xs
xsm
sm
md
lg

10 จุดสุดยอด!!! แหล่งชม“ซากุระเมืองไทย”แสนสวย หนาวนี้ห้ามพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูหวาน
ทยอยบานตามกันมาติดๆ สำหรับ "ดอกนางพญาเสือโคร่ง" หรือซากุระเมืองไทย ซึ่งเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น คือ วงศ์กุหลาบ (Rosaceae) โดยนางพญาเสือโคร่งอยู่ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับต้นเชอร์รี แอปริคอต พลัม แอปเปิลท้อ และ สาลี่ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวของทุกๆ ปี นักท่องเที่ยวต่างก็พากันตามติดการบานของดอกนางพญาเสือโคร่งกันอย่างใกล้ชิด

วันนี้เราได้รวบรวมสถานที่ดูดอกนางพญาเสือโคร่งทั้ง 10 แห่งในภาคเหนือและภาคอีสานมาฝากกัน อีกทั้งยังได้สอบถามสถานการณ์การบานของดอกไม้สำหรับคนที่อยากจะไปชมให้ตรงช่วงที่ผลิบานที่สุดอีกด้วย
ซุ้มอุโมงค์ดอกนางพญาเสือโคร่งภายในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่(ขุนวาง) (แฟ้มภาพ)
ดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาวที่ขุนวาง (แฟ้มภาพ)
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) : เชียงใหม่

“ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่” (ขุนวาง) ตั้งอยู่ที่บ้านขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางแวดล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ มีพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ ภายในศูนย์ฯ มีแปลงทดลองปลูก แปลงวิจัย แปลงสาธิตไม้ดอกกล้วยไม้ พืชเมืองหนาว ไม้ผล อาทิ เบญจมาศ แมกคาเดเมียนัต กาแฟ ท้อ บ๊วย สาลี่ พลัม ฯลฯ

และจากสโมสรภายในศูนย์ฯ จะมีเส้นทางเดินชมดอกนางพญาเสือโคร่ง (ไปทางแปลงปลูกท้อ กาแฟ) ทั้งตามต้นที่ปลูกเรียงรายอยู่ริมทางและต้นที่อยู่ในแปลงปลูก โดยนอกจากดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูที่คุ้นตากันดีแล้ว ก็ยังมีดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาวที่หาชมได้ยากให้ชมกัน 2-3 ต้น และมีต้นซากุระญี่ปุ่นแท้ๆ ที่นำพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกอยู่ภายในสวนขุนวางด้วยเช่นกัน ส่วนเส้นทางที่เป็นไฮไลต์ในการเดินชมดอกนางพญาเสือโคร่งของที่นี่ก็คือทางเดินตั้งแต่แปลงสวนกาแฟไปจนถึงสวนอาร์เมเนีย โดยต้นนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกอยู่เรียงรายริมสองข้างทางจะทอดโค้งโน้มกิ่งลง เป็นดังอุโมงค์ซากุระแสนโรแมนติกสีชมพูที่คนนิยมไปเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันกัน

สถานการณ์ขณะนี้ : ดอกนางพญาเสือโคร่งเริ่มบานในบางจุด ประมาณ 20% ของพื้นที่
บานเต็มที่ : ในช่วงปลายเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ช่วงกลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : รถเก๋งขึ้นได้สะดวกสบาย

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) โทร.0-5311-4133, 08-1960-2033
ดอกนางพญาเสือโคร่งริมสระน้ำที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ฯ (แฟ้มภาพ)
โค้งสีชมพูที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ฯ (แฟ้มภาพ)
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี : เชียงใหม่

“ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์” เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นอกจากจะเป็นศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์รองเท้านารีหายากหลากสายพันธุ์แล้ว ในช่วงหน้าหนาวยังมีดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานอยู่ริมโค้งใกล้ทางเข้า และที่พิเศษก็คือเหล่าต้นที่บานอยู่ริมสระน้ำที่จะออกดอกสีชมพูตัดกับผืนป่าสนสีเขียวสด สะท้อนเงาลงมาในน้ำดูสวยงามน่ายล

สถานการณ์ขณะนี้ : บานเต็มที่แล้ว
ชมได้ถึง : ชมได้ถึงราวสิ้นเดือน
การเดินทาง : รถเก๋งขึ้นได้สะดวกสบาย
สีชมพููแซมอยู่ในเขาที่ขุนช่างเคี่ยน (แฟ้มภาพ)
ดอกนางพญาเสือโคร่งชุ่มน้ำค้างยามเช้า (แฟ้มภาพ)
สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน : เชียงใหม่

“สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน” ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นับเป็นแหล่งชมซากุระเมืองไทยที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด โดยหากขับรถขึ้นไปยังดอยสุเทพ ผ่านวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ผ่านพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ผ่านหมู่บ้านม้งดอยปุยไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านขุนช่างเคี่ยน โดยในระหว่างทางที่ใกล้จะถึงสถานีฯ จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งยืนเรียงรายริมถนน ในช่วงผลิดอกก็จะเห็นเป็นโค้งถนนสีชมพู และมีเป็นระยะๆ ไปจนถึงภายในหมู่บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน

นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ภายในสถานีฯ มีจุดชมวิวทะเลหมอก และยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งขุนช่างเคี่ยนที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชิมผลไม้เมืองหนาว และกาแฟสดที่ปลูกบนเขาได้ด้วย

สถานการณ์ขณะนี้ : บานเป็นจำนวนมาก ประมาณ 70% ของพื้นที่
บานเต็มที่ : บานเต็มที่ในช่วงกลางเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ชมได้ราวสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : ทางค่อนข้างลาดชัน รถเก๋งขึ้นถึงได้ แต่เส้นทางจากตั้งแต่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เป็นต้นไปจะค่อนข้างแคบ รถมักติดในช่วงวันหยุดที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่อยากรถติดสามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขี่ขึ้นไป หรือถ้าไม่อยากขับรถเองก็สามารถเช่ารถสองแถวจากเมืองเชียงใหม่ หรือบริเวณพระธาตุดอยสุเทพขึ้นไปก็ได้เช่นกัน

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน โทร.0-5394-4053
ซากุระญี่ปุ่นบนดอยอ่างขาง (ภาพโดย : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง)
บานสะพรั่งสีชมพูสด (ภาพโดย : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง)
สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง : เชียงใหม่

"สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นับเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่นี่เป็นสถานีวิจัยปลูกพืชผักและไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว ภายในสถานีมีแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอันอุดมสมบูรณ์ และมากไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม ทั้งจากสภาพธรรมชาติ แปลงพืชผัก โรงเรือน และสวนประดับตกแต่งต่างๆภายในสถานี ทำให้ปัจจุบันดอยอ่างขางเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันงดงามขึ้นชื่อของเมืองไทย

มูลนิธิโครงการหลวงได้นำต้นซากุระญี่ปุ่นเข้ามาปลูกในสถานีเกษตรฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และจากประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2551 ปัจจุบันภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางปลูกต้นซากุระญี่ปุ่นและเชอร์รีไต้หวันไปแล้วจำนวนกว่า 5,000 ต้น โดยใช้การเพาะเมล็ดเป็นวิธีขยายพันธุ์ ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีดอกซากุระญี่ปุ่นและเชอร์รีไต้หวันจะออกดอกให้ได้ชมตามจุดต่างๆ ภายในสถานีฯ อ่างขาง ได้แก่ ภายในสวน 80 ด้านหน้าอาคารสโมสรอ่างขาง ด้านข้างสวนกุหลาบอังกฤษ และตลอดเส้นทางเดินรถขาออกฝั่งโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักสถานีฯ อ่างขาง อีกทั้งบริเวณริมถนนทางขึ้นไปสู่สถานีเกษตรฯ ก็ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งที่ออกดอกสีชมพูหวานริมถนนสองข้างทางให้ชมด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ขณะนี้ : บานประมาณ 70% ของพื้นที่ โดยดอกซากุระภายในสถานีวิจัยจะบานก่อนดอกนางพญาเสือโคร่งบริเวณริมถนนทางขึ้นไปยังสถานีเล็กน้อย
บานเต็มที่ : ช่วงกลางเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : สิ้นเดือนมกราคม
การเดินทาง : ทางค่อนข้างลาดชัน รถเก๋งขึ้นถึงได้

สอบถามได้ที่ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร. 0-5396-9477
ลานกางเต็นท์ที่ขุนแม่ยะ (แฟ้มภาพ)
กางเต็นท์แคมปิ้งกันใต้ต้นนางพญาเสือโคร่งที่ขุนแม่ยะ (แฟ้มภาพ)
หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ : เชียงใหม่/แม่ฮ่องสอน

"หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอปายที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมืองสามหมอกมาช้านาน เส้นทางจากบริเวณด่านตรวจแม่ยะเข้าไปยังหน่วยฯ ค่อนข้างลำบากเพราะเป็นทางดินลูกรังที่ค่อนข้างชัน ดังนั้นจึงควรใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่หากได้เข้าไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งเมื่อผลิบานเต็มที่ภายในหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะรับรองว่าความงามนั้นจะประทับใจจนลืมความลำบากไปเลย

บริเวณทางเดินและลานกางเต็นท์จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งปลูกไว้เป็นแนว เมื่อออกดอกพร้อมกันจึงเป็นเส้นทางเดินสีชมพูสุดโรแมนติก ทั้งยังสามารถกางเต็นท์ใกล้ๆ กับต้นนางพญาเสือโคร่งได้อีกด้วย

สถานการณ์ขณะนี้ : บานประมาณ 30% ของพื้นที่ทั้งหมด
บานเต็มที่ : บานเต็มที่ในช่วงปลายเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : ต้องใช้ขับเคลื่อนสี่ล้อหรือรถกระบะ หรือหากไม่มีรถกระบะก็มีรถโดยสารให้เช่าไปกลับ 1,300 บาท / ค้างคืน 1,500 (โดยสารได้ไม่เกิน 8 คน )

สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ โทร. 08-1798- 5017
ดอกนางพญาเสือโคร่งที่หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภาพเมื่อวันที่ 12 ม.ค.)
ป่าสีชมพูที่หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภาพเมื่อวันที่ 12 ม.ค.)
หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว ภูชี้ฟ้า : เชียงราย

“หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว” ตั้งอยู่ที่บ้านร่มฟ้าทอง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นทางขึ้นภูชี้ฟ้าด้านบ้านร่มฟ้าทอง ที่นี่เป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งมากถึงราว 5,000 ต้นเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.เชียงราย แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก โดยในปีนี้เป็นปีที่สองที่ทางอำเภอเวียงแก่น ร่วมกับ ททท.เขตเชียงราย และอีกหลายหน่วยงาน ได้จัดงาน "เทศกาลชมดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูที่ภูชี้ฟ้า และชมทะเลหมอกตระการตาที่ภูชี้ดาว" ในวันที่ 17 ม.ค.59

ริมถนนสองข้างทางจากบ้านร่มฟ้าทองขึ้นมายังหน่วยจัดการต้นน้ำฯ จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งปลูกไว้ เมื่อเบ่งบานพร้อมกันก็กลายเป็นถนนสายสีชมพูที่สวยงามมาก อีกทั้งระหว่างทางจากภูชี้ฟ้าไปยังผาตั้งก็ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งให้ชมเป็นระยะๆ ตลอดทางอีกด้วย

สถานการณ์ขณะนี้ : บานราว 80% ของพื้นที่
บานเต็มที่ : ช่วงกลางเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ราวสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : ทางค่อนข้างลาดชัน รถเก๋งขึ้นถึงได้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว โทร. 081-883-7735 ที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น 0 5360 8219
ไร่ชา ซากุระ บนดอยแม่สลอง (แฟ้มภาพ)
ต้นนี้ที่แม่สลองถูกรุมถ่ายภาพ
ดอยแม่สลอง : เชียงราย

หากมาแอ่ว “ดอยแม่สลอง” ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แล้วไม่ได้จิบชา ชิมชา ก็เหมือนมาไม่ถึงดอยแม่สลอง เพราะที่นี่คือแหล่งปลูกชาที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆของเมืองไทย ดอยแม่สลองมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกชา คือมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และมีอากาศหนาวเย็น ขณะที่ไร่ชาบางไร่ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ก็สวยงามน่ายลเพราะมีต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพูสะพรั่งอยู่ริมไร่ชา และบริเวณสองข้างทางขึ้นดอย ดูโดดเด่นตัดกับสีเขียวสดของต้นชาที่ขึ้นลดหลั่นกว้างไกลไปตามไหล่เขา

สถานการณ์ขณะนี้ : บานประมาณ 20% ของพื้นที่
บานเต็มที่ : บานเต็มที่ในช่วงปลายเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ราวเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : ทางค่อนข้างลาดชัน รถเก๋งขึ้นถึงได้

สอบถามรายละเอียดที่ อบต.แม่สลองนอก โทร. 0-5376-5129
ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูหวานที่ดอยวาวี

ดอยช้าง-ดอยวาวี : เชียงราย

“ดอยวาวี” ตั้งอยู่บนทิวเขาอันสลับซับซ้อนแห่งเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตกใน อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นับเป็นหนึ่งในดอยที่มีบรรยากาศโรแมนติกไม่ใช่น้อย เพราะดอยแห่งนี้ยามหน้าหนาว ดอกซากุระจะพากันผลิดอกบานย้อมบริเวณที่ปลูกเป็นสีชมพูสดใสดูเพลินใจเพลินตา โดยจุดชมความงามของซากุระที่ดอยวาวีนั้นอยู่ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย (สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี) บน "ดอยช้าง" เขาลูกหนึ่งแห่งดอยวาวี ที่มีรูปร่างเหมือนช้างสองแม่ลูก โดยหากไปถูกช่วงถูกเวลาแล้วเราจะพบดอกซากุระออกดอกชมพูสดใสบานสวยงามเต็มทั่วสถานีไปหมด ไม่เพียงแต่ดอกซากุระสีชมพูเท่านั้นแต่บนดอยช้างยังมีดอกซากุระสีขาวให้ชมอีกด้วย

สถานการณ์ขณะนี้ : บานประมาณ 70-80% ของพื้นที่
บานเต็มที่ : ช่วงกลางเดือนมกราคม
ชมได้ถึง : ราวเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : เส้นทางบางช่วงเป็นถนนลูกรังคดเคี้ยวและสูงชันต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ

สอบถามได้ที่ อบต.วาวี 0-5360-5950 สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย 0-5360-1299, 0-5371-5690 สถานีฯเกษตรวาวี 0-5360-5932, 0-5360-5934
ชมพูสะพรั่งที่ภูลมโล (แฟ้มภาพ)
ดอกนางพญาเสือโคร่งบานทั่วภูลมโล (แฟ้มภาพ)
ภูลมโล : เลย

“ภูลมโล” ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่สีแดงในยุคลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่สะพัด ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบพื้นที่ภูลมโลถูกหักล้างถางพงทำไร่เลื่อนลอยจนกลายเป็นเขาหัวโล้น ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าจึงขอพื้นที่คืน โดยตกลงให้ผู้ที่หักล้างถางพงปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนออกจากพื้นที่ หลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจำนวนหลายหมื่นต้น

ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งภูลมโลมี 3 แปลงหลักๆให้ชม โดยจะทยอยบานไล่กันไป ได้แก่ แปลงที่ภูลมโล แปลงก้อนหินใหญ่ และแปลงภูขี้เถ้า ซึ่งแปลงที่ภูขี้เถ้าจะบานทีหลังสุด


สถานการณ์ขณะนี้ : เริ่มบานแล้วประมาณ 10%
บานเต็มที่ : ตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 ม.ค. เป็นต้นไป
ชมได้ถึง : ราวๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือจากทางฝั่งที่ “บ้านกกสะทอน” ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย และทางฝั่งบ้านร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก โดยทางอุทยานภูหินร่องกล้าไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขึ้นไปบนยอดภูลมโล เนื่องจากเส้นทางเป็นถนนลูกรัง แคบ สภาพไม่ดี ขึ้นเขา-ลงเขา ลดเลี้ยว นักท่องเที่ยวสามารถมาใช้บริการรถนำเที่ยวของชุมชนได้ทั้งที่บ้านกกสะทอน จ.เลย และที่บ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก

สำหรับเส้นทางขึ้นภูลมโลทางฝั่งเลย ที่บ้านกกสะทอน มีระยะทางประมาณ 22 กม. นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาจอดไว้ที่อบต.กกสะทอน และขึ้นรถโดยสารชุมชนต่อที่นี่ โดยคิดค่าบริการเหมารถคันละ 1,500 บาท ไม่เกิน 1-6 คน และคันละ 2,000 บาท สำหรับ 7-10 คน(ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง)

ส่วนหากขึ้นภูลมโลทางฝั่งพิษณุโลก ที่บ้านร่องกล้า มีระยะทางประมาณ 8 กม. นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาจอดไว้ที่หมู่บ้านร่องกล้า แล้วขึ้นรถโดยสารชุมชนต่อที่นี่ โดยคิดค่าบริการคันละ 800 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน สำหรับการเดินทางสู่ยอดภูลมโล ส่วนถ้าต้องการเดินทางสู่ภูขี้เถ้า คิดราคาคันละ 1,200 บาท

สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 0 5535 6607 ศูนย์ประสานงานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน 08 8439 5727 อบต.กกสะทอน 0-4280-1714 กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องกล้า 08 9959 5808 (คุณเน้ง) 08 7838 0195 (คุณปอ)
ดอกนางพญาเสือโคร่งอ่อนหวานผลิดอกที่ขุนสถาน (แฟ้มภาพ)
ต้นนางพญาเสือโคร่งเรียงรายริมถนนด้านหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (แฟ้มภาพ)
สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน : น่าน

“สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน” ตั้งอยู่ใน อ.นาน้อย จ.น่าน ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนสถานไปประมาณ 2 กม. บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแหงก่อนที่จะไหลมารวมกับลำน้ำอื่นๆ ในลุ่มน้ำน่าน ทางสถานีฯ ได้ดูแลพื้นที่และปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ และในบริเวณสถานีฯ นี้เองก็ได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและริมถนนด้านหน้าสถานีฯ

ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานนี้เป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นดงเลยทีเดียว เมื่อยามออกดอกพร้อมกันคงจะกลายเป็นบรรยากาศสีชมพูสะพรั่งรอบกาย ภายในสถานีฯ มีที่พักจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะจองยากเล็กน้อย แต่ก็สามารถกางเต็นท์ชมความงามได้ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน หรือจะกางเต็นท์นอนที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน และขับรถมาชมหรือมาถ่ายภาพที่สถานีฯ ก็ได้เช่นกัน

สถานการณ์ขณะนี้ : บานประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด
บานเต็มที่ : ช่วงระหว่างวันที่ 20-27 มกราคม
ชมได้ถึง : ราวเดือนกุมภาพันธ์
การเดินทาง : ทางค่อนข้างคดโค้ง ลาดชัน รถเก๋งขึ้นถึงได้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน โทร.08 7286 3672, 08 4707 6056
กำลังโหลดความคิดเห็น