา เหมือนเส้นทางหนองคาย-เวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง หรือเส้นทางน่าน-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ทางบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้เปิดให้บริการเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศ “เลย-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร
และด้วยศักยภาพทางการท่องเที่ยวอันหลากหลายของจังหวัดเลย ทาง “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (อพท.) จึงเดินหน้าก่อตั้งโครงการ “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง” ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว กับพื้นที่บางจังหวัดทางภาคอีสานของไทย
1…
โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วย เมืองท่องเที่ยว 4 แหล่งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีเมืองรองในเส้นทางใกล้เคียงเข้าร่วมผนวกอีกทางหนึ่ง ในส่วนของประเทศลาว (สปป.ลาว) ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์ (ร่วมผนวกด้วยแขวงไชยะบุรี) ส่วนของไทย ได้แก่ จังหวัดเลยและหนองคาย (ร่วมผนวกด้วยหนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยมีจังหวัดเลยเป็นแม่งานในการประสานกับภาคส่วนต่างๆ
โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างมีเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ คือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง “เลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง” ซึ่งนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หนึ่งในคนสำคัญที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จะเป็นความร่วมมือไทย-ลาว โดยใช้เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยใช้จุดขายของวิถีชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ ที่ได้รับมาจากอารยธรรมล้านช้างในอดีตซึ่งยังเป็นวิถีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การตักบาตรพระตอนเช้าของหลวงพระบางและอำเภอเชียงคาน ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน หรือปู่เยอ ย่าเยอ เป็นต้น
พ่อเมืองเลยยังให้ข้อมูลอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจของหลายหน่วยงาน พบว่าจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวในประเทศไทยอยากจะไปเที่ยวอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ สอดคล้องกับแขวงหลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสนใจเช่นกัน ถ้ามีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันก็จะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
2...
หลวงพระบาง เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรล้านช้าง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง“หัวใจแผ่นดินล้านช้าง” ที่มีทั้งความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีผู้คนเดินทางมาเยือนกันเป็นจำนวนมาก
หลังได้รับการประกาศให้เป็น “เมืองมรดกโลก” จากยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2541 หลวงพระบางก็เปิดตัวสู่โลกภายนอกให้ผู้คนรับรู้ กับความเป็นดินแดน “ยูโธเปียของนักอุดมคติ” และ “ธัมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาแปรเปลี่ยนสู่ “เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ” ดังในปัจจุบัน
สำหรับผู้มาเยือนเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาตินอกเมืองอันน่ายล อย่างเช่นบรรยากาศวิวทิวทัศริมแม่น้ำโขง-แม่น้ำคาน ถ้ำติ่ง น้ำตกตาดแส้ และน้ำตกตาดกวางซี(ตาดกวางสี) สัมผัสกับวิถีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวหลวงพระบาง โดยเฉพาะกับประเพณี “ตักบาตรข้าวเหนียว” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ได้สัมผัสเที่ยวชมบรรยากาศของตัวเมืองหลวงพระบาง ที่แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชมกันมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตึกเก่าใจกลางเมือง พิพิธภัณฑ์ ไหว้พระบางที่หอพระบาง ขึ้นพระธาตุพูสีชมวิวทิวทัศน์รวมพระบางมุมสูง เที่ยววัดวาอารามต่างๆ นำโดย “วัดเชียงทอง” สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว ที่ว่ากันว่าหากใครที่ไปเที่ยวหลวงพระบางแล้วไม่ได้ไปวัดเชียงทองก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง
หันมาดูจังหวัดเลยในบ้านเรากันบ้าง เลยเป็นเมืองชายแดนอันสงบงามริมแม่น้ำโขงที่ขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งทางจังหวัดเลยภายใต้การประสานงานของ อพท.เลย(อพท.5) ได้วางวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเอาไว้ว่า “สบาย สบาย สไตล์เลย”(Leisure Loei) ขณะที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ได้คัดสรรเลยให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” ภายในแนวคิด “เย็นสุด...สุขที่เลย”
ในเมืองเลยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เที่ยวชมกันมากมาย นำโดย “ภูกระดึง”, “ภูเรือ”, “ภูหลวง” ร่วมด้วย “ภูลมโล” ดินแดนแห่งดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยอันงดงาม “ภูป่าเปราะ” กับแหล่งท่องเที่ยวฟูจิเมืองเลย, “สวนหินผางาม” ผาหินสูงสวยงามจนได้รับฉายาว่าเป็นคุนหมิงเมืองเลย, “ภูบ่อบิด” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สามารถชมวิวตัวเมืองเลยได้อย่างสวยงาม
นอกจากนี้เลยยังมี “พระธาตุศรีสองรัก” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อ.ด่านซ้าย ที่สร้างขึ้นเป็นสักขีพยานแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-ลาว, มี“ประเพณีผีตาโขน” ที่วันนี้โด่งดังไปไกลถึงเมืองนอกเมืองนา
อีกทั้งเลยยังมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่มาแรงสุดๆ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาอย่างเมือง “เชียงคาน” อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นอีกหนึ่งสถานที่ชูโรงของจังหวัดเลย ซึ่งทาง อพท.ได้ชูเชียงคานให้เป็น “เมืองแห่งวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม”
เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ อันสงบงามริมฝั่งโขง ที่โดดเด่นไปด้วยห้องแถวเรือนไม้เก่าแก่ วิถีริมฝั่งโขง วัดวาอารามอย่าง วัดศรีคุนเมือง วัดท่าคก โดยมีธรรมชาติอันงดงามอย่างแก่งคุดคู้และภูทอก เป็นอีกแม่เหล็กสำคัญ
ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลต์ทางการท่องเที่ยวสำคัญของเชียงคานก็คือประเพณี “ตักบาตรข้าวเหนียว” อันขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ และบรรยากาศของถนนคนเดินในยามค่ำคืนที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของเมืองเชียงคาน มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเดินทางมาเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศถนนคนเดินอันคึกคักของที่นี่
สำหรับประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงคาน จ.เลย นั้นมีรากมาจากเมืองหลวงพระบาง โดยบรรพบุรุษของชาวเชียงคานส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ซึ่งก็ได้นำวิถีวัฒนธรรมประเพณีติดตัวมา และกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคานจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพูดที่มีสำเนียงเหมือนกับชาวหลวงพระบาง ประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวที่เหมือนกับหลวงพระบาง งานศิลปกรรมตามวัดวาอารามบางวัดที่ได้รับอิทธิพลงานศิลปะจากหลวงพระบางมาอย่างชัดเจน เช่นที่วัดศรีคุณเมือง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งงานประเพณีผีขนน้ำหรือแมงหน้างามอันเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคาน ก็มีรากเหง้ามาจากความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับ “ปู่เยอย่าเยอ สิงห์แก้วสิงห์คำ” เทวดาที่ชาวหลวงพระบางให้ความนับถือ
นายวิโรจน์ ผู้ว่าฯ เลย บอกว่า เชียงคานกับหลวงพระบาง เป็นดังเมืองพี่เมืองน้อง โดยหลวงพระบางเป็นดังเมืองพี่ ส่วนเชียงคานเป็นเมืองน้อง เพราะบรรพบุรุษของชาวเชียงคานในวันนี้ส่วนใหญ่มาจากหลวงพระบาง
3...
ด้วยความเป็นเมืองพี่เมืองน้องของเชียงคานและหลวงพระบาง เชียงคานจึงถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในเมืองเชื่อมโยงสำคัญของโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เป็นเส้นทางท่องเที่ยว“เลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง” ที่มีทั้งเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เลือกในการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตต่อไป
อีกทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างยังมีความคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อทางการไทยและลาวได้มีการพูดคุยหารือทำบันทึกการประชุมความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลย-หลวงพระบาง โดยทางฝ่าย สปป.ลาว มีท้าว(นาย)คำขัน จันทะสีสุก เจ้าแขวงหลวงพระบาง เป็นตัวแทนหัวหน้าคณะในการพูดคุย ส่วนทางฝั่งไทยมีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นตัวแทนหัวหน้าคณะในการพูดคุย
สำหรับในการพูดคุยครั้งนั้น นายวิโรจน์ พ่อเมืองเลยได้ผลักดันให้มีการแก้ไขในบางเรื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางระหว่าง 2 ประเทศสะดวกคล่องตัวมากขึ้น ได้แก่
-การยกระดับด่านประเพณี(ด่านท้องถิ่น) 2 ด่านในฝั่งลาวที่อยู่ติดกับชายแดนจังหวัดเลยให้เป็นด่านถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกในการประทับตราหนังสือเดินทาง (Passport) เนื่องจากปัจจุบันด่านทั้ง 2 ในบ้านเราเป็นด่านถาวรที่มีความพร้อมแล้ว
-การอนุญาตให้เดินทางข้ามไปยังแขวงที่ใกล้เคียงได้ สำหรับผู้ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว(บอร์เดอร์พาส) เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ใช้บัตรผ่านแดนจากเมืองไทย สามารถข้ามไปพำนักในสปป.ลาวได้เฉพาะแขวงที่อยู่ติดกันกับด่านที่ผ่านแดน ไม่สามารถข้ามไปยังแขวงที่อยู่ใกล้เคียงได้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ใช้บัตรผ่านแดนจากด่านที่เมืองเลยไปได้แค่แขวงไชยะบุรีหรือแขวงเวียงจันทน์ที่อยู่ติดกัน ไม่สามารถข้ามไปยังแขวงหลวงพระบาง เพื่อเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางได้
-การขยายพำนักสำหรับผู้ใช้บัตรผ่านแดนจาก 2 คืน 3 วัน เป็น 6 คืน 7 วัน หรือ 4 คืน 5 วัน เพื่อให้ใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น (ข้อนี้มีความเชื่อมโยงกับข้อที่แล้ว)
นอกจากนี้ยังพูดถึงกิจกรรมท่องเที่ยวนำร่องระหว่างเลย-หลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางจักรยานเลย-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง เส้นทางล่องเรือปากลาย-เชียงคาน หรือเส้นทางรถยนต์หลวงพระบาง-เชียงคาน-เลย-พัทยา รวมถึงแผนผลักดันเส้นทางการบินจากเลยสู่หลวงพระบาง ที่จังหวัดเลยมีแผนจะขอเสนอให้ยกระดับสนามบินจังหวัดเลย เป็น “สนามบินศุลกากร” เพื่อให้สามารถขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศได้
นับได้ว่าเส้นทางเลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวไทย-ลาว ที่มากสีสันและน่าจับตายิ่ง
อย่างไรก็ดีบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาเส้นทางเส้นนี้ก็อย่ามุ่งมองเฉพาะแค่เรื่องของเม็ดเงินหรือจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงมิติของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชุมชน และผลกระทบด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งนั่นก็จะทำให้เส้นทางเลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางในฝันที่นักท่องเที่ยวต่างถวิลหา
****************************************
เส้นทางเดินรถโดยสาร(รถทัวร์)เลย-หลวงพระบาง จากเมืองไทยเริ่มต้นที่ บขส.เมืองเลย ไปข้ามพรมแดนที่ด่านบ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ จ.เลย เข้าสู่สปป.ลาวที่ด่านบ้านแก่นท้าว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และเดินทางสู่ตัวเมืองแขวงไชยะบุรี ก่อนมุ่งสู่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
เส้นทางรถทัวร์ปรับอากาศเลย-หลวงพระบาง ออกจากเมืองเลย(บขส.เลย)เวลา 8.00 น. ออกจากท่ารถหลวงพระบางเวลา 7.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง รวมระยะทาง 394 กม. มีแวะพักกินข้าวเที่ยงระหว่างทาง มีจำนวน 70 ที่นั่ง ราคาค่าโดยสาร เลย-หลวงพระบาง 700 บาท (175,000 กีบ) เลย-ไชยะบุรี 500 บาท (125,000 กีบ)
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com