xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์”ชี้ทะเลวิกฤต-อวนลากอวนรุนต้นเหตุ จี้รัฐอย่าคุมแค่อาชญาบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ถึงกรณีการจัดระเบียบเรือประมงพาณิชย์ของรัฐบาลในขณะนี้ว่า

ผมขอสรุปเรื่องประมง IUU และหยุดจับปลา ให้สั้นและอ่านง่าย เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1) ประเทศไทยจับปลาเกินศักยภาพ โดยมีข้อมูลสถิติจากกรมประมง เดิมทีเมื่อ 50 ปีก่อน เราลากอวนได้เกิน 300 กิโลกรัม/ชั่วโมง ปัจจุบัน เหลือแค่ 20-25 กิโล/ชั่วโมง

2) ศักยภาพของการผลิตปลามีหลายกลุ่ม เช่น สัตว์น้ำหน้าดิน ปลาผิวน้ำ ฯลฯ ปัญหาสำคัญคือสัตว์หน้าดินถึงขั้นวิกฤต ในกลุ่มอื่นบางกลุ่มก็มีปัญหา

3) กรมประมงเตือนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2526 ให้มีการควบคุม โดยใช้อาชญาบัตรประมง โดยควบคุมเครื่องมือประมงแต่ละรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การควบคุมที่จริงจังไม่เกิดขึ้น แต่ไปควบคุมเฉพาะอาชญาบัตร แต่ไม่มีการตามตรวจภาคปฏิบัติ

4) เรือประมงจำนวนมากจึงไม่มีอาชญาบัตร หรือมีอาชญาบัตรผิดประเภท แต่ยังทำประมงอยู่ ทำให้เราควบคุมการประมงไม่ได้ตามหลักวิชาการ ประชากรสัตว์น้ำในทะเลจึงเหลือน้อยมาตลอด ทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มอื่น เช่น ประมงพื้นบ้าน

5) เมื่อ EU ต้องการจะตรวจสอบสัตว์น้ำที่ส่งเข้าไป พบว่าประมงไทยไม่มีการคุม ทำให้เกิดกรณี IUU หรือประมงใบเหลือง ซึ่งอาจมีอีกหลายชาติทำตาม

6) รัฐบาลพยายามปรับปรุงให้เป็นไปตามกติกา ส่วนหนึ่งคือเพื่อลดแรงกดดัน อีกส่วนคือเพื่อจัดการปัญหาที่สะสมมานานให้คลี่คลาย

7) จุดสำคัญคือแรงงานและการควบคุมเรือประมง

8) ในส่วนของแรงงาน มีความติดขัดอยู่บ้างในช่างฝีมือ เช่น ช่างกล ไต๋ ยังมีปัญหาค่าใช้จ่ายและชั่วโมงทำงานที่อาจติดขัด

9) ในส่วนของการควบคุม ในเรื่องการเข้าออกท่า (PIPO) หรืออื่นๆ พอปฏิบัติได้ แต่ยังต้องทดสอบระบบดาวเทียมติดตามเรือที่อาจใช้เวลาเตรียมตัวทดลองระบบอีกพอสมควร

10) ปัญหาสำคัญอยู่ที่อาชญาบัตร เพราะมีจำนวนมาก (มากๆ) ที่ไม่มีหรือผิดประเภท ทำให้เรือจำนวนมากหยุดทำการประมง โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐพิจารณา

11) ข้อเสนอมี 3 ข้อ เช่น ยืดเวลา ให้รัฐเร่งอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตต่างๆ แต่สำคัญสุดคืออาชญาบัตร

12) ข้อเสนอคือให้ออกเพิ่มตามเครื่องมือประมงที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่หลายฝ่ายบอกว่าวิธีนั้นเท่ากับตามใจประมงเพียงฝ่ายเดียว ชาวประมงก็ขอความเห็นใจ ขึ้นกับว่าจะคุยกันแล้วจบตรงไหนครับ

13) ระหว่างนี้ เรือประมงจำนวนหนึ่งต้องจอดไปก่อน จนกว่าภาวะนี้จะผ่านไป แต่ปัญหาจะไปอยู่ที่ตลาดด้วย เพราะสัตว์น้ำมีน้อย ตลาดบางแห่งอาจปิด บางแห่งอาจชะลอลง ราคาสัตว์น้ำบางพื้นที่สูงขึ้น

14) ความคิดเห็นของผมคือให้ยึดวิชาการเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยยึดข้อมูลส่วนนั้น และทำให้เกิดบริหารจัดการที่เป็นปัญหาสะสม แต่อาจต้องมีการพูดคุย เพราะประมงปัจจุบันเป็นแบบหลากหลายเครื่องมือ จะทำอย่างไรกับตรงนี้

15) ในส่วนของอวนลากอวนรุน ที่ชัดเจนว่ามีปัญหา สัตว์น้ำหน้าดินก็มีปัญหา การควบคุมคงต้องทำแบบเคร่งครัดครับ

16) ทางช่วยเหลือคือกลับไปยึดยุทธศาสตร์ประมงแห่งชาติครั้งแรกๆ การประมงธรรมชาติมีไว้เพื่อเลี้ยงผู้คนในประเทศกับนักท่องเที่ยวก็หมดแล้ว เราต้องไปพัฒนาการเพาะเลี้ยงให้เน้นการส่งออก

17) การเพาะเลี้ยงต้องไม่เหลื่อมล้ำ เราต้องช่วยการเพาะเลี้ยงของชาวบ้านให้ได้มาตรฐาน พัฒนาห้องเย็นและการขนส่งเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงเหล่านี้ ให้ทัดเทียมกับบริษัทใหญ่ ที่สำคัญ ต้องเป็นการเพาะเลี้ยงในพื้นที่ถูกกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบสวล.

18) การประมงนอกน่านน้ำเป็นอีกส่วนที่เราต้องดูให้ดี อาจไปวินๆกับประเทศห่างไกล (ใกล้ๆ เขาไม่ยอมให้จับแล้ว) อาจสนับสนุนกิจกรรมต่อเนื่องแลละผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ห้องเย็นหรือขายสัตว์น้ำในประเทศอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุป ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่เราต้องติดตามอย่างต่อเนื่องครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น