xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ แนะรู้จักแมงกะพรุนกล่อง และขั้นตอนการหลีกเลี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพแมงกะพรุนกล่องจาก FB : thon.thamrongnawasawat
จากกรณี นักท่องเที่ยวสาวชาวไทยลงเล่นน้ำที่ชายหาดเกาะพะงัน ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต ทำให้ผู้คนในสังคมสนใจเกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องมากขึ้น ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กในเพจ Thon Thamrongnawasawat เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ขั้นตอนหลีกเลี่ยงและขั้นตอนปฏิบัติเรื่องแมงกะพรุนกล่อง”
ภาพนักท่องเเที่ยวสาวที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่อง
สำหรับข้อความที่โพสต์จากเฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีดังนี้
เพื่อนธรณ์สนใจเรื่องแมงกะพรุนกล่องกันมาก หนนี้ผมจึงจัดเต็ม นำขั้นตอนหลีกเลี่ยงและขั้นตอนปฏิบัติเรื่องแมงกะพรุนกล่องมาบอกไว้ให้ชัด จะนำไปใช้กับแมงกะพรุนชนิดอื่นก็ได้ เพื่อความปลอดภัยต่อเราและคนที่เรารัก แม้จะยาวนิด แต่ลองอ่านให้จบ อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาฉุกเฉินครับ

แมงกะพรุนกล่องคืออะไร
แมงกะพรุนทุกชนิดมีเข็มพิษ โดยเข็มพิษอยู่ในเซลล์ยิงเข็มพิษ จะอยู่ตามหนวดของแมงกะพรุน แมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในทะเลเขตร้อนในอินโด-แปซิฟิก (ออสเตรเลียเขตร้อน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานไปถึงฮาวาย) มีอยู่ 10-11 ชนิดในเมืองไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือหนวดเดี่ยว (พิษน้อยหน่อย) กับหลายหนวด (พิษแรง) หนวดของแมงกะพรุนกล่องบางชนิดอาจยาวถึง 3 เมตร ยืดหดได้

‎เรามีวิธีป้องกันอย่างไร
แมงกะพรุนกล่องพบได้ทั่วไปในทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่พบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่า อยู่ตามชายฝั่งและเกาะใกล้ฝั่ง สามารถพบในเขตน้ำตื้นบริเวณที่คนเล่นน้ำได้
แมงกะพรุนกลุ่มนี้มักพบในช่วงหน้าฝน (เหมือนแมงกะพรุนทุกชนิด) พบทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีรายงานจากออสเตรเลียว่าส่วนใหญ่คนจะโดนตอนบ่ายไปถึงตอนเย็น แต่ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุแน่ชัด
แมงกะพรุนชนิดนี้ไม่ค่อยล่องลอยอยู่บนผิวน้ำ มักอยู่ใต้ผิวน้ำ เนื่องจากน้ำทะเลชายฝั่งเมืองไทยค่อนข้างขุ่น แมงกะพรุนตัวใส ขนาดเล็ก โอกาสที่จะมองเห็นมีน้อย นอกจากนี้ กะพรุนกล่องยังเป็นแมงกะพรุนที่เคลื่อนที่เร็วเมื่อเทียบกับกะพรุนชนิดอื่น
การป้องกันคือสังเกตทะเล หากเป็นช่วงหน้าฝน น้ำขุ่น อย่าลงน้ำหรือถ้าอยากลงจริง อยากให้อยู่บริเวณติดฝั่งตรงคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่น ควรใส่ชุดปกปิดให้มิดชิด ในต่างประเทศมี Stinger Suit แต่เมืองไทยหายากราคาแพงมาก การใส่ชุดอื่น เช่น กางเกงวอร์ม ฯลฯ อาจป้องกันได้ แต่ระวังทำให้เราจมน้ำนะจ๊ะ
อ่านแล้วเพื่อนธรณ์คงเกาหัว จะไปป้องกันอย่างไร ? ผมเองก็ตอบยาก เอาเป็นว่าเพิ่งไปทะเลมา ดูแล้วน้ำขุ่นไม่น่าวางใจ ผมบอกให้ธราธรรธอยู่บนฝั่ง จะให้เล่นน้ำก็เฉพาะตรงชายคลื่นที่ซัดเข้ามา ไม่ยอมให้ออกไปถึงเอวถึงไหล่ครับ

เมื่อเราโดนแมงกะพรุนควรทำอย่างไร
ทันทีที่โดนแมงกะพรุนกล่อง เราจะเจ็บจี๊ดขึ้นมา คล้ายโดนแส้ฟาดหรือไฟฟ้าช็อต ควรตั้งสติ ตะโกนบอกเพื่อนให้รู้ตัว อย่าเอามือปัดป่ายไปมาเพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนหนักขึ้น สังเกตว่าผู้ที่โดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้มักมีริ้วรอยทั้งตามลำตัวและมือแขน เพราะตกใจจึงพยายามปัดไปให้พ้นตัว
ค่อยๆ เดินออกมาจากตรงนั้น เพื่อป้องกันยิ่งวิ่งยิ่งโดนหนัก สำหรับคนที่จะเข้าไปช่วย ให้ระวังอย่างมาก เพราะอาจโดนแมงกะพรุน ถ้าเขาเดินมาหาเราได้ ให้เรารออยู่ตรงนั้น หรือถ้าเขามีท่าทางไม่ดี ควรเข้าไปช่วยเพียงคนเดียว (คนที่แข็งแรงพอ) และหาทางปกปิดร่างกายมากที่สุด ตั้งสติเตรียมรับมือหากโดนกะพรุน
คนโดนต้องพยายามขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด เมื่อมาถึงฝั่งบนหาดทราย ให้นั่งบนพื้นแล้วดูบาดแผล หากโดนจนเกิดเส้นสายคล้ายรอยไหม้เป็นบริเวณกว้าง ให้เพื่อนโทรศัพท์หาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดและให้รีบบอกคนแถวนั้น เพื่อเตรียมรถไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ระหว่างนั้น ให้อีกคนไปหาถังหรืออะไรก็ได้ที่ตักน้ำได้ ตักน้ำทะเลริมฝั่ง (ยิ่งน้ำอุ่นยิ่งดี) สาดใส่บริเวณที่โดนโดยแรง ตักสาดไปเรื่อยๆ เพื่อกำจัดเข็มพิษให้มากสุด
เข็มพิษของแมงกะพรุนจะทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะหลุดจากตัวมาแล้ว เซลล์เข็มพิษบางส่วนอาจยิงเข็มไปแล้ว บางส่วนอาจยังไม่ได้ยิง การใช้น้ำทะเลสาดจะช่วยให้เซลล์เข็มพิษหลุดไป
อย่าใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะปรกติเข็มพิษอยู่ในทะเล เมื่อราดด้วยน้ำจืด จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ต้องใช้น้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้ปัสสาวะหรือน้ำยาอื่นๆ รวมถึงเหล้าหรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จำง่ายๆ ว่าอะไรที่ไม่ใช่น้ำทะเล จะทำให้เข็มพิษทำงานหนักขึ้น
หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือหากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ (อย่างระมัดระวังนะฮะ)
มีรายงานบอกว่า ใช้ครีมโกนหนวดเทใส่บริเวณแผลก็ช่วยได้ หน่วยงานทางการแพทย์บางแห่งยอมรับ สำหรับผม หากโดนจริงก็คงใช้ (แต่ไม่มั่นใจนะครับ)
การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย
ปัญหาคือน้ำส้มสายชูที่ยอมรับกันมานานว่าใช้ได้ ตอนนี้ดันมีงานวิจัยบอกว่าไม่แน่แล้วนะ แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาใหญ่ สรุปแล้วเอาไงกันเนี่ย ?
บอกตามตรง ในโลกยังมี 2 กระแส บ้างก็ยังใช้อยู่ บ้างก็ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว สำหรับผม ยังไงก็ใช้ครับ แต่ไม่หมกมุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์
ย้ำเตือนอีกครั้ง การทำให้เศษแมงกะพรุน รวมทั้งเซลล์เข็มพิษที่อาจติดอยู่จนมองไม่เห็น ออกจากร่างกายผู้เคราะห์ร้ายให้เร็วที่สุด เป็นวิธีดีที่สุดในการช่วยชีวิต ถอดเสื้อผ้า เอาน้ำทะเลอุ่นๆ สาดใส่ นั่นคือสิ่งที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับน้ำส้มสายชูหรือครีมโกนหนวด ยังเป็นที่สงสัย แต่ห้ามใช้น้ำจืดหรือน้ำยาอะไรก็ตามโดยเด็ดขาด
จากนั้นก็นำส่งแพทย์โดยด่วน ต้องมีผู้ที่ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นไปด้วย
โดยปรกติแล้ว หากนำเซลล์เข็มพิษออกหมด ภายใน 5-10 นาที อาการเจ็บปวดน่าจะทุเลา อาจใช้น้ำแข็งประคบก็ได้ครับ แต่ต้องมั่นใจว่าเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว โดยปรกติแล้ว ผู้ป่วยที่โดนมาก จะเกิดอาการรุนแรงใน 10 นาที หากหลังจากนั้น โอกาสเสียชีวิตมีน้อยครับ
สำหรับคุณที่โดนแมงกะพรุนธรรมดา เมื่อขจัดเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว ต้องการรักษาแผลหรือแก้ปวด กินยาพาราได้ครับ ใช้น้ำอุ่น (น้ำจืดก็ได้แล้ว เพราะขจัดเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว) ใช้น้ำอุ่นทำความสะอาดแผล วันละ 3 ครั้ง ควรปิดพลาสเตอร์ติดแผลกันอักเสบ หรือใช้ยาพวก Neosporin ทาก็ได้ฮะ
บางกรณีที่หายากมาก พิษจากแมงกะพรุนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ภายหลัง อาจเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แผลอาจมีอาการผิดปรกติ ก็ไปหาหมอแล้วบอกว่าโดนแมงกะพรุนแล้วไม่หาย  ทั้งหมดนี้ ให้เพื่อนธรณ์ระวังไว้ และหากเจอกรณีโดนแมงกะพรุนบนชายหาด จะได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ กันได้จ้ะ
สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมทะเล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท่องเที่ยว และองค์กรท้องถิ่น คงต้องมีการประชุมพูดคุยเรื่องนี้เพื่อหาแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะดูจากสถิติที่ผ่านมา เราอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการโดนแมงกะพรุนพวกนี้แล้วครับ คงต้องมีการทำอะไรสักอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งจุดปฐมพยาบาลฉุกเฉิน (กล่องใส่อุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติ) อบรมคนในพื้นที่ให้ทราบข้อมูลและแนวทางช่วยเหลือ ฯลฯ
โลกเรากำลังเปลี่ยนแปลง ทะเลไทยมีอะไรโผล่มาเรื่อยๆ เราต้องรอบรู้และเท่าทันครับ

หมายเหตุ ศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โทร 1669 ครับ

ข้อความที่โพสต์โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อ่านเพิ่มเติมที่เพจ https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

ในปัจจุบันแมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษรุนแรงมากที่สุด ถูกพบในประเทศไทย ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเลหลังฝนตกและตอนกลางคืน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น