xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักเหล่าสมุนตัวน้อยของ แอนท์-แมน ที่ “พิพิธภัณฑ์มด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศภายใน “พิพิธภัณฑ์มด”
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

หลังจากฉันได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์มดมหากาฬ” หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อ “แอนท์-แมน” (Ant-Man) ฉันก็รู้สึกทึ่งในเหล่า “มด” ตัวน้อยๆ ที่มีฤทธิ์มากไม่สมกับขนาดตัวเลย และด้วยความอยากรู้อยากเห็น ฉันจึงได้ตัดสินใจเดินทางมาที่ “พิพิธภัณฑ์มด” เพื่อมาศึกษาและมาทำความรู้จักกับมด แมลงขนาดเล็กที่มีความมหัศจรรย์มากมาย

พิพิธภัณฑ์มด ตั้งอยู่ที่ ตึกวินิจวนันดร ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องราวเกี่ยวกับมด ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมา การดำเนินชีวิต กับสืบพันธุ์ พร้อมทั้งมีการรวบรวมมดสต๊าฟกว่า 600 ชนิดจากทั่วโลก มาจัดแสดงให้ได้ชม และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 ปี และครบรอบ 72 ปี คณะวนศาสตร์ ซึ่งได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์มดแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก
รูปร่างของมดน้อย มี 4 ส่วน
เมื่อฉันเดินทางมาถึงตึกวินิจวนันดร ก็ได้พบกับบันไดที่มีหุ่นจำลองมดตัวใหญ่ห้อยอยู่ด้านบน เป็นทางเดินทอดยาวขึ้นไปสู่ชั้นสองที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มด และพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนจัดแสดง โดยในส่วนแรกมีชื่อว่า "มหัศจรรย์แห่งมด" ในส่วนนี้ได้จัดแสดงให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เดี่ยวกับมด ซึ่งฉันทำให้ฉันได้รู้ว่า มดเป็นแมลงที่มีการสร้างรังเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ บางรังมีจำนวนประชากรมากถึงล้านตัว โดยในรังจะมีการแบ่งชั้นวรรณะกันทำหน้าที่ คือ "มดราชินี" มดตัวเมียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรัง มีหน้าที่ออกไข่ และควบคุมกิจกรรมทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นภายในรังมด ลำดับต่อมคือ “มดงาน” เป็นมดเพศเมียเป็นหมัน หน้าที่หาอาหาร สร้างและซ่อมแซมรัง ปกป้องรังจากศัตรู ดูแลตัวอ่อน และงานอื่นๆ ทั่วไปเป็นวรรณะที่มีจำนวนมากที่สุดในรัง และ วรรณะสืบพันธุ์ เป็นมดเพศผู้ และราชินี เพศเมีย มีหน้าที่สืบพันธุ์
ใช้แว่นขยายส่องดู “มดสต๊าฟจิ๋ว”
และในส่วนนี้ก็ยังทำให้ฉันรู้จักกับรูปร่างของมดมากยิ่งขึ้น ซึ่งมดนั้นโดยลำตัวของมดนั้นจะถูกแบ่ง 4 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก ส่วนเอว และส่วนท้อง และได้รู้ว่าเพิ่มขึ้นว่า การแตะหนวดกันของมดที่ฉันเห็นจนชินตา คือวิถีการสื่อสารกัน แต่ละครั้งจะมีการหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า "ฟีโรโมน" ออกมา ซึ่งสารเคมีตั้งนี้เป็นสารเคมีที่มดใช้เป็นเข้มทิศเพื่อเดินหาอาหารและกลับรัง ใช้ค้นหาคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งมดแต่ละรังก็จะมีฟีโรโมนที่แตกต่างกันออกไป
จอภาพจัดแสดง “ที่สุดของมดไทย”
ถัดมาฉันก็เดินมาดูส่วนที่ 2 ในชื่อ "สายใยสัมพันธ์แห่งมด" เป็นการแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของมด ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น มดกับระบบนิเวศ มดกับสัตว์อื่นๆ แม้แต่กับมนุษย์อย่างเราก็มีความเกี่ยวข้องกับมดมาอย่างช้านาน ซึ่งทำให้ฉันได้รู้ว่ามดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ของความสมดุลในระบบนิเวศ และในจุดนี้ก็ยังมีการนำมดสต๊าฟ ทั้งชนิดที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดงให้ชมกันอีกด้วย โดยจะมีแว่นขยายให้เราเอาไว้ส่องรูปร่างหน้าตาของมดแต่ละชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร บางสายชนิดก็มีส่วนหัวที่ใหญ่ที่ดูแล้วคงกัดเจ็บน่าดู บางชนิดก็มีส่วนท้องที่ใหญ่เพื่อเก็บน้ำหวาน มองๆ แล้วก็เพลินตาเป็นอย่างดี
ส่วนจดแสดง คุณค่าอนันต์แห่งมด
และในจุดนี้ยังมีจอภาพจัดแสดง “ที่สุดของมดไทย” ให้ได้ชมว่ามดชนิดไหนเป็นสุดยอดมดในแบบต่างๆ ซึ่งฉันก็ไม่พลาดในจุดนี้ หลังจากกดปุ่มตามป้ายที่แสดงไว้ ฉันก็ได้รู้จัก มดที่น่ารักที่สุด ได้แก่ “เจ้ามดหลังโล่” เป็นมดขนาดกลางที่มีขนาดสวยงาม อาศัยเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ดุ ถ้าถูกรบกวนจะหยุดนิ่งและงอตัว และ มดที่ต่อยปวดที่สุดได้แก่ “มดตะนอย” เพราะมีพิษร้ายแรง มีต่อมพิษขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นมดที่ไม่ก้าวร้าว ส่วนในลำดับอื่นๆ ใครที่อยากรู้ว่ามีมดชนิดไหนบ้างเป็นที่สุดของมดไทย ก็ต้องเดินทางมาหาคำตอบกันเอาเองนะ แล้วคุณจะได้รู้ว่ามดนั้นมหัศจรรย์มากๆ
“พิพิธภัณฑ์มด” มี ไข่มด-ดักแด้มด ให้ชมด้วย
หลังจากชมส่วนที่สองเสร็จแล้ว ฉันก็เดินมาชมต่อที่ส่วนที่ 3 มีชื่อว่า "คุณค่าอนันต์แห่งมด" ส่วนนี้ทำให้ฉันได้รับรู้ว่า มดนั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง เช่น มดเป็นแหล่งอาหารของมมนุษย์ โดยเฉพาะไข่มดแดงที่มีการนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู มดเป็นผู้ช่วยกำจัดศัตรูพืชและผสมเกสรดอกไม้

และส่วนสุดท้าย ที่ฉันได้เดินมาชมคือ “ชีวิตอัศจรรย์แห่งมด" ส่วนนี้ทำให้ฉันได้รู้ว่า มดนั้นมหัศจรรย์จริงๆ ในหนึ่งรังจะมีจำนวนมากเท่าใด มดเหล่านั้นก็จะฟังคำสั่งมดราชินีเพียงตัวเดียว มีทั้งความสามัคคี ความขยัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ จนทำทุกๆ ภารกิจไปสู่ความสำเร็จ และในจุดนี้ได้มีการนำความมหัศจรรย์ในด้านต่างๆ นี้มาเป็นต้นแบบและข้อนำในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เราอีกด้วย ซึ่งฉันก็จะต้องมองเจ้ามดน้อยเป็นตัวอย่างในเรื่องความขยัน เพราะในปัจจุบันฉันยิ่งโตก็ยิ่งเริ่มขี้เกียจ ฉะนั้นแล้วฉันต้องเริ่มขยันขึ้น ไม่อย่างนั้นฉันคงต้องอายเจ้ามดน้อย และที่พิพิธภัณฑ์มดแห่งนี้นอกจากจะมีมดสต๊าฟ ให้ได้ชมกันแล้ว ก็ยังมีแมลงและแมงสต๊าฟหลากชนิดให้ได้ชมกันด้วยนะ
แมลงและแมงสต๊าฟสวยๆ หลากหลายชนิด ก็มีให้ชม
เสร็จสิ้นจากการเรียนรู้กับเจ้ามดตัวน้อย ก็ทำให้ฉันได้รู้ว่า พิพิธภัณฑ์มดจึงเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่ไม่ควรพลาด ซึ่งทำให้ได้รู้ว่า ทุกๆ อย่างไม่ได้วัดกันที่ขนาด และเราไม่ควรมองข้ามในความเล็กจิ๋วนั้นเลย แม้มดจะมีขนาดเล็กๆ แต่กลับมีความมหัศจรรย์มากมาย ที่บางอย่างเรายงเป็นแบบมดไม่ได้เลย

*****************************************************************************************************************************

พิพิธภัณฑ์มด ตั้งอยู่ที่ ตึกวินิจวนันดร ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เปิด-ปิด ตามวันและเวลาราชการ 8.30-16.30 น. ติดต่อสอบถาม โทร.0-2579-0176 ต่อ 510
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง สาย 522 , 545 , 177, 511 มาลงที่ม.เกษตรฯ บางเขน แล้วนั่งรถตะลัย (รถโดยสารสวัสดิการภายใน ม.เกษตรฯ) หรือวินมอเตอร์ไซค์ มายังพิพิธภัณฑ์มด





* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น