มาถึงวันหยุดสุดสัปดาห์อาทิตย์นี้ หลายคนอาจจะนอนในห้องแอร์อากาศยามร้อนๆ เย็นสบายไม่เยี่ยงกรายออกไปไหน แต่สำหรับฉันแล้ววันหยุดทั้งที่จะนอนอยู่บ้านก็เสียนี่กระไรอยู่ ฉันเลยตั้งใจที่จะไปไหว้พระทำบุญผ่อนคลายสบายใจ ฉันจึงเดินทางไปที่ "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร" ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ใกล้กระทรวงกลาโหม ถึงแม้ว่าจะเป็นวัดแห่งนี้จะเป็นอารามหลวงที่มีพื้นที่ขนาดเล็กที่สุดในกรุงเทพมหานคร แต่ความพิเศษของวัดนี้ไม่ได้เล็กตามพื้นที่เลยทีเดียวเชียว
"วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" นั้นเดิมทีเป็นสวนกาแฟใกล้พระบรมมหาราชวัง เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีที่ว่า บนผืนแผ่นดินไทยเมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญประจำอยู่ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐ และสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ พระองค์จึงทรงวางแผนการก่อสร้างและกำหนดแบบศิลปกรรมในวัดด้วยพระองค์เอง ชื่อของวัดราชประดิษฐ หมายถึงวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง และมีสร้อยนามต่อท้ายว่า สถิตมหาสีมาราม ที่หมายถึงพระอารามอันเป็นสถิตของมหาสีมา อันแสดงความพิเศษของวัด คือ มีสีมาที่กำหนดผูกรอบทั้งวัด ครอบคลุมทั้งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสจนเกือบทั้งทั่วพระอารามหลวงแทนวิสุงคามสีมาที่ล้อมรอบเฉพาะอุโบสถ ทำให้พระวิหารหลวงทำหน้าที่เป็นทั้งพระวิหารและพระอุโบสถด้วยกัน
ความพิเศษของการมาวัดแห่งนี้ จะสามารถได้สักการะ ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระมหากษัตริย์ในคราวเดียวกัน แค่นี้ก็รู้สึกน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อฉันมาถึงวัดราชประดิษฐฯ ก็พบกับ บานประตูเป็นไม้สักสลักรูป “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง นายทวารบาลตามคตินิยมของจีน กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต เมื่องมองผ่านประตูก็จะเห็น “พระวิหารหลวง” เป็นพระวิหารหลวงหินอ่อนแห่งแรกของประเทศไทยมีความสวยงามยิ่ง หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ มีช่อฟ้าใบระกาประดับเสริมพระวิหารให้เด่นตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างทุกบานของพระวิหารประดับด้วยรูปลายปูนปั้นเป็นรูปทรงมงกุฎ ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่งซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ถือเป็นความปราณีตสวยงามของพระวิหารหลังนี้
ภายในพระวิหาร มี "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้ษุษบก ซึ่งมีประวัติเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั้นโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานครเนื่องจากทรงโปรดปรานในพุทธลักษณะและทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ บนแท่นบูชาเบื้องหน้าซุ้มบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคือ “พระพุทธนิรันตราย” เป็นพระพุทธรูปทองคำ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะทวารวดี อันมีความหมายว่า ปราศจากอันตราย ประตูและหน้าต่างประดับมุกลวดลายสวยงาม เป็นงานศิลป์ญี่ปุ่นอายุเก่าแก่กว่า 150 ปี ที่ รัชกาลที่ 4 ทรงสั่งนำเข้ามาจากเมืองนางาซากิเพื่อสานสัมพันธไมตรี โดยปัจจุบันยังคงความสมบูรณ์และหาชมได้ที่เดียวในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจำลองเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่รัชกาลที่ 5 โปรดทรงฯ ให้วาดไว้รอบพระวิหารแห่งนี้
เมื่อฉันสักการะพระพุทธแล้ว ฉันจึงเดินไปทางซ้ายมือของพระวิหารหลวงเพื่อไปบูชาพระธรรม ณ "ปราสาทพระไตรปิฎก" หรือเรียกว่า "หอไตร" เดิมทีปราสาทนี้ เป็นเรือนไม้ สร้างในคราวเดียวกับการสร้างวัด เมื่อครั้นถึงรัชกาลที่ 6 เรือนไม้ทั้งสองก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างกรมศิลปากรรื้อสร้างใหม่เป็นปราสาทยอดปราค์แบบขอม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยลวดลายสวยงามมาก ที่นี่มีบันทึกคัมภีร์ที่บันทึกสอนทางพระพุทธศาสนาจารลงในลานด้วยอักษรขอม มีรูปเล่มอย่างหนังสือสันปกหนังสือฝังทองเหลืองเป็นอักษรภาษาไทย บอกชื่อพระไตรปิฏกแต่ละหมวดบรรจุอยู่ในหีบไม้ในตู้สักปิดทองประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพระไตรปิฏกแห่งนี้
สักการะพระพุทธ พระธรรมแล้ว ฉันเดินต่อไปอย่างด้านหลังพระวิหารหลวง เพื่อ นมัสการ “พระสงฆ์” ณ "ปราสาณเจดีย์" ซึ่งเป็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ มีทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ภายนอกหุ้มด้วยหินอ่อนทั้งองค์ จึงเป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน ที่ซุ้มทางทิศเหนือของเจดีย์มีรูปหล่อของ "สมเด็จพระสังฆราช" (สา ปุสฺสเทโว) ผู้ทรงเป็นองค์ปฐมเจ้าอาวาส เป็นพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ปิดทอง ผลงานของช่างชาวสวิซเซอร์แลนด์ ชื่อ ร.เวนิช เป็นผู้ปั้นและหล่อขึ้น ในปีพ.ศ. 2470 ภายในบรรจุ พระอังคารของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สรีรังคารของพระสาสนโสภณ (อ่อน อหิงฺสโก) สรีรังคารของพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) และสรีรังคารของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ทั้ง 4 รูป
เมื่อฉันสักการะ พระรัตนตรัย อิ่มอกอิ่มใจแล้ว แน่นอนว่าพลเมืองชาวไทยที่ดีจะต้องแสดงความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ ฉึงเดินไปที่ "ปราสาทพระบรมรูป" ของรัชกาลที่ 4 หรือเรียกอีกอย่างว่า “หอพระจอม” ถูกสร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 เป็นพระบรมรูปหล่อโลหะขนาดเท่าพระองค์จริง ที่ฐานพระบรมรูปตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นนูนต่ำระบายสีเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติแบบสามมิติทั้งสามด้าน ด้านหน้าเป็นภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านขวาพระองค์เป็นภาพพระโกศทรงพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้านซ้ายเป็นภาพการถวายพระเพลิงพระบรมศพภายในพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพระบรมรูป
ถัดมาทางขวามือ จะเห็น "พระที่นั่งทรงธรรม" หรือ "การเปรียญ" เป็นอาคารคอนกรีตสูงชั้นเดียว ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบไทยและแบบตะวันตกได้อย่างกลมกลืน หน้าบันไม้ตอนบนแกะสลักเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์พระมหาพิชัยมงกุฎขนาบฉัตรประกอบ ตอนล่างเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องเอี้ยวศีรษะเสาภายในมีบัวหัวเสาเป็นแบบศิลปะโครินเธียน เพดานตกแต่งด้วยไม้แกะลงรักปิดทองประดับกระจกสีต่างๆ เป็นลายเครื่องราชอิสริยภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
ในที่สุดฉันก็ได้ชมและสักการะทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระมหากษัตริย์ในคราวเดียวกันสมใจแล้ว ล่าสุดฉันได้ทราบข่าวอันดีมาว่า ทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในวันที่ 7-14 มิถุนายน 58 ที่จะถึงนี้ ทางวัดได้จัดงานฉลอง ครบรอบ "150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองภายในวัดได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเปิดอาคารพระที่นั่งทรงธรรมให้ได้ชมกันซึ่งเป็นโอกาศอันดีที่หาได้ยาก รวมทั้งมีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ การทำบุญสร้างไหกระเทียม การถวายประทีปเป็นพุทธบูชา และสวดมนต์ข้ามคืน ในวันที่ 9 มิถุนายน ความรู้สึกประทับใจและตื่นตาตื่นใจกับความพิเศษของวัดเล็กๆแห่งนี้ยังคงอยู่ในใจฉัน ซึ่งสถานที่ในวัดแห่งนี้ในทุกๆที่มีคุณค่า สวยงาม และประวัติน่าสนใจ ที่ประชาชนแบบเราๆ ควรไปเที่ยวชมด้วยตัวเองสักครั้ง
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ใกล้กับกระทรวงกลาโหม ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2622-2076, 08-6511-7234
การเดินทาง มี่รถประจำทางที่ผ่านสาย 1, 2, 12 และสาย 60