ด้วยพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”อันเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ได้ก่อกำเนิดเป็น“โครงการหลวง”ขึ้นมา บนพื้นฐานเพื่อความผาสุกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ
จากวันนั้นถึงวันนี้โครงการหลวงได้พลิกฟื้นผืนแผ่นดินบนเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของเมืองไทย ที่เคยเป็นเขาหัวโล้นแห้งแล้งจากการปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย ให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวขนาดใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ สามารถกำจัดไร่ฝิ่นให้หมดสิ้น ช่วยให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
นอกจากนี้ผลพวงทางอ้อมจากโครงการหลวงที่มีสภาพภูมิประเทศอันสวยงาม ได้ก่อให้เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก
และนี่ก็เป็นที่มาของการออกท่องเที่ยวตามรอยพ่อหลวงของ“ตะลอนเที่ยว”ในทริปนี้ ผ่าน 3 โครงการหลวงอันโดดเด่นในจังหวัดเชียงใหม่นั่นก็คือ “หนองหอย-วัดจันทร์-อ่างขาง”ที่ชวนให้เราหลงรักและประทับใจไม่น้อยเลย
หนองหอย-ม่อนแจ่ม
หากเอ่ยชื่อ“หนองหอย”อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก แต่หากเอ่ยชื่อ“ม่อนแจ่ม”หลายๆคนต่างรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนี่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังชั้นนำของเมืองไทย
อย่างไรก็ดีม่อนแจ่มถือว่ามีความเกี่ยวพันกับหนองหอยอย่างแยกไม่ออก เพราะม่อนแจ่มเป็นส่วนหนึ่งของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย” หรือ “โครงการหลวงหนองหอย” ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตั้งอยู่ในตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันนอกจากจะทำการวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวงแล้ว ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชผักตามระดับความสูงของพื้นที่และสอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยโครงการจะทำการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากสมาชิกที่ทำการปลูกพืชผักตามข้อกำหนดของโครงการหลวง ซึ่งเป็นพืชผักปลอดสาร การันตีในเรื่องคุณภาพ
ภายในโครงการหลวงหนองหอยมีแปลงผักและงานวิจัยผักเมืองหนาวให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจได้เที่ยวชมและศึกษาดูงาน อาทิ แปลงพัฒนาพืชผัก, โรงเรือนสมุนไพร, โรงเรือนแปลงผักไฮโดรโพนิก,แปลงผักตระกูลสลัด เป็นต้น
ขณะที่ในละแวกโครงการก็มีแปลงปลูกพืชผักแบบขั้นบันไดของชาวบ้านที่บางแห่งถือเป็นจุดชมวิวชั้นดี มีแปลงพืชผักที่ปลูกเป็นขั้นบันไดอย่างสวยงามกว้างไกลให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมทัศนากันอย่างเพลินเพลิน
นอกจากนี้ในพื้นที่โครงการหลวงหนองหอยยังมีอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญคือ “ม่อนแจ่ม” หรือ “ดอยม่อนแจ่ม”(ตำบลโป่งแยง) ที่มีสภาพพื้นที่เป็นแนวสันเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร
ม่อนแจ่มขึ้นชื่อในเรื่องสภาพพื้นที่อันสวยงามโรแมนติก มีจุดชมวิวทิวทัศน์อันเปี่ยมเสน่ห์ จุดชมวิวด้านหนึ่งเมื่อมองลงไปจะเห็นหมู่บ้านและแปลงปลูกผักแบบขั้นบันไดไต่ไล่ระดับไปตามแนวขุนเขาอย่างสวยงาม
ส่วนจุดชมวิวอีกด้านหนึ่งทางฝั่งร้านอาหาร ในวันที่ฟ้าเปิดสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านได้อย่างชัดเจน หรือหากเป็นในวันที่มีเมฆหมอกเป็นใจก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดชมทะเลหมอกมีความสวยงามไม่เป็นรองใคร
บนม่อนแจ่มยังมีอีกหนึ่งเสน่ห์อันชวนประทับใจไปกับการจัดตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มากไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับหลากสีสันสดใส โดยเฉพาะกับแปลงปลูก“เวอร์บีน่า”ที่ช่วงนี้กำลังออกดอกสีม่วงอ่อนสะพรั่งสวยงามเป็นจุดดึงดูดชวนให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาถ่ายรูป มาเซลฟี่ คู่กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแห่งโครงการหลวงหนองหอยอยู่ไม่ได้ขาด
โครงการหลวงวัดจันทร์
จากม่อนแจ่ม “ตะลอนเที่ยว” ออกเดินทางสู่ “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” อีกหนึ่งดินแดนที่มีสภาพภูมิประเทศอันสวยงาม
ในอดีตสมัยที่อำเภอแห่งนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่แจ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2522 และได้ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้นจึงได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” หรือ “โครงการหลวงวัดจันทร์” ขึ้นที่บ้านวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์
โครงการหลวงวัดจันทร์เป็นแหล่งปลูกพืชผลเมืองหนาวหลากหลาย นำโดย 2 ผลิตผลเด่นคือ ฟักทองจิ๋วกับฟักทองญี่ปุ่น ร่วมด้วย เคพกูสเบอร์รี่(โทงเทงฝรั่ง,ระฆังทอง) สตรอว์เบอร์รี่ อะโวคาโด บัตเตอร์นัต กีวีฟรุต บ๊วย ฯลฯ ให้เลือกซื้อหากันตามฤดูกาล
นอกจากพืชผลทางการเกษตรแล้ว ภายในโครงการหลวงวัดจันทร์ยังมีป่าสนสวยๆให้เที่ยวชม มีบ้านพักบรรยากาศดีราคาเยาให้เลือกพัก มีแปลงสตรอว์เบอร์รี่ มีอ่างเก็บน้ำวิวสวย รวมถึงมีอาหารเพื่อสุขภาพจากผลผลิตในโครงการไว้บริการนักท่องเที่ยว(แต่ต้องโทรศัพท์สั่งล่วงหน้า)
นับได้ว่าโครงการหลวงวัดจันทร์เป็นอีกหนึ่งโครงการใต้พระบารมีที่พ่อหลวงทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทย
ท่องเที่ยวโดยชุมชน
อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีความสูงเฉลี่ย 1,000-1,500 เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาสูงและป่าไม้ ที่สำคัญคือที่นี่มี“ป่าสนวัดจันทร์” หรือ“ป่าสนบ้านวัดจันทร์” ที่ถือเป็นมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นสำคัญของพื้นที่แห่งนี้
ในช่วงหน้าฝนอำเภอกัลยาณิวัฒนาจะน่ายลไปด้วยบรรยากาศของท้องทุ่งนาอันเขียวขจีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางฉากหลังของป่าสน บางช่วงเป็นทิวทัศน์ของทุ่งนาขั้นบันได(ความลาดชันไม่มาก)อันสวยงาม นับเป็นภาพของ“ทุ่งนา-ป่าสน”แห่งกรีนซีซั่นอันงดงาม ที่“ตะลอนเที่ยว”เห็นแล้วช่างสบายตาสบายใจเป็นอย่างยิ่ง
ป่าสนวัดจันทร์เป็นป่าสนตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่มากมีพื้นที่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ป่าสนวัดจันทร์มีความผูกพันกับชาว“ปกาเกอะญอ”กลุ่มชนดั้งเดิมผู้เป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้มาช้านาน
นอกจากปกาเกอะญอแล้ว อำเภอกัลยาณิวัฒนายังมีชาวเขาอีก 2 ชนเผ่าหลัก ได้แก่ ม้งกับลีซู(ลีซอ) ซึ่งด้วยวิถีชนเผ่าอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า ทำให้ทาง“กองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)” และ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา” ได้ร่วมมือกับชาวบ้านจัดตั้ง“กลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน”ขึ้น ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยมี“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)” ร่วมส่งเสริมประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง
กลุ่มเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน อำเภอกัลยานิวัฒนา ประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย คือ“กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเสาแดง”กับจุดเด่นการทำการเกษตรบนที่สูง-วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชนเผ่าลีซู,“กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนดงสามหลั่น”กับจุดเด่นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รี่-วิถีชีวิตวัฒนธรรมของขาวเขาเผ่าม้ง และ“กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ”กับ“กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวัดจันทร์” ที่ทั้ง 2 กลุ่ม เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ยังดำรงไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
เหล่อชอ-ห้วยฮ่อม
สำหรับการทัวร์อำเภอกัลยาณิวัฒนาครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” เลือกไปสัมผัสกับวิถีชาวปกาเกอะญอผ่านทั้งชุมชนเหล่อชอและชุมชนบ้านวัดจันทร์ ซึ่งเราขอเริ่มกันที่ “กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ” ที่เป็นการรวมตัวกันของ 3 กลุ่มบ้านแห่งตำบลบ้านจันทร์ คือ บ้านห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก โดยมี“ฤทธิศักดิ์ ศรวันเพ็ญ”เป็นประธานกลุ่มที่จะมารับหน้าที่เป็นไกด์พาพวกเราออกไปสัมผัสกับวิถีแห่งบ้านเล็กในป่าใหญ่ของพวกเขา
พี่ฤทธิศักดิ์ หรือ“พี่เช”(ชื่อปาเกอะญอคือ“บะเซ”)เมื่อได้แนะนำตัวพร้อมทีมงานแล้ว เขาได้อธิบายถึงที่มาของชื่อกลุ่มเหล่อชอว่า “เหล่อชอ” เป็นชื่อเรียกของเตาสามเส้าหรือหินสามก้อนที่นำมาก่อเป็นเตา ตั้งอยู่ภายในบ้าน ใช้สำหรับหุงข้าว ประกอบอาหาร ทำขนม ต้มน้ำ ชงชา รวมถึงก่อไฟผิงยามหน้าหนาว ซึ่งแม้ในวันนี้เหล่อชอของหลายๆบ้านจะเปลี่ยนมาเป็นเตาโครงเหล็ก แต่ว่านี่ก็คือวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ทำให้พวกเขาดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
จากนั้นพี่เชได้พาเราไปไหว้“พระศรีกัลยาณวัตรมุนี” ที่“วัดห้วยฮ่อม” วัดประจำ“บ้านห้วยฮ่อม” หมู่บ้านที่“ตะลอนเที่ยว”กับเพื่อนๆจะพักค้างแบบโฮมสเตย์พร้อมร่วมทำกิจกรรมกับชาวชุมชนกันที่นี่
ชาวบ้านห้วยฮ่อมเป็นชาวปากเกอะญอที่มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและนับถือศาสนาคริสต์โดยที่พวกเขาต่างอยู่อาศัยร่วมกันอย่างกลมกลืน เป็นดังครอบครัว เป็นพี่เป็นน้อง รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ชาวปกาเกอะญอที่นี่ยังไม่ละทิ้งวิถีดั้งเดิมนั่นก็คือการนับถือผี การเคารพบูชาผืนป่าที่มีมานับร้อยๆปีตั้งแต่บรรพบุรุษ นั่นจึงทำให้พวกเขายังคงรักษาผืนป่าวัดจันทร์ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันบ้านห้วยฮ่อมมีบ้านโฮมสเตย์อยู่ 3 หลังด้วยกัน สำหรับการมานอนโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยฮ่อมของ “ตะลอนเที่ยว”และเพื่อนๆในทริปนี้ ทางกลุ่มเหล่อชอเขาจะแบ่งบ้านพักแยกชาย-หญิง โดยพวกผู้หญิงแบ่งพักใน 2 บ้าน ที่อยู่ติดริมถนนสะดวกง่ายต่อการเข้าถึงมีต้นไม้ร่มรื่น
ส่วนพวกเรา(ผู้ชาย)ให้พักค้างที่บ้านของพี่“ศุภกิจ จ่าโย”หรือ“พี่กิจ”(ชื่อปกาเกอะญอคือ“ศิรแก้ว”)ที่อยู่บนเนินสูงขึ้นไปอีก ซึ่งในบริเวณบ้านของพี่กิจได้มีการทำบ้านแยกอีกหนึ่งหลังออกมาเป็นบ้านโฮมสเตย์ 2 ชั้นมีพื้นที่กว้างขวางพักผ่อนสบาย ในท่ามกลางบรรยากาศของบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเงียบสงบ
วันนั้น“ตะลอนเที่ยว”มาถึงบ้านโฮมสเตย์ของพี่กิจในช่วงเย็น หลังจากเก็บข้าวของ พักผ่อนพอหายเหนื่อย พี่กิจก็ชวนไปเก็บพืชผักที่ปลูกอยู่หลังบ้านมาทำอาหาร ซึ่งพี่กิจบอกว่าพวกเขา(ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยฮ่อม)เดินตามแนวทางของในหลวงคืออยู่กันอย่างพอเพียง เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู วัวควาย ปลูกพืชผัก ผลไม้ สมุนไพรผักสวนครัว ไว้รอบๆบ้าน
ถือเป็นคลังอาหารใกล้บ้านที่สามารถเดินไปเก็บ ไปเด็ดมาทำอาหาร มาจิ้มน้ำพริกได้อย่างไม่ยากเย็น โดยทั้งมื้อเย็นและมื้อเช้าของวันใหม่ พวกเราต่างอิ่มอร่อยกับเมนูพื้นบ้านที่พี่กิจกับภรรยาทำมาต้อนรับอย่างจุใจ
นาขั้นบันได
หลังเติมพลังกับมื้อเช้ากันอย่างเต็มที่ ในช่วงสายของวัน พี่เชกับพี่กิจได้พา“ตะลอนเที่ยว” กับเพื่อนๆออกทัวร์หมู่บ้าน พาไปสัมผัสกับวิถีการทำนาของชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยฮ่อมกับการทำ“นาขั้นบันได” ที่ยังคงไว้ด้วยซึ่งความเชื่อและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม
ที่สำคัญคือชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดยังคงทำนาปลูกข้าวตามวิถีธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยธรรมชาติจากเศษใบไม้ มูลสัตว์ ใช้ระบบประปาภูเขา ปลอดสารเคมี
ทำให้ในระหว่างเดินชมเพื่อเรียนรู้วิถีการทำนาของชาวบ้านที่นี่ นอกจากจะได้เห็นท้องทุ่งนาอันสวยงามกว้างไกลที่ช่วงนี้ต้นข้าวกำลังเริ่มเติบโตเขียวขจีแล้ว เรายังได้เห็นชีวิตเล็กๆน้อยๆในท้องทุ่งนา ไม่ว่าจะเป็น ตั๊กแตน แมลง หอย ปู กบ เขียด ลูกอ๊อด แมลงปอ ปลาตัวน้อยแหวกว่าย ซึ่งพี่เชบอกกับเราว่า ถ้าเป็นทุ่งนาที่ใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีภาพของสัตว์เล็กสัตว์น้อยเหล่านี้ให้เห็นกัน
หลังเดินชมท้องทุ่งนาไปได้สักพักใหญ่ พี่เชกับพี่กิจได้พาพวกเรามาพักเบรกกันบนเถียงนาหลังน้อย พร้อมๆกับนำอุปกรณ์มาสาธิตการทำ“เมตอซูย่าง” อาหารว่างจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่ให้พวกเราได้ลองลิ้มชิมรสกัน(ในสมัยก่อนชาวบ้านที่นี่จะทำเมตอซูเป็นขนม ของกินเล่น แต่ปัจจุบันถือเป็นของกินหายาก เพราะเด็กสมัยใหม่หันมากินขนมถุง ของกินขบเคี้ยว ตามร้านค้ากันแทน)
เมตอซูย่าง เป็นการนำข้าวเหนียวผสมเครื่องปรุงไปบรรจุใส่ไว้ในกระเปาะของต้น“เมตอซู” (กล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ไม่มีดอก เรียกชื่อตามภาษาถิ่นปกาเกอะญอ) จากนั้นนำไปนึ่งปิ้งย่างคล้ายการทำข้าวหลาม ซึ่งการได้มากินเมตอซูย่างร้อนๆควบคู่ไปกับการจิบชาสมุนไพรในเถียงนาท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาแวดล้อมที่แวดล้อมนั้น นอกจากจะอร่อยชวนกินแล้ว ยังได้บรรยากาศสุดฟินช่วยสร้างสีสันประดับเส้นทางได้ไม่น้อยเลย...(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หากินไม่ง่าย!?! “เมตอซูย่าง”ของว่างรสเด็ดดวง)
จากนั้นหลังจบจากการทัวร์นาขั้นบันได พี่เชพาเราไปชมการทอผ้าของชาวปกาเกอะญอที่เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมานับแต่บรรพบุรุษ การทอผ้าของที่นี่เป็นงานฝีมือละเอียดประณีต โดยเฉพาะกับการปักลวดลายและการปักลูกเดือยบนเสื้อของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของงานผ้าทอที่นี่
ส่วนอีกหนึ่งจุดที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเสื้อชาวปกาเกอะญอนั่นก็คือ คอเสื้อของชาวปกาเกอะญอทั้งชายและหญิง ด้านหน้าและหลังจะเท่ากัน เพราะพวกเขาถือกันว่าชาวปกาเกอะญอเป็นคนจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่มีคดโกง จึงไม่มีหน้าและหลัง
ครั้นเมื่อเสร็จสรรพจากการชมการทอผ้า ช่วงเวลาแห่งการล่ำลาจากบ้านห้วยฮ่อมก็มาถึง ซึ่งถึงแม้ว่าพวกเราจะได้มากินนอน มาร่วมใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านที่นี่กันเพียงช่วงสั้นๆแค่ 1 คืนกับเกือบ 1 วัน แต่ว่าจากที่ได้สัมผัสพูดคุย ได้เรียนรู้ พวกเขาล้วนต่างจริงใจ น่ารัก เปี่ยมมิตรไมตรี ชนิดที่สร้างความประทับใจให้กับอาคันตุกะผู้มาเยือนอย่างพวกเราได้เป็นอย่างดี
...และยากที่จะลืมเลือน
บ้านวัดจันทร์
จากบ้านห้วยฮ่อมเรากลับเข้าสู่เขตตัวเมืองกัลยาณิวัฒนา เพื่อไปร่วมทำกิจกรรมกับ “กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวัดจันทร์” ซึ่งมี“จำรัส กงมะลิ” หรือ “ลุงจำรัส”คุณลุงอารมณ์ดีมาเป็นไกด์พาเที่ยวชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆภายในชุมชน
สำหรับกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวัดจันทร์ เป็นกลุ่มชุมชนชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ ซึ่งเมื่อมาถึงลุงจำรัสต้อนรับเราด้วยอาหารเที่ยงกับเมนูพื้นบ้าน นำโดยน้ำพริกปลากระป๋องกับพืชผักสดปลอดสารอันแสนอร่อยชนิดที่พวกเรากินกันเกลี้ยง
หลังจากกินข้าวอิ่มแล้ว ลุงจำรัสพาไปชมการสาธิตการตำข้าวด้วย“ครกกระเดื่อง” ซึ่งปกติในสมัยผู้หญิงชาวปกาเกอะญอจะตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 ตี 5 มาตำข้าวเพื่อเตรียมข้าวสารไว้ให้สามีรับประทาน ก่อนจะออกไปทำไร่ทำนา เมื่อภรรยาตื่นมาตำข้าวโป๊ก! โป๊ก! นั่นจึงคล้ายเป็นดังนาฬิกาปลุกให้สามีลุกตื่นขึ้นมา เตรียมตัวไปประกอบอาชีพกันได้แล้ว
อย่างไรก็ดีการตำข้าวด้วยครกกระเดื่องที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น ปัจจุบันหาได้ยากเต็มทีเนื่องจากมีโรงสีเข้ามาทำหน้าที่แทน
นอกจากนี้จากการได้เรียนรู้ในวิถีการทำนาของบ้านห้วยฮ่อมมาสู่การเรียนรู้การตำข้าวที่บ้านวัดจันทร์ ทำให้เราได้รู้ซึ้งว่า การจะได้ข้าวมากินแต่ละมื้อนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะผ่านกระบวนการออกมาเป็น“ข้าว”อาหารหลักของคนไทย ชาวนากระดูกสันหลังของชาติต้องผ่านความยากลำบากทุกเข็ญมาไม่น้อยเลย
กิจกรรมถัดไปลุงจำรัสพาไปชม“ห้วยบ้านร้าง” หรือ “ห้วยน้ำออกรู” กับทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งต้นน้ำสำคัญของชุมชน น้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไหลมาจากป่าต้นน้ำที่เกิดจาก“น้ำออกรู” หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า“นาอูหรู่” ที่ถือเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ห้ามผู้หญิงเข้าไปในผืนป่าต้นน้ำแห่งนี้ มิฉะนั้นจะผิดผี เกิดสิ่งไม่ดีต่อชุมชน
ที่อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านร้างมีสำนักสงฆ์คอยดูแล ภายในอ่างเก็บน้ำมีปลาอยู่จำนวนมากเพราะเป็นเขตอภัยทาน ผู้มาเยือนสามารถให้อาหารปลาได้อย่างเพลิดเพลิน ท่ามกลางบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำที่แวดล้อมด้วยต้นสนอันเขียวขจี
จากห้วยน้ำออกรู ลุงจำรัสพาไปไหว้พระเสริมสิริมงคลที่ “วัดจันทร์” ศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา
วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ภายในวัดมีจุดเด่นตรงวิหารหลังเก่าที่มีช่องแสงสีดำขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายแว่นตา จนทำให้วิหารแห่งนี้ได้ชื่อว่า“วิหารแว่นตาดำ”อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย
ต่อจากนั้นลุงจำรัสพาขึ้นชมวิวมุมสูงของอำเภอกัลยาณิวัฒนากันที่ “โคว่โพหลู่” หรือที่แปลว่า“ดอยเจดีย์น้อย”ในความหมายของชาวปกาเกอะญอ(ส่วนบางข้อมูลเรียกเจดีย์น้อยองค์นี้ว่า“พระธาตุจอมแจ้ง”)
โควโพหลู่มีเจดีย์องค์น้อยสีขาวตั้งเด่นอยู่ริมเนินเขา(เดิมองค์เจดีย์เป็นสีทอง) เมื่อมองลงไปจะเห็นวิวทิวทัศน์ทุ่งนา ป่าสน ขุนเขา บ้านเรือน ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาได้เป็นอย่างดี
นับเป็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามเพลินตาและแสดงถึงตัวตนความเป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของอำเภอกัลยาณิวัฒนา ดินแดนแห่งป่าสนวัดจันทร์อันเลื่องชื่อได้เป็นอย่างดี
โรงงานหลวง
จากอำเภอกัลยาณิวัฒนา“ตะลอนเที่ยว” เดินทางต่ออีกครั้งสู่ อำเภอฝาง เพื่อไปแอ่ว“ดอยอ่างขาง”โครงการหลวงแห่งแรกของเมืองไทย โดยระหว่างทางเราไม่พลาดที่จะแวะชม “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” ที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง
ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” โรงงานหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2515 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลังจากนั้นโรงงานหลวงฯได้มีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 ในพื้นที่หมู่บ้านยางเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่รวมไปถึงโรงงานหลวงแห่งนี้ด้วย
อย่างไรก็ดีด้วยความทรงคุณค่าของโรงงานหลวงที่สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี หลังเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเสียหายของโรงงานหลวงแห่งนี้ จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็น “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชน โดยให้มีการดำเนินการในรูปแบบ“พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”(Living Site Museum) ที่น่าเที่ยวชมไม่น้อย
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงต่างๆ เมื่อเดินเข้าไปห้องแรกจะเป็น “ห้องชีวิตชายขอบ” จำลองบ้านเรือนของคนจีนมาจัดแสดง มีข้าวของเครื่องใช้ และเก้าอี้ไม้ให้นั่งชมวีดิทัศน์ที่มาของโรงงานหลวงและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ต่อมาในห้องถัดไปเป็นส่วนจัดแสดง“กำเนิดโครงการหลวง” ประกอบด้วยภาพหายากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวไทยภูเขาเมื่อครั้งอดีต อันนำมาสู่การจัดตั้ง“โครงการหลวง”เพื่อช่วยเหลือราษฎรของพระองค์
ส่วนโซนถัดไปเป็นห้อง“กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” จัดแสดงภาพถ่ายพัฒนาการของโรงงานหลวงฯ นับจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงมี “รถโฟล์ค” ซึ่งเป็นรถยนต์พระราชทานเมื่อแรกก่อตั้งโรงงานหลวงฯมาจัดแสดงเป็นจุดดึงดูดอันโดดเด่นอีกด้วย
จากนั้นโซนก่อนที่จะเราเดินออกจะเป็นห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า“ดอยคำ”อันหลากหลาย ให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันกับผลิตภัณฑ์ที่การันตีในคุณภาพ
อ่างขาง
สำหรับจุดหมายปลายทางสุดท้ายในทริปนี้ เรายังอยู่กันที่อำเภอฝางกับ“ดอยอ่างขาง” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อของเมืองไทย
ในอดีตก่อนที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในดินแดนสุดโรแมนติก ดอยอ่างขางเคยเป็นภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นมาก่อน
แต่ด้วยพระบารมี ในต้นปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จประพาสต้นเชียงใหม่ทอดพระเนตรเห็นเขาหัวโล้น ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวเขาที่แม้จะปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพแต่ว่ากลับมีฐานะยากจน
พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินประมาณ 10 ไร่ จากชาวไทยภูเขาบริเวณดอยอ่างขาง ใช้เป็นสถานีวิจัย ปลูกพืชผักเมืองหนาว เพื่อช่วยชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่น พร้อมกับโปรดเกล้าฯให้ตั้ง “โครงการหลวง”ขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” โดยเลือก “ดอยอ่างขาง” ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งเป็น“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”ขึ้น นับเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทย
จากนั้นดอยอ่างขางก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเขาหัวโล้นกลายเป็นแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอันอุดมสมบูรณ์ และมากไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม ทั้งจากสภาพธรรมชาติ แปลงพืชผัก โรงเรือน และสวนประดับตกแต่งต่างๆภายในสถานี ทำให้ปัจจุบันดอยอ่างขางเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันงดงามขึ้นชื่อของเมืองไทย ที่มีผู้คนเดินทางขึ้นไปเที่ยวชมสัมผัสในความงามกันไม่ได้ขาด
สำหรับจุดท่องเที่ยวสำคัญบนดอยอ่างขางนั้นอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ภายในประกอบด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแปลงปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว,สวนบอนไซ,โรงเรือนไม้ดอก,สวนบ๊วย,โรงเรือนรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว,สวนไม้ดอกกลางแจ้ง,สวนกุหลาบอังกฤษ รวมถึงสวนไอเลิฟยูสวนแห่งใหม่ที่มีการจัดตกแต่งอย่างกิ๊บเก๋
นอกจากนี้ก็ยังมีไฮไลท์สำคัญคือ“สวนแปดสิบ” ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สวนแปดสิบ จัดตั้งขึ้นในวาระที่“หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี” องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงมีอายุครบ 80 ชันษา
ภายในสวนแปดสิบได้รวบรวมพันธุ์ไม้ไว้หลากหลายชนิด โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ ไม้ดอกฤดูหนาว ไม้ดอกฤดูร้อนและฤดูฝน ไม้ดอกเจริญข้ามปี และไม้พุ่ม เมื่อเข้ามาเดินในสวนแห่งนี้จะได้สัมผัสกับความงามหลากสีสันของมวลหมู่ดอกไม้น้อยใหญ่จำนวนมากที่สามารถสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้เป็นอย่างดี
ส่วนเมื่อออกไปนอกสถานีฯบนดอยอ่างขางยังมี จุดชมวิว ชมพระอาทิตย์ขึ้น ชมทะเลหมอกอันสวยงามอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจุดชมวิวกิ่วลม จุดชมวิวชายแดนไทย-พม่า จุดชมวิวขอบด้ง เป็นต้น
ขณะที่หมู่บ้านต่างๆบนดอยอ่างขางนั้นก็น่าสนใจไปด้วยวิถีชุมชน วัฒนธรรมชนเผ่าอันทรงเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็น “บ้านคุ้ม”ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีฯ ถือเป็นศูนย์กลางความเจริญ มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกไว้บริการนักท่องเที่ยว, “บ้านหลวง”กับวิถีวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนาน อาหารอร่อย และโรงงานดองท้อ บ๊วย ด้วยแรงงานคนที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย, “บ้านขอบด้ง”ที่อยู่บริเวณสันดอย ที่นี่นอกจากจะเป็นจุดชมวิวอันสวยงามแล้ว ยังมีวิถีวัฒนธรรมของชาว“มูเซอ” อันน่าสนใจให้เที่ยวชมกันอีกด้วย
ส่วน“บ้านนอแล” ที่อยู่ห่างจากสถานีฯไปประมาณ 5 กม.นั้นก็โดดเด่นไปด้วยความงดงามของไร่สตรอว์เบอร์รี่และแปลงเกษตรพืชผักเมืองหนาวที่ปลูกลดหลั่นกันไปตามไหล่เขา รวมถึงวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านนอแลที่เป็นชนเผ่า“ปะหล่อง” หรือ“ดาละอั้ง” กับการแต่งกายอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกับ “หน่องว่อง” หรือห่วงที่เอวอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้หญิงปะหล่องที่นี่
ในพื้นที่ดอยอ่างขางยังมีการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยการปลูกต้นไม้พรรณไม้อีกหลากหลายชนิด อาทิ ไม้ไผ่ ก่อ เมเปิ้ลหอม แอปเปิ้ลป่า กระถินดอย รวมไปถึง“นางพญาเสือโคร่ง” ที่ในช่วงกลางฤดูหนาวจะพร้อมใจออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามจนได้ชื่อว่าเป็น“ซากุระเมืองไทย”
นอกจากนี้ที่ดอยอ่างขางยังมีการปลูกซากุระแท้ๆ ทั้งพันธุ์จากไต้หวันและญี่ปุ่นที่ให้สีชมพูสดกว่าดอกนางพญาเสือโคร่งของบ้านเรา ยามที่ซากุระแท้เบ่งบาน(ใกล้เคียงกับช่วงนางพญาเสือโคร่งบาน)ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลมาชมในความงามสีชมพูสดใสของดอกไม้ชนิดนี้กันเป็นจำนวนมาก
สุขใจใต้พระบารมี
หลังเพลิดเพลินกับความสวยงามโรแมนติกบนดอยอ่างขาง พวกเราก็ได้เวลาล่ำลาจังหวัดเชียงใหม่เดินทางกลับคืนสู่สภาวะปกติของมนุษย์ทำงานแห่งป่าคอนกรีต
อย่างไรก็ดีการได้ออกท่องเที่ยวในทริปตามรอยพ่อหลวงไปสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวสวยๆงามๆของ 3 โครงการหลวง“หนองหอย-วัดจันทร์-อ่างขาง” รวมไปถึงการได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่แตกต่างนอนโฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีชุมชน ซึมซับกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถือเป็นช่วยชาร์จแบตชีวิตและรักษาโรคภูมิแพ้กรุงเทพฯได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้การได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจต่างๆของในหลวง ที่ทรงทำเพื่อราษฎรชาวไทยผ่าน “โครงการหลวง”ต่างๆนั้นทำให้เรารู้สึกสุขใจเป็นอย่างยิ่ง
...ที่สำคัญคือ นี่เป็นความสุขใจจากภายในของคนไทยเล็กๆคนหนึ่ง ที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรใต้พระบารมีของพระองค์ท่าน...
*****************************************
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผู้สนใจเข้าชมงานเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่ โทร.0-5331-8301, 081-950-9762
ม่อนแจ่ม ตั้งอยู่ที่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวงหนองหอย มีร้านอาหารและที่พักให้บริการ ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ 081-806-3993
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านวัดจันทร์ ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ภายในโครงการมีที่พักให้บริการ รวมถึงมีอาหารจากผลผลิตในโครงการให้บริการนักท่องเที่ยว(แต่ต้องโทรศัพท์สั่งล่วงหน้า) ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร.0-5324-9349, 086-181-3388 หรือดูที่ www.fio.co.th/travel/watchan
กลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.กัลยาณิวัฒนา มีอัตราค่าบริการในราคามาตรฐาน คือ ค่าบ้านพักโฮมสเตย์ 150 บาท/คน/คืน,ค่าอาหาร 70 บาท/คน/มื้อ,ค่าผู้นำเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชน 300 บาท/วัน/รับกลุ่มไม่เกิน 10 คน,ค่าผู้นำเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 600 บาท/วัน/รับกลุ่มไม่เกิน 5 คน ทั้งนี้ผู้สนใจพักค้างโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยฮ่อม และท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มเหล่อชอ สอบถามข้อมูลได้ที่ คุณฤทธิศักดิ์(เช) ศรวันเพ็ญ โทร.080-859-2978
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์(หยุดวันจันทร์) เวลา 8.30 - 16.30 น. ผู้สนใจเยี่ยมชมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-5305-1021,0-81-825-8511 หรือดูที่ www.facebook.com/firstroyalfactory
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ที่บ้านคุ้ม ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ติดต่อสอบถามข้อมูลและบ้านพักได้ที่ โทร.0-5345-0107-9 ต่อสโมสร(ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) 113 ต่อบ้านพัก 114 หรือดูที่ www.angkhangstation.com
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงใหม่,ลำปาง,ลำพูน) โทร. 0 5324 8604-5
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com