xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นเครื่องบินควรรู้! “ถือกระเป๋าขึ้นเครื่อง” ใบเล็ก-ใบใหญ่ น้ำหนักเท่าไหร่ ถือได้ ไม่ผิดกฎ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพ : foxnews.com)
จากกรณีเกิดเหตุขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบนเที่ยวบินหนึ่ง ในเรื่องสัมภาระที่นำติดตัวขึ้นเครื่อง เป็นหัวข้อที่เป็นที่วิพากย์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก บางฝ่ายบอกว่าผู้โดยสารเป็นฝ่ายทำผิดกฎของสายการบิน บางฝ่ายบอกว่าสายการบินไม่เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา

สำหรับสัมภาระที่ผู้โดยสารแต่ละคนสามารถถือติดตัวขึ้นเครื่องได้ แต่ละสายการบินมีการกำหนดขนาดและน้ำหนักของสัมภาระไว้แตกต่างกัน ดังตัวอย่างจาก 5 สายการบินของไทย ดังนี้

การบินไทย
สัมภาระถือขึ้นเครื่อง
นอกเหนือจากสัมภาระที่ผู้โดยสารสามารถฝากเข้าใต้เครื่องแล้ว ผู้โดยสารแต่ละท่านสามารถถือสัมภาระขึ้นเครื่องได้หนึ่งชิ้น ความยาวไม่เกิน 56 เซนติเมตร (22 นิ้ว) ความกว้างไม่เกิน 45 เซนติเมตร (18 นิ้ว) ความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว) ซึ่งขนาดนี้รวมล้อ มือจับและกระเป๋าด้านข้างแล้ว น้ำหนักสัมภาระถือขึ้นเครื่องจะต้องไม่เกิน 7 กิโลกรัม (15 ปอนด์) ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องวางกระเป๋าไว้บนตู้เก็บเหนือศีรษะหรือใต้เบาะของตนเอง

ผู้โดยสารสามารถนำพาสิ่งของต่อไปนี้ขึ้นเครื่องได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าของสุภาพสตรี ความยาวไม่เกิน 37.5 เซนติเมตร (15 นิ้ว) ความกว้างไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว) ความหนาไม่เกิน 12.5 เซนติเมตร (5 นิ้ว) ซึ่งทั้งสามมิตินี้รวมกันจะต้องไม่เกิน 75 เซนติเมตร (30 นิ้ว) และน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม (3.3 ปอนด์)
- เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาเข้าข่ายนี้ด้วยเช่นกัน
- ไม้เท้า (ไม้ค้ำยัน) ที่ใช้โดยผู้โดยสารที่มีอายุ ผู้โดยสารที่ป่วยและผู้โดยสารที่มีความทุพพลภาพ
- กล้องหรือกล้องส่องทางไกลเล็ก
- อาหารเด็กเล็ก
(ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องของการบินไทย http://www.thaiairways.co.th/th_TH/plan_my_trip/travel_information/Baggage.page?)
(ภาพ : telegraph.co.uk)
บางกอกแอร์เวย์
สัมภาระถือขึ้นเครื่อง
สัมภาระจำนวน 1 ใบ ตามชนิดของเครื่องบิน ดังนี้
เครื่องบินแบบ ATR72 อนุญาตสำหรับสัมภาระขนาด 44x28x23 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม
เครื่องบินแบบ Airbus 319 อนุญาตสำหรับสัมภาระขนาด 56x36x23 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม
เครื่องบินแบบ Airbus 320 อนุญาตสำหรับสัมภาระขนาด 56x36x23 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม
(ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องของบางกอกแอร์เวย์ http://www.bangkokair.com/tha/pages/view/baggage)

นกแอร์
สัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง
ตามปกติผู้โดยสารแต่ละคนจะได้รับอนุญาตให้นำสัมภาระตามมาตรฐานที่ไม่ต้องลงทะเบียนมายังห้องโดยสารได้ 1 ใบ โดยนับเป็นกระเป๋าถือติดตัวขึ้นเครื่อง ซึ่งจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม และ มีขนาด 36 x 56 x 23 เซนติเมตรตามข้อบังคับการบินของบริษัทฯ สัมภาระที่นำขึ้นเครื่องจะต้องมีขนาดพอดีกับพื้นที่ใต้ที่นั่งด้านหน้า หรือพอดีกับช่องเก็บของในห้องโดยสาร วัตถุที่บริษัทฯ ระบุว่ามีน้ำหนักหรือขนาดเกินกำหนดจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปยังห้องโดยสาร
(ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องของนกแอร์ http://www.nokair.com/contents/journey_plan/baggage_info/th-TH/index.html)

ไทยสมายล์
สัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง
ผู้โดยสารสามารถนำกระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้ 1 ชิ้น โดยมีขนาดรวมของความกว้าง ความยาว และความสูง ไม่เกิน 115 เซนติเมตร หรือ 44.85 นิ้ว (56 x 46 x 25 เซนติเมตร หรือ 21.5 x 18 x 9.75 นิ้ว) และมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม (15.4 ปอนด์) หากกระเป๋าของผู้โดยสารมีขนาดเกินกว่าที่กำหนด ต้องนำกระเป๋าใบนั้นไปเช็คอินที่หน้าเคาน์เตอร์ก่อนออกเดินทาง
(ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องของไทยสมายล์ http://m.thaismileair.com/th/Faq/BEFORE-YOU-FLY/)
สัมภาระที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ของสายการบินแอร์เอเชีย
แอร์เอเชีย
สัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง
ผู้โดยสารแต่ละคนจะมีสิทธิ์พกพาของได้หนึ่งชิ้น และ/หรือ กระเป๋าโน้ตบุ๊ก 1 ใบ หรือ กระเป๋าถือ 1 ใบ เข้าห้องโดยสารของเครื่อง ของแต่ละชิ้นต้องมีขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 เซนติเมตร และห้ามหนักเกิน 7 กิโลกรัม เมื่อรวมกับสัมภาระพกพาแล้ว นอกจากนี้ สัมภาระดังกล่าวควรจะสามารถเก็บไว้ใต้ที่นั่งด้านหน้าท่านหรือช่องเก็บของเหนือหัวได้

อนุญาตให้ใส่สิ่งของต่อไปนี้ไว้ในสัมภาระพกพาได้
ยา - ในปริมาณที่เหมาะสมกับการเดินทางของท่าน เช่น ชุดยาแก้เบาหวาน.
อาหารทารก - ครีมและของเหลวที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง.
เครื่องสำอางที่ไม่ใช่ของเหลว - ก้อนระงับกลิ่นกาย ลิปสติก ผงรองพื้น.
อาหารทะเลหรือเนื้อสัตว์สด/แช่แข็ง - ต้องแพ็คมาอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สำหรับสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องที่มีขนาด และ/หรือ น้ำหนักเกินกว่าที่กำหนด จะต้องนำไปโหลดลงใต้ท้องเครื่อง และเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามที่แต่ละสายการบินกำหนด

ในส่วนของเหลว เจล และสเปรย์ ที่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้นั้น ถูกกำหนดโดยสนามบินแต่ละแห่ง สำหรับสนามบินในประเทศไทยมีการกำหนดไว้ดังนี้

มาตรการจำกัดปริมาณของเหลว เจล และสเปรย์ ขึ้นเครื่องบิน
- ของเหลว เจล และสเปรย์ทุกชนิด ต้องบรรจุในภาชนะที่มีขนาดความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร สำหรับภาชนะที่เกิน 100 มิลลิลิตร แม้จะบรรจุของเหลว เจล และสเปรย์ เพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถ นำขึ้นเครื่องได้
- ภาชนะทั้งหมดต้องใส่รวมไว้ในถุงพลาสติกใสซึ่งเปิด-ปิดผนึกได้ โดยถุงพลาสติกใสต้องมีขนาดไม่เกิน 1 ลิตร
- ผู้โดยสารสามารถนำถุงพลาสติกใสขึ้นในห้องโดยสารได้เพียงคนละ 1 ถุง เท่านั้น และต้องแยกออกจากสัมภาระติดตัวอื่นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเมื่อถึงจุดตรวจค้น
- ของเหลวที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ นม และ อาหารสำหรับเด็กทารกในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงยาที่มีเอกสารกำกับชัดเจน
- ของเหลว เจล และสเปรย์ ที่ซื้อจากร้านค้า ปลอดอากร (Duty free shops) ที่สนามบินหรือบนเครื่องบิน ต้องบรรจุในถุงพลาสติกใสปิดผนึกปากถุง ไม่มีร่องรอยการเปิดปากถุง และมีหลักฐานแสดงว่าได้ซื้อ ณ วันที่เดินทาง และควรตรวจสอบข้อมูลจากร้านค้าปลอดอากรก่อนซื้อสินค้า
มาตรการจำกัดปริมาณของเหลว เจล และสเปรย์ ขึ้นเครื่องบิน (จากเว็บไซต์บริษัทท่าอากาศยานไทย)
ส่วนผู้โดยสารที่ต้องการนำแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ติดตัวขึ้นเครื่อง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มีการออกกฎมาตรฐานความปลอดภับเกี่ยวกับการนำ Power Bank ติดตัวขึ้นเครื่อง ดังนี้
- ห้ามนำ Power Bank ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่อง แต่ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้
- Power Bank ที่ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องต้องมีขนาดความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh
- Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000 mAh (หรือน้อยกว่า 100 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้ (ไม่มีการระบุจำนวน)
- Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000-32,000 mAh (หรือระหว่าง 100-160 Wh) นำขึ้นบนเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน
- Power Bank ขนาดความจุไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (หรือมากกว่า 160 Wh) ไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องในทุกกรณี

ส่วนสิ่งของต้องห้ามในการนำขึ้นเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโหลดใต้ท้องเครื่อง และการติดตัวขึ้นเครื่อง คืออาวุธและวัตถุอันตราย ดังนี้
1 วัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้เพลิง ดินปืน ระเบิด ฯลฯ
2 ก๊าซอัด เช่น ก๊าซน้ำตา ไฟแช็ก ฯลฯ
3 วัตถุไวไฟ เช่น น้ำมันไฟแช็ก เชื้อเพลิงแข็ง สีน้ำมัน ไม้ขีดไฟ ฯลฯ
4 วัตถุเป็นพิษ เช่น สารกำจัดแมลง สารหนู ฯลฯ
5 วัตถุออกซิไดซ์ เช่น แอมโมเนียไนเตรท แคลเซียมเปอร์ออกไซด์ ฯลฯ
6 วัตถุกัมมันตภาพรังสี เช่น ธาตุยูเรเนียม ฯลฯ
7 วัตถุกัดกร่อน เช่น แบตเตอรี่ที่บรรจุสารกัดกร่อน น้ำกรด ปรอท ฯลฯ
8 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนทุกชนิด ฯลฯ
9 อาวุธโดยสภาพ เช่น มีด สนับมือ ดาบ ทวน กระบอง รวมถึงวัตถุแหลมคมทุกชนิด
10 สิ่งเทียมอาวุธ เช่น ปืนไฟแช็ก ระเบิดไฟแช็ก ปืนเด็กเล่น ฯลฯ
11 สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย สัตว์ขนาดใหญ่ สัตว์สงวน
12 อื่นๆ เช่น แม่เหล็ก น้ำแข็งแห้ง

สำหรับกฎต่างๆ ที่สายการบินตั้งขึ้นมานั้น ก็เพื่อความปลอดภัยในการบิน และความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเป็นหลัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้โดยสารทุกคนควรจะต้องปฏิบัติตามกฎที่สายการบินตั้งขึ้น นอกจากนี้ยังเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการโดยสารเครื่องบินอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น