ตรัง - คุมเข้มเรือประมง ตั้ง 2 ชุดปฏิบัติการ ขณะที่นายกสมาคมประมงกันตัง เผยธุรกิจประมงได้รับผลกระทบทั้งระบบ ร้องรัฐผ่อนผันเพิ่ม ไม่เช่นนั้นคงต้องขายเรือทิ้ง
วันนี้ (1 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.นายบุญครื้น พรเดชอนันต์ ประมงอำเภอกันตัง จ.ตรัง พร้อมทหาร ตำรวจน้ำ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมแจ้งเข้าออกเรือประมง อ.กันตัง จ.ตรัง ออกสำรวจปริมาณอาหารทะเล และอาหารทะเลแช่แข็งตามแพปลาต่างๆ ในอำเภอกันตัง หลังจากที่วันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้เรือน้ำหนักตั้งแต่ 30 ตันกรอส ที่ไม่มีอาชญาบัตรออกทำการประมงในทะเล ทำให้เรือประมงขนาดใหญ่ต้องจอดเทียบท่ากว่า 300 ลำ แต่ยังไม่พบว่าอาหารทะเลเริ่มขาดแคลน เนื่องจากเรือหลายสิบลำที่ออกจับสัตว์น้ำไปก่อนหน้านี้เพิ่งจะกลับเข้าฝั่ง จึงยังคงมีปริมาณสัตว์น้ำที่เพียงพอส่งจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ อีก 3-4 วัน
เช่นเดียวกับแพปลาอีกหลายแห่งในอำเภอกันตัง ต่างยังคงมีปริมาณสัตว์น้ำจำนวนมาก และยังไม่มีการปรับขึ้นราคาตลอดสัปดาห์นี้ ส่วนราคาอาหารทะเลในตลาดสดเทศบาลเมืองกันตังยังไม่พบว่ามีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มาตรการคุมเข้มมาตรฐานเรือประมงขนาดใหญ่ในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยแล้ว ยังทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่งทั้ง 5 อำเภอใน จ.ตรัง มีโอกาสขายอาหารทะเลสดๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านจึงเตรียมออกเรือจับสัตว์น้ำชายฝั่งมาส่งขายบรรดาร้านค้าร้านอาหารต่างๆ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้ราคาดีกว่าที่ผ่านๆ มา
นายบุญครื้น พรเดชอนันต์ ประมงอำเภอกันตัง กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ในพื้นที่อำเภอกันตัง มีเรือที่มาขออาชญาบัตรที่ถูกต้อง จำนวน 273 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรืออวนลาก อวนล้อม เรือเบ็ด มีเรือที่มีอาชญาบัตรผิดประเภท ส่วนใหญ่เป็นเรืออวนลาก แลพอวนล้อม จำนวน 57 ลำ ซึ่งไม่ได้ออกอาชญาบัตรให้ วันนี้ (1 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันแรก ได้มีการจัดตั้งชุดปฎิบัติการ 2 ชุด เป็นชุดสำรวจออกอาชญาบัตร และชุดที่จะออกลาดตระเวนตรวจสอบเรือที่ผิดประเภท โดยจะมีการตรวจเรือทุกลำที่เข้าออก สำหรับเรือที่ผิดประเภทจะไม่อนุญาตให้ออกทำการประมงอย่างเด็ดขาด โดยที่ผ่านมา 2 เดือน ได้มีการประชาสัมพันธ์ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนบูรณาการทำงานด้วยกัน เมื่อกฎหมายบังคับใช้ก็ต้องดำเนินการกันอย่างเข้มข้น และจริงจัง แต่ขณะนี้ยังไม่พบมีการฝ่าฝืน เนื่องจากผู้ประกอบการประมงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งเรือที่ผิดประเภทจะกลับไปจอดภายนบริเวณแพของตนเอง สำหรับเรือที่ผิดกฎหมายจริงๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 20%
นายสมพล จิโรจน์มนตรี นายกสมาคมประมงกันตัง กล่าวว่า หลังรัฐบาลมีการผ่อนผันให้ชาวประมงจดอาชญาบัตรให้ถูกต้องเป็นเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา และหมดเขตในวันที่ 30 มิย.แล้วนั้น จนถึงขณะนี้ชาวประมงเกือบครึ่งที่ยังคงมีปัญหาอาชญาบัตรไม่ตรงกับเรือที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ก็ได้แต่รอว่ารัฐจะผ่อนผันได้อีกหรือไม่ หรือจะมีทางออกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากแก้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องจอดเรือ และเลิกอาชีพนี้ไปเลย และตนเชื่อว่าหากเรือหยุดไปจำนวนมากอาหารทะเลก็น้อยลงส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน และอาจถึงขั้นเลิกจ้างแรงงาน และขายเรือทิ้ง โดยตอนนี้ก็มีบางรายบอกขายเรือบางแล้วแต่หาคนซื้อยาก อย่างไรก็ตาม ต้องดูท่าทีของรัฐบาลอีกประมาณ 4-5 วันข้างหน้าว่าจะกำหนดมาตรการอย่างไรต่อไป