จากกรณี นักท่องเที่ยวสาวชาวไทยลงเล่นน้ำที่ชายหาดเกาะพะงัน ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในเพจ Thon Thamrongnawasawat กล่าวถึง “แมงกระพรุนกล่องและการป้องกัน”
สำหรับข้อความที่โพสต์จากเฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีดังนี้
ในเรื่องนักเที่ยวที่ถูกพิษแมงกะพรุนที่เกาะพงัน ขอแสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้ายครับ มีสื่อโทรมาสอบถามอยู่บ้าง ก็คงต้องตอบกันจริงจังว่า
1) ในปัจจุบัน แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว
2) สาเหตุอาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้หาทางเลี่ยงเองครับ
3) กะพรุนกล่องพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในน้ำตื้นก็เป็นไปได้ พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง
4) เนื่องจากมีขนาดเล็ก (เท่ากำปั้น) เคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่จะมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก
5) หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมา มีโอกาสเสียชีวิต
6) ทางป้องกันคือใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน
7) หากโดนจะรู้ตัวทันที เพราะเหมือนโดนไฟฟ้าชอตหรือแส้ฟาด ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด
8) ใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด
9) ราดด้วยน้ำส้มสายชูปริมาณมาก และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้
10) หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
11) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและหน่วยงานท้องถิ่น ควรพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว
เท่าที่คิดออกตอนนี้ครับ สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ
ข้อความที่โพสต์โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อ่านเพิ่มเติมที่เพจ https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
ในปัจจุบันแมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษรุนแรงมากที่สุด เมื่อถูกพิษที่บริเวณผิวหนังในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง ถ้าปฐมพยาบาลไม่ทันจะทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ แมงกะพรุนกล่องมักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาดในพื้นที่อ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องมักจะหาเหยื่อพวกลูกกุ้ง ลูกปลาในพื้นที่ลักษณะนี้ เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com