xs
xsm
sm
md
lg

“วัดจันทร์” ภาพชวนฝัน วันป่าเปลี่ยนสี/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
เสน่ห์ อ.วัดจันทร์ วันป่าเปลี่ยนสี
“เราเป็นมนุษย์นี้ เราเป็นเพียงผู้อาศัยเขาอยู่ อาศัยเขากิน อาศัยเขาใช้ ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นเวลาเราจะใช้ จะกิน หรืออยู่ จะต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของผู้ครอบครอง เขาจะได้เมตตาเอ็นดูให้เราอยู่ ให้เราใช้ ให้เรากิน อย่างไม่เดือดร้อน”

นายโจพอ ฮี่โข่(ผู้นำหมู่บ้าน) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ป่าสนวัดจันทร์ : เรื่องราว ผืนดิน ป่าสนของปกาเกอะญอมือเจะคี” แสดงให้เห็นถึงวิถีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเคารพคารวะ อันถือเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นของของชาวปกาเกอะญอแห่งวัดจันทร์ที่น่ายกย่อง
รอยยิ้มของแม่อุ๊ยชาวปกาเกอะญอแห่งวัดจันทร์
1…

ชาวปกาเกอะญอแห่งวัดจันทร์ หรือที่คนเมืองมักเรียกว่า “กะเหรี่ยงวัดจันทร์”(กะเหรี่ยงเป็นภาษาไม่สุภาพ) เป็นชนเผ่าที่โดดเด่นขึ้นชื่อในเรื่องของคนอยู่กับป่าอย่างพึ่งพาพอเพียง พวกเขามีวิถีความเชื่อ การนับถือผี การเคารพบูชาผืนป่ามานับแต่บรรพบุรุษเป็นร้อยๆปี เปรียบผืนป่าดังชีวิตที่ผูกพันมาตั้งแต่แรกเกิด โดยเมื่อทารกชาวปกาเกอะญอคลอดออกมา สายรกที่ตัดออกจะถูกผู้เป็นพ่อบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่ ปิดฝาด้วยเศษผ้าแล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ป่ารอบหมู่บ้าน พร้อมอธิษฐานให้เด็กน้อยเติบโตขึ้นมาแข็งแรงดังต้นไม้ และห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ ณ ต้นไม้ที่นำสายรกไปผูก
บ้านชาวปกาเกอะญอที่ อ.วัดจันทร์
นอกจากนี้ชาวปกาเกอะญอวัดจันทร์(ดั้งเดิม)ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผืนป่า ขุนเขา ต้นไม้ สายน้ำ และธรรมชาติต่างๆอีก อาทิ เชื่อว่าป่ามีวิญญาณสิงสถิตอยู่, ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้นไม้ของภูตผี ห้ามตัดต้นไม้ทั้งสองโดยเด็ดขาด, ป่าต้นน้ำลำธารเป็นป่าหวงห้าม ห้ามเข้าไปทำไร่หรือห้ามแม้แต่จะตัดมาปลูกสร้างบ้านก็ไม่ได้, แม่น้ำลำธารทุกสายมีเจ้าของ คือ “ผีน้ำ”, “วิญญาณน้ำ” หรือที่เรียกว่า “นาที” และอื่นๆอีกมากมาย

จากตัวอย่างความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับการนับถือผี นับถือป่าเขาธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ ใครหลายๆคนอาจมองว่า เชยล้าหลัง ล้าสมัย แต่สำหรับผมนี่กับเป็นสิ่งที่ช่วยกำกับให้ป่าเขา ต้นไม้ สายน้ำดำรงคงอยู่ ชนิดที่ผู้ที่คิดว่าตัวเองศิวิไลซ์ไม่อาจเข้าใจและไม่อาจทำได้
มือเจะคี ป่าสนวัดจันทร์
2...

“มือเจะคี” หรือที่คนเมืองเรียกเพี้ยนเป็น “มูเส่คี” หมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม เป็นคำที่ชาวปกาเกอะญอใช้เรียกขาน “ป่าสนวัดจันทร์” หรือ “ป่าสนบ้านวัดจันทร์” ผืนป่าที่มีความผูกพันกับพวกเขามาช้านาน

ป่าสนวัดจันทร์ เป็นป่าสนธรรมชาติมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าแสนไร่ นับเป็นป่าสนตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผืนป่าที่นี่เป็นป่าต้นน้ำ ต้นทางของลำห้วยเล็กๆสำคัญหลายสายก่อนจะไหลไปรวมกันเป็นต้นน้ำแม่แจ่ม ที่วันนี้ผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มบางส่วนกำลังจะถูกนักการเมืองชั้นเลวบางคนผลักดันให้สร้างเขื่อนอย่างสุดลิ่ม
สีสัน อ.วัดจันทร์ในช่วงฤดูป่าเปลี่ยนสี
ในอดีตนับเป็นร้อยปีมาแล้ว ป่าสนวัดจันทร์เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ เป็นที่ตั้งของชุมชน“บ้านวัดจันทร์” หรือหมู่บ้านมือเจะคีแห่งขุนเขาของชาวปกาเกอะญอ

บ้านวัดจันทร์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก่อนที่ทางการจะพัฒนาแยกตัวออกมาเป็น “อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ” (ชาวปกาเกอะญอเรียกว่าอำเภอมือเจะคี) อำเภอลำดับที่ 878 ของเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2551 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตามนามพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการขอพระราชทานโดยกระทรวงมหาดไทย
ทุ่งนา ป่าสน มนต์เสน่ห์วัดจันทร์ ยามหน้าฝน
อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมี 3 ตำบลคือ ต.แจ่มหลวง จ.บ้านจันทร์ และ ต.แม่แดด มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นผืนป่าและภูเขาสูงชัน บนระดับความสูง 1,000 - 1,500 เมตร ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

อ.กัลยาณิวัฒนา มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผังเมืองด้วยแนวคิด “อำเภอเล็กในป่าใหญ่ ดำรงรักษาวิถีชนเผ่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยเกษตรที่สูง และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

นอกจากนี้อำเภอนี้ยังถูกภาครัฐคาดหวังให้เป็นดัง “อำเภอในฝัน” อีกด้วย
แนวป่าสนที่ถูกสลับสีด้วยเมเปิ้ลยามเปลี่ยนสี
3...

ช่วงกลางหนาวก่อนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่อากาศทางภาคเหนือกำลังหนาวจัด ผมกลับมาเยือน อ.กัลยาณิวัฒนาอีกครั้ง

อ.กัลยาณิวัฒนา หรือที่หลายๆคนมักติดเรียกขานชื่อเดิมว่า “อ.วัดจันทร์ฯ” ยังคงเป็นดินแดนสงบงาม เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความสงบ รักธรรมชาติ และต้องการพักผ่อนในบรรยากาศสบายๆ
วิหารสวมแว่นตา แห่งวัดจันทร์
อำเภอแห่งนี้มีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “วัดจันทร์” ที่สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี ปัจจุบันวัดแห่งนี้กำลังสร้างโบสถ์หลังใหม่ โดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลัก ฝาและพื้นที่ด้วยไม้สนในพื้นที่เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ส่วนสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์จุดสะดุดตาของวัดจันทร์ก็คือวิหาร ที่เดิมนั้นตรงช่วงบนผนังด้านหน้าถูกทำเป็นช่องลมโปร่ง แต่เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ถูกโจรใช้ช่องแสงนี้ลักลอบเข้ามาขโมยพระประธาน พระพุทธรูปและข้าวของมีค่า ช่างชาวปกาเกอะญอจึงได้นำกระจกกรองแสงสีดำมาติดกันขโมยปีนเข้ามา ทำให้วิหารหลังนี้ดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่สวมอยู่ จึงได้ฉายาว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบนด์” ที่มีความโดดเด่นแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
ทิวทัศน์วัดจันทร์ ยามหน้าฝน เมื่อมองลงมาจากจุดชมวิวพระธาตุจอมแจ้ง
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญอีกแห่งหนึ่งใน อ.กัลยานิวัฒนา ก็คือ “พระธาตุจอมแจ้ง” ที่มีความเกี่ยวโยงกับตำนานการสร้างเมือง

พระธาตุจอมแจ้งเป็นพระธาตุองค์เล็กๆสีทองอร่าม ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีชัยภูมิดีเยี่ยม เพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนนั้นมองลงมาจะเห็นวิวทิวทัศน์ของทุ่งนา ป่าสน และชุมชนในอำเภอกัลยาได้อย่างกว้างไกล สวยงาม นับเป็นภาพวิวทิวทัศน์ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของอำเภอวัดจันทร์ได้เป็นอย่างดี
ป่าสนในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์
ใน อ.กัลยานิวัฒนา ยังมี “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” หรือ “โครงการหลวงวัดจันทร์” เป็นอีกหนึ่งสถานที่เด่นประจำอำเภอ

โครงการหลวงวัดจันทร์ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อก่อตั้ง โครงการหลวงแห่งนี้ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แปลงพืชผลทางการเกษตร(สตรอเบอร์รี่)ในโครงการหลวง
ที่นี่เป็นแหล่งปลูกพืชผลเมืองหนาวหลากหลาย อาทิ สตรอเบอร์รี่ เคพกูสเบอร์รี่(โทงเทงฝรั่ง,ระฆังทอง) อะโวคาโด กีวีฟรุต บัตเตอร์นัต บ๊วย ฯลฯ ให้เลือกซื้อตามฤดูกาล โดยมี 2 ผลิตผลเด่นคือ ฟักทองญี่ปุ่นกับฟักทองจิ๋วที่คนรักฟักทองไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ภายในโครงการหลวงวัดจันทร์ยังมีป่าสนสวยๆให้เที่ยวชม และมีบ้านพักบรรยากาศดีราคาเยาให้เลือกพัก นับเป็นอีกหนึ่งโครงการใต้พระบารมีที่พ่อหลวงทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทย
บรรยากาศใน อ.อ.ป. วัดจันทร์
4...

อ.กัลยานิวัฒนา ยังมีอีกหนึ่งเอกลักษณ์อันชวนสัมผัสคือ “ป่าสน” ซึ่งล่าสุดทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ชูกิมมิค “ป่าสนสลับสี” มาเป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “Dream Destination - กาลครั้งหนึ่ง...ต้องไป” โดยช่วงเวลาที่จะได้เห็นภาพความงามของป่าสนสลับสีได้อย่างเด่นชัด ก็คือในช่วงป่าเปลี่ยนสีที่เหล่าไม้ป่าเต็งรังจะเปลี่ยนสีเป็น เหลือง ส้ม ชมพู แดง ขึ้นมาแซมกับสีเขียวขจีของป่าสน
เมเปิ้ลเปลี่ยนสี ที่ อ.อ.ป. วัดจันทร์
สำหรับจุดที่ถือเป็นไฮไลท์ในการเที่ยวชมบรรยากาศของป่าสนสลับสีในพื้นที่ อ.กัลยานิวัฒนา ก็คือที่ “โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.)” แห่ง ต.บ้านจันทร์ หรือที่เรียกขานกันสั้นๆว่า “อ.อ.ป. วัดจันทร์” ที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ของ อ.กัลยานิวัฒนา

อ.อ.ป.วัดจันทร์ เป็นคนละส่วนกับโครงการหลวงวัดจันทร์ที่ผมกล่าวถึงในเบื้องต้นแต่คนมักเข้าใจสับสนว่าเป็นที่เดียวกันเพราะมีชื่อโครงการหลวงเหมือนกัน ที่นี่เป็นพื้นที่สวนป่าที่มีการจัดสรรพื้นที่ด้านงานวิชาการ การอนุรักษ์ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน ภายในมีการจัดภูมิทัศน์จัดสวนสวยอย่างร่มรื่นสวยงามเหมาะต่อการขี่จักรยานเที่ยวชมอย่างเพลิดเพลิน มีสะพานไม้ที่สร้างกลมกลืนไปกับธรรมชาติเป็นจุดที่เหมาะต่อการเดินละเลียดชมบรรยากาศ และมีบ้านพักราคาเยาบรรยากาศดีไว้บริการ
ทิวทัศน์ยามเช้าเหนืออ่างเก็บน้ำ ที่ อ.อ.ป. วัดจันทร์
อีกทั้งยังมีอ่างเก็บน้ำที่เป็นจุดชวนเที่ยวชมสำคัญ โดยเฉพาะยามเช้าของช่วงหน้าหนาว เหนืออ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีสายหมอกลอยล่องเหนือผิวน้ำท่ามกลางเป็นดังภาพชวนฝันอันน่าตื่นตาตื่นใจ

นอกจากนี้ในช่วงกลางฤดูหนาวอย่างนี้ ต้นเมเปิ้ลที่ปลูกไว้ในพื้นที่ริมสระน้ำของ อ.อ.ป. จะพร้อมใจกันเปลี่ยนสีจากเขียว เป็นเหลือง ส้ม แดง และน้ำตาล ให้สีสันอันหลากหลายตักดับแผ่นฟ้า ตกกระทบแผ่นน้ำ และสลับแทรกไปในฉากของผืนป่าเขียวขจี จนได้ชื่อว่า “ป่าสนสลับสี”
ป่าสนสลับสีด้วยทิวเมเปิ้ล
ขณะที่ต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยที่ปลูกอยู่ไม่ไกลกัน เมื่อถึงเวลาก็จะออกดอกสีชมพูสดใสประดับแต่งพื้นที่ ให้บรรยากาศคล้ายเมืองนอก อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ยังไงยังงั้น

ชนิดที่หลายคนเห็นแล้วคิดไม่ถึงว่าที่นี่คือเมืองไทย
นักท่องเที่ยวเริงร่าใต้บรรยากาศป่าสนสลับสีที่ อ.อ.ป.
*****************************************
ที่พัก “ปกาเกอญอ ลอจ์ด”
ใน อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ นอกจากที่พักที่ อ.อ.ป และ โครงการหลวงแล้ว ยังมีที่พักเอกชนน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมจากทั้งงคนไทยและชาวต่างชาติที่อยากสัมผัสกับบรรยากาศวิถีชาวบ้านไม่น้อยนั่นก็คือ “ปกาเกอญอ ลอจ์ด”(Karen Hill Tribe Lodge) ที่อยู่ที่บ้านห้วยยาใต้ ห่างจากตัวอำเภอวัดจันทร์ประมาณ 16 กม. ในบรรยากาศที่พักเรือนแถวไม้ยกสูง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นธรรมชาติ ในชุมชนปกาเกอะญอที่แวดล้อมไปด้วยทุ่งนาและป่าเขา

สำหรับต้นเมเปิ้ลที่ อ.อ.ป.วัดจันทร์ ช่วงนี้เปลี่ยนสีเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 และจะเปลี่ยนสีอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพฝน ถ้าฝนมีใบเมเปิ้ลที่นี่จะเปลี่ยนสีไปจนถึงประมาณช่วงต้นหรือกลางเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูล แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวใน อ.กัลยานิวัฒนา รวมไปถึงที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5327-6140-2
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น