อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่อุดมไปด้วยวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวมอญท้องถิ่น ที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรเช้าแบบชาวมอญ การนุ่งผ้าหรือแต่งตัวแบบชาวมอญ หรือภาพสาวชาวมอญเทินของบนศีรษะ หิ้วปิ่นโต ปะแป้งทานาคา รวมถึงประเพณีท้องถิ่นที่ชาวมอญทำสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน
นอกจากวีถีชีวิต และวัฒนธรรมที่สำคัญแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของสังขละ ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้มาเยือนที่นี่ก็คือ “สะพานไม้มอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย มีความสวยงามคลาสสิก เนื่องจากเป็นสะพานที่ทำด้วยไม้ จนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือแลนด์มาร์คของสังขละบุรี ที่ไม่ว่าใครมาเยือนนั้นต้องแวะมาสัมผัสให้ได้
แต่หลังจากที่สะพานได้โดนน้ำป่าพัดพังเสียหายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ภาพวีถีชีวิตเหล่านี้ได้หายไป จากสะพานไม้ที่เคยมีผู้คนเดินข้ามฝั่งไป-มาไปถึงกัน วิถีชีวิตต่างๆ ได้เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวลดจำนวนหายไป จนกระทั่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างสะพานลูกบวบมาใช้สัญจรแทนสะพานไม้เดิมที่ขาดไปชั่วคราว เพื่อรอเวลาการซ่อมแซมสะพานไม้ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม
หลังจากที่ได้มีการซ่อมแซมสะพานไม้มอญสำเร็จแล้ว ชาวบ้านก็ได้กลับมาใช้สะพานมอญอีกครั้ง นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับเข้ามา ทำให้วิถีชีวิตเดิมๆ ที่เคยหายไปได้กลับคืนมาให้เห็นอีกครั้ง
ซึ่งเมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคมที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปเยือนสะพานไม้มอญอีกครั้งหลังจากที่สะพานไม้ได้ขาดไป เมื่อเดินก้าวบนสะพานสื่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือรอยยิ้ม ที่อบอวลไปด้วยความสุข กำลังใจที่เคยหายไป กลับคืนมาอีกครั้ง ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างดูมีความสุข มีสีหน้าที่อิ่มเอม จนสัมผัสได้
ย้อนรอยสะพานมอญ
สำหรับสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานไม้มอญ ได้โดนน้ำป่าพัดพังเสียหายหลังจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนักเป็นเวลา 3 วัน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 โดยน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากได้พัดพาเอาตอไม้ สวะ และแพที่หลุดจากหลักปะทะกับเสาสะพานมอญจนพัง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรข้ามไป-มาของชาวบ้านแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวใน อ.สังขละ อีกด้วย เพราะสะพานมอญถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์สำคัญในอำเภอแห่งนี้ที่มีผู้คนเดินทางมาสัมผัส เที่ยวชม และถ่ายรูปคู่กับสะพานไม้อันสุดคลาสสิกแห่งนี้ไม่ได้ขาด
สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก(รองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า) โดยข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่ายาว 850 เมตร แต่ข้อมูลจากไกด์เยาวชนในพื้นที่ระบุว่ายาว 455 เมตร สะพานแห่งนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" โดยตั้งตามชื่อของพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะแห่งวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละ ซึ่งท่านเป็นผู้ดำเนินการสร้างสะพานขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะ โดยชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นในปี 2528 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี จนมาเสร็จสิ้นในปี 2530 กล่าวกันว่าท่อนไม้ใหญ่ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลม ตัวสะพานยาว 455 เมตร ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลีย และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชุมชนชาวมอญอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกัน
ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ระดับน้ำในเขื่อนเขาแหลมเองก็ได้เพิ่มสูงมากจนกระทั่งท่วมสะพานไม้ และเอ่อล้นเข้าท่วมฝั่งบ้านเรือนริมฝั่งน้ำด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนั้นสะพานไม้ก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่เกิดความเสียหายหนักหนาแต่อย่างใด
หลังจากการใช้งานมากว่า 20 ปี จากเดิมที่ทุกปีชาวบ้านจะช่วยกันซ่อมแซมตามสภาพ สะพานมอญที่ใช้งานมายาวนานเริ่มชำรุดจนอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมสะพานครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 โดยเทศบาลสังขละบุรี โดยเมื่อซ่อมเสร็จ หน้าตาของสะพานได้เปลี่ยนไปบ้าง จากเดิมที่มีแผ่นไม้สั้นบ้างยาวบ้างปูเป็นพื้นดูไม่เป็นระเบียบแต่สวยงามคลาสสิก ก็กลายเป็นแผ่นไม้ขนาดเท่ากันวางเรียงเป็นระเบียบดูมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นยังติดตั้งเสาไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยหัวเสาเป็นหงส์สีทองคาบโคมไฟตลอดแนวสะพาน ซึ่งบางคนกล่าวว่าแม้สะพานจะดูสวยงามแข็งแรงขึ้น แต่ก็ขาดเสน่ห์ความคลาสสิกแบบดั้งเดิมไป
จนกระทั่งวันที่ 28 ก.ค.56 ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทะลักลงมาสมทบ ทำให้แพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำซองกาเลียพร้อมทั้งท่อนไม้ที่ลอยมากับน้ำกระแทกตอม่อจนต้านไม่ไหว ทำให้ช่วงกลางสะพานพังลงเป็นระยะทางรวมกว่า 50 เมตร
สำหรับการซ่อมแซมสะพาน ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันทีเนื่องจากต้องรอให้น้ำลดเสียก่อน อีกทั้งยังติดปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแพของผู้ประกอบการให้ออกห่างจากสะพาน แต่ผู้ประกอบการแพไม่ยินยอม โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแพของตน อีกทั้งประกอบกับปัญหาหลายๆ อย่าง ทำให้กว่าจะมีการเริ่มซ่อมแซมสะพานอย่างจริงจังก็คือในเดือนพฤษภาคม 2557
เเต่เมื่อเริ่มซ่อมอย่างจริงจังก็เกิดปัญหาขึ้นอีก เมื่อชาวบ้านสังขละบุรีกว่า 100 คน รวมตัวปิดสะพานมอญประท้วง หลังเอกชนที่ทำสัญญากับทางจังหวัดซ่อมแซมไม่คืบหน้า ซึ่งในเดือน ส.ค. 57 เป็นวันครบกำหนดสัญญาจ้าง 120 วันที่ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำสัญญากับภาคเอกชนเพื่อซ่อมแซมบูรณะสะพานมอญในวงเงิน16,347,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาการซ่อมแซมสะพานไม่คืบหน้าทำไปได้เพียง 30% อีกทั้งไม้ที่ใช้ซ่อมแซมไปแล้วบางส่วนและไม้ที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้นั้นเป็นไม้อายุน้อย ยังสด และทำให้แกนของไม้ไม่แข็งพอ เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของสะพานในอนาคตได้ ชาวบ้านจึงเรียกร้องขอทวงพื้นที่ก่อสร้างคืนทั้งหมด ยืนยันจะดำเนินการสร้างเองด้วยงบประมาณที่ร่วมบริจาคจำนวน 3 ล้านบาท พร้อมเปิดเพจ “สะพานมอญ โมเดล” ให้ผู้ที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามเกี่ยวกับสะพานมอญ ซึ่งก็มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางตำหนิ หรืออยากทราบเหตุผลที่แท้จริง บางรายตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ยอมให้ทางวัดและชุมชนเข้ามาซ่อมแซมกันเองตามวิถีชีวิตดั้งเดิมเหมือนเช่นที่ผ่านมา
จนในที่สุด ทางจังหวัดกาญจนบุรียกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชน และให้ทหารช่างจากค่ายสุรสีห์ รวมถึงชาวมอญสังขละบุรี อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมมือกันช่วยกันซ่อมแซมสะพานมอญเองตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 1 เดือน 18 วัน การซ่อมแซมก็สำเร็จลงอย่างรวดเร็ว
สะพานไม้มอญวันนี้..
หลังจากที่การซ่อมแซมสะพานได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ได้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอำเภอสังขละบุรีกันเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการ โดยในช่วงเช้าตรู่ได้มีการตักบาตรพระสงฆ์บนสะพานมอญ มีชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ต่างแต่งตัวแบบชาวมอญมาร่วมตักบาตรกันบนสะพานนับพันคนทีเดียว
ซึ่งพี่เย็น ชาวมอญในอำเภอสังขละบุรี ได้บอกกับเราว่า รู้สึกดีใจที่สะพานสร้างเสร็จและเชื่อมต่อถึงกันได้แล้ว เพราะชาวบ้านทุกคนต่างรอวันให้สะพานกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ต้องขอบคุณทหารจริงๆ ที่เข้ามาช่วยเรา ตอนนี้ทุกคนก็ดีใจกันมาก ไม่รู้จะขอบคุณอย่างไรจริงๆ
ด้านนักท่องเที่ยว นายสัมฤทธิ์ ปลายชัยภูมิ หรือน้องต้นน้ำ นักศึกษาที่มาเที่ยวสะพานมอญ ได้บอกกับเราว่า เพิ่งเคยมาสะพานมอญครั้งแรก เคยแต่คิดว่าไว้ว่าจะมา แต่ก็ไม่ได้มาสักที จนกระทั่งสะพานขาดไปเลยไม่มีโอกาสได้มา หลังจากที่สะพานขาดไปตนก็เฝ้ารอวันให้สะพานกลับมาใช้ได้ดังเดิม เพราะตนจะได้มาเที่ยว และเดินบนสะพานไม้สักครั้งหนึ่ง
น้องต้นน้ำ ยังบอกต่ออีกว่า “หลังจากที่สะพานขาดไปก็ดูซบเซาลงไป มาวันนี้ชาวบ้านก็ดูครึกครื้น แล้วก็ดูเหมือนแบบมีกำลังใจขึ้น เพราะวันนี้สัมผัสได้ถึงความสุขของชาวบ้าน เลยรู้สึกว่าเค้าแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ด้วย ผมว่าสถานที่มันก็สำคัญนะครับ แต่สิ่งที่มันทำให้เติมเต็มก็คือชาวบ้านครับ เพราะว่าเราได้มาอยู่แพ หรือว่าได้มาสัมผัสกับชาวบ้านที่เป็นกันเอง แล้วก็น่ารักมากๆ ครับชาวมอญ ก็ถือว่าเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ครับ อยากให้ลองมากันดู”
และนี่ก็เป็นแรงศรัทธาของชาวบ้านรวมถึงผู้คนที่เอาใจช่วยกันอย่างล้นหลาม เป็นเหตุให้สะพานไม้มอญแห่งนี้เชื่อมต่อถึงกันอีกครั้ง ก่อเกิดเป็นแรงศรัทธา ความรัก ความสามัคคีที่ยากจะเห็นได้ที่ไหน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com