ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พระแก้วมรกตไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในนครเวียงจันทน์มาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว .. นี่คือความจริงทางประวัติศาสตร์ ทางการลาวได้ตัดสินใจหล่อองค์จำลองขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นประดิษฐานที่กำลังจัดสร้างขึ้นใหม่ เหมือนเมื่อครั้งโบราณกาล ภายในหอพิพิทธภัณฑ์ที่การบูรณะปฏิสังขรณ์คืบหน้าไปไกลในขณะนี้ ทั้งหมดนี้อยู่ในโครงการอันเดียวกัน คือ การปฏิสังขรณ์ และฟื้นฟูอดีตพระอารามหลวงแห่งนี้ครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี และเป็นครั้งที่ 3 ในช่วง 4 ศตวรรษ
นี่คือเรื่องราวที่ชาวลาวออนไลน์ทั้งหลายเผยแพร่กันผ่านเว็บสู่เว็บ จากบล็อกสู่บล็อกในช่วงข้ามเดือนมานี้
พิธีเริ่มการบูรณะใหญ่หอพระแก้วเวียงจันทน์ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2557 กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมทำพิธียกช่อฟ้าในวันที่ 2 พ.ค.ปีนี้ ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ โดยมีทางการนครเวียงจันทน์เป็นเจ้าภาพ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศ เป็นประธานในพิธี มีบรรดารองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้แทนหลายหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ แสดงให้เห็นการยกช่อฟ้า และบุษบกหอพระแก้ว ที่นับจำนวนยอดสุวรรณฉัตร 17 ยอด ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในระบบความเชื่อทางพระพุทธ และพราหมณ์ของลาว เท่ากับยอดช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเชียงทองราชวรวิหาร แห่งเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง พระอารามหลวงเก่าแก่ ที่พระเจ้าไซเสดถาทิลาด ทรงจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2103 และอยู่คู่อาณาจักรลาวหลวงพระบางมาหลายยุคสมัย
ตามรายงานของสื่อทางการ การบูรณะใหญ่หอพระแก้วที่กำลังดำเนินอยู่จะต้องใช้เงินทุนราว 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากราว 27 ล้านบาท จากการคิดคำนวณเมื่อปี 2556 งานรื้อถอนหลังคา และผนังเริ่มขึ้นในต้นเดือน ม.ค.ปีนี้ รวมทั้งการติดตั้ง และเสริมความแข็งแรงของส่วนหลังคาใหม่ทั้งหมด จนกระทั่งนำมาสู่การยกช่อฟ้า ซึ่งในนั้นมีช่อใหญ่ จำนวน 3 ช่อ หล่อขึ้นด้วยทองคำแท้
หนังสือพิมพ์ “กองทัพประชาชน” ได้รายงานเรื่องนี้อย่างละเอียด ทั้งยังเปิดเผยด้วยว่า ทางการกำลังจะหล่อพระแก้วมรกตองค์จำลองขึ้นมา พร้อมสร้างแท่นประดิษฐานใหม่ เพื่ออัญเชิญองค์พระจำลองขึ้นประดิษฐานอยู่ภายในหอพระแก้วที่กำลังบูรณะอยู่ในขณะนี้ เช่นในครั้งโบราณกาล ซึ่งเป็นเรื่่องที่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน ตั้งแต่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว
การ "ສ້າງແທ່ນປະດິດສະຖານພະແກ້ວມໍລະກົດຈຳລອງ" เป็นหนึ่งในกระบวนงานบูรณปฏิสังขรณ์หอพระแก้ว หน้างานใหญ่อื่นๆ ยังรวมทั้งงานแกะสลักไม้บานประตู หน้าต่าง งานรื้อ และติดตั้งพื้นอาคาร และเก็บงานโดยรอบ งานซ่อมแซมลายปูนปั้นหน้าต่าง และผนังโดยรอบทั้ง 4 ด้าน งานซ่อมรอยแตก และรอยแยกตามเสาทั้งหมด และติดแผ่นทองคำเปลวประตูกลาง กับสร้างประตูทางเข้าออกใหม่ทั้ง 4 ด้าน
ทั้งหมดนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2558 ให้ทัน 2 งานใหญ่ คือ ครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปตยประชาชนลาว และครบรอบ 450 ปี การก่อสร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเมื่อก่อน และเป็นพิพิธภัณฑ์หอพระแก้วในวันนี้
จนถึงปัจจุบัน การบูรณปฏิสังขรณ์ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 1,000 ล้านกีบ (4,115,000 บาทเศษ) เงินไทยอีกกว่า 200,000 บาท กับอีกกว่า 15,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 495,000 บาท) และ ทองคำแท้ 3 กิโลกรัม สื่อของทางการล่าว
ยังไม่ทราบรายละเอียดอื่นใดอีกเกี่ยวกับการจัดสร้างพระแก้วมรกตจำลองของฝ่ายลาว ขณะที่ในประเทศไทย ได้มีการจัดสร้าง หรือหล่อพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรองค์จำลอง ออกกมาเป็นจำนวนมาก ตลอด 40-50 ปีมานี้ ทั้งโดยวัด หรือโดยองค์การต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งทำให้พระพุทธลักษณ์อันงดงามผิดแผกแตกต่างกันออกไป
พระแก้วมรกต มีประวัติความเป็นมากอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของตำนาน หรือเรื่องเล่าที่ย้อนกลับไปถึง ปี พ.ศ.500-700 ในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ แต่นักประวัติศาสตร์กับนักโบราณคดีในยุคใหม่พบว่า พุทธลักษณะของพระแก้วมรกต เป็นศิลปะในยุคก่อนเชียงแสน สลักขึ้นในดินแดนที่เป็นจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีร่องรอยเกี่ยวกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ให้เห็นมากมายหลาย ในภาคเหนือของไทยตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อปี พ.ศ.2011 พระเจ้าติกโลกราช แห่งนครเชียงใหม่ ได้อัญเชิญประเจ้ามรกตไปจากนครลำปาง จนกระทั่งปี พ.ศ.2095 พระเจ้าไซเสดถาทิลาด แห่งหลวงพระบาง ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นศูย์กลางของอาณาจักรล้านช้าง แต่อีกเพียง 12 ปีต่อมาคือ พ.ศ.2107 เมื่อพระเจ้าบุเรงนอง ทรงยกทัพใหญ่เข้าตีเมืองเหนือ ตั้งแต่เชียงใหม่ ไปจนถึงหลวงพระบาง พระเจ้าไซเสดถาทิลาด ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตทรงประดิษฐานอยู่ที่นั่นเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปีต่อมา
ในปี พ.ศ.2323 ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กองทัพราชอาณาจักรสยาม โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์ พระุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ได้กลับคืนสูงดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธรูปที่มีความเป็นมายาวนานได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ใกล้กับวัดอรุณราชวราราม ทางฝั่งธนบุรีเป็นเวลา 5 ปี ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เริ่มยุคใหม่กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยมาตั้งแต่บัดนั้่น
.
2
3
4
5
6
7
ตามประวัติศาสตร์ของลาว “วัดพระแก้วเวียงจันทน์” ถูกกองทัพสยามเผาทำลายถึง 2 ครั้ง โดยกองทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นั่นคือครั้งแรก
ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากพระเจ้าอนุวงศ์ ได้เสด็จจากกรุงเทพฯ กลับไปครองกรุงเวียงจันทน์ ทรงใช้เวลาหลายปีฟื้นฟูบูรณะวัดพระแก้วขึ้นใหม่ จนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ นับเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งแรก แต่ต่อมา ก็ได้ถูกกองทัพสยามเผาทำลายอีก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาเจษฎาราชเจ้า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ในสงครามปี พ.ศ.2371-2372 ที่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายไทยเรียกว่า “สงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์”
การก่อสร้างขึ้นใหม่ซึ่งถือเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งที่ 2 ดำเนินการโดยผู้ปกครองชาวฝรั่งเศส ระหว่างปี พ.ศ.2479-2485 ในยุคที่ลาวเป็นดินแดนอาณานิคม การบูรณะฯ ครั้งนี้่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเสด็จฯ เจ้าสุวันนะพูมา ที่ทรงสำเร็จการศึกษาสาขาวิศกรรมศาสตร์ จากกรุงปารีส และในเวลาต่อมา ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวเป็นเวลาสั้นๆ หลังได้รับเอกราช
หลังจากนั้น วัดพระแก้วที่ไร้พระแก้วมรกตได้ตกอยู่ในสภาพขาดการเอาใจใส่เป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง จนกระทั่งมีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยทางการลาวยุคใหม่ และทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนอยู่ในสภาพที่เห็นก่อนการฟื้นฟูบูรณะใหญ่ครั้งนี้
การยกช่อฟ้าของพิพิธภัณห์หอพระแก้วที่ผ่านมา ที่ประกอบด้วย สุวรรณฉัตร 17 ยอด นับเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์
ช่อฟ้า คือส่วนสูงที่สุดบนหลังคาพระอุโบสถ หรือศาลาโรงธรรมต่างๆ มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อตำนาน และความเชื่อทางศาสนา แตกต่างกันออกไปในแต่ละแห่ง รวมทั้งทางสถาปัตยกรรมด้วย และในลาวก็มีสิ่งเหล่านี้เป็นของลาวเอง ซึ่งโดยปกติทั่วไปจะพบเห็นยอดช่อฟ้าจำนวนมากที่สุดเพียง 7 ยอด อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ และทรงสร้างโดยกษัตริย์ หรือ “เจ้ามหาชีวิต” หรือโดยสมเด็จพระราชินี ส่วนระดับชั้นวรรณะอื่นๆ จะสร้างได้ในจำนวนลดหลั่นลงไป ตั้งแต่ 1-5 ยอดเท่านั้น
กรณีพระอุโบสถวัดเชียงทอง จึงมีความเป็นพิเศษอย่างยิ่ง เพราะประกอบด้วยช่อฟ้า 15 ยอด กับบุษบกอีก 2 รวมเป็น 17 ผู้เชี่ยวชาญของลาวกลาวว่า เป็นความเชื่อสูงสุดที่ผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธ กับศาสนาพราหรมณ์ และมีคำอธิบายเกี่ยวกับความเชื่อนี้อย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาของชาวลาวนั้น การยกยอดช่อฟ้าทำให้การก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ “ครบองค์ประกอบทางอาคารสำคัญของศาสนา” เพราะยอดช่อฟ้าหมายถึง ช่อที่พุ่งสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นสัญลักษณ์แห่งพระรัตนตรัย และยังหมายถึงเทพ นางฟ้า และสรวงสวรรค์ ใช้ประดับได้เฉพาะกับพระราชวังหลวง พระอารามหลวง พระอุโบสถ วิหาร และสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอีกไม่กี่ประเภท.
.
ต่างยุคต่างสมัย
ภาพเก่าๆ ทั้งหมดต่อไปนี้รวบรวมจากเฟซบุ๊กของชาวลาว แสดงให้เห็นสภาพของ “หอพระแก้ว” ในนครเวียงจันทน์ ในช่วงกว่า 100 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ถูกทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรม หลังจากถูกเผาทำลายครั้งที่ 2 โดยกองทัพราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่งฝรั่งเศสได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2479-2485 จนถึงรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว ที่ประเทศเข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมือง ก่อนจะมีการบูรณะย่อยอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่เป็น สปป.ลาว การบูรณปฏิสังขรณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นเพียงครั้งที่ 3 ในรอบกว่า 200 ปี นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุวงศ์. |
8
9
10
11
12