พรุ่งนี้แล้วที่ภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ของไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ตอนยุทธหัตถี ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของมหากาพย์นี้ กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
เรื่องราวสำคัญในภาคนี้อยู่ที่ “สงครามยุทธหัตถี” หรือการทำสงครามบนหลังช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชของพม่า ในครั้งนั้นพระมหาอุปราชทรงคุมทัพหลวงเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นจอมทัพยกทัพไปรับข้าศึกที่หนองสาหร่าย และเกิดการปะทะกันขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงขับพระคชาธารเข้าไปต่อสู้และวิ่งฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก โดยที่ทหารในกองทัพไม่สามารถติดตามมาได้ทัน เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของทหารพม่าที่มีจำนวนมากกว่า สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเชิญพระมหาอุปราชให้ออกมากระทำยุทธหัตถี
ในครั้งนั้น ทั้งสองพระองค์ขับช้างทรงชนกัน พระมหาอุปราชเสียทีถูกสมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยของ้าวจนสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนเรศวรมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งตรงที่พระองค์ได้ทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะยิ่งใหญ่หรือดีแค่ไหนคงต้องไปชมกันเองในโรงภาพยนตร์ แต่ในวันนี้เราจะพาไปชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถี ซึ่งก็มีข้อถกเถียงของนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการอยู่ว่าสถานที่ใดแน่ที่เป็นที่กระทำยุทธหัตถีและเป็นที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีที่แท้จริง
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
"พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์" หรือที่รู้จักกันดีในชื่ออนุสรณ์ดอนเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีราว 31 กิโลเมตร เดิมเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่กระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งต่อมาก็ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เก่าที่เหลือเพียงฐาน
อีกทั้งยังได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรขณะทรงพระคชาธารออกศึกทำยุทธหัตถี ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระเจดีย์ อีกทั้งภายในองค์เจดีย์ได้มีการสร้างห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียงและหุ่นจำลองการยกทัพของพม่าและไทย หลายร้อยตัว เป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินและให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี
ด้านหลังของพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ตั้งของ "พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวร" โดยรอบพระตำหนักจะมีภาพปั้นนูนต่ำ แสดงเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา ซึ่งมักมีผู้นิยมไปสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์
“เจดีย์ยุทธหัตถี” จ.กาญจนบุรี
ภายหลังได้มีอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานว่าเจดีย์ยุทธหัตถีที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในสงครามของสมเด็จพระนเรศวร ที่แท้แล้วก็คือเจดีย์ที่ตั้งอยู่ใน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ในที่ดอน ล้อมรอบด้วยป่าละเมาะเป็นบริเวณกว้าง องค์เจดีย์เป็นศิลปะแบบอยุธยา เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่ออิฐฉาบปูน ส่วนยอดหักพังไปตามกาลเวลา จนปัจจุบันมีความสูงราว 3 เมตร
อ.ประยูร อุลุชาฏะ นักโบราณคดี นักเขียน และศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ไว้ว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเจดีย์และกลุ่มเจดีย์ที่ดอนเจดีย์ คือเจดีย์ยุทธหัตถีที่แท้จริง และเอาเกียรติยศ จากการที่ได้ศึกษาศิลปะมาอย่างจำเจที่สุดเป็นประกัน”
ในพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีและบริเวณใกล้เคียงมีการขุดพบกระดูกช้าง กระดูกม้า กะโหลกช้าง และกระดูกคนอยู่มากมาย และเครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งช้างศึกและม้าศึกอยู่มากมาย อันแสดงว่าสถานที่แห่งนี้จะต้องเคยเป็นที่กระทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่ แต่จะเท็จจริงอย่างไรก็คงอยู่ที่การพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์
ภายหลังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรขณะกำลังประทับบนหลังช้างศึกอยู่ด้านหน้าองค์เจดีย์ อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสิ่งของที่ขุดค้นพบ ทั้งกระดูกกรามช้าง เครื่องประดับช้างศึก ม้าศึก และวัตถุโบราณอีกมากมายไว้ให้ชมกันด้วย
“เจดีย์ภูเขาทอง” ที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา
อีกหนึ่งสถานที่ที่มีนักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นจุดกระทำยุทธหัตถี นั่นก็คือที่ “ทุ่งภูเขาทอง” ที่พระนครศรีอยุธยา และเจดีย์ภูเขาทองก็คือเจดีย์ยุทธหัตถีที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสงครามในครั้งนั้น
พระเจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง ส่วนฐานของเจดีย์เป็นรูปแบบมอญพม่า รองรับเจดีย์เพิ่มมุมที่มีรูปแบบสืบทอดมาจากเจดีย์ศรีสุริโยทัย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ในปี 2288 โดยเปลี่ยนทรงเจดีย์เป็นทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง คงเหลือเพียงฐานประทักษิณที่ยังเป็นรูปแบบเดิม พระเจดีย์ภูเขาทองจึงมีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะมอญและศิลปะอยุธยาตอนปลาย
ภายหลังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรไว้ที่ด้านหน้าองค์เจดีย์ภูเขาทอง แต่พระบรมรูปองค์นี้ต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่สร้างให้สมเด็จพระนเรศวรประทับบนหลังม้าศึก โดยผู้สร้างเลือกเหตุการณ์ตอนที่พระองค์ทรงม้าออกมาสังหาร “ลักไวทำมู” ทหารเอกของพระเจ้าหงสาวดี บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีรูปนูนต่ำเป็นเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ชมกันด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com