เมื่อไม่นานนี้ได้มีโอกาสไปเยือนพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ (NAGASAKI ATOMIC BOMB MUSEUM) ที่ประเทศญี่ปุ่น เกิดความรู้สึกทั้งหดหู่และประทับใจในคราวเดียวกัน
ความรู้สึกหดหู่คงไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปที่รับรู้ถึงประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายเหลือเกิน
พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เมืองนางาซากิถูกระเบิดปรมาณูถล่มเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945
แม้นางาซากิจะอยู่แนวภูเขาสูงล้อมรอบเมือง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นน้อยกว่าเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบอย่างฮิโรชิมาที่ถูกถล่มด้วยระเบิดชนิดเดียวกันมาก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน แต่กระนั้นความเจ็บปวดจากการสูญเสียก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนไม่เคยจางหาย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์และรายละเอียดทั้งหมดถูกรวบรวมและถ่ายทอดในรูปของภาพถ่าย โมเดลจำลอง และเศษซากของวัตถุจริงที่ถูกระเบิดและยังคงเหลือให้เห็น รวมไปถึงข้อมูลการระเบิดและเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอีกกว่า 150,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตลงจนญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงคราม
ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนรุ่นหลังให้คำนึงถึงความรุนแรงของสงครามว่าได้สร้างความเสียหาย และทำลายชีวิตผู้คนไปมากมายขนาดไหน
และสถานที่ที่ไม่ไกลกันอีกแห่งหนึ่งคือสวนสันติภาพนางาซากิ (NAGASAKI PEACE PARK ) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อจำนวนมากมายที่เสียชีวิตจากการถูกระเบิดปรมาณูถล่ม
บริเวณด้านหน้าสวนมีน้ำพุแห่งสันติภาพ (Fountain of Peace) เป็นสัญลักษณ์ถึงชาวเมืองนางาซากิที่ถูกความร้อนและสารเคมีจากระเบิดเผาไหม้ มีอาการกระหายน้ำจนเสียชีวิตไปจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก โดยน้ำพุถูกออกแบบเป็นรูปปีกนกพิราบ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
ส่วนด้านในสวนมีอนุสาวรีย์แห่งสันติภาพ เป็นรูปปั้นชายหนุ่มยกแขนขวาชี้ขึ้นฟ้าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเตือนภัยอันตรายที่เกิดจากระเบิดปรมาณู ส่วนแขนซ้ายเหยียดตรงไปข้างลำตัวเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ภายในสวนแห่งนี้ยังมีรูปปั้นที่ถูกส่งมากจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาจัดแสดงเพื่อร่วมเรียกร้องให้เกิด สันติภาพ และความสงบสุขขึ้นในโลก และด้านข้างบริเวณใกล้ทางเข้าสวนมีหลุมหลบภัยในสมัยสงครามยังคงหลงเหลือให้ชมด้วย
ส่วนด้านความประทับใจก็มีเช่นกัน อันเนื่องมาจากได้ไปพบหนังสือภาพสำหรับเด็กเล่มหนึ่งที่ทำให้หัวใจพองโตขึ้นมาทันที หนังสือชื่อว่า “On That Summer Day” เป็นหนังสือภาพที่สวยงามมากใช้ 2 ภาษา คือ ญี่ปุ่นกับอังกฤษ
ที่สุดยอดมากคือการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู ในรูปแบบที่ไม่โหดร้ายได้อย่างน่าชื่นชม ไม่ใช้ความเกลียดชัง ไม่มีความรุนแรงให้เห็นแม้แต่ภาพหรือตัวอักษรแม้แต่น้อย
เขาให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเนื้อหาให้กับเด็กชาติเขาอย่างน่าทึ่ง ภาพสวยงามมาก เนื้อหาลึกซึ้งกินใจ และแฝงแง่คิดมากมาย เขาให้ความสำคัญและปลูกฝังคนในชาติจากการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นจากจิตใจด้านใน จากจิตสำนึกจริงๆ
สะท้อนถึงวิธีคิดของคนในชาติเขาที่ตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นต่อไป เขามีประสบการณ์ของความโหดร้ายและความรุนแรงด้วยฝีมือของมนุษย์ แต่เขาไม่ส่งต่อความโหดร้ายและความรุนแรงต่อไปให้เด็กและเยาวชนของชาติเขา แต่ท้ายที่สุดเขาก็นำเสนอผ่านหนังสือภาพที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และความโหดร้ายของสงครามได้เช่นกัน
เพียงแต่ผลลัพธ์ของการถูกถ่ายทอดและเรียนรู้จะต่างกันโดยสิ้นเชิง
หรือแม้แต่การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปรมาณูนางาซากิเองก็ไม่มีภาพสยดสยอง หรือความโหดร้ายแบบโจ่งแจ้ง แต่จะเลือกนำเสนอภาพที่สะเทือนใจ หรือความสูญเสียของแม่ลูก ซึ่งมันบีบคั้นหัวใจผู้คนมาก แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามที่ทำให้ผู้คนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง
และเมื่อหันกลับมามองบ้านเราที่เด็กและเยาวชนต้องเสพภาพความโหดร้ายเสพสื่อที่มีความรุนแรงในทุกระดับ หนำซ้ำยังเสพซ้ำๆ ย้ำๆ ทุกวี่วัน
แล้วคุณคิดว่าผลผลิตของเด็กและเยาวชนของสองชาติจะแตกต่างกันอย่างไร ?
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่