xs
xsm
sm
md
lg

“วาฬบรูด้า” ฮีโร่อ่าวไทย...สู่อนาคตใหม่“สัตว์สงวนลำดับที่ 16”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ลีลาเหินหาว (โดย สุระชัย ภาสดา ภาพจากโครงการเผยแพร่การขึ้นทะเบียนวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16)
“สมัยก่อนคนแถบนี้เรียก“พวกเขา”ว่า “พ่อปู่” หรือ “เจ้าพ่อลาย” ชาวบ้านชาวเรือที่นี่ล้วนต่างให้ความนับถือ และเห็นพวกเขามานานหลายสิบปีแล้ว”

“จำรูญ พงศ์พิทักษ์” หรือ “ลุงจำรุญ” บอกกับผมในระหว่างที่กำลังมองผ่านกล้องส่องทางไกล สอดส่องไปรอบทิศเพื่อมองหา“พวกเขา” บนหลังคาเรือที่กำลังลอยเท้งเต้งอยู่กลางอ่าวไทย

พวกเขา หรือ พ่อปู่ หรือ เจ้าพ่อลาย ที่ชาวบ้านชาวเรือบริเวณอ่าวไทยบางส่วนให้ความเคารพนับถือนั้นก็คือ “วาฬบรูด้า” เจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่คู่อ่าวไทยและอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน

โดยในวันนี้มีข่าวดีสำหรับวาฬบรูด้าในบ้านเราว่า...วาฬบรูด้าได้รับการเสนอ(ขึ้นทะเบียน) ให้เป็น “สัตว์สงวนลำดับที่ 16” ของเมืองไทย...ซึ่งเรื่องนี้หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีไม่มีอะไรสะดุด เราจะได้ต้อนรับสัตว์สงวนลำดับที่ 16 วาฬบรูด้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

รู้จักวาฬบรูด้า

ก่อนที่จะไปรู้จักกับวาฬบรูด้า เรามาทำความรู้จักกับ“วาฬ”กันก่อน

วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่คู่ทะเลไทยมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งความที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนปลา ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมักจะเรียกวาฬว่า “ปลาวาฬ” โดยในประเทศไทยมีการสำรวจพบวาฬทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันรวมแล้ว 25 ชนิด

ในส่วนของ“วาฬบรูด้า”(Bryde’s whale)เป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรอง (Baleen Plates) สำหรับกรองอาหาร วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมหากินเป็นฝูง แต่มักจะออกหากินตัวเดียว ยกเว้นวาฬคู่แม่ลูกที่ยังไม่แยกจากกัน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ “อ.ธรณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้ข้อมูลกับผมว่า ปัจจุบันบ้านเรามีวาฬบรูด้ามีอยู่ประมาณ 65 ตัว อยู่ฝั่งอันดามัน 15 ตัว ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 50 กว่าตัว โดยวาฬบรูด้าทางฝั่งอันดามันเป็นวาฬที่ว่ายหากินไปเรื่อยไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง แตกต่างไปจากอ่าวไทยที่จะว่ายหากินเป็นหลักแหล่ง ทำให้สามารถทำการสำรวจ ตั้งชื่อ และสำรวจสิ่งอื่นๆได้

วาฬบรูด้าอ่าวไทย

ในพื้นที่อ่าวไทยโดยเฉพาะที่อ่าว ตัว ก.(อ่าวไทยตอนในหรืออ่าวไทยตอนบน) ที่กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปถึงชลบุรี ที่มีลักษณะเป็นหาดเลน มีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่ทะเล ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของวาฬบรูด้า

เราจึงสามารถพบวาฬบรูด้าออกหากินที่อ่าวไทยได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาทองที่มีโอกาสจะพบวาฬบรูด้าออกหากินมากเป็นพิเศษถึง 70-80 % นั้นก็คือในช่วงหน้าฝนระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. โดยในช่วงราวๆเดือนสิงหาคมขึ้นไป น้ำจืดจากแม่น้ำจะไหลพัดพานำธาตุอาหารต่างๆลงสู่อ่าวตัว ก. ก่อนจะตกตะกอนเป็นหาดเลน

จากนั้นพวกฝูงปลากะตัก ปลาทู รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมากจะพากันเข้ามากินแพลงก์ตอนที่บริเวณใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย และวาฬบรูด้าก็จะเข้ามากินพวกปลาเล็กปลาน้อยอีกที ไม่ว่าจะเป็นปลากะตัก ลูกปลาทู รวมไปถึงปลาเล็กปลาน้อยอื่นๆ ทำให้ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. มีวาฬบรูด้าออกมาแหวกว่ายหากินใกล้ชายฝั่งอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก

และนั่นถือเป็นโอกาสดีทางการท่องเที่ยว กับกิจกรรมล่องเรือชมวาฬที่มีความคึกคักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553

สุระชัย ภาสดา” หรือ “พี่ขาว” เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) หนึ่งในทีมงานที่ทำการติดตาม สำรวจวาฬบรูด้าในฝั่งอ่าวไทยมาหลายปี ให้ข้อมูลว่า “วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ไม่ดุร้าย แต่เป็นสัตว์ขี้สงสัย มันมักจะว่ายตามเรืออยู่บ่อยด้วยความสงสัย บางทีว่ายวนรอบเรืออยู่หลายรอบเพราะสงสัย”

พี่ขาวบอกกับผม ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอ่าวไทยปัจจุบัน(ถึง 16 ก.ค. ปีนี้)มีการสำรวจพบวาฬบรูด้าทั้งหมด 53 ตัว โดยล่าสุดพบลูกวาฬเกิดใหม่จำนวน 4 ตัว จาก 4 แม่วาฬ คือ “แม่สาคร”,“แม่แกร่ง”,“แม่ทองดี” และ “แม่ข้าวเหนียว”

อย่างไรก็ดีแม้ปีนี้เราจะได้ลูกวาฬเกิดใหม่มาแล้ว 4 ตัวด้วยกัน แต่สถานการณ์ของวาฬบรูด้าในบ้านเราวันนี้ถือว่าไม่สู้ดีนัก โดย อ.ธรณ์ บอกว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) มีสถิติการตายอยู่ที่ 15 ตัว หลายตัวเป็นวาฬวัยเด็ก

“15 จาก 65 คงไม่ต้องพูดแล้วว่ามันอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างไร” อ.ธรณ์กล่าว

นั่นจึงทำให้ทางสปช.(ที่มี อ.ธรณ์ เป็นหนึ่งในแกนนำ)ซึ่งจับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่าง“วาฬบรูด้า”เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย ในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ร่วมด้วยสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อีก 3 ชนิด คือ วาฬโอมูระ,เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬ ให้เป็นสัตว์สงวนในลำดับที่ 17,18,19 ถัดไป โดยมีภาคเอกชนอย่างบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด(มหาชน) เป็นแนวร่วมสนับสนุนอีกแรง

สัตว์สงวนลำดับที่ 16

ที่ผ่านมาสัตว์ป่าสงวนทั้ง 15 ชนิดของไทย มีเพียง“พะยูน”เท่านั้นที่เป็นสัตว์ทะเล ดังนั้นการผลักดันให้วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬ เป็นสัตว์ป่าสงวนในลำดับที่ 16-19 นั้น ถือเป็นโอกาสดีของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดการคุ้มครองสัตว์เหล่านี้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้การผลักดันวาฬบรูด้า(และสัตว์ทะเลอื่นๆ)เป็นสัตว์สงวนได้มีขั้นตอนกระบวนการที่คืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงาน ไม่มีอะไรสะดุด คาดว่าจะสามารถประกาศให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนได้ในอีกไม่นาน(ในปีนี้)

อ.ธรณ์ บอกว่า การที่วาฬบรูด้าได้เป็นสัตว์สงวน แปลว่ามันต้องเป็นสัตว์ที่กำลังวิกฤต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะสามารถออกประกาศได้เลยว่าเป็นสัตว์วิกฤตตามมาตราพ.ร.บ. พร้อมกันนี้ก็จะสามารถออกมาตรการต่างๆออกมาเพื่อป้องกัน ดังตัวอย่าง 3 ข้อ

ข้อแรก พื้นที่หากินของวาฬบรูด้า คืออ่าวไทยตอนใน ปัจจุบันมีภัยคุกคามหลัก คือการทำประมงบางชนิด การสัญจรไปมา หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องการท่องเที่ยว รวมถึงยังมีขยะทางทะเลที่เป็นปัญหาใหญ่และแก้ยากมาก ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาหลักๆที่สามารถแก้ได้ก่อนในเรื่องของการประมง อาจจะมีการห้ามเครื่องมือประมงบางอย่าง ในบางเวลา และในบางพื้นที่(อ.ธรณ์ย้ำอีกครั้งว่า ห้ามเครื่องมือประมงบางอย่าง บางเวลา และบางพื้นที่ ไม่ได้ห้ามไปทั้งหมด)

ข้อสอง ต้องรักษาวาฬบรูด้าให้มีอาหาร มีปลาเพียงพอ จึงต้องดูแลควบคุมการประมงให้พื้นที่มีปลาเพียงพอ

ข้อสาม การสัญจรไปมา มีคำบอกเล่าคำเตือน เมื่อเจอวาฬบรูด้าควรทำอย่างไร รวมทั้งเวลาวาฬบรูด้าติดอวน ต้องทำอย่างไร เพื่อให้วาฬบรูด้าปลอดภัย

สิ่งที่จะได้ตามมา

ครั้นเมื่อวาฬบรูด้าได้เป็นสัตว์สงวน อ.ธรณ์ บอกว่า คำถามที่สำคัญคือ คนรอบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยได้อะไรบ้าง? ซึ่งเขาได้อธิบายว่า

อย่างแรกสุด ถ้ามีปลาเพียงพอให้วาฬบรูด้ากิน แปลว่าทะเลในอ่าวไทยมีความอุดมสมบูรณ์

ข้อสอง ได้เรื่องการท่องเที่ยว ปัจจุบันการท่องเที่ยวดูวาฬในโลกมีตลาดถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี แต่ว่าตลาดท่องเที่ยวดูวาฬในเมืองไทยมีอยู่แค่เพียง 1 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก โดยวาฬบรูด้าในบ้านเรา(อ่าวไทย)จะมีความพิเศษมาก เพราะเป็นวาฬกลุ่มเดียวที่มีการโผล่หัวเนื่องจากเป็นทะเลน้ำตื้น ซึ่งเราได้เปรียบตรงนี้ และในภูมิภาคประเทศอาเซียนไม่มีการท่องเที่ยวชมวาฬอย่างชัดเจน เราจึงได้ประสานกระทรวงการท่องเที่ยวอยากให้ถูกบรรจุเป็นการท่องเที่ยวแห่งชาติ และให้มีการพัฒนาการให้ความสำคัญการท่องเที่ยวดูสัตว์ทะเล

อ.ธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เฉพาะวาฬบรูด้า ยังมีโลมา โลมาขนอมสีชมพู ถ้าการท่องเที่ยวหันมาสนใจด้านนี้ จะมีตลาดใหม่ๆมากขึ้น

“ถ้าคนมาเที่ยวเยอะๆ จะมีปัญหาไหม ทุกวันนี้เริ่มมีการท่องเที่ยวเที่ยวมากขึ้นแต่ไม่มีการป้องกัน ที่สำคัญเราจึงจำเป็นผลักดันพัฒนาการท่องเที่ยวให้ถูกต้องเพื่อเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ จะตกกับชาวบ้านที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยว”

นอกจากนี้ อ.ธรณ์ ยังมองว่า เมื่อการท่องเที่ยวดูวาฬประสบความสำเร็จ สิ่งอื่นๆจะตามมาอีก ทั้งพิพิธภัณฑ์วาฬ เรื่องของมูลนิธิวาฬ ศูนย์ช่วยเหลือวาฬ หรือแม้กระทั่งของที่ระลึกเป็นรูปวาฬ ตุ๊กตาวาฬ หลายอย่างจะตามมาถ้าวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน

“นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเป็นสัตว์สงวน เป้าหมายของเราคือ วาฬบรูด้า เป็นฮีโร่แห่งอ่าวไทย เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของไทย สัญลักษณ์การท่องเที่ยว สัญลักษณ์ด้านอนุรักษ์ ทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า คนไทยรักทะเล คนไทยรักวาฬ และสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” อ.ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

และนั่นก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเจ้ายักษ์ใหญ่ผู้น่ารักอย่างวาฬบรูด้า ฮีโร่แห่งอ่าวไทย ที่ผมเอาใจช่วยลุ้นให้วาฬบรูด้าได้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 โดยเร็วพลัน เพื่อที่สถานการณ์ของวาฬบรูด้าในบ้านเราจะได้ดีขึ้น และอยู่คู่กับเมืองไทยไปอีกตราบนานเท่านาน

***********************************************************
ซากวาฬบรูด้า (ภาพจากโครงการเผยแพร่การขึ้นทะเบียนวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16)
ผู้สนใจร่วมลงชื่อสนับสนุนวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนได้ที่ www.change.org
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น