คอลัมบัวหลวง Money Tips
โดยพิชชาภา ศุภวัฒนกุล
Research กองทุนบัวหลวง
การท่องเที่ยวในย่านอุษาคเนย์มีปัจจัยเกื้อหนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ของสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ปริมาณนักเดินทางที่ขยายตามการเติบโตของชนชั้นกลาง ธุรกิจการบินต้นทุนต่ำที่กำลังคึกคัก การโหมอัปโหลดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวสู่อินเทอร์เน็ตโดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีต้นทุนในการโฆษณา การเติบโตของธุรกิจไมซ์ (MICE) แนวโน้มนักเดินทางวัยเกษียณที่กำลังมาแรง และความนิยมในการเดินทางพักผ่อนควบคู่กับรักษาตัว เป็นต้น
ทว่ายังเกิดแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวอีกหนึ่งกระแสที่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกต้องจับตา และก้าวตามให้ทัน นั่นคือ กระแสสำนึกว่าด้วยความยั่งยืน (sustainability)
นับตั้งแต่เปิดฉากสหัสวรรษนี้ ความตื่นตัวว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนก็เริ่มลงหลักปักฐานอย่างจริงจัง คนทั่วโลกคุ้นชินและคิดถึงวิกฤตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ รู้จักประโยชน์ของรีไซเคิล เข้าใจผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อชุมชน เพราะนี่คืออีกด้านของมนุษย์ การดำรงชีวิตของเราย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมมากน้อยต่างกันไปตามแต่ละปัจเจก
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ไม่รีรอที่จะก้าวเดินไปพร้อมกระแสดังกล่าวจนเกิดกระแส การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ที่กำลังเฟื่องฟูขึ้น
ก่อนอื่นใดเราควรเข้าใจก่อนว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมิใช่แค่ทัวร์เดินป่าเท่านั้น แต่อาจเป็นกิจกรรมคู่ขนานไปกับการชมธรรมชาติอันงดงามได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
IUCN (World Conservation Union) ให้นิยามว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้นช่วยส่งเสริม “ให้เกิดสำนึกรับผิดชอบ ท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งชื่นชมต่อวัฒนธรรมและความหลากหลายของพื้นถิ่น สนับสนุนภารกิจงานอนุรักษ์ของชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่คนในชุมชน โดยเปิดให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”
ผู้เขียนขอยกบางตัวอย่างในประเทศอาเซียน เพื่อชี้ให้เห็นความคิดอันสร้างสรรค์ว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะเดินเคียงคู่ไปกับความยั่งยืนได้ โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะยังประโยชน์แก่ตัวเรา ภาคธุรกิจ และผู้คนทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง และขอเชิญชวนให้ผู้อ่านรู้จักกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งในประเทศไทย ดังต่อไปนี้
ลาว......“เนชันแนลจีโอกราฟิก” ขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังขึ้นชื่อลือชาในเวลานี้ สืบเนื่องจากนโยบายภาครัฐที่จะสร้างให้ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้เป็น “รัฐนิเวศ-ประชาชาติ” (eco-nation)
นิตยสาร Forbes ได้ยกตัวอย่างธุรกิจรีสอร์ตแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Boat Landing Guest House ซึ่งเป็นบังกะโลริมแม่น้ำที่ตั้งอยู่ใกล้เขตป่าสงวนทางตอนเหนือของประเทศ โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจมุ่งมั่นที่จะลดการทิ้งของเสียอย่างจริงจังด้วยการลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลและโรงหมักปุ๋ยเพื่อขจัดของเสียที่เกิดจากธุรกิจของตัวเอง จนเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้คำรับรองว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจาก Green Globe ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยยกมาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ธุรกิจโรงแรม
อินโดนีเซีย.....อินโดนีเซียมีแหล่งที่พักในแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่จำนวนมาก โดยทำเนียบ World’s Best Green Vacations ของนิตยสาร Forbes ยกรีสอร์ตที่ชื่อว่า Misool Eco Resort ให้ตื่นตาตื่นใจกันว่าเป็นแหล่งพักตากอากาศที่อัศจรรย์สมคำร่ำลือ ตัวกระท่อมที่พักทอดตัวเป็นแนวเรียงรายเหนือผิวน้ำอันใสสะอาด จนผู้มาเยือนใช้เป็นจุดดำน้ำชมโลกใต้ท้องทะเลได้เลย รีสอร์ตแห่งนี้อยู่บนเกาะส่วนตัวอันสงบเงียบ ต้องใช้เวลาเดินทางทางอากาศจากกรุงจาการ์ตาถึงห้าชั่วโมง นอกจากนี้แล้ว รีสอร์ตยังรับหน้าที่เฝ้าดูแลทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นน้ำกว่า 640 ตารางกิโลเมตร ด้วยวางข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านว่าจะไม่หาปลาในแถบนี้มาตั้งแต่ปี 2005
ฟิลิปปินส์......ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะทำให้ฟิลิปปินส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะโปรแกรมอันโดดเด่นจนหาที่ไหนเทียบได้ยาก นั่นคือการชมฉลามวาฬ หรือ Whale Shark Ecotourism Program ที่เมืองดอนซอล
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Lifestyle Asia ระบุว่า ดอนซอลเป็นเมืองเล็กๆ ของฟิลิปปินส์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ศูนย์รวมฉลามวาฬของโลก” ประหนึ่งเป็นเมืองหลวงของประชากรสัตว์น้ำสายพันธุ์นี้ ทั้งนี้ ฉลามวาฬจะเริ่มชุกชุมในช่วงพฤศจิกายนไปจนถึงมิถุนายน และจะว่ายมาโชว์ตัวให้เห็นชัดๆ ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม โดยเมืองนี้มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ประยุกต์ใช้ในงานอนุรักษ์ประชากรฉลามวาฬ ทำให้การท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนละแวกนั้นเป็นจำนวนมาก
ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดจากแรงสนับสนุนของรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ส่งเสริมให้เกิดทัวร์ชมฉลามวาฬในสภาพธรรมชาติ จนปัจจุบันบริเวณดังกล่าวกลายเป็นเขตอนุรักษ์ทางทะเลให้ได้อยู่อาศัยและสืบพันธุ์อย่างปลอดภัยจากการถูกล่า
มาเลเซีย.....ในมาเลเซียมีโครงการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจมากมาย นับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวคล้ายกับการเดินป่าในประเทศไทย ไปจนถึงสถานตากอากาศในเขตป่าร้อนชื้นที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม
Taman Negara ขึ้นทะเบียนเป็นป่าอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 1938 จนปัจจุบันเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 4,343 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าฝนเมืองร้อนเก่าแก่ผืนหนึ่งบนโลก และเป็นที่หมายปลายทางในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่รู้จักกันดี ป่าแห่งนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์หายากมากมาย เช่น เสือมาลายา แรดสุมาตรา นกแว่นสีน้ำตาล เป็นต้น เอกลักษณ์อันโดดเด่นของป่าดงดิบผืนนี้คือทางเดินชมธรรมชาติ ที่เป็นสะพานแขวนเชือกลัดเลาะไปตามสภาพป่า สูงเหนือพื้น 45 เมตร ยาวถึง 510 เมตร ซึ่งเป็นสะพานแขวนเชือกที่มีทางเดินยาวที่สุดในโลกอีกด้วย
หากกำลังหาที่พักแรมแนวนิเวศในเขตป่าดงดิบ ในรายงาน Top Spots for Southeast Asian Ecotourism ของ Forbes ช่วยชี้เป้าไปที่บ้านพักในเมือง Sukau ที่นั่นเขาต้มน้ำร้อนด้วยพลังแสงอาทิตย์ พร้อมกับสร้างสะพานสัตว์เดินข้าม (wildlife crossing) เพื่อช่วยให้ฝูงช้างอพยพได้สะดวกขึ้น และด้วยสภาพทิวทัศน์ที่มีทั้งป่าทึบ ท้องนา และแม่น้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นแหล่งให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้งานด้านอนุรักษ์พันธุ์เต่าพื้นเมือง ที่สำคัญ ผลกำไรของรีสอร์ตแห่งนี้ยังนำกลับไปเจือจุนโครงการอนุรักษ์อื่นๆ เช่น รักษาฟื้นฟูสัตว์ป่า ปลูกต้นไม้ ฯลฯ อีกด้วย
ประเทศไทย.....กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พยายามวางมาตรการกำกับดูแลการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาให้คงอยู่ตามสภาพธรรมชาติอย่างดีที่สุด ดังตัวอย่างจากจังหวัดกระบี่ที่วางกฎระเบียบดูแลนักท่องเที่ยวตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ในทะเลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดบริเวณเพื่อดำน้ำดูปะการังที่แน่นอนเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล (กิจกรรมดำน้ำดูปะการังทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลจนไม่อาจเยียวยาได้) และยังวางกฎคุมการทิ้งขยะ ให้นักท่องเที่ยวจำใส่ใจว่า “เอาอะไรมา ก็เอากลับไปด้วยเสมอ”
หากมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน ก็จะรับทราบถึงความคิดริเริ่มด้านอนุรักษ์ที่น่าชื่นชม เช่นความร่วมมือของชุมชนที่จะจัดเรือของตัวเองออกเก็บขยะตามเส้นทางเดินเรือของเรือสำราญจากบริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ นำของไม่พึงประสงค์ในท้องทะเลขึ้นมาทิ้งบนบก
การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในไทยอีกหนึ่งงาน ได้แก่ โครงการความร่วมมือกับ UNEP (United Nations Environment Programme) ในชื่อ “โครงการพื้นที่สาธิตการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและแนวปะการัง หมู่เกาะช้าง” ระหว่างปี 2005-2008 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงหรือขจัดภัยคุกคามแนวปะการังชายฝั่งเกาะช้าง ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในการดำเนินงานอนุรักษ์ของอีกหลายพื้นที่
กล่าวได้ว่าโครงการนี้ช่วยให้ “ชุมชนท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของแนวปะการังชายฝั่งของหมู่เกาะช้างมากกว่าเดิม และประสานความร่วมมือจากกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งคนในชุมชน เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ทำประมงพื้นบ้านไปพร้อมๆ กับการลดวิถีหาปลาแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และแน่นอนว่าการบริหารทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนจะพัฒนาร่วมกับการท่องเที่ยวบนหมู่เกาะแห่งนี้ได้”
ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ใด เราพึงต้องสำนึกและระลึกอยู่เสมอถึงหน้าที่ที่จะต้องอนุรักษ์และมีส่วนในความยั่งยืนของที่นั่น ประเด็นนี้หาใช่แค่พันธกิจอันแสนโรแมนติกที่ใครๆ ก็อยากแสดงตัวปกปักรักษาโลก แต่เป็นหน้าที่ที่ไม่ต่างจากงานหรือธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของนั่นเอง คือต้องมุ่งหวังเป็นธุรกิจที่เกิดรายได้ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน รายได้จากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจะยังประโยชน์คืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยืนนานและยาวไกล
ในที่สุดแล้ว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็เป็นประหนึ่งการเดินทางไปยังดินแดนในฝัน เมื่อไปถึงแล้วก็อยากกลับไปซ้ำอีกเรื่อยๆ การจะรักษาดินแดนแห่งนั้นให้เป็นดินแดนในฝันตลอดไป ทำให้คุณต้องเดินทางไปเยือนอย่างมีสำนึกรับผิดชอบนั่นเอง