xs
xsm
sm
md
lg

“หอภาพยนตร์” เปิดตัว “รถโรงหนัง” คันแรกในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“หอภาพยนตร์” เปิดตัว “รถโรงหนัง” คันแรกในเอเชีย

 
"หอภาพยนตร์" (องค์การมหาชน) จัดงานเปิดตัว "รถโรงหนัง" Cinemobile ครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม “วีระ โรจน์พจนรัตน์” เป็นประธาน

 
ต่อด้วย เสวนา “รถโรงหนัง... ที่มาและทางไป” โดย “สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์) ผู้กำกับ จิตรกรวาดภาพโปสเตอร์หนัง, "โดม สุขวงศ์" ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์, "จิระนันท์ พิตรปรีชา" กวีซีไรท์ นักแปลบทภาพยนตร์ ปิดท้ายด้วยการชมรถโรงหนังและชมภาพยนตร์ในรถเคลื่อนที่คันแรกของเอเชีย

 
 
“โดม สุขวงศ์” ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
 

“ผมเห็นเว็บไซด์ของสก็อตแลนด์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีรถโรงหนังวิ่งไปฉายหนังตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ก็คิดว่าน่าจะดีถ้าเรามีสักคัน เพราะหอภาพยนตร์มีโรงหนังเล็กๆ โรงเดียวที่ศาลายา ถ้าเรามีรถโรงหนัง จะได้เอาโครงการฉายหนังให้เด็กดู ทำให้โครงการเรากระจายไปทั่วประเทศได้
 
ตอนเช้าฉายตามโรงเรียน ตอนเย็นฉายให้ชาวบ้านดู แนวหนังที่จะนำมาฉาย เราเตรียมไว้แล้ว ให้เหมาะกับหลักสูตร กับวัยของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม เป็นประสบการณ์ชีวิต ในฐานะหนังเป็นสื่อ บันทึกเหตุการณ์ เป็นศิลปะ ให้ข้อคิด ใช้หนังเป็นการเรียนรู้ หนังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุด รวมเอาสารพัดสื่อมารวมกัน
 

การดูในโรงเหมือนการเข้าโบสถ์ไปฟังพระ มันมีความศักดิ์สิทธิ์ มีศักยภาพ ไม่เหมือนเราดูคนเดียว การดูหนังในโรงเป็นกิจกรรมสังคมของมนุษย์ ใน 100 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้รับการอบรมศึกษาทางสังคมจากการดูหนัง
 
โรงหนังมีอยู่ทั่วโลกหลายหมื่นโรง เหมือนแต่ละศาสนามีกิจกรรมในโบสถ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการศึกษาสังคมที่โรงหนัง เวลานี้มันหายไป แต่ความสำคัญยังมีอยู่ เราอยากให้เด็กๆ ได้สั่งสม ปลูกฝัง การดูหนัง
 
เราได้ทดลองให้เด็กดูไปแล้ว เขาก็ดีใจ มีสิ่งใหม่มาก็ตื่นตาตื่นใจ เอาไปฉายให้เขาดู โรงเรียนอยู่กลางทุ่ง รถไปจอด เด็กเข้ามาดู เทียบเท่ากับที่คนทั่วโลกได้ดูกัน เป็นรถโรงหนังไปในที่ๆ ไม่มีโรงหนัง ที่ไหนมีโรงหนังแล้วก็ไม่จำเป็น
 
เรามีรถคันเดียวแต่ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ก็ค่อยๆ ไป ที่ละ 2-3 วัน เช้าให้นักเรียนดู เย็นให้ชาวบ้านดู ไม่เฉพาะเด็กนักเรียน เช้าเป็นของเด็ก เย็นเป็นของชุมชน
 

โรงหนังในประเทศไทยมี 700 กว่าโรง เมื่อก่อน แต่ตอนหลังจะเลิกไป ไปอยู่ในศูนย์การค้า โรงหนังก็จะมีแต่ในจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ในตำบล ท้องถิ่นจะไม่มี แล้วเขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปดู การดูหนังที่บ้านดูจอเล็กๆ มันไม่เท่ากับการดูจอใหญ่ๆ เป็นกิจกรรมทางสังคม เป็นขนบ เป็นธรรมเนียม เป็นประเพณี เราวัดศักยภาพของหนังได้เต็มที่เมื่อดูในโรง”

 
ด้านข้างรถโรงหนังมีภาพวาดสไตล์โปสเตอร์หนัง ฝีมือ "เปี๊ยกโปสเตอร์"ด้วย

 
“ผมได้ยินเยอะ เด็กได้แรงบันดาลใจจากช่างเขียนรูปข้างโรงหนัง อย่างคุณชวน คุณเฉลิมชัย สมัยก่อนร้านกาแฟจะเป็นหอศิลป์ที่แสดงงานจิตรกรรม เด็กจำนวนมากไปจ้องดูภาพปิดโรงหนัง ผมถือว่าโรงหนังเป็นโบสถ์ หนังเป็นศาสนา ภาพที่คุณเปี๊ยกเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องราวในหนังก็ไม่ต่างไปจากสิ่งที่พระเทศน์ เรื่องราวชีวิต เราดูแล้วจะพบสัจจธรรม
 
 
รถโรงหนัง ไม่เก็บสตางค์ค่าดู เราจะออกไปสำรวจ แล้วนัดหมายกับโรงเรียนต่างๆ ไว้ ทำโปรแกรมครั้งละ 3 เดือน โปรแกรมแรกจะไปที่ภาคกลาง เพราะเรายังไม่ชำนาญ สร้างความชำนาญให้กับทีมงานด้วย แล้วก็ไปภาคอีสานตอนบน แล้วไปภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดน
 

รถคันนี้ ผลิตและประกอบโดย บริษัท Toutenkamion จากประเทศฝรั่งเศส มี 100 ที่นั่ง รองรับระบบภาพทั้งแบบธรรมดาและ 3 มิติ ระบบเสียงเชอร์ราวด์ 7.1 สมบูรณ์แบบ พร้อมเครื่องปรับอากาศให้ชมภาพยนตร์เหมือนในโรงหนังจริงๆ”

 
 
 
“เปี้ยก โปสเตอร์” (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ)
 

“ก่อนอื่นต้องขอบคุณหอภาพยนตร์มากที่ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเกินความฝันเยอะแยะ ผมตั้งใจจะเป็นช่างเขียนตอนอายุ 7 ขวบ แต่ครอบครัวไม่สนับสนุน ผมออกจากบ้านไปเป็นกุลี จบม.6 เข้าเพาะช่าง รับจ้างเขียนป้ายโฆษณา ที่ดีใจคือวันนี้ผมอายุ 83 หอภาพยนตร์ยังเอางานเขียนของผมตระเวนไปทั่วประเทศ มันเป็นอะไรที่เกินความคาดหมาย ผมยินดีมาก ตอนเขาบอกมีรถโรงหนังจะให้ผมเขียน
 
ภาพที่เขียนบนรถ ตอนแรก ช่วงสเก็ตช์ภาพ ใส่เข้าไปหลายเรื่อง เป็นหนังฝรั่งที่เราชอบ เอามาดูแล้วจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เลยเปลี่ยนมาเป็นหนังไทยอย่างเดียว เอามารวมๆ กันหลายๆ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ดังๆ มีหนังของผมด้วย แล้วมีหน้าผมด้วยนะ
 
ผมกับหอภาพยนตร์ผูกพันมาโดยตลอด ผมได้เอาฟีล์มหนังมาฝากไว้ที่นี่เพราะที่ไหนก็ไม่มีห้องเย็น ดีใจมากๆ ที่ผลงานเราแล้วก็ลูกศิษย์ได้เป็นสัญลักษณ์ของการโฆษณาหนัง สมัยนี้มันไม่มีแล้ว ใบปิดหนังเรื่องแรกที่ผมทำคือหนังฝรั่งเรื่อง “เกาะรักเกาะสวาท" หนังอิตาลี่ ส่วนภาพในรถโรงหนังนี้เป็นอนุสรณ์ของเรากับลูกศิษย์ของเรา ต้องขอบคุณหอภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่งครับ”

 
 
 
“จิระนันท์ พิตรปรีชา” 
 

“ถ้าให้พูดถึงประสบการณ์ตัวเองเกี่ยวกับหนัง ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ จ.ตรัง มีโรงหนัง “วิกคิงส์” วันเสาร์อาทิตย์เราจะไปดูหนังกัน คงไม่วาบขึ้นมา ถ้าดูหนังแผ่นอยู่ในห้องนอน นั่นคือคำบรรยายที่ปรากฏขึ้นบนจอ จดจำได้แม่นยำ มีหนังจีนแปลบทร้องโอเปร่าเป็นกลอน เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่วัยเด็ก ว่าจะเขียนจะแปลให้ได้ได้อย่างที่เห็น
 
เรื่องที่ชอบ “หงส์ทองคะนองศึก” หนังกำลังภายใน พระเอกคิดถึงนางเอก... “ผาดโผนไปในโลกกว้างเพียงดาบเดียว จักกะพาทโผผินเฉี่ยวเหนือเมฆา แห่งหนใดในโลกนี้คือบ้านข้า โอ้ นางแอ่นในอดีต ผกเผินมา สู่เรือนใด”... ว่าแล้วพระเอกก็คลี่พัด ตวัดกระบี่ ตอนนั้นยังไม่ถึง 10 ขวบ จำได้หมดเลย ประทับใจฝังแน่น ติดลึกทนนาน
 
ความรู้สึกนี้เลยเผื่อแผ่มาถึงเยาวชนสมัยนี้ด้วยว่า ถ้าเด็กๆ มีประสบการณ์ได้ดูหนัง อย่างหนังฝรั่งเรื่อง “ซีเนม่า พาราดิโซ” เป็นหนังในดวงใจของแฟนภาพยนตร์จำนวนมากทั่วโลก มันคือประสบการณ์วัยเด็กที่ฉายหนังกลางแปลงบนฝาผนังตึก เด็กก็จินตนาการพรั่งพรู ฟุ้งไปหมดเลย กลายเป็นคนรักหนัง แต่ถ้าเราดูหนังแผ่นก็ไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น
 
จินตนาการและแรงบันดาลใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ พอทำไปเรื่อยๆ ทำงานตามสั่งไป นั่นไม่เรียกว่าแรงบันดาลใจ ต้องสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากความรู้สึก ความมุ่งมั่นของตัวเองขึ้นมา “ภาพยนตร์”เป็นสาขาหนึ่ง ในบรรดาศิลปะร่วมสมัยทุกสาขา จิตรกรรม วรรณกรรม ดนตรี กวี ทุกอย่าง
 
ถ้าจะถือว่าอะไรที่ป๊อปที่สุด เข้าถึงเยาวชนได้ง่ายที่สุด แล้วสร้างแรงบันดาลใจได้กว้างขวางที่สุด คือ ภาพยนตร์กับเพลง เราต้องส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มาดู แล้วรถกล่องโรงหนังของเรา “ทรานฟีล์มเมอร์” จะต้องใส่เนื้อหา สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายในเรื่องอื่นๆ ด้วย อยากให้ใส่เรื่องหนังสิ่งแวดล้อมเข้าไปเยอะๆ ตอนนี้ก็ทำอยู่ ทำมานานแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจำเป็นต้องอาศัยศิลปะ มีเดีย และสื่อต่างๆ ให้ความรู้และแรงบันดาลใจ
 
 
เวลาทำงานแปล ตอนเริ่มทำงานแปลบทหนังครั้งแรก ค่าแปลบรรทัดละ 50 สตางค์มา 20 ปี ทีนี้คุณอวบ ไตลังคะ เป็นผู้จัดการบริษัทยูไอพี ท่านมีหัวครีเอทีฟที่สุดยอดมาก ไปเชิญ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” มาแปลเรื่องหนึ่ง ไปเชิญ “ดอกเตอร์ระวี ภาวิไล” มาแปล “สเปซโอดิสซี” คือฟิลไหนของใครต้องไปตามมาแปล คุณอวบคิดว่าหนังเรื่อง Always (ไฟฝันควันรัก อันนี้ดิฉันตั้งชื่อให้) พระเอกนางเอกเป็นนักผจญเพลิงดับไฟป่า มีเพลงเอก “สโมกเก็ตอินยัวร์อายส์” ต้องการกวีมาแปลเพราะว่าเพลงนี้จะวนไปวนมาอยู่ในหนัง
 
พอได้แปลก็ติดใจ แอบฝันมานาน ฝังลึกอยู่ในแรงบันดาลใจวัยเยาว์ ก็ทำให้ดีที่สุด ดีล้นเกิน แปลไปทุกคำทุกวรรคจนเขาอ่านไม่ทัน เพิ่งรู้ทีหลัง เคล็ดลับคือ แต่ละเฟรมที่หนังขึ้นมาบนจอ อย่าให้เกิน 28-30 ช่องตัวอักษร เฟรมหนึ่งขึ้นมาไม่เกิน 7 วินาที ถ้ามีกำกับว่า 1 หรือ 2 วินาที ต้องรีบย่อความ อย่าไปแย่งซีนหนัง เราเป็นแค่สื่อ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด นี่แปลมา 300-400 เรื่อง เลิกแล้วค่ะ ไปทำอย่างอื่น”

 
 
 
“รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข”
 

“ผมเป็นประธานบอร์ดก็จริงแต่มีความรู้เรื่องหนังน้อยมาก หอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชน สำหรับมหาชนจริงๆ ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อเด็กๆ รถโรงหนังคันนี้ ได้มายากลำบากมาก คุณโดมคิดมาหลายปีมากๆ กว่าจะได้เงินมาทำก็ยากเย็นแสนเข็ญ ด้วยความปรารถนาอยากให้เด็กเยาวชนได้ดูเทคโนโลยีนี้
 
“หนัง” เป็นหัวใจของจินตนาการ รย่นย่อชีวิต ย่นย่อประสบการณ์หลายๆ วงการให้เด็กคิด การได้ดูหนังจะปลูกจินตนาการ ปลูกความคิดสร้างสรรค์ ปลูกความฝันที่กว้างไกลไปในโลกอนาคต ประเทศไทยค่อนข้างขาดจินตนาการ รถโรงหนังคือการไปโปรยดอกไม้จินตนาการให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาส ทุกสิ่งในรถโรงหนัง ทุกที่นั่งเป็นสิ่งล้ำค่า เมื่อเด็กได้นั่งแล้วจะรู้สึกว่าเมืองไทยมีแบบนี้ด้วย สร้างโอกาสให้เด็กทุกคน”
 

 
 
  
“รถโรงหนัง” Cinemobile จะไปพบกับทุกคนแล้ว อดใจรอคอย มกราคมปีหน้า 2558 เจอกันแน่นอน


โดม สุขวงศ์
เปี๊ยก โปสเตอร์
จิระนันท์ พิิตรปรีชา
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข










กำลังโหลดความคิดเห็น