ช่วงนี่ที่ “ภูลมโล” กำลังสดใสไปด้วยสีชมพูหวานจาก “ดอกนางพญาเสือโคร่ง” ซึ่งเป็นไม้ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น ยามออกดอกเบ่งบานจะมีสีชมพูสวยงามดูคล้ายดอกซากุระที่ญี่ปุ่น นั่นจึงทำให้หลายๆคนนิยมเรียกดอกนางพญาเสือโคร่งว่า “ซากุระเมืองไทย” ขณะที่ชื่อภาษาถิ่นจะเรียกว่า “ซากุระดอย”
สำหรับ “ภูลมโล” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ที่นี่ถือว่าเป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะเป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งกว่า 1,200 ไร่ มากมายนับ 100,000 ต้น เลยทีเดียว
“ภูลมโล” เป็นภาษาถิ่น หมายถึงภูที่มีลมพัดผ่านมาก (โล : ภาษาถิ่น หมายถึง มาก หรือ เยอะ) ในอดีต พื้นที่ภูลมโลและภูใกล้เคียง อาทิ ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า เป็นพื้นที่สีแดงเพราะเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีความคิดต่าง ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบชาวม้งได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ หักล้างถางพงทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชผักต่างๆ อาทิ กะหล่ำปลี ขิง ข้าวโพด ถั่ว จนภูลมโลกลายเป็นเขาหัวโล้น
ด้วยเหตุนี้ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า(ประกาศจัดตั้งใน พ.ศ.2527) จึงทำการขอพื้นที่คืน โดยตกลงกันให้ชาวม้งปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งเป็นระยะเวลา 3 ปี ก่อนออกจากพื้นที่ ทำให้ปัจจุบัน ภูลมโลกลายเป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งกว่า 1,200 ไร่ มีต้นนางพญาเสือโคร่งที่ยามออกดอก คนไทยนิยมเรียกกันว่า “ซากุระเมืองไทย” นับ 100,000 ต้น เลยทีเดียว
สำหรับฤดูหนาวนี้ ดอกนางพญาเสือโคร่งในภูมิภาคต่างๆ ทยอยผลิบานให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกันไปหลายแห่งแล้ว ที่ภูลมโลก็เช่นกัน โดยจากการสอบจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านร่องกล้า ซึ่งเป็นจุดผ่านสำคัญทางฝั่ง จ.พิษณุโลกสู่ยอดภูลมโล ทำให้ทราบว่าขณะนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลได้เริ่มบานแล้วประมาณ 20% และคาดว่าจะบานเต็มที่ตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 ม.ค. ไปจนถึงราวๆกลางเดือน ก.พ. โดยในตอนนี้มีต้นนางพญาเสือโคร่งบางต้นที่บานนำมาก่อนเกือบเต็มต้น ซึ่งก็ถือเป็นจุดชมและจุดถ่ายรูปสำคัญของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวภูลมโลในช่วงนี้
เนื่องจากที่ภูลมโลมีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นแปลงๆ ดอกไม้จึงทยอยบานให้ชมไล่กันไป โดยมี 3 แปลงหลักๆ ได้แก่ “แปลงภูลมโล” โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "คอกวัว" เพราะมีคอกวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้อยู่บริเวณนั้น จะมองเห็นดอกนางพญาเสือโคร่งได้อย่างงดงามทั่วเนินเขา อีกทั้งใกล้เคียงยังมีจุดชมวิวยอดภูลมโล ที่ระดับความสูง 1,680 เมตร โดยจะต้องเดินเท้าจากลานจอดรถขึ้นไปสู่ยอดเขาไปในระยะทางประมาณ 1 กม. บริเวณจุดชมวิวมีลักษณะเป็นแท่นหินเล็กๆ ยื่นล้ำเข้าไปในหน้าผา เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางม่านฉากแห่งขุนเขาได้อย่างสวยงาม
“แปลงก้อนหินใหญ่” ที่มีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันควบคู่ไปกับก้อนหินใหญ่ 2 จุดเป็นพร็อพถ่ายรูปที่มีคนแวะเวียนไปโพสต์ท่าถ่ายรูปคู่กันระหว่างก้อนหินกับฉากสีชมพูของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งกันไม่ได้ขาด
และ “แปลงภูขี้เถ้า” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดอกนางพญาเสือโคร่งที่แปลงที่ภูขี้เถ้าจะบานทีหลังสุด โดยภูขี้เถ้าจะอยู่ห่างจากยอดภูลมโลไปประมาณ 4 กม. มีแปลงดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันมากถึง 3-4 แปลงติดๆกัน แถมมีมุมมากมายให้เลือกชมเลือกถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นมุมบนยอดเขาที่มองลงไปเห็นทุ่งสีชมพูในเบื้องล่าง มุมที่มองย้อนขึ้นมาเห็นทุ่งพราวชมพูออกดอกสะพรั่งตามไหล่เขา หรือในทุ่งดอกสีชมพูที่บานเด่นอยู่ในดงเฟิร์นสีเขียวก็สวยทุกมุม
ถ้าใครอยากไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่กำลังเบ่งบานอยู่นี้ ต้องรีบเตรียมตัวกันได้แล้ว โดยปัจจุบันภูลมโลมีเส้นทางหลักๆในการขึ้นไปเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่ง คือ เส้นทางจากบ้านกกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย และเส้นทางจากบ้านร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้กว่าหากไปจากกรุงเทพฯ แต่ทั้งสองเส้นทางต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เนื่องจากเส้นทางเป็นถนนลูกรัง แคบ สภาพไม่ดีขึ้นเขา-ลงเขา ลดเลี้ยว และต้องขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ใช้บริการรถนำเที่ยวของชุมชนจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังมีคนพาไปยังแปลงนางพญาเสือโคร่งได้เลยไม่ต้องมัวหลงทาง โดยสามารถเลือกใช้บริการได้ทั้งที่บ้านกกสะทอน จ.เลย และที่บ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก โดยเส้นทางขึ้นภูลมโลทางฝั่งเลย ใช้บริการรถโดยสารชุมชนที่บ้านกกสะทอน มีระยะทางประมาณ 22 กม. นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาจอดไว้ที่ อบต.กกสะทอน และขึ้นรถโดยสารชุมชนต่อที่นี่ โดยคิดค่าบริการเหมารถคันละ 1,500 บาท ไม่เกิน 1-6 คน และคันละ 2,000 บาท สำหรับ 7-10 คน (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
ส่วนหากขึ้นภูลมโลทางฝั่งพิษณุโลก ที่บ้านร่องกล้า มีระยะทางประมาณ 8 กม. นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาจอดไว้ที่หมู่บ้านร่องกล้า แล้วขึ้นรถโดยสารชุมชนต่อที่นี่ โดยคิดค่าบริการคันละ 800 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน สำหรับการเดินทางสู่ยอดภูลมโล ส่วนถ้าต้องการเดินทางสู่ภูขี้เถ้า คิดราคาคันละ 1,200 บาท
นอกจากนั้น ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ายังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกางเต็นท์นอนค้างคืนบนยอดภูลมโล แต่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกพักได้จากที่พักในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ถ้าขึ้นทางฝั่งกกสะทอน จ.เลย สามารถหาที่พักแบบโฮมสเตย์ได้ที่ชุมชนกกสะทอน หรือพักที่ อ.ด่านซ้าย หรือ อ.ภูเรือ ส่วนถ้าขึ้นทางฝั่งบ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก สามารถพักค้างแบบโฮมสเตย์หรือกางเต็นท์ได้ที่ชุมชนบ้านร่องกล้า หรือพักที่บ้านพักหรือกางเต็นท์ได้ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หรือที่พักใน อ.นครไทย รวมถึงยังสามารถพักค้างได้ที่ที่พักใน จ.เพชรบูรณ์ เช่นที่ อ.เขาค้อ ภูทับเบิก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*** ภาพทั้งหมดมาจากแฟ้มภาพ***
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้สนใจต้องการไปชมความงามของดอกพญาเสือโคร่ง สามารถโทร.สอบถามรายละเอียดช่วงเวลาการบานของดอกไม้ จองสถานที่กางเต็นท์ และสอบถามการเดินทางได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 0-5535-6607, ศูนย์ประสานงานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน 08-8439-5727, อบต.กกสะทอน 0-4280-1714, กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องกล้า 08-9959-5808 (คุณเน้ง), 08-7838-0195 (คุณปอ), ททท.สำนักงานเลย 0-4281-2812 และ ททท. สำนักงานพิษณุโลก 0-5525-2742 ถึง 3
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com