xs
xsm
sm
md
lg

ดัน “เลย-เชียงคาน-หลวงพระบาง” สู่สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภูกระดึง สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของ จ.เลย
อพท.ร่วมมือกับจังหวัดเลย ผนึกหลวงพระบาง บูมเส้นทางท่องเที่ยวรองรับเออีซี เดินหน้าโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเลย-ลาว

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมมือกับจังหวัดเลย เตรียมเสนอขอเปิดด่านถาวรและด่านศุลกากร ยกระดับสนามบินเลยขึ้นเป็นสนามบินนานาชาติรองรับเออีซี ล่าสุดประสานเจ้าแขวงหลวงพระบาง จับมือร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงพื้นที่พิเศษ ฝันปั้นรายได้ท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มอบหมายให้ อพท.5 ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างสี่เมืองสองประเทศ โดย อพท.ได้ร่วมมือกับจังหวัดเลยในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวในการพัฒนาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย โดยร่วมมือกับแขวงหลวงพระบาง แขวงเวียงจันทน์ แขวงไชยะบูลี และนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ถนนคนเดินเชียงคาน จ.เลย
โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างเกิดขึ้นจากการที่ อพท.ประกาศพื้นที่พิเศษเลย และได้ลงสำรวจพื้นที่เห็นศักยภาพที่สามารถใช้การท่องเที่ยวเข้าไปผลักดันให้เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศเติบโต จึงนำโครงการนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และได้รับคำสนับสนุนในแนวคิดการพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยงานที่ดำเนินการแบ่งกลุ่ม (คลัสเตอร์) การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในหลายแห่ง เส้นทางท่องเที่ยวเลียบแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกับเส้นทางของแขวงต่างๆของประเทศลาว ยังไม่มีหน่วยงานใดมีแผนที่จะพัฒนาทั้งที่เป็นพื้นที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาให้การท่องเที่ยวเติบโตได้ อพท.จึงใช้ข้อดีของการเป็นองค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาข้อมูลร่วมกัน จากนั้นจึงนำเสนอแนวคิดการพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างนี้ต่อที่ประชุม ท.ท.ช.

“โครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนของประเทศไทย 4 จังหวัด คือ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย ส่วนประเทศลาวครอบคลุมพื้นที่อาณาจักรล้านช้างเดิม คือ นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง และแขวงไชยะบูลี ซึ่งปัจจุบันมีเพียงด่านศุลกากรท่าลี่ และด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนองคาย รองรับการเดินทางโดยทางบกเท่านั้น ดังนั้นในโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จะพัฒนาเพิ่มช่องทางการเดินทางทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศเดินทางได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา จะได้สามารถเดินทางเข้ามาตามหาร่องรอยของความเป็นอาณาจักรล้านช้างในอดีต ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้าที่หลวงพระบาง
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จะเป็นความร่วมมือไทย-ลาว โดยใช้เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยใช้จุดขายของวิถีชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ ที่ได้รับมาจากอารยธรรมล้านช้างในอดีตซึ่งยังเป็นวิถีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การตักบาตรพระตอนเช้าของหลวงพระบางและอำเภอเชียงคาน ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน หรือปู่เยอ ย่าเยอ เป็นต้น ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นการร่วมมือของฝั่งไทยคือ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย ส่วนประเทศลาวคือ แขวงหลวงพระบาง แขวงเวียงจันทน์ แขวงไชยะบูลี และนครหลวงเวียงจันทน์ การพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ทั้งยังทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของจังหวัดเลยได้ร่วมกันหลายหน่วยงาน โดยมี อพท.5 เป็นผู้ประสานงานวางวิสัยทัศน์ในความเป็นเมืองท่องเที่ยวเลยที่ว่า “สบาย สบาย สไตล์ เลย” หรือ Leisure Loei จากข้อมูลการสำรวจของหลายหน่วยงาน พบว่าจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวในประเทศไทยอยากจะไปเที่ยวอยู่ในลำดับต้นๆของประเทศ สอดคล้องกับแขวงหลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสนใจเช่นกัน ถ้ามีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันก็จะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

นายประเสริฐ กมลวัทนนิศา ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประสานการทำงานร่วมกับจังหวัดเลย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หารือจัดทำแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานร่วมกัน นอกจากนั้นยังเข้าร่วมหารือกับเจ้าแขวงเมืองหลวงพระบาง และตกลงที่จะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน และจะนำไปสู่การจัดทำบันทึกการประชุมความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดเลยกับแขวงหลวงพระบาง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2558 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้าภายหลังการเปิดเออีซี เป็นอีกหนึ่งการส่งเสริมความมั่นคงชายแดน ซึ่ง อพท. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หอการค้าจังหวัด เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของไทยให้ใช้กิจกรรมท่องเที่ยวในการเปิดตลาดการค้าชายแดน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมีเพิ่มมากขึ้นและพักนานวันขึ้น พื้นที่พิเศษเลยยังได้พัฒนาศักยภาพและกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเลย ควบคู่กันไป โดยรายงานจากเมืองหลวงพระบาง ระบุปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ วันพักเฉลี่ย 5-8 วัน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 700,000 คน ในปี 2563 ส่วนจังหวัดเลย มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1,500,000 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งจากแผนยุทธศาสตร์ของ อพท. ตั้งเป้าหมายให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้อย่างน้อย 35,000 ล้านบาท ภายในปี 2565
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น