นักวิจัย สกว.เปิดเวทีอนุรักษ์และธำรงรักษาทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เสนอแนะให้ใช้เรือพลังงานแสงอาทิตย์เที่ยวชมแนวปะการังในหมู่เกาะหวังกระตุ้นจิตสำนึกคนในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวางแผนพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระบี่ และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในย่านตลาดพลู
โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกว.และสำนักประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ จัดการประชุมเวที สกว. เพื่อนำเสนอผลการวิจัยด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายใต้หัวข้อ “การอนุรักษ์และธำรงรักษาทรัพยากรทางการท่องเที่ยว” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยมีผู้นำเสนอผลงานดังนี้
นายสุวรรณ พิทักษ์สินธร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึง “การศึกษาการใช้เรือพลังแสงอาทิตย์เพื่อการท่องเที่ยวในแนวปะการัง” ว่าจากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะรอบเกาะหมาก เกาะรัง (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง) และเกาะกระดาด จ.ตราด พบว่าเรือท่องเที่ยวที่ใช้เครื่องยนต์นั้นทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดคราบน้ำมันและทำลายปะการัง อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก นักวิจัยจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เรือพลังแสงอาทิตย์ซึ่งมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยและสร้างคุณภาพการท่องเที่ยวที่ดีกว่า โดยตรวจสอบว่าสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ในการสร้างเรือที่ใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนค้นหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวถึงความต้องการใช้เรือลักษณะดังกล่าว รวมถึงรูปแบบของเรือและปัจจัยที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องลงทุนในการจัดหาเรือพลังแสงอาทิตย์มาใช้งาน
ปัญหาสำคัญที่คณะนักวิจัยคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาสำคัญ คือ ยังไม่มีใครคิดศึกษาการสร้างเรือพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยอย่างจิงจัง ขณะที่ทั่วโลกขณะนี้มีการสร้างเรือพลังแสงอาทิตย์ขึ้นมาใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้งานที่ต้องเดินทางไกลในทะเล หรือการขนส่งในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงแรกนักวิจัยพบว่าองค์ความรู้เรื่องเรือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ มอเตอร์ ใบจักรขับเคลื่อนเรือ มีน้อยมาก แต่หลังจากความพยายามหลายปีก็สามารถรวบรวมนักวิจัยที่มีความรู้ในแต่ละด้านมาร่วมโครงการวิจัยการศึกษาการใช้เรือพลังแสงอาทิตย์เพื่อการท่องเที่ยวในแนวปะการังได้
สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษานี้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากนักวิจัยพบว่าสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีด้านแสงอาทิตย์ปัจจุบันมีความพร้อมและสามารถนำมาสร้างเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลเป็นที่น่าพอใจอีกทั้งยังมีราคาไม่สูงกว่าเรือที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงมากนักแต่อาจมีราคาค่าใช้จ่ายในระยะยาวน้อยกว่า และแม้ว่าเรือพลังแสงอาทิตย์จะยังมีข้อจำกัดด้านพลังงานที่ไม่สามารถทดแทนเรือที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด แต่ในส่วนของการท่องเที่ยวแบบชื่นชมธรรมชาติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนต้องการใช้เรือแสงอาทิตย์แทนการใช้เรือน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก
ขณะที่ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่” ของ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่จำต้องศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด รวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบกับผลการประชุมรับฟังความคิดจากผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ จังหวัดกระบี่ ซึ่งพบว่าหมู่เกาะลันตาเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกจัดลำดับความสำคัญในลำดับต้นๆ ร่วมกับอ่าวนางและหมู่เกาะพีพี ซึ่งควรมีการศึกษาวิจัยและให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยในพื้นที่ ทั้งชุมชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ เพื่อนำข้อมูลจากผลการวิจัยไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายและพัฒนาแผนการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่
ดร.พิมพ์ลภัสระบุว่า เกาะลันตาเป็นพื้นที่กรณีศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนที่ดีของแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะที่มีขอบเขตชัดเจนโดยมุ่งเน้นที่จะหาแนวทางร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันทั้งการจัดการขยะและน้ำเสียที่เกิดจากการดำเนินงานของสถานประกอบการอันเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางการท่องเที่ยวทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
ด้าน ดร.บุษเกตน์ อิทรปาสาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงผลการวิจัย “โครงการศึกษาศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมย่านเมืองเก่าในชุมชนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าฝั่งธนบุรี: กรณีศึกษา พื้นที่ตลาดพลู-วัดโพธินิมิตร” ว่าโครงการวิจัยได้แบ่งออกเป็นสองโครงการย่อย คือ การศึกษาและสำรวจภูมิทัศน์วัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าในชุมชนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าฝั่งธนบุรี : กรณีศึกษาพื้นที่ตลาดพลู-วัดโพธินิมิตร และศึกษาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าในชุมชนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าฝั่งธนบุรี: กรณีศึกษาพื้นที่ตลาดพลู-วัดโพธินิมิตร เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้มีแนวทางของการจัดสร้าง การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ ซึ่งคณะวิจัยได้สำรวจพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ อาทิ ท่าเรือ ตึกแถว บ้านไม้โบราณ โรงสีเก่า และที่จับต้องไม่ได้ เช่น ร้านอาหารและขนมต่างๆ ตลาดทำการเก็บข้อมูลลักษณะกิจกรรมที่สำคัญพาณิชยกรรมและทางศาสนา สนทนากลุ่มกับผู้นำชุมชน หน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ และทำประชาพิจารณ์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการดำเนินงาน การสำรวจและเขียนแบบ รวมถึงจัดทำโครงการหนูน้อยนำเที่ยว กิจกรรมนำร่องท่องเที่ยว
ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ คือ การเขียนแบบอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ใช้ภาพเหมือนจริงกับระยะจริงที่อ้างอิงได้ การกระตุ้นให้ชุมชนและสังคมเห็นค่าของอาคารเก่าที่สามารถต่อยอดในเชิงการท่องเที่ยวได้ โดยการเน้นสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นขึ้น เพื่อจัดทำแผนพัฒนาและอนุรักษ์ได้อย่างถูกจุดและเหมาะสม ตลอดจนการกำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์แก่ภาคประชาชนในเรื่องการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านทางสื่อหลายรูปแบบ การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม-วัฒนธรรม อีกทั้งแปลงผลการศึกษาเพื่อสรรค์สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
“งานวิจัยนี้ถือเป็นการยกระดับองค์ความรู้งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์โดยชุมชนและผู้ประกอบการ โดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรม อีกทั้งเป็นการใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้คนที่สนใจในการปรับปรุงเมือง ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com