xs
xsm
sm
md
lg

เจาะวิกฤต "ทะเลไทย" ในวันที่เข้าใกล้หายนะ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สะสมปัญหามากว่า 20 ปีจนค่อยๆ ลุกลามกลายเป็นวิกฤตทะเลไทยครั้งยิ่งใหญ่ในวันนี้ เพราะมีข้อมูลชวนตกใจ และน่าเป็นห่วงทั้งเรื่อง "ปะการัง" ในไทยเหลือเพียงแค่ 23 เปอร์เซ็นต์ ลดลงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วน "วาฬบรูด้า" ในอ่าวไทยเหลือแค่ 50 ตัว แถมยังตาย-เจ็บเป็นระยะ ส่วนขยะกับน้ำเสีย ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ตก ขณะที่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยังคงรุนแรงทั้งอ่าวไทยและอันดามัน

"ทะเลไทย" อาการโคม่า

ข้อมูลในข้างต้น ไม่ได้กล่าวขึ้นลอยๆ แต่เป็นข้อมูลที่ "รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดเผยในวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันทะเลโลก เพื่อสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาทะเลไทย และลุกขึ้นสู้เพื่อความหวังในการส่งต่อสิ่งดีที่สุดให้คนรุ่นต่อๆ ไป


นี่คือ 10 ปัญหา และทางออกที่ "รศ.ธรณ์" ได้สรุปออกมาเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ ซึ่งเป็น "10 วิกฤตทะเล" ที่ถูกนำเสนอต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปแล้ว โดยนักวิชาการท่านนี้ มองว่า "นี่คือโอกาสสุดท้ายในการกอบกู้โลกสีคราม"


1. ปะการังหมดเมืองไทยใน 20 ปี


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ปะการังในไทยเหลือแค่ 23 เปอร์เซ็นต์ แถมยังลดลงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า หากยังไม่ทำอะไร ปะการังจะหมดเมืองไทยใน 20 ปี ทางออกคือ สนับสนุนให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ผลักดันให้ครม.ประกาศใช้มาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ทช. ให้ปะการังเป็นทรัพยากรที่อยู่ในวิกฤต ระบุพื้นที่วิกฤต และนำเสนอมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน




2. อุทยานทางทะเลอันสับสน

ระบบอุทยานทางทะเลขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถรักษาปะการังและทรัพยากรอื่น ไม่สามารถดูแลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เกิดความมืดมนในระบบเก็บค่าธรรมเนียม การคัดสรรเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ทางออกคือ ปฏิรูปอุทยานทางทะเลทั้งระบบ ตั้งหน่วยบริหารที่ชัดเจน แก้ไขระบบค่าธรรมเนียม


3. วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน


วาฬบรูด้าเหลือแค่ 50 ตัวในอ่าวไทย มีวาฬตายและบาดเจ็บเป็นระยะ กิจกรรมในอ่าวไทยมีมาก การท่องเที่ยวพัฒนาเพิ่มขึ้น การดูแลรักษาไม่ทันเหตุการณ์ งบประมาณไม่เพียงพอ ทางออกคือ สนับสนุนให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 พร้อมทั้งแผนการต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ ช่วยเหลือ และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


4. การประมงที่ย่อยยับ


การประมงอวนรุนอวนลากทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน เมืองไทยไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ทางออกคือ ควบคุมจำนวนเรือ ติดดาวเทียม จัดทำระบบควบคุมตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ลดจำนวนอวนรุนอวนลากให้หมดไป ระบุการประมงอื่นๆ ที่ทำลายทรัพยากรและจัดการปัญหา


5. การพัฒนาขนาดใหญ่ที่น่าเป็นห่วง


ประเทศไทยกำลังทำท่าเรือเพื่อการขนส่งและอุตสาหกรรม ตลอดจนท่าเรือท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือยอชต์ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก บางโครงการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางออกคือ จัดทำรายงานการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่มีประสิทธิภาพ


6. การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง

อ่าวไทยถูกกัดเซาะรุนแรง 700 กิโลเมตร อันดามัน 100 กิโลเมตร ทางออกคือ ศึกษาระบบชายฝั่งทั้งหมด ประเมินคุณค่าและประเมินผลกระทบอีไอเอจากการก่อสร้างโดยละเอียด รื้อถอนสิ่งก่อสร้างหากจำเป็น รวมไปถึงการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

7. ท่องเที่ยวทางทะเลไม่ยั่งยืน


เรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ระบบควบคุมไม่ชัดเจน ปราศจากการชี้วัดในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เกิดการรั่วไหลในเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ตกกับคนไทย ทางออกคือ จัดทำระบบดูแลความปลอดภัยและติดตามเรือท่องเที่ยวในภาพรวม หามาตรการควบคุมการท่องเที่ยวในพื้นที่บอบบาง




8. น้ำเสียท่วมชายฝั่ง

การท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นตามชายฝั่งทะเล ระบบจัดการไม่มีประสิทธิภาพ เกิดน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยว เช่น อ่าวนาง กระบี่ และหาดต่างๆ รอบจังหวัดภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและทรัพยากรอย่างรุนแรง ทางออกคือ ปฏิรูประบบบำบัดน้ำเสียตามแหล่งชุมชนท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น ป่าตอง อ่าวนาง เกาะพีพี เป็นต้น

9. ขยะเต็มทะเล


ขยะทำให้สัตว์น้ำหายากตาย ทำร้ายปะการังและระบบนิเวศบอบบาง สร้างปัญหารุนแรงต่อการท่องเที่ยว ทางออกคือ ต้องจัดการปัญหาขยะบนแผ่นดินให้ได้ เน้นขยะในแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะและอุทยานทางทะเล


10. คนขาดความรู้ไม่มีส่วนร่วม


ความรู้เกี่ยวกับทะเลยังไม่เข้าถึงระบบการศึกษาของไทย แหล่งเรียนรู้ขาดการสนับสนุนงบประมาณทั้งที่มีคนไปจำนวนมาก 
ทางออกคือ ผลักดันให้กระทรวงศึกษาเพิ่มเรื่องทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง จัดกิจกรรมสนับสนุนเยาวชนและประชาชนเรียนรู้และมีส่วนร่วมเรื่องทะเล


ทั้ง 10 วิกฤตในข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อมท่านนี้ไม่ได้หยิบยกมาพูดถึง

"ผมขอนำเสนอแค่ 10 อย่างก็แทบกระอักแล้ว ทั้งหมดนี้ บอกตามตรงว่าทำกันรากเลือด บางเรื่องต้องใช้เวลามาก แต่หากเราไม่เริ่มวันนี้ เราจะไม่มีทะเลให้ใช้ในวันหน้า และทะเลคือทรัพยากรที่สร้างรายได้มากที่สุดให้ประเทศเราสำคัญกว่านั้น ทะเลไทยคือความภาคภูมิใจของคนไทย คือสมบัติของคนรุ่นต่อไป จึงถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นสู้เพื่อความหวังในการส่งต่อสิ่งดีที่สุดให้ลูกเราครับ" รศ.ธรณ์ฝาก


ประมงทำลายล้าง ภัยคุกคามทะเลไทย


ปฏิเสธไม่ได้ภัยคุกคามหลักๆ ที่ทะเลไทยกำลังเผชิญอยู่ และยังคงต้องใช้เวลาในการจัดการกับปัญหาก็คือ การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย


"เรื่องเร่งด่วนแต่คงต้องใช้เวลา 1-2 ปีก็คือเรื่องของประมงย่อยยับ ซึ่งมีหน่วยงานที่ดำเนินการกันอยู่ครับ แต่เรื่องที่ยังคิดภาพไม่ออกเลยก็คือ ขยะกับน้ำเสีย 2 ปัญหานี้โหดมากๆ ครับ" ดร.ธรณ์เผยถึงปัญหาที่ยังน่าห่วง และต้องเร่งแก้ไข แต่คงต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร


สอดรับกับ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้นำเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล ที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงภัยคุกคามทางทะเลไว้อย่างตรงไปตรงมา


"ปัญหาใหญ่ก็คือการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมันทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ และทรัพยากรเสื่อมโทรม อีกทั้งไม่มีประเด็นในเรื่องของความยั่งยืนทั้งในเชิงวิถีชีวิตและในเชิงนิเวศเข้ามาร่วมอยู่ด้วย ชาวบ้านออกไปปกป้องทะเล แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ถูกทำร้าย"
นี่คือสิ่งที่ ผู้นำเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล พยายามชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามทะเลไทย และชาวบ้าน นั่นก็คือ การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย รวมไปถึงอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ที่ยังละเมิดสิทธิในทรัพยากรชายฝั่งที่ถูกกำหนดไว้สำหรับการทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก


เรื่องเร่งด่วน แก้ปัญหาทะเลไทย


อย่างไรก็ดี ในบรรดาวิกฤตทะเลไทยขณะนี้ ถามว่าเรื่องไหน เป็นวาระด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ "รศ.ธรณ์" ให้ความชัดเจนไว้ดังนี้


"เรื่องวาฬบรูด้า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถทำได้ภายใน 6 เดือน โดยสนับสนุนเป็นสัตว์สงวน รองลงมาคือเรื่องปะการังจะหมดประเทศภายใน 20 ปี ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของกรมทะเล ถ้ามีการผลักดันให้ครม.ประกาศใช้มาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ทช. จะเป็นทางออกในการพิทักษ์แนวปะการังทั่วทะเลไทย ส่วนเรื่องปฏิรูปอุทยานฯ อันนี้เร่งด่วนและมีการดำเนินการแก้ปัญหากันอยู่แล้วครับ อีกเรื่องเร่งด่วนก็คือ การท่องเที่ยวทางทะเลไม่ยั่งยืน"


ด้านการตื่นตัวภายหลังจากที่มีการออกมาเสนอปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตทะเลไทยนั้น รศ.ธรณ์ บอกว่า มีการตื่นตัวกันมากขึ้น


"ตื่นตัวกันเยอะครับ เพราะสิ่งที่เรานำเสนอมาตลอด 3-4 เดือนจะเห็นชัดเจนว่าภาครัฐก็ทำงานกันมากขึ้น เพียงแต่ว่าบางจุดยังทำได้ยาก และใช้เวลา เนื่องจากปัญหามันสะสมมานาน ซึ่งเราก็ต้องช่วยกันผดักกันต่อไป อย่างน้อยๆ ประชาชนที่ติดตามในเฟซบุ๊กผมก็ตื่นตัวกันเยอะมาก" รศ.ธรณ์ ทิ้งท้าย


ขอบคุณข้อมูลบางส่วน และภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น