คนเรามักจะคิดว่าเวลามีทุกข์ ถึงต้องเข้าวัดฟังธรรมเพื่อให้จิตใจได้คลายทุกข์ แต่สำหรับตัวฉันเองแล้ว ไม่ว่าจะยามสุขหรือทุกข์ เราก็สามารถเข้าวัดได้ เพราะที่วัดนี่แหละที่เป็นสถานที่ที่เราสามารถสงบจิตสงบใจ หาความสุขที่เรียบง่ายให้กับชีวิตเราเอง
เหมือนกับที่วันนี้ฉันได้มาเยือนที่ “วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนทวิหาร” หรือ “วัดธรรมมงคล” ที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 101 ซึ่งแม้ว่าที่นี่จะตั้งอยู่กลางเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องแน่นขนัด แต่กลับทำให้ฉันรู้สึกสงบได้อย่างประหลาด
วัดธรรมมงคลแห่งนี้แต่เดิมเป็นป่าสะแกมาก่อน จนกระทั่งเมื่อพระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ) เจ้าอาวาสวัดได้ธุดงค์ผ่านมาและใช้เป็นที่พักในระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นายเถา-นางบุญมา อยู่ประเทศ เจ้าของที่ดินมีจิตศรัทธาจึงถวายที่ให้ จากนั้นจึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506
เมื่อเข้ามาถึงวัดแล้วฉันก็เลยตรงไปที่พระอุโบสถก่อนเป็นอันดับแรก เข้าไปสักการะพระประธานในพระอุโบสถ “พระพุทธสุพิโนภาสศาสดา” หรือหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปโลหะสัมฤทธิ์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ออกแบบและปั้นขึ้นจากนิมิตของหลวงพ่อวิริยังค์ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้มีความหมายตามชื่อว่า “แสงสว่างอันสวยงาม เจิดจรัสทั่วทั้งจักรวาล”
หลังจากสักการะองค์หลวงพ่อใหญ่แล้ว ฉันก็นั่งทำสมาธิให้จิตใจได้สงบอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นก็ดื่มด่ำความงามของภาพสวยๆ ริมฝาผนังของโบสถ์ที่เขียนได้อย่างงดงาม ก่อนจะออกเดินต่อไปยังศาลาพระหยก ที่เชื่อมต่อกับพระอุโบสถ
ที่ชั้นบนของศาลาพระหยก ประดิษฐานพระหยก หรือที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่สลักจากหยกชิ้นใหญ่ที่ถูกพบใต้ทะเลสาบน้ำแข็งในประเทศแคนาดา เป็นพระพุทธรูป และบริเวณด้านหลังพระพุทธรูปองค์นี้ก็ยังมี “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิมหยก” ประดิษฐานอยู่ในลักษณะทรงยืน ซึ่งก็ใช้หยกก้อนเดียวกันกับที่ใช้แกะสลักองค์พระหยก
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของวัดแห่งนี้ ซึ่งหากมองมาจากที่ไกลๆ ก็ยังเห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ "พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์" ซึ่งถือเป็นเจดีย์ที่สูงสุดในประเทศไทยเลยทีเดียว โดยเหตุของการก่อสร้างนั้นก็เริ่มจากการตั้งสัจจยาธิษฐานของหลวงพ่อวิริยังค์ต่อหน้าพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดโคตะมะวิหาร จังหวัดจิตตกอง ประเทศบังกาลาเทศว่า หากได้รับพระบรมสารีริกธาตุครบ 5 องค์ จะสร้างพระมหาเจดีย์ให้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเพื่อประดิษฐานพระพระบรมสารีริกธาตุนั้น ซึ่งเจตนาเดิมทางบังกาลาเทศจะมอบให้เพียง 1 องค์เท่านั้น แต่แล้วก็กลับตกลงยินยอมมอบให้ 5 องค์ตามประสงค์ หลวงพ่อจึงกลับมาสร้างพระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ฯ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ โดยใช้เวลา 9 ปีด้วยกันในการสร้างจนสำเร็จ
รูปทรงขององค์เจดีย์นั้นเป็นสี่เหลี่ยม จำลองแบบมาจากพุทธคยา ยอดฉัตรทำด้วยทองคำแท้ประดับเพชร ภายในแบ่งเป็น 14 ชั้นด้วยกัน โดยที่ชั้น 1 หรือฐานของเจดีย์ มีป้ายติดไว้ว่า “นครธรรม” เพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” หรือโรงเรียนครูสอนสมาธิ โดยหลวงพ่อวิริยังค์นั้นเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เรียนรู้วิชาจากปรมาจารย์ด้านสมาธิ ท่านจึงต้องการสอนวิชาสมาธิ และสร้างสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้แก่คนทั่วไป จึงได้เกิดเป็นสถาบันฯ แห่งนี้ขึ้น
ส่วนที่ชั้นที่ 2 เป็นวิหาร ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์ดำ” หรือ “พระพุทธรูป ภ.ป.ร.” พระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มาเททองหล่อเพื่อเป็นพระประธานในวิหารของพระมหาเจดีย์ พร้อมกับทรงวางศิลาฤกษ์พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ศรีรัตนโกสินทร์ด้วยในคราวเดียวกัน และที่รอบๆ ระเบียงวิหารยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ อาทิ พระอัฎฐาฬส พระอโศกพญา (หลวงพ่อพันปี) รูปหล่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระสุโขทัยและพระเชียงแสน เป็นต้น
ขึ้นมาที่ชั้น 3 เป็นส่วนของ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง” แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่ก็มีประวัติความเป็นมาของเขตพระโขนงแห่งนี้ให้ได้เรียนรู้กันพอสมควร และนอกจากนี้ยังมีการแนะนำสถานทีท่องเที่ยวต่างๆ ในเขตพระโขนงให้เราได้ไปตามรอยกันอีกด้วย
จากนั้นบนชั้น 4-8 นั้นจะเป็นห้องเรียนปริยัติธรรม ฆราวาสอย่างฉันไม่อยากไปรบกวนการเรียนการสอน จึงขอขึ้นลิฟท์ข้ามไปรวดเดียวถึงชั้น 9 ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นที่รวบรวมข้าวของประเภทพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด เช่น พระพุทธรูปเชียงแสนหลวง 5 องค์ที่มีความเก่าแก่นับร้อยปี และเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ที่ขุดค้นพบ ตำราใบลาน รวมไปถึงใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เก็บมาเป็นที่ระลึกเมื่อท่านได้ไปปฏิบัติธรรมที่นั่นอีกด้วย
เดินชมข้าวของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ของวัดตั้งแต่ชั้น 9 จนถึงชั้น 11 แล้ว เดินขึ้นบันไดถัดมายังชั้น 12 ซึ่งเป็นชั้นที่ไว้ใช้นั่งสมาธิกรรมฐาน มีรูปวาดอยู่บนผนังแสดงให้เห็นถึงปฏิจจสมุปบาท หรือหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิด การดำเนินไป และการดับไปของชีวิต รวมถึงการเกิด การดับแห่งทุกข์ด้วย อีกทั้งยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ให้เราได้ทำความเข้าใจกัน
และแล้วฉันก็ขึ้นมาถึงชั้นบนสุดขององค์เจดีย์บนชั้น 14 ซึ่งเป็นยอดสุดของเจดีย์และมีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระเกศา พระอุรังคธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศบังคลาเทศ ควรขึ้นมากราบไหว้ให้ได้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ซึ่งนอกจากจะได้ขึ้นมากราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ด้านบนเจดีย์นี้ก็ยังสามารถชมวิวสวยๆของเมืองกรุงในมุมสูงได้อีกด้วย มีลมเย็นๆ พัดมาเรื่อยๆ ให้สบายตัว เรียกว่ายืนชมวิวกันเพลินใจไปเลยทีเดียว
ลงมาเดินดูรอบๆ วัดธรรมมงคลแห่งนี้ ฉันว่าที่นี่มีบรรยากาศสงบเงียบเหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม โดยทางด้านหลังวัดยังได้จัดทำเป็น “ถ้ำวิปัสสนา” จำลองบรรยากาศการปฎิบัติธรรมในป่าในถ้ำ มีต้นไม้ล้อมรอบบริเวณที่ให้คนเข้าไปนั่งสมาธิ และฟังธรรมในถ้ำได้อย่างสงบ
ได้ใช้เวลาอยู่ในวัดนานพอควร ฉันเลยได้นั่งสงบใจ พินิจพิจารณาความเป็นไปในชีวิต เลยพบว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นก็อยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนทวิหาร ตั้งอยู่ที่ 132 ถนนสุขุมวิท 101 ซอยปุณณวิถี 20 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดโทร.0-2332-4145
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com