xs
xsm
sm
md
lg

จากตลกคณิตศาสตร์ถึงจำนำข้าวและถ่านหินราคาถูก/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ในวงสนทนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงสังสรรค์เพื่อนฝูงมักจะมีการเล่าเรื่องตลกเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ แต่เรื่องตลกบางเรื่องก็อาจจะไม่ขำสำหรับคนต่างอาชีพกัน เพราะไม่มีความเข้าใจในลักษณะพิเศษ หรือความเชื่อ ความคิดของเพื่อนต่างอาชีพ เรื่องตลก หรือ Joke จึงถูกจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มมักจะเข้าใจกันเอง เช่น ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ เป็นต้น ผมเองเคยเล่าเรื่องตลกบางเรื่อง ปรากฏว่าผู้ฟังซึ่งอยู่คนละวงการไม่ขำเลย ในขณะที่ผมเองขำเสียจนเล่าได้ลำบาก
 
ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ ผมเห็นว่า ตลกคณิตศาสตร์ (Mathematical Joke) มีประโยชน์มาก เพราะมันสะท้อนถึงลักษณะสำคัญลึกๆ ของวิชาที่คนไม่มีวันลืม
 
เรื่องตลกคณิตศาสตร์ที่ผมจะนำมาเล่านี้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้แก่คนไทยคิดเป็นมูลค่า 6-7 แสนล้านบาท และเกี่ยวข้องกับเรื่องถ่านหินราคาถูกที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดถึงในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ที่กำลังเป็นประเด็นของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
 
เริ่มเลยนะครับ
 
            กาลครั้งหนึ่ง นักวิชาการซึ่งถูกกล่าวหาว่า อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง จึงได้รวมตัวกัน 3 คนเพื่อออกไปหาชาวบ้าน ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย วิศวกร นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์
 
ชาวนาคนหนึ่งได้ขอคำปรึกษาต่อนักวิชาการกลุ่มนี้ว่า “ผมต้องการจะทำคอกวัว มีวัสดุที่จะใช้ทำคอกวัวยาว 100 เมตร ผมควรจะทำคอกวัวเป็นรูปทรงอะไรดีจึงจะสามารถขังวัวได้จำนวนมากที่สุด”
 
วิศวกรใช้เวลาครุ่นคิดอยู่เพียงแป๊บเดียวก็ได้คำตอบว่า “ต้องทำเป็นรูปวงกลมสิ จึงจะได้พื้นที่มากที่สุด” (หมายเหตุ ถ้าทำเป็นรูปวงกลมจะได้พื้นที่ 796 ตารางเมตรซึ่งมากที่สุด ในขณะที่ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะได้พื้นที่ 625 ตารางเมตรเท่านั้น ความรู้ส่วนนี้อยู่ในหัวข้อว่าด้วยการหาค่าสูงสุด และต่ำสุดซึ่งใช้สอนกันในระดับชั้นปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ พื้นที่ภาคตัดขวางของลำต้นของพืชจึงเป็นรูปวงกลม ไม่เป็นรูปเหลี่ยมเลย-เท่าที่เคยเห็น)
 
            นักฟิสิกส์กล่าวเสริมว่า “ถ้าจะให้ดีกว่านี้ก็จงต้อนฝูงวัวให้ยืนกันแบบชิดๆ แน่นๆ ด้วย ก็จะสามารถขังวัวได้มากขึ้น”
 
นักคณิตศาสตร์ ก็กล่าวตบท้ายในเชิงขี้โม้ว่า “ผมมีวิธีการที่ดีกว่า ขังวัวได้มากกว่า และมากที่สุดด้วย คือ โดยการเปลี่ยนนิยามใหม่”
 
“ทำอย่างไรนะครับ” ชาวนาถามด้วยความกระหายใคร่รู้
 
นักคณิตศาสตร์ผู้ถูกฝึกฝนมาว่าให้เริ่มต้นด้วยบทนิยาม แล้วตามด้วยทฤษฎีบท แล้วบทพิสูจน์ในที่สุดเขาขยายความว่า “เราก็เขียนนิยามใหม่โดยเรียกพื้นที่ที่อยู่ในคอกว่านอกวงกลม หรือนอกคอก และส่วนที่อยู่ข้างนอกคอกว่า ในวงกลมหรือในคอก เพียงเท่านี้คอกวัวของคุณก็จะสามารถขังวัวได้จำนวนมากมายมหาศาล”
 
ถ้ายังไม่ขำ กรุณาอ่านอีกครั้งครับ
 
คราวนี้มาถึงเรื่องของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในราคาเกวียนละ 15,000 บาท ในขณะที่ราคาตลาดในขณะนั้นไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเกวียน สาเหตุสำคัญที่โครงการรับจำนำข้าวนำไปสู่ความสูญเสียเงินรายได้ของรัฐจำนวนมหาศาลก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนความหมาย หรือนิยามของคำว่า “จำนำ” เสียใหม่ ในลักษณะเดียวกับที่นักคณิตศาสตร์ทำกับเรื่องคอกวัวของชาวนานั่นแหละครับ
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายคำว่า “จำนำ” พร้อมยกตัวอย่างว่า “ทำสัญญาส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้”
 
พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ 2505 ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมว่า “โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะได้ไถ่คืนในภายหลังด้วย” นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้กำหนดให้เจ้าของโรงรับจำนำสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือน
 
แต่โครงการ “จำนำ” ข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ยกเลิกนิยามเดิมทิ้งไป แล้วสร้างนิยามใหม่ขึ้นมาแทน คือ (1) ไม่ต้องไถ่คืนในภายหลัง เพราะมูลค่าสังหาริมทรัพย์ หรือมูลค่าข้าวที่นำไปเป็นหลักประกันนั้นมีค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่ชาวนาได้รับไปแล้ว และ (2) และไม่มีการคิดดอกเบี้ย
 
แล้วจะมีชาวนาเจ้าของข้าวสติไม่ดีที่ไหนจะมาไถ่เอาข้าวคืนไป ดังนั้น ความหมายดั้งเดิมที่กำหนดในกฎหมายของคำว่า “จำนำ” จึงได้ถูกฉีกทิ้งไปเฉยเลย แล้วสร้างนิยามขึ้นมาใหม่
 
ข่าวล่าสุดที่ผมได้ยินจากโทรทัศน์ว่า ทางรัฐบาลชุดนี้กำลังจะเอาข้าวที่รับจำนำไว้ไปเผาทำเป็นเชื้อเพลิง เพราะนอกจากจะเป็นข้าวเสียใช้บริโภคไม่ได้แล้วยัง ต้องจ่ายค่าเช่าโกดังเก็บอีกเดือนละประมาณสองพันล้าน (ถ้าผมจำไม่ผิด)
 
ตลกคณิตศาสตร์ในเรื่องนี้ช่างเหมือนกับเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปี๊ยบเลย ต่างกันเพียงแต่ว่าเรื่องหลังเป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าเท่านั้นเอง
 
คราวนี้มาถึงเรื่อง ถ่านหินราคาถูกในการนำมาผลิตไฟฟ้าที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ พูดในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ก็เป็นเรื่องของการสร้างนิยามที่ไม่สอดคล้องต่อหลักความจริงของระบบธรรมชาติ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ก่อความสูญเสียต่องบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลในระดับ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งเราคิดว่ามากมายมหาศาลแล้ว แต่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่จะสูญเสียมากกว่านั้นอีก ไม่เชื่อตามผมมาครับ ผมมีหลักฐานอ้างอิงครบถ้วน ไม่กล่าวอะไรลอยๆ
 
สาระสำคัญของเรื่องอยู่ตรงนี้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนของโรงไฟฟ้าถ่านหินประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ต้นทุนภายใน (Internal Cost) คือ ต้นทุนที่บริษัทผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่าย ซึ่งประกอบไปด้วย ค่าเชื้อเพลิง คือ ถ่านหิน ค่าดำเนินการรวมทั้งค่าสายส่งไฟฟ้า กับต้นทุนภายนอก (External Cost) ซึ่งหมายถึงต้นทุนผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลภายนอก ตั้งแต่การทำเหมืองถ่านหิน การดำเนินการผลิตไฟฟ้า น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ สารพิษจากขี้เถ้าถ่านหิน รวมถึงความเสียหายในระยะยาวต่อระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เป็นต้นเหตุสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ปะการังฟอกขาวจนตายเกือบหมด ตลอดจนการระบาดของเชื้อโรคบางชนิด
 
แต่ที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ บอกว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมีราคาถูกที่สุดนั้น ก็เป็นเพราะว่า ท่านคิดเฉพาะต้นทุนภายในซึ่งเป็นต้นทุนของบริษัทเท่านั้น แต่ท่านไม่คิดถึงต้นทุนภายนอกซึ่งชุมชนใกล้โรงไฟฟ้า และสังคมโดยรวมเป็นผู้จ่าย    
 
ท่านนำนิยามของต้นทุนมาใช้ไม่ครบถ้วนซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากเรื่องตลกคณิตศาสตร์ที่ผมได้เล่ามาแล้ว แต่นั่นมันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่คราวนี้มันมีมูลค่ามหาศาล และผลกระทบระยะยาวนานนับ 30-40 ปีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
เรามาดูกันสิว่า ผลกระทบ หรือต้นทุนภายนอกที่สังคมต้องแบกรับนั้นมีค่าเท่าใดกันแน่ จากรายงานการวิจัยโดย Epstein และคณะ (2011) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Annals of the New York Academy of Sciences ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ (ก่อตั้งปี 1823) พบว่า ต้นทุนภายนอกของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ระหว่าง 9-27 เซ็นต์ต่อหน่วยไฟฟ้า (kwh) โดยมีค่าเฉลี่ยมัธยฐานที่ 18 เซ็นต์ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 6.16 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า
 
ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ (ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างที่จะประมูลในราคากลางประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) จะมีต้นทุนภายนอกปีละ 28,000 ล้านบาท (ถ้าอยากรู้ทั้งโครงการก็คูณด้วยอายุการใช้งาน) รายละเอียดของต้นทุนภายนอกอยู่ในแผ่นสไลด์พร้อมกับแหล่งอ้างอิงครับ ซึ่งผู้วิจัยอ้างว่าเป็นการประเมินที่ค่อนข้างต่ำ
 

 
เรื่องราวที่ได้กล่าวมาแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าการหลอกลวงกันทางปัญญา คือ การเปลี่ยนนิยามหรือความหมายเพื่อให้คนหลงเชื่อตามว่า ถ่านหินราคาถูก แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้ถูกจริงไม่ แต่กลับแพงกว่าการผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น วัตถุประสงค์ของการหลอกลวงก็เพื่อต้องการจะขายถ่านหินที่พ่อค้ามีสำรองไว้เป็นจำนวนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์อนุญาตให้ใช้ได้ถึง 5 เท่าตัวเท่านั้นเอง
 
ผมเคยเปรียบเทียบการหลอกลวงเรื่องถ่านหินซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ยากที่คนที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดจะรู้ทันต่อการนับจำนวนขาช้างจากภาพลวงตาข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ซับซ้อน แต่เราก็นับผิดกันเพราะเขาหลอกเรา
 

เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ กำลังได้รับการคัดค้านจากคนกระบี่ และคนใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน แต่กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่สนใจ จนนำไปสู่การอดอาหารประท้วงนานกว่า 7 วันติดต่อกันแล้ว

ข้อเรียกร้องของพวกเขาง่ายๆ คือ ไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้า แต่คัดค้านเชื้อเพลิงถ่านหินเพราะ (1) จะทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ที่มากที่สุดของประเทศ และ (2) ทำลายสุขภาพและวิถีชีวิต รวมทั้งอาชีพของพวกเขา

พวกเขาซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ เสนอให้ใช้ของเสียจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มซึ่งข้อมูลจากราชการเองก็ยืนยันว่ามีมากเหลือเฟือ แต่กระทรวงพลังงานก็ไม่รับฟัง กลับฉวยโอกาสใช้อำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติผลักดัน

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ เองแม้จะเข้ามาด้วยเหตุผลเพราะการยับยั้งไม่ให้คนถูกฆ่ารายวัน ท่านอาจจะไม่มีเวลามากพอที่จะครุ่นคิดในเรื่องที่ซับซ้อน แต่ขณะนี้ท่านอาจจะยังไม่รู้ตัวเองว่ากำลังถูกพ่อค้าถ่านหินใช้เป็นเครื่องมือซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อประเทศ และต่อโลกไปอีกยาวนาน

คำถามที่ชาวบ้านถามว่า ทำไมไม่ใช้ของเสียจากโรงหีบน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นไบโอแก๊ส สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวัน และกลางคืนทุกฤดูกาล และมีจำนวนเยอะด้วย ไม่มีคำตอบจากภาครัฐครับ

ท่านอาจจะคิดว่าไบโอแก๊สเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่ข้อมูลจากประเทศเยอรมนี ในปี 2557 เขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 49,100 ล้านหน่วย หรือเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณไฟฟ้าที่คนไทยทั้งประเทศใช้

นี่ยังไม่นับจากแสงแดดอีก 34,930 ล้านหน่วยถ้าไม่เชื่อก็ลองเข้าไปดูที่ http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php

อีกเรื่องหนึ่งที่ทางหน่วยงานของรัฐอ้างว่า โรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอ นั่นเป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่นไม่นับระบบสายส่งจากภาคกลางซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนแล้ว ไม่นับความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียที่น่าเกลียดกว่านั้น ในการชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้) เขาไม่นับโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ซึ่งเปิดใช้งานแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557

ท่านที่สนใจในรายละเอียดกรุณาดูในแผ่นภาพนะครับ ถ้าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้เท่ากับ 2,683 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าสำรองในภาคใต้จะอยู่ที่ 52%
 
 

 
เมื่อปี 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวว่า “ขณะนี้เรามีโรงไฟฟ้าสำรองสูงเกินไปคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพราะการคำนวณที่ผิดพลาด จึงเป็นภาระต่อประชาชน”

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ในกรรมาธิการพลังงานมีการเสนอให้นำไฟฟ้าจากประเทศไทยไปขายให้ประเทศอินเดีย เพราะเรามีสำรองล้นเกินซึ่งจะเกินมากในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า แต่ความคิดนี้ก็ตกไปเพราะต้องใช้เวลา และทุนในการเตรียมสายส่ง

ทำไมเราจึงผิดแล้วผิดอีกโดยไม่มีการทบทวน หรือที่หลอกๆ กันว่า “ปฏิรูป” อะไรเลย?

ผมค่อนข้างจะแปลกใจมากว่า ทำไมสังคมไทยจึงไม่เชื่อมโยงระหว่างปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่เรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดของปัญหาโลกร้อน และนำมาสู่ปัญหาภัยแล้ง

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์พระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ทรงเรียกร้องให้ชาวโลกแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็คือการลดการเผาพลังงานฟอสซิลนั่นเอง

ในวันถัดมา องค์ทะไล ลามะ ก็ออกมาตอกย้ำด้วยกล่าวว่า “ผู้นำทางศาสนาทั้งหลายมีหน้าที่ในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ”
 

 
ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยการนำเสนอทางออกในการจัดการพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา จากรายงานล่าสุดของ Energy Information Administration สรุปได้ดังนี้ ในช่วงเมษายน 2014 ถึงเมษายน 2015

(1) การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินลดลง 20% และไม่มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเลยอย่างน้อยจนถึงปี 2016

(2) การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 60%

นอกจากนี้ จากเอกสารของหน่วยงานการตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา Government Accountability Office พบว่า ในช่วงประมาณ 15 ปีมานี้ การใช้ไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาลดลง (ประเทศเยอรมนีก็เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ)

ในปี 2001 สหรัฐอเมริกาใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าร้อยละ 51 แต่ในปี 2013 ได้ลดลงมาเหลือเพียง 40% เท่านั้น
 
 

 
ขอแถมอีกนิดครับ สั้นๆ เมื่อคืนผมไปงานสังสรรค์ศิษย์เก่า เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ทางเคมี ได้บอกผมว่า การเผาปิโตรเลียมจะทำให้น้ำท่วมโลก ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำแข็งละลายเท่านั้น

ผมถามด้วยความตื่นเต้นว่า “ยังไง? เขียนสมการให้ดูซิ” แม้ผมจะได้เกรดเอในวิชาเคมี แต่ผมก็ลืมไปเกือบหมดแล้วเพื่อนเขียนให้ผมดู แล้วบอกว่ายังไม่มีใครคิดเรื่องนี้ ชาวโลกใช้ปิโตรเลียมวันละกว่า 100 ล้านบาร์เรล สมการที่ว่าคือ “มีเทนบวกออกซิเจน (เพราะการเผาไหม้) จะได้คาร์บอนไดออกไซด์กับสองโมเลกุลของน้ำ”

ผมได้แต่ร้องว่า “เออ เป็นไปได้โว้ย!”
  
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น