ASTVผู้จัดการ - “นิ้วกลม” นักเขียนหนุ่มไอดอลคนรุ่นใหม่ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เชิดชูนักศึกษากลุ่มดาวดิน ระบุสมควรได้รับการคารวะและนับถือ ลั่นประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญในบ้านเมือง ระบุปิศาจหรืออสูรคือคนที่อยู่ตรงข้ามประชาชนไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือยึดอำนาจเข้ามา พร้อมแพร่แฮชแท็ก #เราคือเพื่อนกัน
วานนี้ (28 มิ.ย.) นายสราวุธ เฮงสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม นักเขียนชื่อดัง ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Roundfinger ที่มีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 4.3 แสนคน พร้อมโพสต์ภาพที่มีข้อความพร้อมแฮชแท็กระบุว่า “#เราคือเพื่อนกัน” เป็นตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีเทา
ทั้งนี้ ข้อความของนายสราวุธแบ่งเป็นส่วนย่อย 5 ตอน โดยเนื้อหาสำคัญคือบอกเล่ากิจกรรมของนักศึกษากลุ่มดาวดิน จากคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมระบุว่า สำหรับตนแล้ววีรกรรมของนักศึกษากลุ่มดาวดินสมควรได้รับการคารวะ และนับถือ และบอกต่อว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ทุกคนได้พูด เสียงทุกเสียงได้รับฟัง และมีความสำคัญเท่ากัน
“สำหรับผมแล้ว ดาวดินเป็นตัวอย่างนักศึกษาที่หาได้ยากในสังคมไทย ทั้งความทุ่มเทและความกล้าหาญของพวกเขา ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาที่ควรได้รับการคารวะ ผมนับถือพวกเขาที่มองเห็นชาวบ้านเป็น ‘เพื่อน’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านก็เห็นพวกเขาเป็น ‘เพื่อน’ เช่นกัน
สำนึกถึง ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมเช่นนี้เองเป็นสิ่งวิเศษกับสังคมโดยรวม เพราะมันสร้างบรรยากาศของการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดขึ้นในสังคม
ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่ว่านี่เองที่ขาดหายไปจากสังคมไทย เพราะเรามัวแต่คิดถึง ‘ประเด็นส่วนตัว’
หลายคนอาจเบื่อการเมือง เบื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และชอบที่บ้านเมืองสงบ แต่เราคงต้องถามว่า ‘สงบ’ นั้นสงบของใคร และสงบเพื่อใคร ในเมื่อยังมีคนเสียประโยชน์จากความ ‘สงบ’ ที่ว่านี้ และจำเป็นต้องส่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยิน จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง
เพราะเหตุนี้บ้านเมืองที่สงบไร้สุ้มเสียงเรียกร้องหรือโต้แย้งจึงเป็นโลกสมมุติที่ซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม กดทับเสียงร้องไห้ของคนจำนวนมากเอาไว้ไม่ให้คนส่วนใหญ่ได้ยิน
สงบสุขอยู่เหนือความทุกข์ที่มองไม่เห็น
ด้วยเหตุนี้เอง ประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้พูด ได้ส่งเสียง ได้เรียกร้อง ทุกเสียงพูดได้ ดังเท่ากัน และสำคัญเท่ากัน” นักเขียนหนุ่มชื่อดังระบุ
สำหรับ นายสราวุธ เจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” เป็นนักเขียนหนุ่ม มีผลงานเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารอะเดย์ คอลัมน์หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ มีหนังสือตีพิมพ์รวมเล่ม โดยเฉพาะสารคดีท่องเที่ยวอย่าง โตเกียวไม่มีขา (2547) กัมพูชาพริบตาเดียว (2548) เนปาลประมาณสะดือ (2549) สมองไหวในฮ่องกง (2550) และ นั่งรถไฟไปตู้เย็น (2551) นอกจากนี้ยังเขียนนวนิยายเรื่อง นวนิยายมีมือ (2550) และรวมบทความชื่อ อิฐ (2548) ณ (2550) และ เพลงรักประกอบชีวิต (2551) เขียนเพลงร่วมกับ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ในเพลง “ทฤษฎีสีชมพู” นอกจากนั้นเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ทางช่องไทยพีบีเอส ได้แก่ รายการพื้นที่ชีวิต รายการเป็นอยู่คือ รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด และรายการ Status Story อีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อความทั้งหมดที่นายสราวุธเขียน มีรายละเอียดดังนี้
เราคือเพื่อนกัน
1
เพื่อนๆ ผู้อ่านครับ
สมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่งมีบริษัทแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำบริเวณใกล้บ้านของคุณซึ่งตั้งรกรากมาเนิ่นนาน เขาเริ่มผลิตและแต่งแร่ ไม่นานนัก สารเคมีที่ใช้ในการผลิตเริ่มรั่วซึมมาตามลำธารสาธารณะ ส่งผลกระทบมาถึงบ้านของคุณ หมู่บ้านของคุณ เพื่อนบ้านของคุณ พ่อแม่พี่น้องของคุณ ผู้คนพันกว่าครอบครัว เกือบสี่พันคน ต้องเจ็บป่วย และยังต้องกินอาหารปนเปื้อนสารเคมีอยู่ทุกวัน
เพื่อนๆ จะทำอย่างไรครับ
โชคร้ายที่เหตุการณ์สมมุติที่ว่าเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
โชคร้ายที่เสียงของชาวบ้านที่นั่นอาจไม่ดังเท่าเสียงของเพื่อนๆ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย
ในปี 2556 ชาวบ้านบริเวณนั้นหกหมู่บ้านรวมตัวกันในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทที่ทำเหมืองแร่ดำเนินการตามเงื่อนไขประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ต้องทำเหมืองโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
แต่แล้ว ผลลัพธ์คือการไล่ทุบตี จับชาวบ้านมัดมือไพล่หลัง จนบาดเจ็บสาหัสหลายราย
หลังรัฐประหาร คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่เข้ามาดูแลกรณีเหมืองทองคำ มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลย’ 4 ชุด ซึ่งชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่เห็นด้วย และขอให้มีการแก้ปัญหาตามข้อเสนอของประชาชน ด้วยเหตุผลว่าการแก้ปัญหาที่กระทบกับชีวิตของพวกเขานั้นควรให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
แต่แล้ว ผลลัพธ์คือแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดและนักศึกษาที่ร่วมเรียกร้องถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ
และกลุ่มนักศึกษาที่ว่านี้คือนักศึกษาที่เรารู้จักพวกเขาในนาม ‘ดาวดิน’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งออกค่ายเรียนรู้สังคม พวกเขาลงพื้นที่กับชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองคำอำเภอวังสะพุงต่อเนื่องหลายปี จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ศึกษาข้อมูลและทำงานร่วมกับชาวบ้านมาโดยตลอด มิใช่แค่ในสมัยของรัฐบาลนี้เท่านั้น
สำหรับชาวบ้านบริเวณนั้น ดาวดินจึงไม่ต่างจากลูกๆ หลานๆ ที่มาช่วยเหลือกัน ดูแลกัน ห่วงใยกัน
หลังรัฐประหาร การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำถูกจำกัดมากขึ้น และมักถูกโยงกับเรื่องการเมืองเสมอ ทั้งที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านแท้ๆ
จากที่เสียงเบาอยู่แล้ว ก็กลายเป็นแทบจะส่งเสียงไม่ได้ เอาง่ายๆ คนเมืองอย่างเราๆ แทบไม่เคยได้ข่าวคราวของชาวบ้านที่อำเภอวังสะพุงเลยแม้แต่น้อย
ครั้งหนึ่ง ในปี 2556 ขณะที่ตำรวจชุดปราบจราจลจะเข้าสลายชาวบ้านที่มาชุมนุมเพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น หลังจากฝ่ายรัฐกันไม่ให้คนเห็นแย้งเข้าไปแสดงความคิดเห็น อนุญาตเพียงคนที่เห็นด้วยเข้าไปฝ่ายเดียว เมื่อถึงนาทีเผชิญหน้ากัน นักศึกษาดาวดินตั้งแถวเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อปกป้องชาวบ้านจากกำลังของเจ้าหน้าที่
นักศึกษาช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจทุน
เพื่อนๆ ครับ ถ้าเราเป็นชาวบ้านที่อำเภอวังสะพุง เราจะรู้สึกกับนักศึกษาเหล่านี้อย่างไร
...
2
กาลครั้งหนึ่ง สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ผมมีโอกาสได้อ่านนิตยสาร ‘สารคดี’ ฉบับพิเศษ ‘14 ตุลา 2516’ ระหว่างไล่สายตาไปตามเรื่องราวในนั้น ผมเกิดคำถามในใจว่า ทำไมหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นจึงได้มีเรี่ยวแรงกำลังและความใฝ่ฝันต่างจากหนุ่มสาวในรุ่นเราเหลือเกิน
ความใฝ่ฝันของพวกเขาเป็นเรื่องระดับสังคม ระดับประเทศ มิใช่ความฝันเรื่องความสำเร็จส่วนตัว อยากเข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง อยากได้เงินเดือนเยอะๆ อยากได้โบนัสปีละหลายเดือน หรืออะไรทำนองนั้น
โจทย์ของพวกเขามุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชาวนา คนยากคนจน ให้ได้รับความเป็นธรรมในชีวิตมากกว่าที่เคย
แล้วพวกเราทำอะไรกันอยู่?
ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่หลายคนพูดว่า โจทย์ของการศึกษาในยุคหลังกำหนดไว้เพียงเพื่อรับใช้ทุนนิยม หวังผลิตแรงงาน พนักงาน เข้าสู่ระบบ เพื่อทำงานหาเงินตอบโจทย์ของผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย หันไปมองโจทย์ที่อาจารย์หยิบยื่นให้พวกเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ นิสิตอย่างพวกเรานั่งออกแบบเก้าอี้ราคาแพง อินทีเรียโรงแรมหรู สปาห้าดาว กราฟิกดีไซน์เก๋ๆ เท่ๆ แทบไม่มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้คนเล็กคนน้อย หรือเพื่อแก้ปัญหาของคนด้อยโอกาสในสังคม
เหมือนเราอยู่กันคนละโลก
มิใช่ว่านิสิตนักศึกษาไม่อยากใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือสังคม แต่เราแทบไม่มีความคิดโหมดนั้น เพราะเราอยู่ในโลกที่ห่างไกลปัญหาของคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นเหลือเกิน
แน่นอน โจทย์ที่อาจารย์ให้เราคิดนั้นย่อมเป็นโจทย์ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน เราก็ควรรับรู้ปัญหาและลองใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาขบคิดหาวิธีแก้ให้กับเพื่อนร่วมสังคมบ้างมิใช่หรือ แต่เราไม่เคยถูกสอนให้มองไปทางนั้น ทุกวันนี้อาจเริ่มมีบ้างแล้ว
และนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในมหาวิทยาลัยไทย สายใยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษากับปัญหาสังคม เรื่องราวของสังคม ความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมสังคมนั้นเลือนลางเหลือเกิน
...
3
หลังจากที่นักศึกษากลุ่มดาวดินออกมาเคลื่อนไหวและถูกจับกุมตัวไปขึ้นศาลทหาร เราได้ยินทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและคอมเมนต์ส่วนหนึ่งในเฟซบุ๊กพูดในทำนองว่า “ชื่นชมนักศึกษาที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศในทางวิทยาศาสตร์ การกีฬา ส่วนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวนี้ขอให้หยุด เพราะทำให้บ้านเมืองไม่สงบ” หรือคำพูดทำนองว่า “เป็นนักศึกษาออกมาโวยวายทำไม หน้าที่ของนักศึกษาคือการเรียน” หรือกระทั่งคำกล่าวที่บอกว่า “หน้าตาพวกนี้ไม่เหมือนนักศึกษา แต่เหมือนอสูรกุ๊ยมากกว่า”
ฟังแล้วก็น่าเศร้าแทนสังคมไทย นักศึกษาที่คิดถึงเพื่อนร่วมสังคม ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม กลับกลายเป็นนักศึกษาที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องการ แล้วเราต้องการนักศึกษาแบบไหนกันหรือ?
บางคนเขียนคอมเมนต์ถามนักศึกษาเหล่านี้ว่า “ตอนรัฐบาลโกงกินทำไมไม่ออกมา ไปหดหัวอยู่ที่ไหน” ซึ่งผมคิดว่านี่คือเรื่องเดียวกัน ไม่ว่ารัฐบาลคอร์รัปชั่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ธรรมที่มาจากการยึดอำนาจก็ควรถูกตรวจสอบทั้งนั้น และกลุ่มดาวดินก็ต่อสู้กับทั้งสองรัฐบาลมาแล้วนี่แหละ
การจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินจึงมิได้น่าเศร้าเพียงเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ชาวบ้านเท่านั้น แต่การจับกุมเช่นนี้ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้กับนักศึกษาและพลเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่หวังดีต่อสังคม นับเป็นการตัดตอนความคิด ความฝัน และความหวัง มิใช่เพียงของคนหนุ่มสาว มิใช่เพียงของประชาชน แต่ยังเป็นการตัดตอนความคิด ความฝัน และความหวังของสังคมไทย
เพราะมันบอกกับเราว่าสังคมนี้ไม่ให้คุณค่ากับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับเพื่อนร่วมสังคมแม้แต่น้อย
หากยอมปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไรหรือ?
...
4
สังคมที่ผู้คนหัวเราะ เสียดสี ก่นด่า เมื่อนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านถูกจับนั้นเป็นสังคมประเภทไหนกัน
เราไม่ต้องการพลเมืองที่มีสำนึกเพื่อเพื่อนร่วมสังคมจริงหรือ?
ถ้าครอบครัวของเราต้องดื่มน้ำจากลำธารปนเปื้อนสารเคมี เราไม่ต้องการความเห็นใจจากใครเลยจริงหรือ ถ้าเพื่อนของเราต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี เราจะยักไหล่แล้วบอกว่าจะร้องแรกแหกกระเชอไปทำไม เราจะอยู่กันอย่างนั้นจริงๆ หรือ?
ถ้าน้องๆ ดาวดินต่อสู้เพื่อเรา เพื่อหมู่บ้านของเรา เราจะมองเขาต่างไปจากตอนนี้ไหม
วันหนึ่งนักศึกษาเหล่านี้อาจทวงถามบางสิ่งเพื่อพวกเราก็เป็นได้ หรือต้องรอให้ถึงวันนั้น เราจึงคิดว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง
สำหรับผมแล้ว ดาวดินเป็นตัวอย่างนักศึกษาที่หาได้ยากในสังคมไทย ทั้งความทุ่มเทและความกล้าหาญของพวกเขา ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาที่ควรได้รับการคารวะ ผมนับถือพวกเขาที่มองเห็นชาวบ้านเป็น ‘เพื่อน’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านก็เห็นพวกเขาเป็น ‘เพื่อน’ เช่นกัน
สำนึกถึง ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมเช่นนี้เองเป็นสิ่งวิเศษกับสังคมโดยรวม เพราะมันสร้างบรรยากาศของการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดขึ้นในสังคม
ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่ว่านี่เองที่ขาดหายไปจากสังคมไทย เพราะเรามัวแต่คิดถึง ‘ประเด็นส่วนตัว’
หลายคนอาจเบื่อการเมือง เบื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และชอบที่บ้านเมืองสงบ แต่เราคงต้องถามว่า ‘สงบ’ นั้นสงบของใคร และสงบเพื่อใคร ในเมื่อยังมีคนเสียประโยชน์จากความ ‘สงบ’ ที่ว่านี้ และจำเป็นต้องส่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยิน จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง
เพราะเหตุนี้บ้านเมืองที่สงบไร้สุ้มเสียงเรียกร้องหรือโต้แย้งจึงเป็นโลกสมมุติที่ซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม กดทับเสียงร้องไห้ของคนจำนวนมากเอาไว้ไม่ให้คนส่วนใหญ่ได้ยิน
สงบสุขอยู่เหนือความทุกข์ที่มองไม่เห็น
ด้วยเหตุนี้เอง ประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้พูด ได้ส่งเสียง ได้เรียกร้อง
ทุกเสียงพูดได้ ดังเท่ากัน และสำคัญเท่ากัน
...
5
ก่อนถูกจับกุมตัว นักศึกษาเหล่านี้ใส่เสื้อที่มีตัวหนังสือเขียนว่า “เราคือเพื่อนกัน” ผมคิดว่าคำคำนี้มีความหมายอีกแง่มุมหนึ่งซ่อนอยู่ในนั้นด้วย หาก ‘เพื่อน’ คือคนที่มองเห็นความทุกข์ของกันและกัน และไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง นักศึกษาเหล่านี้คือเพื่อนของชาวบ้าน คือเพื่อนของประชาชน
‘เรา’ คือประชาชนทั้งหมด
ส่วน ‘ปิศาจ’ หรือ ‘อสูร’ ที่แท้จริงนั้นคือคนที่อยู่ตรงข้ามกับประชาชน ไม่ว่าเขาคือใคร ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีไหน เลือกตั้งเข้ามา ยึดอำนาจเข้ามา หากตรงข้ามกับประชาชน ไม่ฟังเสียง ไม่ให้ความสำคัญ ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง เราควรยืนข้างกันเพื่อส่งเสียงขับไล่ปิศาจร้ายร่วมกัน
ผู้นำเอง ถ้าเห็นว่าเราคือเพื่อนกัน ถ้าอยู่ข้างประชาชนก็ต้องรับฟังกัน เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น นำไปแก้ไข มิใช่จ้องแต่จะจับคนที่ออกมาตักเตือนไปขังหรือปรับทัศนคติ
‘เรา’ ควรสู้กับคอร์รัปชั่นด้วยกัน และสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมด้วยกัน
การสู้กับความไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบนั้นจำเป็นด้วยกันทั้งนั้น
อาจมีความเห็นต่าง บ้างไม่ชอบคุณทักษิณ ไม่ชอบคุณประยุทธ์ก็ว่ากันไป (ซึ่งไม่แปลกถ้าใครจะไม่ชอบทั้งคู่) แต่ถ้าเห็นต่างว่าไม่ควรต่อสู้เพื่อคนที่ด้อยโอกาส คนเสียงเบา คนจน หรือไม่ควรให้เขาเหล่านี้แสดงความคิด แสดงออก อันนี้คงเป็นเรื่องใหญ่
สังคมสงบสุขที่เราต้องการน่าจะเป็นสังคมที่ผู้คนสนใจปัญหาและความทุกข์ของกันและกัน รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีอารยะ มิใช่สงบเพราะปิดปากคนอื่นหรือหรือละเลยไม่ใส่ใจความทุกข์ที่ห่างไกลตัวเอง
สังคมแบบนั้นอาจดูเหมือนสงบ เพียงเพราะเราไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจเสียงร้องไห้ของคนอื่น
ในฐานะคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน #เราคือเพื่อนกัน มิใช่หรือ
ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับประชาชน แล้วเราจะเป็นเพื่อนกับใคร?
เราคือเพื่อนกัน 1เพื่อนๆ ผู้อ่านครับ สมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่งมีบริษัทแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำบริเวณใกล...
Posted by Roundfinger on Sunday, June 28, 2015