ผ่านไปแล้ว 1 ปีเต็ม สำหรับเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างทั่วถึงทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ทำให้หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหา แต่เจ้าภาพใหญ่ก็คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี (PTTGC) ในฐานะที่เป็นต้นเรื่อง
การแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ บางส่วนก็บอกว่าพอใจแล้ว บางส่วนก็ยังเห็นว่าไม่เพียงพอกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง และกลุ่มแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันดำเนินการฟ้องร้องบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พร้อมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าอัตราค่าชดเชยที่ราชการร่วมกับ ปตท. กำหนด ยังไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงอย่างรุนแรง บางรายต้องเลิกทำประมงหันไปทำอาชีพอื่นแทน
นอกจากจะกระทบกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว ในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่อ่าวพร้าว มีโรงแรมที่พัก 3 แห่ง ที่ต้องปิดตัวไปหลายเดือนหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว แต่หลังจากผ่านไป 1 ปีเต็ม ก็เริ่มมีการฟื้นฟูทั้งเรื่องชายหาด สภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยว โดย นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้บริหาร ลิม่า โคโค่ รีสอร์ท หนึ่งในที่พักที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวพร้าว ได้แสดงความคิดเห็นว่า
“ส่วนตัว ผมว่าอ่าวพร้าวกลับมาสวยเหมือนเดิม น้ำทะเลมันใส สวย ส่วนตัวผมที่อยู่กับที่นี่ทุกวัน ผมว่ามันสวยเท่าเดิม น้ำเล่นได้หมด ส่วนของ PTTGC เค้าส่งคนมาเก็บข้อมูลตลอดทุกเดือน เค้าก็มีข้อมูลสรุป สามารถโทรไปสอบถามได้ คือเราก็ต้องหาความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวด้วย”
“ช่วงแรกที่โรงแรมกลับมาเปิด หลังจากตอนนั้นปิดไปสามเดือน ก็ต้องมีการลดแลกแจกแถมตามสูตร ตอนนั้นมันก็ไม่มีผลเท่าไหร่ เพราะข่าวที่ไม่ดีของเกาะเสม็ด โดยเฉพาะที่อ่าวพร้าวมันออกมาเยอะมาก พอข่าวออกเยอะมากคนก็กลัว แต่นอกจากลดแลกแจกแถมแล้ว เราก็ต้องบอกความจริงกับนักท่องเที่ยวว่าเวลานั้นมันเป็นอย่างไร อย่างช่วงหลังปีใหม่มา เราก็เช็กกับทางพีทีทีจีซีว่าน้ำทะเลโอเคหรือเปล่า ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าโอเคแล้ว เราก็บอกนักท่องเที่ยวไปว่าตอนนี้โอเคแล้วนะ ลงเล่นน้ำได้ ปลอดภัยดี หรือเรื่องอาหารทะเล ตอนนี้ผมพูดเลยว่ามั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โอเคว่าวันที่เกิดเหตุมันคงต้องมีผลกระทบบ้าง แต่พอเวลาผ่านไปมันก็มีการเยียวยาทั้งจากตัวธรรมชาติและตัวมนุษย์ มันก็ทำให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม”
“ส่วนเรื่องการโปรโมทโรงแรม ส่วนใหญ่คนที่ทำโรงแรมในเกาะเสม็ดเราก็โปรโมทกันเอง ช่วยเหลือกัน มีไปคุยกับ ททท. บ้าง แต่ผมพูดตรงๆ ว่า ททท. ก็คล้ายกับหน่วยงานราชการ จะทำงานช้า เหมือนไม่ได้ช่วยอะไร สรุปก็คือส่วนใหญ่คนในเสม็ดเราช่วยกันเอง แล้วก็มีพีทีทีจีซีมาช่วยดูบ้าง”
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ลิม่า โคโค่ รีสอร์ท ยังบอกต่ออีกว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเสม็ดก็เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ที่น่าแปลกคือเมื่อก่อนจะมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวที่เกาะเสม็ดมากกว่าคนไทย แต่ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวเกาะเสม็ดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ผ่านมา 1 ปี เสม็ดและอ่าวพร้าวก็กลับมาเป็นปกติแล้ว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยว เสม็ดมาเที่ยวกันได้ทุกเพศทุกวัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบ แล้วก็สามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี เลยอยากจะเชิญมาเที่ยวกันเยอะๆ เกาะเสม็ดยินดีต้อนรับทุกคน”
ด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเกาะเสม็ด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลการตลาดการท่องเที่ยว ก็แจ้งว่า มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเกาะเสม็ดและ จ.ระยอง อยู่อย่างต่อเนื่อง โดย นายชูชาติ อ่อนเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง กล่าวว่า
“เรื่องการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ก็มีทั้งการจัดโครงการต่างๆ พาสื่อต่างชาติเข้ามาดูพื้นที่ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มีการจัดคอนเสิร์ต ซึ่งก็เป็นการร่วมมือกันในหลายหน่าวยงาน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ระยอง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ มีการติดบิลบอร์ดต่างๆ ทั้งในช่วงที่เกิดเรื่องและหลังจากนั้น โดยนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดแล้ว ก็ยังเป็นการทำกิจกรรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวที่เสม็ด ที่ระยอง และเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย”
“ตอนนี้จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา เริ่มกลับสู่สภาพปกติแล้ว อย่างที่อ่าวพร้าวค่อนข้างจะเป็นหาดส่วนตัว ก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ตอนนี้เท่าที่ตรวจสอบมาก็ประมาณร้อยละ 40-50 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นช่วงหน้าไฮซีซัน เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางการท่องเที่ยวเองก็พยายามจะดึงนักท่องเที่ยวทั้งจากแถบเอเชียและยุโรปเข้ามาในพื้นที่ ก็เชื่อว่า การท่องเที่ยวของเสม็ดและระยองน่าจะดีขึ้น ซึ่งนโยบายของทางผู้ว่าฯระยอง ก็พยายามจะผลักดันให้เกาะเสม็ดเป็น Destination เป็นจุดหมายปลายทางที่จะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่นี่ ฉะนั้นเกาะเสม็ดก็น่าจะดีขึ้น”
สำหรับด้านผลกระทบทางทรัพยากรทางธรรมชาติ ภายหลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่วก็ได้มีการสำรวจมาโดยตลอด โดย ดร.วิชญา กันบัว อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในทีมนักวิจัยสภาพแวดล้อม กล่าวว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุน 3 มหาวิทยาลัยในการทำวิจัยใน 3 หัวข้อ แบ่งเป็นทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการศึกษาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและปะการัง ส่วนที่สองทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบของน้ำมันต่อระบบนิเวศน์ และส่วนที่สามทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพาทำการศึกษาเรื่ององค์ประกอบและโครงสร้างของสัตว์ทะเลหน้าดิน เพื่อเป็นการติดตาม ตรวจสอบเหตุการณ์และผลกระทบที่ได้รับภายหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว
“ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และก็พบกับข่าวดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากการสำรวจ พบสัตว์ทะเลมีหลากหลายชุกชุม และจำนวนที่พบก็มีมากขึ้น จนถึงการสำรวจครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ในช่วงเดือน ก.ค.ที่เป็นช่วงฤดูมรสุมพบว่า มีจำนวนทรายมากขึ้นและปริมาณน้ำมันที่ฝังตัวอยู่ในชั้นทรายหายไปจนเกือบหมด และพบว่าความหลากหลายของสัตว์ทะเลดีขึ้นกว่าตอนเกิดเหตุการณ์แรกๆ มาก แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบค่าความสมบูรณ์กับในพื้นที่อื่นๆ เช่น หาดทรายแก้ว หรือบ้านเพ อ่าวพร้าวอาจจะยังสู้ไม่ได้ ต้องให้เวลาธรรมชาติฟื้นตัวอีกสักพัก หลังจากนี้ผมทีมวิจัยจะเข้ามาสำรวจในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ โดยหวังว่านอกจากตัวนักวิจัยที่ทำงานในการติดตามตรวจสอบแล้ว ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกันให้อ่าวพร้าวดีขึ้นและดีขึ้นมากกว่านี้ หน่วยงานราชการควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการวิจัยและตรวจสอบ”
“สิ่งสำคัญคือประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่อ่าวนั้น ต้องไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์ทะเลเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาโดยไม่ถูกรบกวนมากเกินจำเป็น จากที่ผมทำงานวิจัย และในความคิดเห็นส่วนตัว ผมว่าอ่าวพร้าวดีขึ้นทุกวันๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ายังไม่ทราบว่าจะเทียบกับก่อนหน้าที่เกิดเหตุได้หรือไม่ เพราะเราไม่มีข้อมูลก่อนหน้าเพื่อจะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบ แต่ผมคาดว่าอีก 3 ปีทุกอย่างน่าจะเข้าใกล้ภาวะเดิมมากที่สุด และผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดในฐานะนักวิจัย”
ส่วน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การสำรวจปะการังครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์ปะการังทางแถบอ่าวพร้าวนั้นน่าเป็นห่วงมาก พบปะการังฟอกขาวเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มปะการังก้อน ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วใหม่ๆ ปะการังได้ฟอกขาวอย่างเฉียบพลันไปรอบหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่ตอนนี้ปะการังกลับมาฟอกขาวอีกครั้งจนน่าใจหาย อาจมีสาเหตุมาจากการได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วคราวก่อน ประกอบกับอยู่ในช่วงลมมรสุม และปรากฏการณเอลนีโญที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนทำให้ปะการังที่ไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้วบอบช้ำมากกว่าเดิมจนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
และ ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า “อ่าวพร้าวตอนนี้ดีขึ้นจริงแต่ยังไม่ถึงที่สุด คราวน้ำมันก็ยังมีบ้างเป็นฟิล์มบางๆ หากไปลองขุด แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายเพราะสัตว์ทะเลหน้าดินอยู่กันได้ น้ำทะเลเล่นได้ อาหารทะเลกินได้ ผมยืนยัน”
แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบในเหตุการณ์น้ำมันรั่วแล้ว ทั้งด้านสภาพแวดล้อมภายนอก และด้านการท่องเที่ยว แต่สำหรับทรัพยากรทางธรรมชาติก็ยังคงค่อยๆ ฟื้นตัว คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม แต่สิ่งสำคัญก็คือมนุษย์ ที่จะต้องช่วยประคับประคองธรรมชาติ ไม่ทำร้ายธรรมชาติไปมากกว่าเดิม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com