ตราด - นายกสมาคมประมงคลองใหญ่ พร้อมสมาชิกประกาศหยุดทำประมงทั้งหมด เริ่ม 1 ก.ค. ตามที่รัฐบาลประกาศจะตรวจจับเรือประมงไม่ถูกต้อง อ้างไม่คุ้มค่าปรับลำละ 1 แสนบาท พร้อมขอให้รัฐทบทวนใหม่หากไทยต้องสูญรายได้นับแสนล้านบาทต่อการที่ต้องแลกกับ 3 หมื่นล้านที่อียูจะไม่ซื้ออาหารทะเลจากไทย
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ท่าเทียบเรือประมงชลาลัย ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด นายอมรศักดิ์ วรวิจิตรพงษ์ นายกสมาคมประมงอ.คลองใหญ่ นายอุบล ชลาลัย เจ้าของท่าเรือชลาลัย นายสุรพงษ์ อินทรประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมประมง จ.ตราด สมาคมประมงคลองใหญ่ และชาวประมงกว่า 100 คน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์หยุดทำการประมงทั้งหมด 800 ลำ พร้อมเขียนข้อความเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลเห็นใจ ว่า วันที่ 1 ก.ค.58 ไม่สามารถออกทำประมงได้ เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามที่รัฐบาลดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ได้
นายอมรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ต้องมารวมตัวเรียกร้องขอความเห็นใจต่อรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลประกาศไว้ว่า เรือประมงที่ไม่มีอาชญาบัตร ไม่มีไต๋เรือเป็นคนไทย และเครื่องมือประมงที่ไม่ตรงกับเรือประมง และแรงงานประมงถูกต้อง ซึ่งเรือประมงร้อยละ 90 ไม่ถูกต้อง หากออกไปทำประมงจะถูกจับดำเนินคดี เพราะมีเรือของทหารเรือตรวจจับอยู่ และหากถูกจับจะต้องเสียค่าปรับและถูกดำเนินคดี ต้องจ่ายเงิน 100,000 บาทเป็นค่าปรับ และอาจจะถูกดำเนินคดีอีกหลายคดี
ดังนั้น วันที่ 1 ก.ค.ที่รัฐบาลประกาศเป็นวันเริ่มต้นที่จะให้เรือประมงต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด ชาวประมงไม่มีทางเลือกต้องหยุดทำการประมงโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจประมงคลองใหญ่ และ จ.ตราด ต้องได้รับผลกระทบ
“ความเสียหายที่ธุรกิจประมงจะได้รับผลกระทบมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านต่อปี และที่สำคัญที่สุด การหยุดทำประมงครั้งนี้ทำทั่วทั้งประเทศพร้อมกัน ซึ่งธุรกิจประมงที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทจะได้รับความเสียหาย วันนี้ประเทศไทยยอมทำตามแรงกดดันของกลุ่มประเทศยุโรปที่ซื้อสินค้าประมงเพียง 3 หมื่นล้าน แต่ความเสียหายของไทยจะเสียกว่า 1 แสนล้าน ชาวประมงคลองใหญ่จึงขอให้รัฐบาลได้เข้าใจ และหันไปค้าขายกับประเทศจีน และประเทศอื่นดีกว่า”
ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ชาวประมงตราดได้รับความเดือนร้อนจากมาตรการซึ่งไม่เข้าใจปัญหาของชาวประมง รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ชาวประมงก่อน ทั้งเรื่องอาชญาบัตรที่ไม่ได้ออกให้ชาวประมง และเรื่องไต๋เรือที่เป็นคนไทยไม่มีแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา คือ สิ่งที่รัฐบาลต้องยอมรับ และไม่ควรจะทำให้ธุรกิจประมงของไทยที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทได้รับความเสียหาย และไม่ใช่เฉพาะธุรกิจประมง แต่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็ได้รับผลกระทบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าเรือประมงบ้านคลองมะขาม ต.หาดเล็ก ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 100 ลำ ได้รวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่ง นายสรวุฒิ ขาวคม ชาวประมงพื้นบ้าน อ.คลองใหญ่ บอกว่า ทุกวันนี้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งเรื่องการเสียภาษี และไต๋เรือ ซึ่งเรือประมงพื้นบ้าน จึงขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาก่อนที่จะดำเนินมาตรการ
ทั้งนี้ เรือประมงในอำเภอคลองใหญ่ เป็นเรือประมงพาณิชย์ 500 ลำ ประมงพื้นบ้าน 400 ลำ ถูกกฎหมาย 400 ลำ อีกกว่า 400 ลำอยู่ระหว่างดำเนินการ