xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทร.ลั่นเรือประมงต้องทำตาม กม. ไม่แคร์นัดหยุดจอด เชื่อไอยูยูจะมีผลทางบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (แฟ้มภาพ)
“ไกรสร” แจงอะลุ้มอล่วยเรือประมงไม่มีอาชญาบัตรถึงที่สุดแล้ว ลั่นต้องทำให้ถูกกฎหมาย ไม่แคร์นัดหยุดจอดเรือ ไม่ปิดกั้นประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น เลื่อนใช้เครื่องตรวจจับสัญญาณ 6 เดือน แจงประมงน้ำตื้นไม่ยุ่ง รับทำงานเหมือน ตร. ต้องตรวจใบอนุญาต ย้อนปัญหาหมักหมม 20 ปีต้องแก้ เผย ก.ย.ไอยูยูส่งตัวแทนคุย เชื่อผลจะออกมาทางบวก



วันนี้ (1 ก.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศป.มผ.) กล่าวถึงกรณีชาวประมงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีวันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันให้เรือประมงที่ไม่มีอาชญาบัตรถูกต้องทำการประมงว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ในกรอบของ ศป.มผ. ก็พยายามอะลุ้มอล่วยที่สุดแล้ว เรือประมงที่ผิดกฎหมายไม่มีอาชญาบัตร หรือความไม่พร้อมของเรือที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2539 เมื่อมีปัญหาเราก็จำเป็นต้องแก้ไขทีละขั้นตอน ดังนั้นเรือประมงที่พร้อมก็สามารถออกหาปลาได้ ส่วนเรือที่ไม่พร้อมต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะมีเรือที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับกรณีเรือประมงประกาศจะนัดหยุดจอดเรือที่อาจส่งผลกระทบหลายอย่างนั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นอะไร ก็คงต้องหยุดไป เพราะพวกเขาไม่พร้อม ในเมื่อรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ถ้ามีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น หากอะลุ้มอล่วยให้คงทำอะไรไม่ได้ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเรือประมงที่ถูกกฎหมายประมาณ 20,000 ลำได้ ส่วนการหารือกับกลุ่มเรือประมงเพื่อหาทางออกร่วมกัน ประเด็นนี้ต้องเข้าใจว่าการประชุมตนไม่เคยปิดกั้น รวมทั้งสมาคมทั้งในและนอกน่านน้ำ ตลอดจนสมาคมส่งออกก็สามารถเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้เพื่อหาทางออก และให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ที่ดีที่สุด

พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องตรวจจับสัญญาณ VMS เรายังไม่นำมาใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่เราจะเลื่อนไปใช้อีก 6 เดือน ทั้งนี้ตนต้องแก้ไขอะไรตามที่เรือประมงจะประกาศจอดเรือวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องมาแก้ไข หากแต่ผู้ประกอบการเรือประมงจะต้องแก้ไขปัญหาให้เข้ามาอยู่ในกรอบ ซึ่งเราอย่าไปมองโจทย์ตามพวกเขา ยกตัวอย่างถ้าไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ถ้าไปเอาคนกลุ่มนี้ไปขับรถตามท้องถนนจะไปชนใครหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กฎหมายได้ระบุชัดเจนต้องมีใบอนุญาตขับขี่ถึงจะสามารถขับรถได้ ก็เช่นเดียวกับการจับสัตว์น้ำในทะเลก็มีกรอบกำหนดอยู่ โดยทางกรมประมงพร้อมให้การสนับสนุน และเรือประมงที่ถูกกฎหมายมีเพียงพอต่อการออกจับปลา และเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชน ส่วนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ตนไม่ทราบคงต้องประเมินกันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามถึงกรณีชาวประมง จ.สมุทรสงคราม ออกมาเรียกร้องให้ ศป.มผ.ทบทวน เนื่องจากประกอบอาชีพบริเวณใกล้ฝั่ง ผบ.ศป.มผ.กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าประมงใกล้ฝั่งกับประมงพื้นบ้านแตกต่างกัน ซึ่งประมงพื้นบ้านทำการประมงห่างจากฝั่งเพียง 30,000 เมตร เป็นอวนลอยไม่มีผลกระทบใดๆ เลย และเป็นเพียงประมงครอบครัว ส่วนอวนลาก และอวนรุนนั้น ตรงนี้จะส่งผลกระทบ ทาง ศป.มผ.จะเป็นต้องตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นการประมงน้ำตื้นเราจะไม่ยุ่ง

“ทางเรือประมงต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่าทาง ศป.มผ.แก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้แก่ผู้ประกอบการประมง กฎหมายเขียนในภาพกว้าง ทุกคนต้องปรับเข้าหากฎหมาย ทั้งนี้การทำงานของเราก็เหมือนตำรวจ ถ้าไม่สวมหมวกกันน็อก หรือมีใบอนุญาตขับขี่ คงไม่ได้ และปัญหานี้ก็ปล่อยเรื้อรังมานาน อีกทั้งปัญหาอาชญาบัตรก็เกิดขึ้นมาเกือบ 20 ปีแล้ว เพราะปล่อยมานานไม่แก้ไขเลย จนกลายเป็นความเคยชิน” พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

ผบ.ศป.มผ.กล่าวถึงการที่ไอยูยูกำหนดมาตรการ 6 ข้อในการทำประมงว่า ทาง ศป.มผ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 2 เดือนแรกเกี่ยวกับนโยบายการประมง กับการแก้ไขกฎหมายได้ดำเนินการเสร็จ แต่อยู่ในช่วงการเสนอแก้ไขกฎหมาย และคาดว่า 1-2 เดือนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะส่งให้ไอยูยูรับทราบด้วย แต่ถ้ามีการท้วงติงมาเราก็จะแก้ไขให้เป็นไปตามหลักสากล อีกทั้งทาง ศป.มผ.จะปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งมีแผนรองรับ การตรวจสอบย้อนกลับ ในขณะเดียวกันทางไอยูยูจะส่งตัวแทนมาพูดคุยกับเราในช่วงเดือนกันยายน โดยจะไม่มีการพูดถึงใบเหลืองใบแดง ถ้าเราดำเนินการไปตามกรอบว่าจะตอบโจทย์หรือไม่ แต่ตนคิดว่า ผลน่าจะออกมาในทางบวก ส่วนจะปลดออกจากใบเหลืองหรือไม่ ตนยังไม่ทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น