xs
xsm
sm
md
lg

ชวนทึ่ง!!! "พิพิธภัณฑ์ลูกปัด" ที่เที่ยวใหม่ใน"กระบี่" แสง สี จัดเต็ม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
พิพิธภัณฑ์ลูกปัด ศูนย์การเรียนรู้ฯอันดามัน สถานที่ท่องเที่ยว เรียนรู้แห่งใหม่ในตัวเมืองกระบี่ ที่มีมุมสวยๆเก๋ๆ ให้ถ่ายรูปในหลายจุดด้วยกัน
“กระบี่” เมืองน่าอยู่ผู้คนน่ารัก”

จังหวัดนี้ไม่ได้มีดีเฉพาะหมู่เกาะ หาดทรายชายทะเล ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก แต่กระบี่ยังมีดีด้านแหล่งท่องเที่ยวอีกหลากหลาย ทั้ง ธรรมชาติ ป่าเขา ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม วิถีชีวิต วิถีชุมชน โดยเฉพาะกับแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์บนฝั่งอย่าง น้ำตกร้อน สระมรกต และ ท่าปอมคลองสองน้ำ

ขณะที่ในตัวเมืองกระบี่เอง เดี๋ยวนี้ก็มีสิ่งน่าสนใจเป็นแม่เหล็กให้คนมาเที่ยวชมกันไม่น้อย
อนุสาวรีย์ปูดำที่วันนี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองกระบี่ที่มีคนนิยมไปถ่ายรูปคู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีสมัยก่อนใครที่มาเที่ยวกระบี่มักจะไม่ค่อยแวะเที่ยวในตัวเมืองสักเท่าไหร่ เพราะมองว่าไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ(อันนี้นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่คนปัจจุบันเป็นคนกล่าวยืนยันด้วยตัวเอง)แต่หลังจากที่ตัวเมืองกระบี่ได้ทำการปรับโฉม ชูศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วให้โดดเด่นขึ้นมา พร้อมกับสร้างจุดดึงดูดใหม่ๆ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆขึ้นมา ทำให้ตัวเมืองกระบี่มีสีสัน มีคนเดินทางมาแวะเที่ยว แวะพักกันมากขึ้น นำโดย งานประติมากรรมต่างๆ เช่น รูปปั้นมนุษย์โบราณ อนุสาวรีย์นกออก และ“อนุสาวรีย์ปูดำ” บริเวณลานชมวิวเขาขนาบน้ำ ที่วันนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เมืองกระบี่ ที่มีคนเดินทางไปถ่ายรูปคู่กับอนุสาวรีย์ปูดำ แม่และลูกๆกันไม่ได้ขาด

นอกจากนี้ล่าสุดกระบี่ยังเพิ่มเติมในเรื่องของความเป็นเมืองศิลปะ มีการสร้างสรรค์งานศิลปะประดับไว้ตามจุดต่างๆของเมือง รวมไปถึงงานประติมากรรมจากไม้มะหาดที่เคยโด่งดังเป็นเรื่องดราม่าในโลกออนไลน์
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน

วันนี้กระบี่มีอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกระบี่ก็คือ “ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่” ซึ่งก่อตั้งโดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองกระบี่ ที่ต้องการผลักดันสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ ทางศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ของกระบี่ และอีก 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง และสตูล

ศูนย์ฯอันดามัน ด้านหน้าเป็นลานแสดงประติมากรรม มีอาคารจัดแสดงหลักอยู่ 2 ส่วน คือ “พิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน” ที่อยู่ด้านหน้า และ “หอศิลป์อันดามัน” ที่ตั้งอยู่ด้านใน
งานจิตรกรรมที่จัดแสดงในส่วนหอศิลป์อันดามัน
ในส่วนของหอศิลป์ฯนั้นจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์โดยเฉพาะงานจิตรกรรมของศิลปินชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 70 ภาพ รวมถึงมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดงงานศิลป์ผลัดเปลี่ยนกันไป

ขณะที่ส่วนพิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามันนั้น ผมยกให้เป็นส่วนไฮไลท์ที่เมื่อดูจากภายนอก อาจดูเป็นแค่อาคารธรรมดารูปทรงออกไปทางโรงงานด้วยซ้ำ แต่ว่าภายในนี่เขาจัดแสดงเจ๋งมาก เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ที่มีสีสันน่าสนใจไม่น้อยเลย
หอศิลป์อันดามันจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ตื่นตาตื่นใจในพิพิธภัณฑ์ลูกปัด

ภายในพิพิธภัณฑ์ลูกปัดฯ แบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 7 โซน โดยเมื่อเข้าไปจะพบกับโถงทางเข้าประดับโมบายลูกปัดคริสตัล(จำลอง) และประตูทางเข้าอุโมงค์ส่วนนิทรรศการส่วนแรกที่ประดับด้วยโมเดลลูกปัดสีทองขนาดใหญ่
เดินผ่านอุโมงค์กาลเวลาเพื่อไปสัมผัสกับเรื่องราวของลูกปัดโบราณ
เมื่อเดินผ่านเข้าสู่อุโมงค์ที่เป็นดังอุโมงค์กาลเวลาเข้ามา จะเป็นส่วนจัดแสดงโซนแรก(โซน 1) : “ห้องประวัติความเป็นมาของลูกปัด” ให้ข้อมูลว่าลูกปัดถือกำเนิดอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ 45,000 ปีที่แล้ว โดยเชื่อว่าลูกปัดสมัยแรกๆถือกำเนิดขึ้นที่แอฟริกาและอียิปต์ ตัวลูกปัดทำจากวัสดุท้องถิ่นตามธรรมชาติ จำพวก กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และดินปั้น
โซน 1 : “ห้องประวัติความเป็นมาของลูกปัด
จากนั้นข้อมูลได้โยงเข้าสู่โซนที่ 2 : "ห้องประวัติลูกปัดในประเทศไทย" ว่าด้วยการค้นพบลูกปัดในเมืองไทย มีการแสดงแผนที่การค้นพบลูกปัดตามแหล่งต่างๆของเมืองไทย พร้อมกับข้อมูลอธิบายถึงหลักฐานการค้นพบลูกปัดในเมืองไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ อายุประมาณ 4,000 ปี มีการขุดค้นพบที่ “บ้านเก่า” ต.จระเข้เผือก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แล้วตามด้วยการขุดค้นพบลูกปัดในอีกหลากหลายที่ทั่วไทย รวมถึงในภาคใต้ที่มีการขุดพบลูกปัดในทุกแห่งที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น อ.พุนพิน ไชยา ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี, แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จ.พังงา, อ.ท่าศาลา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช, เขาสามแก้ว จ.ชุมพร และที่ ต.พวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เป็นต้น
โมเดลจำลองวิถีชาวคลองท่อมโบราณที่ผูกพันกับลูกปัด
และแน่นอนว่าไฮไลท์สำคัญ(ของศูนย์นี้)ก็คือการค้นพบลูกปัดใน จ.กระบี่ ที่อำเภอคลองท่อม ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคโบราณ โดยจุดหลักๆที่ค้นพบลูกปัดจำนวนมากคือที่ “ควนลูกปัด” (ลูกปัดส่วนหนึ่งที่ได้จากการขุดค้นพบที่ควนลูกปัด ได้ทำการอนุรักษ์เก็บสะสมไว้ใน “พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม จังหวัดกระบี่” : ผู้เขียน - อ่านเพิ่มเติมได้ที่ “คลองท่อม”นามระบือลูกปัด...อัศจรรย์“สุริยเทพ”แห่งกระบี่ )
ลูกปัดสุริยเทพหรือลูกปัดหน้าคน ที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯจำลองมาจัดแสดงในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าของจริงหลายสิบเท่าตัว
สำหรับลูกปัดที่ขุดพบที่คลองท่อมนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ โดยลูกปัดที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ “ลูกปัดสุริยเทพ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังลือลั่น

ลูกปัดสุริยเทพหรือ “ลูกปัดหน้าอินเดียนแดง” (หรือ “ลูกปัดหน้าคน”) เป็นลูกปัดเก่าแก่สวยงาม
ทำจากแก้วด้วยวิธีแก้วโมเสค คือนำแก้วสีขาวและดำมาเรียงเป็นรูปใบหน้า ตา ปาก หลอมด้วยความร้อนจนอ่อนตัวแล้วดึงเป็นเส้นยาว ทำให้มีรูปหน้าตัดคล้ายใบหน้าคน ซึ่งตามหลักฐาน(เดิม)พบเฉพาะที่คลองท่อม จ.กระบี่ เท่านั้น (แต่ว่าเมื่อเร็วๆนี้มีการพบลูกปัดในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ประเทศจีน)
ลูกปัดสุริยเทพของจริง มีขนาดประมาณเหรียญสลึง เหรียญ 50 สตางค์
นอกจากลูกปัดสุริยเทพที่ถือเป็นพระเอกแล้ว ในพิพิธภัณฑ์ได้นำเสนอข้อมูลและภาพของลูกปัดน่าสนใจชนิดอื่นๆอีก อาทิ “ลูกปัดอิฐไส้ดำ”, “ลูกปัดนกยูง”, “ลูกปัดทรงทุ่นแก้วโมเสค”, “ลูกปัดหินสีมีค่า”, “ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน”, “ลูกปัดตาหรือลูกปัดลูกยอ” และ “ลูกปัดเขียนลาย” ซึ่งนี่เป็นข้อมูลคร่าวๆพอสังเขปของลูกปัดโบราณในบ้านเรา
หลากหลายลูกปัดที่ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นสายสร้อยหลากสีสันสวยงาม
ถัดมาเป็น โซน 3 : "ห้องแฟชั่นลูกปัด" ห้องนี่เป็นการนำลูกปัดมาสร้างสรรค์ ดูมากสีสันไปด้วยลูกปัดจำลองขนาดใหญ่ของแต่ละชาติที่นำมาประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นอีกหนึ่งจุดแอ๊คท่าถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยว
การจำลองลูกปัดหลากสีสันมาจัดแสดง
ส่วนโซนที่ 4 : "ห้องลูกปัดล้ำค่า" ห้องนี้จัดแสดงได้อย่างมีสีสันมีชีวิตชีวา มีการนำลูกโลกขนาดใหญ่มาไว้กลางห้องมีการเปลี่ยนแสงสีประดับไปเรื่อย พร้อมกันนี้ยังมีการผสมผสานเทคโนโลยีการจัดแสดงต่างๆทั้ง แสง สี เสียง ทัชสกรีน นำเสนอเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับลูกปัด มีการแสดงวิธีการผลิตลูกปัด ที่เมื่อแล้วเสร็จนำมาร้อยประดับเป็น สร้อย กำไล แหวน รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการนำลูกปัดมาใช้เป็นวัสดุองค์ประกอบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งผู้เข้าชมสามารถร่วมสนุกด้วยการยืนตรงจอโปรเจกเตอร์ในตำแหน่งที่กำหนด เพื่อให้ตัวเองไปปรากฏอยู่ในจอในชุดโบราณย้อนยุคได้
ด้วยเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่าเด็กๆได้เป็นอย่างดี
จากนั้นเป็นโซน 5 : "ห้องลูกปัดและความเชื่อลูกปัด" ที่นำเสนอเกี่ยวกับมุมมองความเชื่อในใส่ลูกปัดหรือประดับลูกปัดของมนุษย์ พูดถึงความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อลูกปัดแต่ละประเภท การใส่ใส่ประดับลูกปัดเพื่อเสริมสิริมงคลตามราศีต่างๆ(ลูกปัดจักราศี) ซึ่งเราสามารถเล่นเกมทำนายดวงชะตาตามราศีผ่านลูกปัดแก้ววิเศษได้อีกด้วย
ห้องลูกปัดในอนาคตที่จัดแสดงได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
มาถึงส่วนจัดแสดงในโซนที่ 6 : “ห้องลูกปัดในอนาคต” ห้องนี้เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ เพราะจัดแสดงได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นห้องวงกลม มีโมเดลศีรษะมนุษย์มีมือแสดงสัญลักษณ์อยู่บนนั้นอีกที ภายในห้องมีการนำลูกปัดมาร้อยเรียงเป็นสร้อยอันหลากหลายวางประดับในตู้กระจก แล้วสาดแสงไฟลงส่องกระทบดูระยิบระยับสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
แสงสีการจัดแสดงในโซนที่ 6 กับภาพลูกปัดสะท้อนเงาแสงไฟที่ดูแปลกตา
และเมื่อเดินต่อไปก่อนจะถึงทางออกก็จะพบการประดับโมบายลูกปัดคริสตัล รอบข้างมีกล่องแก้วสี่เหลี่ยมเล็กๆใส่เม็ดลูกปัดหลากหลายชนิดประดับไว้ข้างใน จากนั้นเส้นทางก็จะนำมาถึงโซนสุดท้าย(โซน 7) : ห้อง Thank You Zone ที่ประดับตกแต่งอย่างระยิบระยับ อำลาพิพิธภัณฑ์ลูกปัดแห่งนี้
โมบายลูกปัดคริสตัลที่อยู่ใกล้ๆบริเวณทางออก
ต่อยอดภูมิปัญญาลูกปัดโบราณ

นอกจากการนำเรื่องราวของลูกปัดโบราณมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ลูกปัดฯอันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ทางเทศบาลเมืองกระบี่ยังต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการฝึกฝีมือการทำลูกปัดโบราณให้กับช่างจำนวนหนึ่ง ด้วยการนำก้อนหิน(คัดแล้ว)ที่ถูกทิ้งไว้เฉยๆหรือที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้าง ทำถนน ผสมปูน มาสร้างสรรค์ผลงานแฮนด์เมดผลิตลูกปัดโบราณออกสู่ท้องตลาด เป็น สายสร้อย กำไล แหวน ต่างหู และเครื่องประดับอื่นๆ โดยตั้งเป้าว่าจะให้ลูกปัดโบราณเป็นอีกหนึ่งโอทอปขึ้นชื่อและโอทอปสัญลักษณ์ของเมืองกระบี่
ต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการผลิตลูกปัดโบราณเป้นสินค้าที่ระลึก
ทั้งนี้จากการพูดคุยกับช่างทำลูกปัด นี่ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก้อนหินได้มากทีเดียว เพราะจากหินคิวละไม่กี่บาท มาสร้างสรรค์ทำเป็นลูกปัดโบราณขายได้เม็ดเล็กๆในหลักสิบ หลักร้อย และเมื่อนำมาร้อยเรียงเป็นสร้อยเป็นกำไลใส่ดีไซน์เข้าไปก็สามารถขายได้ในหลักร้อยหลักพันเลยทีเดียว
ลูกปัดโบราณมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามีให้ชื่นชม ศึกษา เรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑ์ลูกปัดโบราณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่
ไม่เพียงเท่านั้นศูนย์การเรียนรู้ฯอันดามันฯแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ใน ภูมิปัญญา วัฒนธรรมโบราณ และศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าของเมืองกระบี่ ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งส่งเสริมด้านการเรียนรู้ให้กับประชาชนผู้สนใจ และน้องๆหนูๆเยาวชนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางศูนย์การเรียนรู้ฯอันดามัน ได้ร่วมมือกับ “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ”(สพร.) จัดกิจกรรม “Play+Learn : นักโบราณคดีน้อยกับลูกปัดโบราณ”ขึ้น ด้วยการเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทดลองขุดค้นในบ่อทรายจำลองเพื่อค้นหาลูกปัดที่ซ่อนตัวอยู่อย่างกระจัดกระจาย
สพ.นำเด็กๆเยาวชนมาทำกิจกรรม Play+Learn : นักโบราณคดีน้อยกับลูกปัดโบราณ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการปลูกฝังการเรียนรู้พื้นฐานด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ และการสร้างจิตสำนึกให้เห็นถึงความสำคัญของลูกปัดที่เชื่อมโยงอดีตถึงปัจจุบัน ตลอดจนเกิดกระบวนการตั่งคำถามและค้นหาคำตอบจากกิจกรรมนี้
โมเดลลูกปัดจำลอง(ขนาดใหญ่กว่าของจริง)ประดับข้างผนังที่มากไปด้วยสีสันจนกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมในพิพิธภัณฑ์
และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งการต่อยอดทางการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้ฯอันดามัน ซึ่งนี่นับเป็นอีกหนึ่งสีสันใหม่ทางการท่องเที่ยวในตัวเมืองกระบี่ ที่แม้ใครและใครหลายๆคนอาจจะไม่ค่อยชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์เท่าใดนัก แต่ว่าถ้าหากได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวในพิพิธภัณฑ์ลูกปัด ศูนย์การเรียนรู้ฯอันดามัน อาจจะทำให้หลงรักที่นี่ขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

เพราะที่นี่น่ายลไปด้วยเทคนิคการจัดแสดง แสง-สี-เสียง สื่อมัลติมีเดียสมัยใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจ

นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ลูกปัดยังมีมุมสวยๆงามๆ มุมเก๋ๆ เท่ๆ แนวๆ ให้ถ่ายรูปและเซลฟี่อัพขึ้นโซเชียลมีเดียกันเพียบทีเดียว
หลากสีสันและรูปแบบของลูกปัดชนิดต่างๆที่จัดแสดงในโซน 6
*****************************************
“ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่” ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.กระบี่ แม้ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจได้เข้าไปเที่ยวชม โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 089-866-1386
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น