xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.ธรณ์"ฟันธง 3 สาเหตุแมงกระพรุนกล่องเพิ่ม เกิดจากฝีมือมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลังจากที่เกิดเหตุนักท่องเที่ยวคนไทยถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้ (6 ส.ค.2558) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล ระบุพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลมีผลทำให้จำนวนแมงกะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นและย้อนมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์เอง

ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ได้โพสต์เฟซบุ๊คอธิบายถึงสาเหตุที่แมงกะพรุนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นว่าเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุคือ

1) น้ำเสียและน้ำจากภาคการเกษตรที่มีปุ๋ยเคมีมาก มีธาตุอาหารสูง แพลงก์ตอนบลูม (น้ำเปลี่ยนสี ขี้ปลาวาฬ เกิดประจำ) ลูกแมงกะพรุนมีอาหารมาก เพิ่มจำนวนอย่างเร็ว

2) เต่าทะเลที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร ลดน้อยลงมากจากปัญหาขยะทะเล การประมง และพื้นที่วางไข่

3) ภาวะโลกร้อนทำให้กระบวนการในทะเลเปลี่ยนแปลง หลายประเทศรายงานว่าแมงกะพรุนกล่องเพิ่มมากขึ้น

ดร.ธรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาเรื่องแมงกะพรุนกล่องในขณะนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การให้ความรู้เบื้องต้น การติดตั้งจุดปฐมพยาบาลและน้ำส้มสายชู อบรมคนริมทะเลเรื่องการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ปรับปรุงระบบ จัดทำแหล่งเล่นน้ำที่มีตาข่าย ฯลฯ

สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ดร.ธรณ์เสนอว่า มี 4 วิธี คือ 1) เพิ่มจำนวนประชากเต่าทะเล 2) จัดการปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง 3) จัดการแก้ปัญหาน้ำเสียให้สำเร็จ 4) จัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน

"ตอนนี้เราแก้ไขปลายเหตุเกือบเสร็จแล้ว คิดว่าในไม่ช้าคงครบถ้วนกระบวนความ แต่ต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็คงได้แต่ฝากไปว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคงต้องเริ่มเร่งมือ และฝากถึงประชาชนช่วยกันแก้ไขด้วยตัวเอง แม้จะน้อยนิด แต่เราคงไม่เป็นคนที่ทิ้งขยะลงทะเลแล้วทำให้เต่าตายทำให้แมงกะพรุนเพิ่มขึ้นแล้วย้อนมาทำร้ายเราและลูกหลานใช่ไหมครับ" ดร.ธรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น