xs
xsm
sm
md
lg

“พระธาตุดอยสุเทพ” พระธาตุปีแพะ...สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งดินแดนล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระธาตุดอยสุเทพ
ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา เชื่อกันว่า ก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดานั้น วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” หรือมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี “ตั๋วเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำปีนักษัตรนำมาพักไว้ เมื่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดา 7 วัน ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา

ฉะนั้น ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรใดก็ตาม ควรที่จะหาโอกาสไปสักการะพระธาตุพระจำปีเกิดของตนให้ได้หนึ่งครั้งในชีวิตเป็นอย่างน้อย เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเอง จึงเป็นที่มาของความเชื่อในปัจจุบันที่พุทธศาสนิกชนนิยมไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองตามวัดวาอารามต่างๆ

สำหรับในปี 2558 ถือว่าเป็นปีนักษัตรปีมะแม (แพะ) ตามความเชื่อล้านนา ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรนี้จะต้องไปกราบไหว้บูชา “พระธาตุดอยสุเทพ” ที่อยู่ภายในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่
บันไดนาคขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ
“พระธาตุดอยสุเทพ” สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก

ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไป ช้างได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี (ดอยสุเทพ) แล้วมาหยุดอยู่ที่ยอดดอย พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา

ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา และให้ช่างนำทองคำมาทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าได้ทรงตีทองคำแผ่นติดไว้ที่องค์พระธาตุ ต่อมา พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น
สักการะองค์พระธาตุให้ครบทั้งสี่ทิศ
ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพนั้น มาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ชักชวนชาวบ้านที่ศรัทธาให้ร่วมมือกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างราว 6 เดือน

วิธีการขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ สามารถเลือกได้ 2 วิธี คือ เดินขึ้นบันไดนาค จำนวน 300 ขั้น ไปยังด้านบน หรือจะเลือกใช้บริการกระเช้าขึ้น-ลง วัดพระธาตุดอยสุเทพก็ได้ ซึ่งเมื่อขึ้นไปถึงด้านบนแล้วจะต้องถอดรองเท้าไว้ด้านนอกระเบียงคด ก่อนจะเข้าไปถึงตัวพระธาตุได้

สำหรับการบูชาองค์พระธาตุนั้น เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพ จะมีแต่ความสำเร็จสมปรารถนา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวงไปได้ ในการสักการะควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน แล้วเดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมทั้งกล่าวคำนมัสการพระธาตุ โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งจะให้อานิสงส์ต่างกันไป คือ ทิศเหนือ ขอให้มีปัญญาดุจพระจันทร์เพ็ญ ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ ได้บวชในบวรพุทธศาสนา ทิศตะวันออก ขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ ทิศตะวันตก เป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ
วิหารครูบาศรีวิชัย
นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุดอยสุเทพแล้ว ภายในวัดพระธาตุดอยสุเทพยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายแห่งที่ไม่ควรพลาด เริ่มจาก วิหารครูบาศรีวิชัย บริเวณทางเข้าสู่องค์พระธาตุ และเมื่อผ่านระเบียงคดเข้ามาแล้ว จะมีวิหารใหญ่ 2 หลัง คือ
วิหารพระพฤหัส
วิหารพระพฤหัส เป็นวิหารอยู่ด้านทิศเหนือของพระบรมธาตุ ด้านในประกอบด้วยพระประธาน พระพุทธชินราช รูปเหมือนครูบาศรีวิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านฝาผนังของวิหาร มีภาพเขียนเรื่องราวตำนานพระธาตุดอยสุเทพ
วิหารพระพุทธชินสีห์สุวรรณเจดีย์
วิหารพระพุทธชินสีห์สุวรรณเจดีย์ เป็นวิหารอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมธาตุ พระวิหารพระพุทธ สร้างขึ้นโดยพระเจ้ากาวิละ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ เช่นทำวัตร สวดมนต์ ตลอดพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ทางศาสนา ด้านในประกอบด้วยพระประธาน พระพุทธชินราช และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านฝาผนังของวิหารมีภาพเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นภาพเก่า
พระศรีสุคตนบุรี ภายในวิหารพระเจ้ากือนา
ส่วนด้านนอกระเบียงคด ยังมีวิหารอีกหลังหนึ่ง คือ วิหารพระเจ้ากือนา เป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง รูปแบบลักษณะคล้ายวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีขนาดกว้าง 8 วา ยาว 12 วา เพื่อเป็นราชานุสรณ์และกตัญญูกตเวทิตธรรม แด่พระเจ้ากือนาพร้อมด้วยพระมหาสุมนเถระ พระผู้อัญเชิญพระบรมธาตุประดิษฐานบนหลังพญาช้างขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ และสร้างพระธาตุดอยสุเทพขึ้นมา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป นามว่า "พระศรีสุคตนบุรี" ส่วนที่ด้านข้างของวิหารพระเจ้ากือนา ทำเป็นระเบียงกว้าง สามารถยืนชมเมืองเชียงใหม่ได้จากมุมสูง
พระธาตุดอยสุเทพในยามเย็น
นอกเหนือจากที่พระธาตุดอยสุเทพจะเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะแม (แพะ) แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นพระธาตุที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย และยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย แม้ว่าผู้คนที่เข้าไปสักการะองค์พระธาตุจะเกิดในปีแพะหรือไม่ สิ่งสำคัญสูงสุดที่ได้รับกลับมาก็คือ ความเป็นสิริมงคลในชีวิตที่ก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้นั่นเอง




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น