xs
xsm
sm
md
lg

“วางผังทะเลไทย” ปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อความมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ความสวยงามของเกาะตาชัย ที่หากยังไม่มีการจำกัดนักท่องเที่ยวอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา
ท้องทะเลไทยที่สวยใสงดงาม เป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเยือนและเที่ยวชมสวยงามที่ธรรมชาติสรรสร้างขึ้น แต่ในความสวยงามนั้น แท้จริงแล้วมีความเสื่อมโทรมและเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ไข และบางปัญหานั้นอยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น “วิกฤต”

แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีเกี่ยวกับทะเลไทย เมื่อการนำเสนอวาระปฏิรูปด้านทรัพยากรทางทะเลเพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้นำเสนอนั้น ได้รับผลการลงคะแนนออกมาแบบเป็นเอกฉันท์ จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 177 คน มีผู้เห็นด้วย 175 คน ผู้ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 2 คน (คือประธานสภา สปช. กับ กมธ.)

นับเป็นครั้งแรกๆ ในการประชุมที่ได้รับคะแนนเสียงแบบเป็นเอกฉันท์และได้รับเสียงปรบมือท่วมท้นเช่นนี้
ท้องทะเลอันสวยงามแห่งเกาะพีพีเล
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงความภูมิใจในวันนั้นว่า นับเป็นครั้งแรกๆ ในการประชุมสภาที่ผลคะแนนออกมาเป็นเอกฉันท์ ไม่มีใครไม่เห็นด้วยเลยสักคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และถือว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นและเป็นรูปธรรมมากที่สุดชิ้นหนึ่งของ สปช.

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของทะเลไทยและวิกฤตต่างๆ ที่ควรแก้ไขนั้น เป็นที่ประจักษ์สำหรับทุกคนในที่ประชุม โดย ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงเนื้อหาและรายละเอียดที่นำเสนอให้ฟังว่า

“เรื่องทะเลไทยเป็นเรื่องที่กว้างมาก เลยต้องสรุปเป็น 10 ประเด็นดำเนินงาน และ 1 ประเด็นใหญ่ โดย 10 ประเด็นดำเนินงานจะครอบคลุมหลายอย่าง เป็นเรื่องของ 10 วิกฤตในทะเลไทย ได้แก่ 1. ปะการังหมดเมืองไทยใน 20 ปี 2. อุทยานทางทะเลอันสับสน 3. วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน 4. การประมงที่ย่อยยับ 5. การพัฒนาขนาดใหญ่ที่น่าเป็นห่วง 6. การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง 7. ท่องเที่ยวทางทะเลไม่ยั่งยืน 8. น้ำเสียท่วมชายฝั่ง 9. ขยะเต็มทะเล และ 10. คนขาดความรู้ไม่มีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้ก็พยายามดำเนินการทุกอย่าง”
เกาะหลีเป๊ะ 1 ใน 4 เกาะที่ต้องมีการจัดการพิเศษ
“แต่ทั้งหมดจะมารวมกันที่ 1 วาระปฏิรูปใหญ่ คือเรื่องของการจำกัดเขตการใช้ประโยชน์ทางทะเล ซึ่งถือว่าไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทุกอย่าง ในต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลียหรือสหรัฐอเมริกา ในทะเลก็จะต้องมีการจำกัดเขต ถ้าไม่มีการจำกัดเขตจะดูแลควบคุมไม่ได้ จะวางแผนทั้งระยะสั้นระยะยาวไม่ได้ ว่าง่ายๆ คือคล้ายผังเมืองแต่ทำในทะเล เราจะใช้คำว่าผังทะเลก็ได้”

ในเมืองยังมีการจัดผังเมือง แล้วทำไมในทะเลจะทำไม่ได้ ผศ.ดร.ธรณ์ ขยายความให้ฟังต่อว่า ผังทะเลหรือการจัดเขตทางทะเลนั้นจะครอบคลุมทุกอย่าง โดยผังทะเลจะแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยกันคือ 1. “มั่นคง” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเขตของทหาร และแหล่งพลังงาน เช่น บริเวณแท่นขุดเจาะ 2. “มั่งคั่ง” แบ่งอย่างง่ายๆ ก็คือเศรษฐกิจการประมง การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง

ส่วน 3. “ยั่งยืน” ส่วนนี้จะเป็นเขตอนุรักษ์ทั้งหมด ซึ่งเขตอนุรักษ์ทางทะเลเรามีหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลของกรมอุทยาน พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เขตรักษาพืชพันธุ์ของกรมประมง กระจัดกระจายไปตามกรมต่างๆ เราจะจัดมารวมกันเพื่อให้อยู่เป็นเขตเฉพาะการอนุรักษ์
วาฬบรูด้า ได้รับการเสนอให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16
และสุดท้าย 4. “เขตพิเศษ” แบ่งเป็น 2 ส่วนง่ายๆ คือ 1. 4 เกาะสุดวิกฤต ได้แก่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี เกาะเต่า เกาะเสม็ด ซึ่งเป็น 4 เกาะที่มีการใช้งานเยอะมากและไร้การจัดการ แต่น่าจะมีการจัดการพิเศษได้เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐเกือบหมด และส่วนที่ 2. การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งปัญหาของการกัดเซาะชายฝั่งนั้นจัดการได้ยากมากจึงต้องจัดเป็นเขตพิเศษ

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ผังทะเลซึ่งแบบออกเป็น 4 ส่วนคือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเขตพิเศษ นี้ จะเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปทะเลไทยที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกอย่าง และเป็นการวางกรอบให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกทิศทาง

“ตามแผนยุทธศาสตร์เราวางแผนกันเป็น 10 ปีอยู่แล้ว ถ้าเกิดเราสามารถปฏิรูปให้ได้ภายใน 2-3 ปี ก็จะทำให้เรามีกรอบที่จะสามารถเดินกันไปถูกทางได้อีก 15-16 ปี ทุกคนจะได้เลิกสงสัยเสียทีว่าทำไมต้องมีท่าเรือตรงนั้นตรงนี้ เพราะมันจะเป็นกรอบโดยรวมที่ทำให้พัฒนาได้สอดคล้อง ไม่ใช่กรมเจ้าท่านึกจะสร้างท่าเรือตรงไหนก็สร้าง กระทรวงพลังงานนึกจะตั้งโรงไฟฟ้าตรงไหน สร้างท่าเรือขนส่งตรงไหนก็สร้าง ด้านการท่องเที่ยวในอนาคตเขาก็จะรู้ว่ายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวมันจะสอดคล้องกับที่ไหน จะได้ไปด้วยกันได้ เราต้องการให้ทุกอย่างมันมองแล้วเห็นภาพ” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
การประมงที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาในท้องทะเล
มองเห็นภาพหลักของการวางผังทะเลไทยกันไปแล้ว คราวนี้มาดูในส่วนของ 10 วิกฤตทะเลไทยกันบ้าง เมื่อถามว่าเรื่องใดใน 10 เรื่องที่สามารถดำเนินการไปแล้วได้มากที่สุด ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่ามี 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องการปฏิรูปเรื่องอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งสามารถทำตามที่วางกรอบไว้เกือบทั้งหมด คือปฏิรูปค่าส่วนกลางอุทยานฯ ได้รับค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ เพิ่มขึ้นมาจากเดิมเยอะมาก ลดปัญหาคอร์รัปชัน และเรื่องของการตั้งส่วนอุทยานทางทะเล เพราะฉะนั้นในส่วนเกี่ยวกับอุทยานก็จะดำเนินต่อไปได้

นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการเสนอให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ซึ่งก็น่าจะผ่านไปด้วยดี และเรื่องของปะการังที่จะหมดประเทศใน 20 ปี แต่ภายใน 10 ปีนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะประกาศให้แนวปะการังทั้งประเทศไทยเป็นเขตวิกฤต ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวดำน้ำในเขตปะการังทั้งหมด ซึ่งก็จะมีการประชุมกับหน่วยงานการท่องเที่ยวเป็นระยะ

ส่วนเรื่องที่น่าปวดหัวมากที่สุดคงจะเป็นเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง ขยะ และน้ำเสียในทะเล เรื่องของขยะนั้นเราจะต้องลดขยะบนแผ่นดินให้ได้ เพราะขยะในทะเลมาจากแผ่นดิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นวาระแห่งชาติ แต่เราก็เสนอว่าในอุทยานก็ต้องมีการห้ามนำขยะเข้าไป ส่วนน้ำเสียเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของการดูแลระหว่างภาคส่วนกลางกับท้องถิ่น เช่น ถ้าส่วนกลางสร้างท้องถิ่นก็ดูแลไม่ได้ ถ้าจะเก็บค่าบำบัดน้ำเสียก็เก็บไม่ได้ กลายเป็นวงจรที่เป็นปัญหา ส่วนเรื่องกัดเซาะชายฝั่ง 700 กิโลเมตรก็เป็นปัญหาที่แก้ยากมาโดยตลอดเพราะเราพยายามจะสร้างอะไรลงไปในทะเลเรื่อยๆ
ปัญหาขยะบนชายฝั่งเป็นที่มาของปัญหาขยะในทะเล
แม้ว่าวาระปฏิรูปทะเลไทยจะผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติไปแล้วอย่างสวยงาม แต่การดำเนินงานก็ยังคงต้องเดินหน้ากันไปอีกไกล ดังที่ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า

“การทำงานที่จะต้องนำทุกอย่างมาผูกไว้ด้วยกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ กรมเจ้าท่าก็เป็นชิ้นหนึ่ง กรมประมงก็เป็นชิ้นหนึ่ง ทั้งยังต้องมีการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายต่างๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นการเอามารวมกันมันยาก แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าเราจะไปทางไหน เพราะแต่ก่อนเราไม่เคยรู้ เมื่อก่อนเราเล่นไพ่คนละกองไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เรารู้ว่าต้องมาเล่นกองเดียวกัน เพราะทะเลไทยของเรามีเพียงแห่งเดียวที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ได้”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น