xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชั้นต้นจังหวัดตะกั่วป่า พิพากษายกฟ้องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พังงา - ศาลชั้นต้นศาลจังหวัดตะกั่วป่า พิพากษายกฟ้องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาในพื้นที่จังหวัดพังงา 3 ราย เหตุขาดหลักฐานเชื่อมโยงการค้ามนุษย์

วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดตะกั่วป่า พิพากษายกฟ้องคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นคดีระหว่างพนักงานอัยการ กับนายประกอบ หมัดอาดัม กับพวกรวม 3 คน โดยพนักงานอัยการได้สั่งฟ้อง นายประกอบ หมัดอาดัม กับพวกรวม 3 คน ในคดีนายอำเภอตะกั่วป่าจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ที่จังหวัดพังงา ซึ่งมีการสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 3 ในข้อหา ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยทั้งสามได้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ได้เป็นธุระจัดหา ซื้อขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง ชาวบังกลาเทศ จำนวน 53 คน อันเป็นการกระทำผิดค้ามนุษย์ และจำเลยทั้งสามร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น เพื่อให้พ้นการจับกุม

โดยศาลพิเคราะห์ว่า แม้ข้อเท็จจริงในคำเบิกความจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ว่า ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าว 53 คน พ้นจากการจับกุม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ให้อาหาร จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ดูต้นทาง จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ควบคุม/ดูแล เมื่อจำเลยทั้ง 3 ให้การรับสารภาพข้อหาดังกล่าว ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ แต่ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา 4, 6, 10 และมาตรา 42 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นธุระจัดหา ซื้อขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งบุคคลชาวบังกลาเทศ 53 คน โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือรับไว้ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ซึ่งการบันทึกแบบคัดแยกเหยื่อที่พยานโจทก์ (ชาวบังกลาเทศ 4 ราย) ให้ถ้อยคำว่าขณะอยู่บนเกาะถูกจำเลยที่ 3 ทำร้าย ข่มขู่ บังคับ ให้กินนม และอาหารผสมยาเสพติด ทำให้พยานทั้ง 4 ราย ไม่มีกำลังหลบหนี แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์นำพยานชาวบังกลาเทศ 4 คนเบิกความเป็นพยาน แต่ไม่ได้ซักถามพยานให้เบิกความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะให้ถ้อยคำขณะเบิกความว่า จำเลยที่ 3 ทำร้ายชาวบังกลาเทศบางราย ในกรณีที่เกิดเหตุทะเละวิวาทกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีพยานเบิกความต่อศาล ข้อเท็จจริงจึงยังไม่เพียงพอฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์

ในประเด็นเรื่องอายุของผู้เสียหาย ศาลพิจารณาว่าลำพังเพียงภาพถ่ายชาวบังกลาเทศ ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ประกอบกับคนต่างด้าว จำนวน 53 คน ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยไม่ทราบว่ามีเด็กรวมอยู่ด้วย

ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาให้ที่พักพิง ช่วยเหลือฯ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกรายละ 2 ปี 6 เดือน ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

ด้าน นายมานิต เพียรทอง เปิดเผยภายหลังว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่สามารถทำให้เป็นกรณีศึกษาได้ เนื่องจากมีการดำเนินการตามมาตรฐานสากลจนเกิดการส่งกลับชาวบังกลาเทศที่ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะออกนอกประเทศกลับสู่ประเทศบังคลาเทศอย่างถูกต้อง ซึ่งเริ่มตั้งแต่มีการหาข่าวจนกระทั่งเกิดการจับกุมตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะให้สหวิชาชีพทำการคัดกรอง และคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ แล้วส่งเอกสารการจับกุมให้พนักงานสอบส่วนดำเนินการต่อ ส่วนชาวบังกลาเทศนั้นได้มีการประสานงานผ่านUNHCR ไปยังประเทศบังกลาเทศ จนอัคราชทูตจากประเทศบังกลาเทศ และคณะเดินทางมาตรวจสอบจนปรากฏข้อเท็จจริงและนำตัวชาวบังกลาเทศที่ไม่ได้มีความประสงค์จะออกนอกประเทศกลับสู่ประเทศบังกลาเทศไปก่อนหน้าแล้ว

ส่วนด่านทับกำ ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นด่านตรวจการค้ามนุษย์ 24 ชม. ด่านแรกที่คอยสกัดไม่ให้ชาวโรฮีนจาผ่านจังหวัดพังงา จนกระบวนการขนชาวต่างด้าวต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังหัวไทรนั้น ขณะนี้ยังคงตั้งอยู่ 24 ชม. เช่นเคย อีกทั้งยังมีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นอยู่เป็นประจำ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการตรวจคนต่อไปอีกด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น