“ศิลปะส่องทาง”(2)
เมื่อวรรณกรรมซีไรท์ถูกนำมาทำเป็นเพลง
ครั้งที่แล้ว เราได้รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคำว่า ศิลปะส่องทาง ของวงการไทยและวงการโลกไปแล้ว จากผู้ใหญ่ในแวดวงศิลปะทั้งสองคือ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม และ “ทิวา สาระจูฑะ” บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง แล้ว คราวนี้ก็มาถึง.....
การเสวนา “ศิลป์ทั้งผองพี่น้องกัน” โดย “พยัต ภูวิชัย” ผู้แต่งเพลง - โปรดิวเซอร์ “แรงดาลใจจากวรรณกรรมซีไรต์”, ศิลา โคมฉาย นักเขียนซีไรต์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์, โชคชัย บัณฑิต กวีซีไรต์, จเด็จ กำจรเดช นักเขียนซีไรต์, อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์, ศิลปิน สุรชัย จันทิมาธร, มงคล อุทก, เป้ สีน้ำ, บี๋ คณาคำ, ฟอร์ด สบชัย, บิลลี่ โอแกน ดำเนินรายการ โดย คมสัน นันทจิต
“พยัต ภูวิชัย” พูดถึงความเป็นมาในงานครั้งนี้ว่า
“ครั้งแรกที่ผมเขียนเพลงจากวรรณกรรม ผมถูกเชิญให้ไปงานเปิดตัวหนังสือของ ”ศิริวร แก้วกาญจน์” แทนที่จะเอาช่อดอกไม้ไป ผมก็เอาเพลงที่เขียนจากหนังสือของเขาไปเล่นในงาน ปรากฏว่านักเขียนซีไรท์หลายคนบอกว่าเขียนให้ผมบ้างๆ ก็เลยคิดทำเพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือ แล้วเป็นการตีความ เป็นการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ของผมด้วย ปีนี้ครบรอบ 35 ปีรางวัลซีไรท์ สำนักพิมพ์ผจญภัย มีพิมพ์ผลงานซีไรท์อยู่แล้ว 2 เล่มคือ “แดดเช้าฯ”และ”หัวใจห้องที่ห้า”ก็ไปเทียบเชิญอีก 5 เล่มมาทำเป็นปกแข็งใส่ BOX SET จากนั้นก็เอาวรรณกรรมซีไรท์มาให้ผมเขียนเป็นเพลงอีก 5 เล่ม
ซีไรท์ทั้ง 7 เล่ม เป็นกวีไป 5 เล่ม 3 นาทีในการฟังเราต้องย่อยหนังสือให้มีหัวใจหลักของหนังสือให้ได้ ให้นำสารไปในทาง เดียวกันกับหนังสือ เริ่มที่”แดดเช้าฯ”ก่อน เพราะอยู่ในที่เกิดเหตุของเพลงแรกที่ผมทำ เขาเขียนหนักๆ ก็มันดี ของ”อังคาร”กว่าจะเปิด”หัวใจห้องที่ห้า”ได้ก็ใช้เวลานาน ของ”จเด็ด”เป็นเพลงที่ 4 ส่วนเพลง”แม่น้ำรำลึก” เป็นการร้อง 4 ช่วงวัย วัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยหนุ่มมาก แล้วก็วัยพี่หงา ส่วนเพลงที่ให้พี่บิลลี่ร้อง ดูการเคลื่อนไหวการแสดงออกของเขาแล้ว มาเป็น“นาฏกรรมบนลานกว้าง”
สิ่งที่ยากคือ บรรยากาศสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ เราแค่อยากแบ่งเป็นผู้ถูกระทำกับผู้กระทำเท่านั้น ทุกอย่างมีการปรึกษากัน พยายามแชร์กันให้มากที่สุด อย่าง”ครอบครัวกลางถนน” ให้พี่สุเมธร้อง เป็นเพลงที่คิดแล้วเขียนยากมาก 5 เดือน ตั้งใจจะให้มีความหลากหลาย ผมทำงานกับความสมบูรณ์แบบมาชั่วชีวิต อยากทำแบบติสท์บ้าง ก็ให้พี่สุเมธอัดในรถ แล้วเครื่องอัดก็หาเอาเอง ผมรับสารนั้นมาแล้วส่องทางไป ไม่จำเป็นว่าต้องสมบูรณ์แบบ แต่เหมาะสมในความง่ายงาม ดนตรีไม่ได้ไปเบียดเนื้อหาสาระ ไม่ไปเบียดเสียดนักร้อง ศิลปินได้โชว์พลัง ยินดีรับทั้งก้อนหินและดอกไม้ ขอบคุณพี่ๆ ที่ได้ส่องทางให้ผมเขยิบมาเป็นเพลง ขอบคุณพี่ๆ ที่ไว้วางใจผมครับ”
มาฟัง “ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน” ผู้ขับร้องเพลง “แดดเช้า”พูดบ้าง
“ผมไม่เคยเห็นเพลงจากงานวรรณกรรมมาก่อน พยัตบอกว่ามีงานแบบนี้น่ามาแจม ผมก็โอเค.ครับ ใจง่ายมาก คิดอะไรก็ใส่ไป ตามสะดวก ก็รับโจทย์นี้มา โดยความรู้สึกที่ฟังเดโมครั้งแรกก็แปลกดี โทนของเพลงพยายามจะโรแมนติก ลองร้องหลายๆ แบบ แล้วเปิดดูว่าเราชอบแบบไหนมากสุด การหยิบเรื่องราวจากซีไรท์มาแต่งเป็นเพลงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำก็ได้ มันเป็นงานกวี ด้วยประสบการณ์ในการเขียนเพลงมากกว่า 25 ปีของพี่พยัต ทำให้เพลงออกมามีความพิเศษแตกต่างจากหลายๆ เพลง งานนี้เป็นงานหนึ่งที่เป็นศิลปะ ก็อยากจะให้ลองฟังดู”
“บี๋-คณาคำ อภิรดี” ผู้ถ่ายทอดเพลง “หัวใจห้องที่ห้า” กล่าวว่า
“ตอนแรกก็คุยกันทางโทรศัพท์ก่อน มีความรู้สึกว่า กวีกับเรื่องราวของเพลงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือคนอ่านหนังสือน้อยลง เราจะเป็นสะพานเชื่อมให้ถึงกัน ถือว่าเป็นเกียรติมากนะคะ แล้วไว้วางใจพยัตที่คิดแล้ว เราทำงานที่เป็นคอมมาเชียลเยอะ รู้ว่าจะหยิบอะไรใส่อะไรแล้วจะได้อะไรที่เราต้องการ ในฐานะที่เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงในกวีชุดนี้ การดึงเอาใจความสำคัญจากหนังสือซีไรท์แต่ละเล่มมาเขียนเป็นเพลงก็เหมือนคล้ายๆ การทำเพลงประกอบภาพยนตร์ คืออ่านทั้งหมดแล้วตีความ ดึงหัวใจสำคัญของแต่ละเรื่องออกมา แล้วย่อให้มันอยู่ในหนึ่งเพลง ถ่ายทอดความสวยงามให้มากที่สุด”
“บิลลี่ โอแกน” ผู้ขับร้องเพลง “นาฏกรรมบนลานกว้าง”
“เป็นการทำงานด้วยกัน ช่วยกันทำดนตรี พี่พยัตส่งมาให้ฟังทางโซเชียลมีเดีย เราก็เข้าใจ เนื้อร้องทำนองเรียบเรียงมาแล้ว เนื้อหาพูดถึงวรรณกรรมที่พูดถึงการต่อสู้ทางสังคม ไม่อยากให้ออกมาเป็นเพื่อชีวิตมากนัก ให้ออกมาเป็นบันทึก พยัตทำมาเป็นถ้อยความถ้อยคำน่าสนใจมากครับ ผมก็เล่นออแกนไป เป็นบิลลี่ออแกน ในอัลบั้มนี้มีนักร้องเยอะมาก ศิลปินรุ่นใหญ่ก็มีพี่หงา พี่หว่อง มงคล อุทก รุ่นเล็กก็มีผม ฟอร์ด เป็นโฟล์คที่มีความสละสลวย ทำให้เป็นดนตรีฟังง่าย”
“เป้ สีน้ำ” ผู้ขับร้องเพลง “ในเวลาของผีเสื้อ” บอกว่า
“ตอนแรกผมเข้าไปกดไลค์ ผมชื่นชมในแรงบันดาลใจของพยัต ที่สามารถเขียนบทกวีได้ทุกวัน แล้วมีส่วนผลักดันแวดวงหนังสือด้วย ทำให้ผมกระโดดเข้ามาร่วมด้วย พยัตเขาจ่ายงานแล้วเขาก็ทอดทิ้ง ถือว่าดิ้นรนกันเองละกันนะ ในเพลงผมมีจิ้งจกทักด้วย อัดไป 3 อัน เลือกอันที่ 3 ที่มีเมาท์ออแกน เนื้อหามีความหมายดี ถ่ายทอดออกมาเชิงสัจธรรม มองชีวิตในเชิงลึกตามความเป็นจริง บวกกับกิเลสของมนุษย์ สร้างความถูกต้อง แต่ยังยอมรับความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ งานกวีสำคัญกับนักอ่านหรือคนที่มองชีวิต เพราะกวีส่วนใหญ่จะตกผลึก ตัวสัจจะบางอย่างผ่านวิธีคิดของแต่ละคน พอกวีมาเป็นเพลงยิ่งน่าสนใจ ต้องลองอ่าน ต้องลองฟัง จะรู้ถึงทุกสิ่งที่นักเขียน กวี คนแต่งเพลง คนร้อง สื่อสารว่าเพลงว่าเป็นอย่างไร”
มาที่นักเขียนซีไรท์ “จเด็จ กำจรเดช” พูดบ้าง
“เพลงที่แต่งขึ้นทั้งหมดเสมือนการต่อยอดผลงานจากประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง เพราะศิลปะส่องทางให้กันและกันได้ โดยส่วนตัว ตอนที่เขียนหนังสือก็มีเพลงเป็นแรงบันดาลใจอยู่บ้าง ในครั้งนี้ตัวหนังสือได้ส่งทอดกลับไปเป็นเพลงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น เป็นแรงผลักดันให้นักแต่งเพลงคนอื่นๆ หันมาหาวรรณกรรม ใช้ชุดคำที่เป็นวรรณกรรมมาแต่งเพลงให้มากขึ้น ทำให้เนื้อหาของเพลงบ้านเรามีความลึกซึ้งหลากหลายขึ้น นอกจากมุมองความรัก อย่างเพลง”แดดเช้า” ก็ได้ “ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน” มาขับร้อง ทำให้แนวเพลง ทำนองมันเปิดกว้าง เนื้อเพลงเท่ ทำให้คนอยากอ่านเนื้อหาแบบเต็มๆ จากวรรณกรรม สุดท้าย อ่านจบแล้ว ฟังเพลงแล้ว จะได้อะไรกลับไปก็แล้วแต่การตีความของแต่ละคน”
“สุรชัย จันทิมาธร” มาถึงงานตอนจบการเสวนาพอดี ทุกคนอยากฟังสิ่งที่พี่หงาคิดเกี่ยวกับ”ศิลปะส่องทาง”
“ผมอยู่ในเส้นทางนี้มาโดยตลอด ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร โดยรากเดิมเป็นนักคิดนักเขียน เขียนบทความที่ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรมาก เขียนบทกลอน บทกวี ตามแต่จะคิดได้ แล้วก็เขียนเรื่องสั้น วงการเพลงบ้านเราในอดีต มีหลายคนที่มีความเป็นมามาจากวรรณกรรม เช่น พี่สุเทพ วงษ์กำแหง, พี่สุรพล โทณวณิก ก็มีความเป็นมามาจากแวดวงหนังสือพิมพ์ ผมก็อาศัยเป็นแนวทาง มันมีหนทางที่สัมพันธ์กันได้ งานเขียนกับงานเพลง แต่งเพลง มันเกี่ยวโยงกัน มันเป็นวรรณกรรมในบทเพลงได้
รุ่นพี่ๆ ก่อนหน้านั้นที่เขียนกลอนดีๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่เนาวรัตน์ก็เขียนเพลงเหมือนกัน ตัวเองมีโอกาสสัมผัส ผมก็ครูพักลักจำ สมัยที่ผมอยู่กับพี่ปุ๊-รงค์วงษ์สวรรค์ ก็ไม่คิดว่าจะเกี่ยวกับวงการเพลง พี่ปุ๊เขียนบทหนังให้วงอิมพอสสิเบิล ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนชื่อวงก็เลยสร้างไม่เสร็จ ผมไปคลุกคลีในฐานะเป็นน้อง พี่ปุ๊ใช้ผมเขียนเพลงประกอบ คิดว่าจะให้อิมพอสสิเบิลร้อง เป็นความตั้งใจของคนเขียนบท
พี่ปุ๊สอนผมหลายอย่าง อย่าง“เพลงคนกับควาย” แกฟังแล้วก็ชี้บอกว่าตรงนี้เป็นเสน่ห์ของเพลงนะ วรรคตอนเดียว หัวเลี้ยวหัวต่อของเพลง ผมก็ไปตั้งคำถามว่าเสน่ห์ตรงนั้นคืออะไร การใช้เสียงกับถ้อยคำ (ร้องให้ฟัง “ยากจนหม่นหมองมานานนัก นานนักน้ำตามันตกใน” มันอยู่ตรง”น้ำ”) มันเกี่ยวโยงนิดเดียวตรงนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้ฝึกฝนจากกาลเวลาจนแก่เฒ่า ชีวิตทั้งหมดก็อยากจะบอกว่าวรรณกรรมเชื่อมโยงกับบทเพลงและอยู่ด้วยกันได้”
เป็นการต่อยอด ต่อลมหายใจให้กับวรรณกรรม และ บทเพลงไปพร้อมกัน ฟังหนึ่งได้ถึงสอง และอาจแตกหน่อไปได้เป็นสามสี่ อยากรู้ว่าบทเพลงเหล่านี้เป็นอย่างไร ต้องหามาฟัง แต่จากที่ฟังในงานวันนั้น บอกได้ว่า "ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ"
(ผู้ที่สนใจ BOX SET BOOK & SONG ที่มีหนังสือซีไรท์ 7 เล่ม ซีดีเพลง 8 เพลง ในกล่องสวยหรู ราคา 2,295 บาท ช่วงเปิดตัวจำหน่ายราคาพิเศษ 1,800 บาท ตอนนี้เหลือ 400 ชุดแล้ว ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป สั่งจองได้ที่กล่องข้อความ “สโมศิลป์” WWW.facebook.com โทร.082-941-1915 )