xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโรฮีนจา กับการแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม


หลังจากที่ได้อธิบายเรื่องโรฮีนจาในมุมมองของผมเองไปเมื่อวานนี้ ผมคิดว่าอีกเรื่องที่ต้องคิดต่อก็คือ การแก้ปัญหาว่าเราจะเอายังไงดีกับปัญหานี้ เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้หรือไม่ วันนี้ขอเสนอแนวคิดของตัวผมเองที่มีต่อเรื่องนี้ต่อครับ ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไม่ได้เป็นนักกฎหมายนะครับ ดังนั้นคำศัพท์บางคำ โดยเฉพาะชื่อกฎหมายอาจจะผิดพลาดบ้างครับ ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ

ผมคิดว่าการแก้ปัญหานี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ครับ นั่นคือ 1) การป้องกัน 2) การปราบปราม สำหรับการป้องกันยังแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนในระยะสั้นและระยะยาวครับ

1.1) การป้องกันในระยะเร่งด่วนและระยะสั้น ไทยต้องเป็นเจ้าภาพเป็นตัวกลางในการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะ เมียนมาร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งบังคลาเทศ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และภาคประชาสังคม NGO ในการป้องกันการอพยพย้ายถิ่นตั้งแต่ต้นทางครับ ไปสร้างอาชีพ ไปพัฒนาให้ศูนย์ผู้อพยพซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วในประเทศบังคลาเทศถูกปรับปรุงให้อยู่ในเงื่อนไขที่คนที่อยู่ในนั้นสามารถดำรงชีพมีการมีงานทำได้จริงๆ ผลที่จะได้รับคือเป็นการลดจำนวนคนที่อยากออกจากพื้นที่ก่อน เป็นการตัดไปตั้งต้นลม และผลได้ทางอ้อมคือ ประเทศไทยจะสามารถทวงคืนบทบาทความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในเรื่องสิทธิมนุษยชนครับ

1.2 ในระยะยาว ประเทศไทยคงต้องคำนึงถึงเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีมากยิ่งขึ้น โดยคงต้องขยายคำจำกัดความให้แรงงานจากบังคลาเทศสามารถเข้ามาจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในไทยได้เช่นเดียวกับแรงงานเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด อย่างลุแก่อำนาจแล้วไปหาผลประโยชน์ รีดนาทาเร้นจากแรงงานต่างด้าวเหมือนที่หลายฝ่ายทำกันอยู่ตอนนี้ เราต้องคิดใหม่ว่าเราต้องการคนเหล่านี้เข้ามาแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากร เราต้องการพวกเขาที่เป็นแรงงานวัยฉกรรจ์เข้ามาทำงานในภาคการผลิต เขามาอย่างถูกต้อง มีชีวิตความเป็นอยู่ตามสมควร ได้รับการคุ้มครอง ต้องมีการประกันสุขภาพ และทำงานต้องส่งเงินสมทบกองทุนสวัสดิการสังคมประเภทต่างๆ ไทยเราเองจะได้ประโยชน์จากการที่จะมีเงินไหลเข้ากองทุนเหล่านี้มากขึ้น แก้ปัญหาภาระที่สูงขึ้นเนื่องจากสังคมสูงวัยที่จะมีคนเบิกเงินสวัสดิการออกจากกองทุนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อพวกเขาทำงานครบตามกำหนดก็ต้องทำให้เขากลับประเทศตามที่กฎหมายกำหนด จากกันด้วยดี กลายเป็นลูกค้าสินค้าส่งออกจากประเทศไทยต่อไปในอนาคต เพราะตอนที่มาอยู่บ้านเราก็น่าจะติดนิยมการกินของไทยใช้ของไทยไปแล้ว สำคัญเจ้าหน้าที่และนายจ้างของเราต้องอย่าไปรังแกเขาอย่าไป Abuse พวกเขา

สำหรับการปราบปราม ผมคิดว่าประเด็นแรงเราต้องทำให้ชัดเจนครับว่าน่านน้ำของไทยอยู่ที่ไหน เขตแดนของไทยอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจปกติเราจะนึกถึง Exclusive Economic Zone หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล เราต้องขีดเส้นให้ชัดเจนจากนั้น

2.1 ถ้าเรือของผู้อพยพยังไม่เข้ามาในน่านน้ำของไทย ถือว่าการละเมิดยังไม่เกิดขึ้น ทหารเรือไทย ภาครัฐและภาคประชาสังคมไทยต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ซ่อมแซมเรือ และผลักดันออกไป อย่าให้เข้ามาในน่านน้ำของไทย แต่ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการช่วยเหลือของเราเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมแต่ภาครัฐของเราไม่สามารถจะให้เขาเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ จึงต้องผลักดันออกไปตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกา และยุโรป ต้องทำงานอย่างโปร่งใสมีการบันทึกภาพเหตุการณ์และเผยแพร่อย่างชัดเจนถูกต้อง ทำให้เห็นชัดเจนเพื่อส่งสัญญาณไปที่ต้นทางว่าอย่าออกมาอีก และต้องทำการผลักดันร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าภูมิภาคนี้ถ้าเข้ามาก็โดนผลักดันออกไป ทีหลังจะได้ไม่มาอีก และเมื่อประกอบกับข้อ 1.1 ถ้าที่บ้านเขามีทางเลือกแล้ว เขาจะไม่ออกมาอีกในระยะยาว

2.2 ถ้าเรือของผู้อพยพเข้ามาในน่านน้ำไทยแล้ว ถือว่าเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมายครับ ต้องควบคุมตัวคนเหล่านี้เข้ามาครับ จากนั้นต้องมาคัดกรอง สัมภาษณ์ แยกแยะคนเหล่านี้ออกเป็น 3 กลุ่ม
2.2.1 พวกที่เต็มใจเดินทางมาเอง โดยเฉพาะที่มาจากบังคลาเทศ
2.2.2 พวกที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
2.2.3 พวกที่เป็นนายหน้าดำเนินธุรกิจค้ามนุษย์

สำหรับผู้อพยพกลุ่ม 2.2.1 และ 2.2.2 กลุ่มนี้เราต้องช่วยเหลือนำเข้ามาควบคุมตัวไว้ก่อน จากนั้นถ้าเป็นชาวบังคลาเทศซึ่งสามารถส่งกลับได้ เราต้องเร่งส่งกลับครับ โดยต้องมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าอยู่ในประเทศไทยได้กีวัน กี่เดือน กี่ปี แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับเมียนมาร์ กลุ่มนี้ต้องเร่งส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ที่เขายอมรับครับ โดยอาจต้องมีการใช้ความร่วมมือในกรอบอาเซียน เพราะบางประเทศ เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ 2 ประเทศนี้ลงนามในอนุสัญญาเรื่องสถานะของผู้อพยพลี้ภัยครับ และเขาก็บอกออกมาแล้วว่าเขายอมรับผู้อพยพ และแน่นอนประเทศในตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคม ถ้าคุณอยากให้เราช่วยเหลือดูแลผู้อพยพเหล่านี้คุณก็ต้องยอมรับคนเหล่านี้ไปประเทศคุณด้วยนะ ต้องส่งเงินมาช่วยเหลือด้วยนะ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ สหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย และภาคประชาสังคมนั่นแหล่ะ ทำงาน ยอมรับ และลงขั้นด้วย อย่าใช้แต่ปากอย่างเดียว

แน่นอนสำหรับกลุ่ม 2.2.3. กลุ่มนี้ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในขั้นที่สูงที่สุดเพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง และเพื่อส่งสัญญาณให้คนอื่นๆ ไม่กล้ากลับเข้ามาทำอีก สำหรับคนพวกนี้ดูง่ายๆ ครับ ใครที่อยู่ในเรือแล้วพูดไทยได้ พูดภาษาอังกฤษได้ ให้พิจารณาตัวไว้ก่อนเลย พวกที่มีโทรศัพท์มือถือในเรือ พวกนี้แหล่ะครับต้องจับตาดูเอาไว้ และใช้วิธีการสอบสวนคัดกรองให้ได้ว่าใครเป็นเหยื่อ ใครเป็นนายหน้าค้ามนุษย์

ขอเสนอไว้เป็นแนวทางแบบนี้ครับ อาจจะสรุปเป็น Flow Chart ได้อย่างที่เห็นครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น