xs
xsm
sm
md
lg

“ศิลปะส่องทาง”(1) เมื่อวรรณกรรมซีไรท์ถูกนำมาทำเป็นเพลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศิลปะส่องทาง”(1)
เมื่อวรรณกรรมซีไรท์ถูกนำมาทำเป็นเพลง

ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับแวดวงวรรณกรรมและวงการเพลง ที่ศิลปะสองศาสตร์ได้ถูกนำมาประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง และเป็นการรวมศิลปินสองกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยอาศัยความสุนทรียศาสตร์ของศิลปะทั้งสองแขนง หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียว ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่แตกแยกเป็นสองฝ่าย สิ่งนี้จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์ที่ไม่มีขีดจำกัด และไม่มีเรื่องของความขัดแย้งเข้ามาเป็นตัวขัดขวางในการรังสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม

ในงาน เป็นการแถลงข่าวเปิดตัว BoxSet วรรณกรรมซีไรต์ปกแข็ง และบทเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมซีไรต์
เริ่มงานด้วยการอ่านบทกวี โดย “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” กวีซีไรต์ - ศิลปินแห่งชาติ ต่อด้วย เสวนา “ศิลปะส่องทาง” โดย “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม และ “ทิวา สาระจูฑะ” บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ดำเนินรายการ โดย “จรูญพร ปรปักษ์ประลัย” นักวิจารณ์วรรณกรรม

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม พูดถึงคำว่า “ศิลปะส่องทาง”
 สมัยก่อน 40 ที่แล้วคำนี้ยังไม่เกิด คิดว่า “อาจารย์เจตนา นาควัชระ”พูดไว้ในแง่การมองศิลปะว่ามันส่องทางกัน ข้ามทางกัน มีความสัมพันธ์กัน ทั้งทางตรงทางอ้อม มีมานานแล้ว เมื่อ 50 ปีก่อน “น. ณ ปากน้ำ” บอกว่า “ศิลปะทั้งผองพี่น้องกัน” ท่านเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งบอกว่าศิลปะที่เป็นพี่น้องกันมี 5 สาขา เป็นเบญจศิลป์ แต่ยุคต่อมาคลี่คลายไปมากขึ้น อย่างภาพยนตร์ก็เป็นศิลปะแขนงที่ 7 ในสมัย อ.ศิลป์ พีระศรี บอกว่ามี 5 สาขา 5 ประเภท มีวรรณกรรม, จิตรกรรม สถาปัตยกรรม, คีตกรรม(เกี่ยวกับดนตรี) นาฏกรรม(การแสดง การละคร)
ถ้ามองในแง่วรรณกรรม ถือว่าบทกวีคือ”หัวมงกุฎ” งานร้อยแก้วจะมาทีหลัง งานร้อยกรองเป็นจุดเริ่มต้น การมีจังหวะจะโคน มีทำนองของไทย ก็เป็นทำนองนี้ วันหนึ่งมาเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ 4 มีการเขียนในลักษณะพรรณนา บรรยาย เป็นต้นกำเนิดของงานเขียนเรื่องสั้น, นวนิยาย สำหรับผมเองถือว่ามันส่องทางกันมานานแล้วนะครับ ผมถามตัวเองว่าระหว่างภาพกับคำอะไรมาก่อน ผมนึกย้อนไปสมัยวัยเด็กก็อ่านหนังสืออ่านเล่นไปพร้อมๆ กับดูหนัง ฟังเพลง ชาญ เพ็ญแข, สมยศ ทัศนพันธ์ แล้วก็ฟังเพลงแขกก่อนนอน มันเหมือนเป็นการขัดเกลา คำกับภาพ สำหรับผมแล้วผมว่ามันมาพร้อมกัน คือหนังสือกับภาพเขียน
ในแวดวงฝรั่งก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ว่าอะไรมาก่อน สำหรับผมเติบโตในลักษณะที่ว่ามันส่องทางมาทั้งภาพและคำ มันก็คลี่คลายมาเรื่อย จุดนี้ทำให้เราสามารถที่จะต่อเติม ศิลปะในปัจจุบันเขาเพิ่มเป็น 9 หรือ 10 สาขาแล้ว เพราะว่าเอาแฟชั่นเข้ามา เอาศิลปะตกแต่งเข้ามา ทำให้ลำบากใจเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนการมองศิลปะต้องแบ่งชั้นเป็นไฟน์อาร์ต มีลักษณะแตกต่างไปจากแอพพลายอาร์ต
สำหรับผมแล้วอะไรจะเกิดก่อนหลังผมคิดว่าเป็นพี่น้องกัน พูดถึงศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน มันไปด้วยกันได้ ไม่แปลกใจที่คนชอบศิลปะจะชื่นชอบในหลายสาขา คนเขียนหนังสือก็มาวาดรูป พอช่อการะเกดเจ๊งชั่วคราวก็มาสนใจทางวาดภาพ เหมือนอย่างที่ทิวาเขาทำ แต่งเพลง เล่นดนตรี ในด้านนักเขียนคนรู้จักเขาในแง่นักประพันธ์ชั้นเยี่ยมแต่ไม่รู้ว่าเขาก็วาดรูปด้วย วิคเตอร์ ฮูโก เขียนนวนิยายเรื่องเหยื่ออธรรม ก็วาดภาพเขียนไว้เป็นพันๆ รูป เฮนรี่ มิลเลอร์ ก็วาดรูป ยังมีอีกมากมาย พอมองศิลปะเป็นส่วนต่อขยายก็จะเห็นว่ามันเป็นพี่น้องกัน มันส่องทางกัน ฟังเพลงก็เกิดแรงบันดาลใจลึกๆ อยากเขียนหนังสือ
อ.ศิลป์ พีระศรีบอกว่าเวลาท่านวาดรูป ท่านเปิดเพลงคลาสสิคไป รงค์ วงษ์สวรรค์บอกว่าเวลาจนแต้มไม่รู้จะเขียนอะไรเขียนไม่ออก บางทีก็ใช้วิธีดูภาพถ่าย เพราะภาพถ่ายนั้นมันบอกบางสิ่งบางอย่าง สามารถทำให้บรรยายออกมาจินตนาการออกมา" 

“ทิวา สาระจูฑะ” กับคำว่า ศิลปะส่องทาง

“มีคำอยู่คำหนึ่ง เป็นคนในรุ่น โสเครติส, อริสโตเติล พูดไว้ว่า “จิตรกรรมเป็นกวีนิพนธ์ที่เงียบเสียง” ขณะเดียวกัน “กวีนิพนธ์คือจิตรกรรมที่ส่งเสียง” ตั้งแต่โบราณแล้วมีลักษณะที่เชื่อมโยงกันของศิลปะ เราจะเรียกว่าแรงบันดาลใจหรือศิลปะส่องทางก็แล้วแต่ อย่างคำที่อยู่ในวรรณคดีเก่าๆ ถูกนำมาใช้ในเพลงมากมายทุกยุคทุกสมัย แม้ว่ามันจะยาวนานมาก
คำว่า All the world’s a stage ของเชคสเปียร์ ทุกวันนี้ในเพลงสากลก็มีคำนี้ใช้ เราจะแปลว่า”โลกนี้คือละคร” หรืออีกคำหนึ่งที่เหลือเชื่อมากคือ Mirror Mirror on the wall อยู่ในการ์ตูน ในนิทานสโนวไวท์ ตอนแม่มดถาม คำนึ้มาอยู่ในเพลงร็อคของวงดนตรีร็อคมากกว่า 10 วง ถูกนำมาใช้แล้วใช้อีก
ในช่วงทศวรรษ 1990 มีศิลปินหลายคนเอาหนังสือมาทำเป็นอัลบั้มอย่างเช่น Mike Oldfield ศิลปิน Progressive ทำชุด The song of distant earth เป็นนิยายของ Athur C.Clark นำมาทำเป็นดนตรีบรรเลง ขณะที่ Bruce Springsteen ก็ทำอัลบั้ม The Ghost of Tom Joad ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นตัวละครเอกในนิยายผลพวงแห่งความคับแค้นของ จอห์น สไตน์เบค
คนที่ทำงานศิลปะด้านหนึ่งแล้วได้อิทธิพลอีกด้านหนึ่ง จะต้องศึกษามากกว่าที่จะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เพราะว่าโอกาสของศิลปะจะขยายให้คนต่างสาขาอาชีพได้ต่อยอดความคิดของตัวเองออกไป บางคนอาจจะมองข้ามศิลปะบางอย่างซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากและกลายเป็นศิลปะ เป็นสื่อที่ป๊อปปูลาร์เข้าถึงผู้คนมากมาย
การ์ตูนเรื่องซุปเปอร์แมน เกิดมาตั้งแต่ปี 1933 กลายมาเป็นหนังทีวี เป็นหนังใหญ่ ถูกสร้างแล้วสร้างอีก แล้วก็การ์ตูนของดีสนีย์คอมมิค ไม่ว่าจะเป็นสไปเดอร์แมน, แบทแมน ก็กลายมาเป็นหนัง ในแง่ศิลปะ เกมคอมพิวเตอร์ก็เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่ง ทุกวันนี้ก็แข่งขันกันสร้าง อย่าง Toom Rider ก็เริ่มมาจากเกมคอมพิวเตอร์ ออกไปเป็นเฟรนไชส์ ออกไปทุกสื่อ หรือ Dragon Ball จากการ์ตูนธรรมดาก็ออกไปเป็นสื่อ ซึ่งตรงนี้ฝรั่งเขาเรียกเป็นศัพท์ใหม่ว่า “ครอสมีเดีย”
สมมติวงดนตรีวงหนึ่งเป็นวงคลาสสิคมาเล่นเพลงป๊อปเพลงร็อคอย่างนี้เรียกว่า ”ครอสโอเวอร์” หรือศิลปินคันทรีก้าวข้ามไปเป็นป๊อปก็เรียกว่าครอสโอเวอร์ แต่ตอนหลังทั้งศิลปะ ทั้งหนังสือ รวมทั้งสื่อทั้งหมดเขาจะรวมเรียกว่าครอสมีเดีย ยกตัวอย่าง ดราก้อนบอล ที่เอามาจากตำนานไซอิ๋วของจีน ตอนนี้ก็เป็นครอสมีเดีย มีทุกอย่าง จนกระทั่งเป็นของขาย เพื่อนผมคนหนึ่งคลั่งลูกแก้วนี้มาก ถึงขนาดบินไปญี่ปุ่นเพื่อไปซื้อลูกแก้วให้ครบ 7 ลูก"

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” พูดถึง ศิลปะส่องทางในเมืองไทย
ผมว่า "ครอสมีเดีย" มองในแง่ประวัติความเป็นมามันน่าจะประมาณช่วง 1960 มีการเปลี่ยนแปลงของศิลปะมากมายแทบทุกสาขา รวมถึงคำว่า Post Modern ก็เริ่มมาตั้งแต่ 1960 แล้ว แต่คำๆ นี้เพิ่งมาถึงบ้านเราเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง พูดถึงศิลปะแล้วดูเหมือนว่าเราจะช้ากว่าต้นกำเนิดเขา 40-50 ปีหรือมากกว่านั้น
อย่างสมัยรัชกาลที่ 5 ไปเห็นศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์ท่านก็รับไม่ได้ บอกว่ามันไม่ใช่ศิลปะ ความคิดของอาคาเดมี่อาร์ตของเราจึงเข้ากับขนบของศิลปะไทย ทั้งที่สมัยนั้นเขาเริ่มต้นศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์แล้ว ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นจุดเริ่มต้นของคิวบิค ของเอ็กซเพรสชั่นนิสต์ ของอะไรอีกหลายอย่าง หรือเรื่องของ“สต็องดาล” เราก็ใช้เวลาเกือบ 80 ปีถึงจะแปลเป็นไทย
ผมโตมาจากนิยายภาพ ไม่ต่างจากคนรุ่นนี้ที่เติบโตมากับมังงะต่างๆ พอวัยเด็กผ่านไปก็อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ แต่ทุกวันนี้มีการพัฒนารูปแบบใหม่เป็นสื่อสมัยใหม่เร็วกระชับผ่านเครื่อง ภาพของมังงะคัลเจอร์ก็เข้าไปสู่คนยุคใหม่ได้เร็วกว่า ที่แปลกคือเราทำนิยายภาพมา 60-70 ปีแต่ไม่มีการต่อยอดงอกเงย ทั้งที่รับอิทธิพลต่างประเทศพร้อมๆ กับญี่ปุ่น แต่เขามีองค์กรแห่งชาติแปลวรรกรรมต่างประเทศมาเป็นญี่ปุ่นทำให้เข้าถึงต่อยอดได้ง่ายจึงพัฒนาไปไกลกว่าเรา
ศิลปะส่องทางกัน มันสามารถข้ามสื่อได้ ข้ามสายพันธุ์ได้ ไม่ว่าการดูการฟัง มันติดปีกให้เราเป็นอิสระมีเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองเพื่อจะรู้เท่าทันหรือเพื่อสร้างสรรค์งาน"

เราได้เห็นภาพรวมของศิลปะส่องทางของโลก และของไทยไปแล้ว ในคราวหน้าจะมาลงลึกถึงรายละเอียดในอัลบั้มเพลงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมซีไรท์กันบ้าง
 
(ผู้ที่สนใจ BOX SET BOOK & SONG ที่มีหนังสือซีไรท์ 7 เล่ม ซีดีเพลง 8 เพลง ราคา 2,295 บาท ในช่วงเปิดตัวจำหน่ายเพียง 1,800 บาท LIMITED EDITION มี 400 ชุด สั่งจองได้ที่กล่องข้อความ “สโมศิลป์” WWW.facebook.com โทร.082-941-1915)















กำลังโหลดความคิดเห็น