การจากไปของ น้าเเพ็ท-ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด ผู้บุกเบิกหนังสือ “ลลนา” ถือเป็นการรูดม่านปิดฉากนิตยสารแฟชั่นระดับตำนานที่เคยกระชากใจนักอ่านลงอย่างถาวร ...ดังนั้น นิทรรศการลาละนะ ที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงน้าแพ็ท รวมถึงนิทรรศการแสดงงาน “สามน้า” ศิลปินชั้นครูที่ร่วมทุกข์-ร่วมสุขกันมาตั้งแต่ “ลลนา” เริ่มก่อตั้ง ครั้งนี้จึงไม่ใช่นิทรรศการธรรมดา หากแต่เป็นการเล่าเรื่องของสังคมไทยเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ผ่านงานศิลปะที่เรียบง่ายแต่คมคายที่สุดงานหนึ่งของประเทศ
วันที่แสงแดดกลางกรุงร้อนแรง เราพยายามขอนัด "สามน้า" ที่ประกอบด้วย น้าเซียน-นภดล โชตะสิริ, น้าออด-สุจินตน์ ตรีณรงค์ และ น้านน-นนทิชัย รัตนคุปต์ ลูกหม้อเก่าแก่ของ “ลลนา” เพื่อมาอัพเดทชีวิตพร้อมฟังเรื่องเล่าชาว “ลลนา” แต่น่าเสียดายที่น้าเซียน-นภดล ติดภารกิจส่วนตัว จึงเหลือเพียง 2 น้ามาทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวการทำหนังสือในยุคนั้น ให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง
น้านน-นนทิชัย รัตนคุปต์ หนุ่มร่างเล็กนักเขียนภาพประกอบ ที่ปัจจุบันยังเขียนภาพประกอบและเรื่องสั้นของตัวเอง และน้าออด-สุจินตน์ ตรีณรงค์ อาร์ตไดเร็คเตอร์ รูปหล่อมาดเข้มของลลนา ที่เดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่ชะอำและหันมาเขียนรูปบนผืนผ้าแก้เหงา ได้ปรากฎกายให้เราเห็นในชุดสบายๆ ทั้ง 2 อุ่นเครื่องด้วยรอยยิ้มก่อนเริ่มต้นลำดับเหตุการณ์ในช่วงปี 2516 ว่า เมื่อ บุรินทร์ วงศ์สงวน ตั้งใจจะทำหนังสือแฟชั่น ลลนา (ตั้งตามชื่อลูกสาวบุรินทร์) จึงมอบหมายให้ แต๋ว-สุวรรณี สุคนเที่ยง( เจ้าของนามปากกา “สุวรรณี สุคนธา “ นักเขียนนวนิยายชื่อดัง) และเเพ็ท-ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด ทำหน้าที่ผลิตและบริหาร ซึ่ง“แต๋ว”ก็ได้ชักชวนเพื่อนฝูงที่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนสนิทที่จิตรกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมงานทันที
“พวกเรามากันเพราะเชื่อใจกัน คุยกันรู้เรื่อง คิดอะไรคล้ายๆกัน เรียกว่ามองตาก็รู้ใจกันแล้ว ไม่ต้องบอกอะไรมากมาย ทำงานกันมีความสุข ตอนนั้นพี่แต๋วดูแลคอน'เทนท์ทั้งเล่ม, น้าแพ็ทเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์ เขียนภาพประกอบ ดูโฆษณา, ทิพย์-รุ่งทิพย์ เตียวสุวรรณ เป็นกระบี่มือสองรองจากน้าแพ็ท เป็นคนคิดปกและฟร้อนท์อักษร “ลลนา” , น้านนมาช่วยน้าแพทเขียนภาพประกอบ น้าออดดูแลงานศิลป์ จัดหน้า ทำเลย์เอ้าท์ ส่วนน้าเซียน เป็นช่างภาพ พอฟอร์มทีมได้แล้วก็ลงมือทำกันเลย”
“ลลนา” ที่โดดเด่นและทันสมัยเล่มแรกออกวางแผงในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2516 โดยมี อารีจิต ศิวะบุตร หนึ่งในสิบยอดนางแบบประจำปี 2516 ประเดิมขึ้นปกแรก
2 น้ายอมรับว่า คุณค่าของ “ลลนา” ในตอนนั้น นอกจากความเก๋ไก๋ของหน้าปก การดีไซน์ ตลอดจนแฟชั่นแบรนด์เนมชั้นนำแล้ว “สตอรี่” ที่พี่แต๋ว-สุวรรณี ผูกเรื่องราวไว้ตั้งแต่หน้าปกถึงหน้าสุดท้ายก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ลลนากลายเป็นขวัญใจคอหนังสือได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว
“ถ้าพูดถึงปก นางแบบที่เลือกมาขึ้นปกลลนาส่วนใหญ่ จะเป็นคนใหม่ที่เราพบเจอก็เข้าไปติดต่อ แต่ละคนสวยจริง สวยแบบธรรมชาติ ไม่ต้องแต่งเติมอะไรก็สวย สวยและมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ส่วนเนื้อหาในเล่มก็หลากหลาย มีทั้งสัมภาษณ์นักการเมือง มีเรื่องแปลต่างประเทศ นวนิยายเรื่องยาวที่พี่แต๋วแต่ง มีงานเขียนเรื่องสั้นของนักเขียนซีไรท์ มีสอนทำกับข้าว ตรงนี้ทำให้ลลนากลายเป็นที่ชื่นชอบมายาวนาน” น้าออดกล่าว
น้านน ยังกล่าวเสริมอีกว่า ใครที่ได้รับเลือกให้เป็นนางแบบที่มาขึ้นปกลลนาในยุคนั้น จะโด่งดังและมีชื่อเสียงเกือบทุกคน อาทิ ทิพวัลย์ ( วันทิพย์ ) ภวภูตานนท์, ศิริขวัญ นันทศิริ, เพ็ญพร ไพฑูรย์ ฯลฯ “สมัยก่อนไม่มีโมเดลลิ่งนะ นอกจากเจอกันโดยบังเอิญแล้วชวนๆกันมาแล้ว ใครอยากเข้าวงการก็ต้องขวนขวายกันเอง ตอนนั้นลลนาดังมาก ใครๆก็อยากขึ้นปก มีคนเขียนจดหมายมาสมัครขอขึ้นปกกันมากเลือกไม่ไหว บางคนก็เดินมาที่สำนักงานเลย มาขอเทสต์หน้ากล้อง บางคนเราดูแล้วว่าไม่ผ่าน แต่ก็ไม่อยากให้เสียน้ำใจ ก็ให้ลองไปเทสต์หน้ากล้อง กล้องสมัยก่อนไม่ใช่ดิจิตอลที่ไม่ชอบก็ลบทิ้ง ตอนนั้นใช้ฟิล์มล้าง-อัดก็แพงนะ ถ้าถ่ายทุกคนก็ไม่ไหว น้าเซียนก็เลยใช้วิธีดึงฟิล์มออกแล้วก็ถ่ายแชะๆกันไป”
งานทำหนังสือที่ดูเหมือนสนุกและสบาย ใครจะรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วไม่ง่ายและไม่สนุกอย่างที่คิด ยิ่ง “ลลนา” เป็นหนังสือรายปักษ์ ที่ต้องวางแผงทุก 15 วัน เรื่องชวนปวดหัวจึงมีเข้ามาเรื่อยๆ น้าออดซึ่งรับผิดชอบจัดหน้าหนังสือกับลูกน้อง 1 คน รวม 200 กว่าหน้านั้น บอกว่าปัญหาหนักก็คือนักเขียนที่ส่งต้นฉบับช้า และ “น้านน” ผู้เขียนภาพประกอบ ทำให้ต้องรอ
“โอ๊ยย (ลากเสียงยาว) พี่แต๋วก็ฮึ่มๆ ไม่ว่าอะไรนะ แต่แกมีวิธีให้น้าแพ็ทและคนอื่นๆไปกดดันกันเอง น้าแพ็ทก็มีวิธีกดดันคือระหว่างรอภาพจากเจ้านี่ (โบ้ยหน้าไปทางน้านน) พวกเราก็ออกไปกินเหล้ารอสบาย ใครงานไม่เสร็จก็อยู่ทำกันไป (หัวเราะ) พอเขาส่งเราก็กลับเข้ามาทำแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว จะมีปัญหานิดนึงก็ตรงเวลาที่มีคำผิด สมัยก่อนทำมือนี่ คำไหนผิดก็ต้องใช้คัตเตอร์กรีดทิ้ง แล้วไปหาตัวหนังสือที่เหมือนของเดิม ฟร้อนท์หนา ฟร้อนบางมาปะแก้ไปแค่นี้เอง”
ในส่วนของภาพประกอบที่น้าแพ็ทเจ้าของลายเส้นภาพที่เฉียบคมเป็นผู้วางรูปแบบไว้นั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์แห่ง “ลลนา” ที่สร้างความจดจำให้แฟนนิตยสาร ทำให้การทำงานในส่วนนี้มีความสำคัญมากพอกับนักเขียน “น้านน” นักวาดภาพประกอบซึ่งเป็นศิษย์ผู้น้อง กล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า งานเขียนภาพของเขานั้น ต้องอ่านเรื่องที่จะวาดให้จบ ถึงรู้ว่าจะเขียนภาพอะไร ซึ่งแต่ละภาพเขียนด้วยมือ เวลา 15 วันต่อเล่มค่อนข้างรวดเร็ว ปิดปักษ์แรกเสร็จก็ต้องทำปักษ์หลังต่อทันที “พอมีคนรอเรา เราก็ยิ่งกดดันตัวเอง งานมันก็ยิ่งช้า ปิดเล่มที่ไรเครียดมากทุกที”
5 ปี ในคณะจิตรกรรมฯ ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ “น้านน” บอกสนุกสนานแล้ว หากแต่ระยะเวลากว่า 16 ปีที่ 3 น้าอยู่กับ “ลลนา” โดยมีน้าแพ็ทและพี่แต๋วเป็นหัวแถวนั้น มีความสุขยิ่งกว่า แต่ช่วงเวลาของความสุขก็มีอันต้องจบลงเมื่อข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ พี่แต๋ว-สุวรรณี ซึ่งเป็นเสาหลักของหนังสือจากไปอย่างไม่มีวันกลับ น้าแพ็ทผู้เป็นสามี กับลูกสาวทั้ง 3 ของพี่แต๋ว และ ทุกคนในกองบก.จึงตัดสินใจเลิกทำ “ลลนา” อย่างเด็ดขาด ( สุวรรณี เสียชีวิตโดยถูกฆาตกรรม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 )
“วันที่รู้ข่าวพี่แต๋วไปแล้ว วันนั้นเหมือนวันโลกาวินาศ เหมือนโลกจะถล่มทลาย มันเป็นวันที่แย่ที่สุดของพวกเรา กองบรรณาธิการทำงานกันไม่ได้ ไม่มีกระจิตกระใจจะทำงานกันเลย ร้องไห้กันทั้งห้อง ร้องตลอด พอตัดสินใจเลิกแพ็ทก็ขายหัวให้ค่ายเนชั่น พวกเราก็แยกย้ายกันไปทำงานที่แต่ละคนถนัด ทราบข่าวคราวของลลนาเป็นระยะๆ รู้ว่ารูปแบบเปลี่ยนไป รู้ว่าหนังสือต้องปิดตัว ก็นึกเสียดายสิ่งที่พี่แต๋วกับพี่แพ็ทแกอุตส่าห์สร้างมา แต่ก็ต้องทำใจยอมรับว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ” 2 น้าช่วยกันเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
ณ วันนี้แม้ ไม่มีหนังสือชื่อ "ลลนา" โลดแล่นบนแผงหนังสือ ไม่มีน้าแพ็ทซึ่งเป็นเสาหลักต้นที่ 2 ของชาวลลนาให้ได้อบอุ่น แต่ชื่อ “ลลนา” ก็ยังประทับในความทรงจำของคอหนังสือแฟชั่นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นตำนานเก่าแก่ให้แฟนๆ ได้บอกเล่าให้ลูกหลานฟังในยามที่คิดถึงหนังสือดีๆเล่มนี้
และสำหรับแฟนพันธุ์แท้ "ลลนา" ที่โหยหาบรรยากาศเก่าๆ แนะนำชมนิทรรศการ "สามน้า" ได้ที่ HOF ART Residency Bangkok เพราะตอนนี้ขยายเวลาจัดแสดงเพิ่มถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558