xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกคน “ตลาดพลู” ตื่นตัว ภูมิใจท้องถิ่น สู่มิติการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีรถไฟตลาดพลู
สกว.จัดโครงการนำร่องท่องเที่ยว “ยลเสน่ห์...ตลาดพลู” จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรอบย่านตลาดพลู ปลุกให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น นำสู่การท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม

โครงการศึกษาวิจัยศักยภาพการบริหารจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าในชุมชนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าฝั่งธนบุรี : กรณีศึกษา พื้นที่ตลาดพลู-วัดโพธินิมิตร โดยคณะวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดโครงการนำร่องท่องเที่ยว “ยลเสน่ห์...ตลาดพลู” โดยมีกิจกรรมปั่นจักรยานรอบย่านตลาดพลู และการเดินศึกษาเส้นทางวัฒนธรรม ณ บริเวณสี่แยกตลาดพลู ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อพัฒนาความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มกิจกรรมนำร่องร่วมกับชุมชนย่านตลาดพลูและย่านใกล้เคียง พร้อมจัดกิจกรรมวิชาการและสันทนาการทางด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมความหลากหลายในกิจกรรมและศักยภาพของชุมชนในการดำเนินการจัดกิจกรรม เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างความยั่งยืนของวิถีชุมชนในย่านตลาดพลู
บรรยากาศการค้าขายที่ตลาดพลู
ในส่วนของการเดินศึกษาเส้นทางวัฒนธรรมนั้น โครงการวิจัยได้จัดให้มีคณะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ซึ่งผ่านการอบรมในโครงการหนูน้อยนำเที่ยว ยลเสน่ห์...ตลาดพลู มาร่วมเป็นมัคคุเทศก์ด้วย โดยมีเส้นทางการเดินผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ สถานีรถไฟตลาดพลู โรงเรียนกงลี้จงซัน (เรือนไม้) โรงเจ วัดโพธินิมิตร วัดอินทราราม วัดกลาง (วัดจันทารามวรวิหาร) ร้านขายยาอินทรโอส วัดราชคฤห์ เรือนไม้โบราณ ร้านหมี่กรอบ ร.5 จีนหลี และแยกตลาดพลู นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการมอบประกาศนียบัตรโครงการหนูน้อยนำเที่ยวฯ และชุดอุปกรณ์เครื่องเขียนแก่เด็กนักเรียนในโครงการ ตลอดจนการมอบภาพเขียน “เสน่ห์...เรือนไม้งาม ตลาดพลู” แก่ตัวแทนชุมชนด้วย

ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในย่านตลาดพลู เพื่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่ให้มาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนจัดทำแผนการบริหารการจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตให้ยั่งยืน ทั้งนี้หากได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมได้ในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งการจัดงานนำร่องท่องเที่ยวในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ทุนทางวัฒนธรรมและของดีย่านตลาดพลูให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงเป็นการปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองและตระหนักถึงการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม
วัดโพธินิมิต
ทั้งนี้ผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่ขาดระเบียบอันเนื่องจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคในฝั่งตะวันตก ประกอบกับการขาดการวางแผนสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างมีระบบและการท่องเที่ยวทางน้ำที่ไร้การควบคุม ทำให้เกิดมลภาวะ อีกทั้งการอยู่อาศัยของชุมชนมีสภาพที่ไม่เหมาะสม ผู้อยู่อาศัยเริ่มย้ายออก ปล่อยให้อาคารประวัติศาสตร์ กลุ่มบ้านไม้เก่าร้าง ทำให้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับแผนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าในชุมชนที่สำคัญตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าฝั่งธนบุรี ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม การวางผังอนุรักษ์ย่านชุมชนเมืองเก่า รวมทั้งการสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนาเมืองและรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมไว้ อันจะก่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงศูนย์กลางชุมชนอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น วัด ตลาด หรืออาคารประวัติศาสตร์อื่นๆ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และจัดการมรดกประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในอีกมิติหนึ่งจากชุมชนผู้สืบเชื้อสายมาจากข้าราชบริพารในสมัยก่อน
งานแกะสลักไม้วัดกลาง
คลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ในฐานะเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าหลัก ทำให้มีการตั้งถิ่นฐานริมน้ำในอดีตจนเกิดพื้นที่พาณิชยกรรมและศาสนสถานที่สำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นวัดและศาลเจ้าตามกลุ่มชนหรือเชื้อชาติที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามพื้นที่ตลาดพลูซึ่งเป็นพื้นที่ตอนกลางของคลองบางกอกใหญ่อยู่ระหว่างพื้นที่วัดกำแพงกับย่านกะดีจีน ยังไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งที่มีความสำคัญในอดีต ทั้งที่มีสถานที่ที่สำคัญทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน และสถาปัตยกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คณะผู้วิจัยจึงเลือกตลาดพลูเป็นพื้นที่ศึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ และยังสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อความต่อเนื่องในการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงอีกด้วย
กุยช่าย ของกินขึ้นชื่อแห่งตลาดพลู
“พื้นที่ย่านตลาดพลูเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน มอญ มุสลิม มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ จึงถือว่ามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมเป็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญถึงความยั่งยืนของการพัฒนา เมื่อกระแสการพัฒนาประเทศด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ถูกนำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศ จึงถือเป็นจังหวะที่ดีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่นจะนำต้นทุนวัฒนธรรมที่มีมาเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไปในรูปแบบการท่องเที่ยววัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์” ดร.บุษเกตน์กล่าว

ด้าน นางสาววันทนีย์ วิวรรธน์ภาสกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตธนบุรี กล่าวเสริมว่า หากโครงการวิจัยนี้สามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของชุมชนตลาดพลูได้ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของคนในชุมชนที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชุมชนมิให้สูญหาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น