xs
xsm
sm
md
lg

สังคมอุดม “คนชรา” : おはようございます (โอะฮะโยโกะไซมัส)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Money Maker
โดย พีรภัทร ฝอยทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
peerapat.f@alife.co.th โทร. 0-2648-3333

มาพบกันเป็นครั้งแรกแบบนี้ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตกล่าวทักทายท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวันว่า “สวัสดี” นะครับ ผม พีท พีรภัทร ฝอยทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไลฟ์” จะมาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการแนะนำสาระความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ผ่านคอลัมน์ “Money Maker” นี้นะครับ และเมื่อข้างต้นที่ผมได้กล่าวทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นไปนั้น ก็มีความหมายในภาษาไทยว่า “สวัสดี” เช่นกัน ที่เกริ่นไว้อย่างนี้ เนื่องจากว่าในช่วงที่เขียนบทความผมมีโอกาสได้ไปศึกษาท่องเที่ยวและสัมผัสวัฒนธรรมอยู่ที่เมืองนางาซากิ (Nagasaki) ประเทศญี่ปุ่นนั่นเองครับ ดังนั้น ในบทความแรกของผมก็คงจะไม่พลาดที่ต้องกล่าวถึงสังคมและการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นอย่างแน่นอนครับ

ญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสาธารณสุข และด้านโภชนาการอาหาร จนทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีอายุที่ยืนยาว และยังเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ เห็นคนญี่ปุ่นเดินมา 3 คน เชื่อได้เลยว่า 1 ใน 3 คนนั้นจะต้องเป็นคนสูงอายุอย่างแน่นอน แต่การเป็นคนสูงอายุที่ญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้ลำบากอะไรมากนะครับ เพราะเท่าที่ผมเห็นผู้สูงอายุที่นี่ส่วนใหญ่ก็สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีลูกหลานมาคอยดูแลแต่อย่างใด การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะก็สะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนสูงอายุแทบทุกแห่ง ซึ่งผมเชื่อว่าผู้สูงอายุที่ประเทศนี้เกือบทุกคนน่าจะได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี รวมถึงด้านสวัสดิการของภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นก็น่าจะดีที่สุดชาติหนึ่งเลยทีเดียว

ส่วนในประเทศไทยของเรานั้น คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ สังคมอุดม “คนชรา” ที่ผมเอามาตั้งชื่อในวันนี้ เราเพิ่งจะเริ่มได้ยินกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็คงยังไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว และอีกส่วนหนึ่งก็อาจจะคิดว่า เมื่อถึงตอนเกษียณเดี๋ยวลูกหลานก็คอยเลี้ยงดูเราเอง ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ซึ่งการจะคิดเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะคงไม่มีใครที่จะไปมองถึงภาพรวมของสังคมหรอกครับหากมันไม่มีผลกระทบต่อตัวเราเอง แต่ถ้าลองปัญหาเหล่านั้นเกิด หรือมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกับตัวเราเอง ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะหันกลับมาสนใจมันมากขึ้นอย่างแน่นอน แล้วทีนี้ความชรามันเกี่ยวกับเราๆ อย่างไรบ้าง มาลองอ่านแล้วจินตนาการตามกันดูนะครับ

ปัญหาสำคัญเมื่อเราเป็นคนชราก็คือ เราจะ “แก่” ล้อเล่นนะครับ แต่ไม่ช้าก็เร็วเราทุกคนคงต้องแก่แน่นอน เพียงแต่ถ้าเลือกได้ผมขอแก่ช้าหน่อยก็จะดีนะครับ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาของเราเมื่อถึงวัยชราก็คือ ท่านผู้อ่านอาจไม่เคยได้คิดหรือนึกถึงเรื่องของเงินบำเหน็จบำนาญ หรือเงินเก็บสะสมของท่านตลอดชีวิตการทำงาน ว่าเงินเหล่านี้มีเพียงพอที่จะสามารถเลี้ยงดูท่านภายหลังเกษียณได้หรือไม่ หรือท่านคิดว่าเงินเหล่านั้นจะสามารถเลี้ยงดูท่านได้ต่อไปอีกกี่ปี

และถ้าท่านตอบว่าไม่แน่ใจ ผมมีสถิติที่น่าสนใจมาให้อ่านก็คือ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้สูงอายุถึง 36.6 ที่ยังคงต้องทำงานอยู่ โดยผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงานอยู่นั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 7,494.5 บาทเท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าในปัจจุบันตัวเลขนี้ถึงจะขยับขึ้นมาแต่ก็คงจะไม่มากกว่านี้เท่าไหร่ แต่ในส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่ต้องทำงานนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะมีลูกหลานคอยเลี้ยงดู แต่อีกส่วนก็ต้องอาศัยเงินบำเหน็จบำนาญหรือเงินเก็บสะสมส่วนตัวมาเลี้ยงดูตัวเอง ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่คิดว่าเงินบำเหน็จบำนาญจะสามารถเลี้ยงดูชีวิตตัวเองไปจนกว่าจะกว่าจะหยุดหายใจ และมีเพียงร้อยละ 2.6 ที่คิดว่าจะอยู่โดยอาศัยดอกเบี้ยหรือเงินปันผลจากการลงทุนได้ในช่วงเกษียณ

จากสถิติที่กล่าวถึงด้านบน แสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้นที่คิดว่าภายหลังจากที่เกษียณไปแล้วจะสามารถเลี้ยงดูตัวเองด้วยเงินบำเหน็จบำนาญ หรือดอกผลจากการลงทุนได้ แล้วท่านคิดว่าท่านเป็นหนึ่งในคนกลุ่มน้อยที่เลี้ยงตัวเองได้ หรือเป็นหนึ่งในคนกลุ่มใหญ่ที่อาจจะต้องให้ลูกหลานมาคอยเลี้ยงดู ถ้าท่านตอบว่าจะให้ลูกหลานมาคอยเลี้ยงดูท่าน ผมก็ขอถามต่อว่า ท่านมีหลักประกันอะไรที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกหลานของท่านจะสามารถเลี้ยงดูท่านได้ตลอดไป อีกทั้งสถิติของประเทศไทยของเรายังพบว่าอัตราการมีบุตรก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แบบนี้แล้วท่านยังจะกล้าเสี่ยงวัดดวงในอนาคตอีกหรือไม่

หรือท่านคิดว่าเงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่ (กรณีท่านรับราชการ) หรือเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม (กรณีท่านเป็นพนักงานบริษัทเอกชน) จะสามารถเลี้ยงดูท่านได้ ผมเคยลองคำนวณเล่นๆ

หากท่านรับราชการมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเดือนละ 30,000 บาท และท่านรับราชการมา 35 ปี ท่านจะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 21,000 บาท หรือถ้าท่านเป็นพนักงานบริษัทเอกชนมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาทตลอด 5 ปีหลังสุดก่อนเกษียณ และท่านได้ทำงานมา 35 ปีเช่นเดียวกัน ท่านจะได้รับเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเงินจำนวนเท่านี้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าที่มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จะเพียงพอต่อการดำรงชีพของท่านหรือไม่

ดังนั้น หากทางรัฐบาลของเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องหลักประกันของผู้สูงอายุได้ ผมคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ดีที่สุดก็คือ ตัวเราเองจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนเป็น ส.ว. หรือ “ผู้สูงวัย” นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพร้อมในหลักประกันด้านรายได้ที่จะต้องเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นตามอายุของเราทุกปี

และหากวันนี้ท่านผู้อ่านได้จินตนาการตามที่ผมเขียนไปทั้งหมด และตั้งใจที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ “สังคมอุดมคนชรา” แล้ว ในตอนหน้าของบทความผมก็จะมาแนะนำเทคนิคและเคล็ดลับเกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้นำไปปรับใช้อย่างง่ายๆ กับตัวของท่านเองกันนะครับ หรือหากผู้อ่านท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการวางแผนการเงิน ก็สามารถอีเมลมาหาผมได้ที่ peerapat.f@alife.co.th นะครับ สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า
 
สวัสดีครับ それでは、また会いましょう。


กำลังโหลดความคิดเห็น