xs
xsm
sm
md
lg

เช้ายันค่ำ ย่ำ“หลวงพระบาง”(จบ) : “วัดเชียงทอง” สิมสุภาพสตรี สวยที่สุดในลาว/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ตัวเมืองหลวงพระบางฝั่งแม่น้ำคานเมื่อมองจากยอดพูสี
จากดินแดน “ยูโธเปียของนักอุดมคติ”และ“ธัมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” วันนี้เมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง”(หลวงพะบาง : ภาษาลาว) แห่งสปป.ลาว ได้ก้าวเข้าสู่“เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ” ที่มนต์เสน่ห์ของเมืองบางอย่างได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของความเป็นจริง

การเที่ยวเมืองหลวงพระบางของผมในทริปนี้ มาในแบบทัวร์คาราวานรถยนต์ จากเชียงรายไปเชียงรุ่งประเทศจีน และมาเที่ยวต่อกันในลาวที่หลวงพระบาง ก่อนปิดทริปด้วยการกลับเมืองไทย ทางด่านห้วยโกร๋น จ.น่าน
หลวงพระบางกับจุดเล็กๆที่ชัดเจนในตัวตน
สำหรับการมาเยือนหลวงพระบางครั้งนี้ ด้วยความที่มีเวลาไม่มาก เราจึงใช้เวลาเที่ยวเฉพาะไฮไลท์ที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของวันใหม่กับการไปตักบาตรข้าวเหนียว แล้วจึงไปเดินตลาดเช้า หากาแฟดื่ม หาเฝอกิน ก่อนต่อกันด้วยการเดินขึ้นพูสี เพื่อสักการะพระธาตุจอมพูสี และชมวิวเมืองหลวงพระบาง จากนั้นกลับลงเขามาเข้าชมศิลปวัตถุต่างๆใน “หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง”ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พร้อมไหว้พระบางเสริมสิริมงคล (ซึ่งผมได้เขียนนำเสนอไว้ในบทความตอนที่ผ่านมา)

หลังไหว้องค์พระบางแล้ว ผมออกเดินทางต่อไปยัง“วัดเชียงทอง” ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ใครที่มาหลวงพระบางแล้วไม่ได้มายังวัดเชียงทองก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงหลวงพระบาง เช่นเดียวกับการขึ้นพูสี
สิมวัดเชียงทอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง
วัดเชียงทอง สุดยอดสถาปัตยกรรมล้านช้าง

วัดเชียงทอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับเป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428

วัดเชียงทองมี “สิม”หรือ“โบสถ์” เป็นหัวใจของวัด ได้รับการยกย่องว่า เป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด หลังคาสิมสร้างโค้งอ่อนช้อยทรงปีกนกเป็น 3 ชั้น ลดหลั่นปกคลุมต่ำลงมา บนสันกลางคามี“ช่อฟ้า” 17 ช่อ (ช่อฟ้าของลาวต่างจากช่อฟ้าของไทย) บ่งบอกว่าเป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง ส่วน “โหง่” ที่เป็นส่วนยอดสุดของหน้าบันหรือช่อฟ้าในบ้านเราทำเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อยสวยงาม
ช่อฟ้า 17 ช่อ บนสิมวัดเชียงทอง
ท้าวเข็มเพ็ด ชนะพัน ไกด์ชาวลาวที่เคยพาผมเที่ยวหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บอกกับผมว่า คนลาวนั้นเปรียบสิมที่มีหลังคาโค้งงามชดช้อยเป็น“สิมสุภาพสตรี” ส่วนสิมที่มีทรงสูงหลังคาลาดตรงอย่างสิมในเวียงจันทน์เป็น “สิมสุภาพบุรุษ” ซึ่งสิมวัดเชียงทองนั้นได้ชื่อว่าเป็นสิมสุภาพสตรีที่มีทรงสมส่วนอ่อนช้อยสวยงามที่สุดในประเทศลาว

สำหรับภายในสิมสุภาพสตรีหลังงามนี้ ประดิษฐาน“พระองค์หลวง” พระประธานที่สร้างอย่างขรึมขลัง ประตูสิมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้อันอ่อนช้อย ผนังด้านนอก-ด้านใน รวมถึงที่หน้าบัน ตกแต่งด้วย“พอกคำ”หรืองานลงรักปิดทอง
พระองค์หลวง พระประธานในสิมวัดเชียงทอง
ส่วนผนังสิมด้านหลัง(ด้านนอก) ประดับลาย“ดอกดวง”หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป“ต้นทอง” ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดกับตำนานนิทานพื้นบ้าน และที่มาของชื่อเมือง“เชียงทอง” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง เพราะในอดีตเมืองนี้มีต้นทองอยู่มาก โดยเฉพาะที่วัดเชียงทองแห่งนี้เคยมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเจ้าศรีสว่างวัฒนาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง จึงได้ให้ช่างทำลวดลายประดับดอกดวงเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังสิมเพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีต
ลายดอกดวงต้นทองที่ผนังด้านหลังสิม
เช่นเดียวกับผนังด้านนอกของ “หอพระม่าน” และ “หอพระพุทธไสยาสน์” ที่ด้านหลังสิม ก็มีการประดับลายดอกดวงเล่าเรื่องราวคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้าน และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต
นักท่องเที่ยวขึ้นไปมองพระม่านผ่านช่องเล็กๆหน้าประตู
หอพระม่านกับหอพระพุทธไสยาสน์ แม้จะตั้งอยู่คู่กันแต่หอพระม่านนั้นปิดใส่กุญแจไว้ ที่ประตูมีช่องเล็กๆให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูพระพุทธรูปภายใน ซึ่งมีคนขึ้นไปดูกันมากจนงานปิดทองลอกเห็นแต่รักสีดำ พระม่านถือเป็น 1 ใน 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพระบาง(อีก 2 องค์ คือ พระบางและพระเจ้าองค์แสน) ที่จะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะกันในช่วงสงกรานต์เช่นเดียวกับพระบาง นอกจากนี้ชาวลาวยังเชื่อว่าใครที่มาบนบานขอลูกกับพระม่านจะประสบผลทุกราย
ลวดลายดอกดวงที่หอพระพุทธไสยาสน์
ขณะที่หอพระพุทธไสยาสน์นั้น เปิดให้เข้าชม ภายในประดิษฐานพระนอนอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทายให้อธิษฐานแล้วยกกัน ถ้าพรจะสมหวัง ครั้งแรกจะยกขึ้น ครั้งที่สองยกไม่ขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีคนไทยไปอธิษฐานยกพระกันไม่น้อยเลย
ราชรถในโรงเมี้ยนโกศ
นอกจากสิมและหอพระแล้ว วัดเชียงทองยังมี “โรงเมี้ยนโกศ” หรือ “โรงราชรถ” ภายในเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
งานแกะสลักสีดาลุยไฟที่บานประตู สรรค์โดย “เพียตัน”
ส่วนประตูและหน้าต่างด้านนอกงดงามมีชีวิตชีวาไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีทองที่วันนี้สีเริ่มหมองไปตามกาลเวลา งานแกะสลักไม้ที่นี่สร้างสรรค์โดยฝีมือของ“เพียตัน”(พระยาตัน)หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว ไม่ว่าจะเป็น ภาพสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตู ภาพทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก(ด้านซ้าย) นับเป็นภาพงานสลักไม้ที่ผมได้ชมแล้ว รู้สึกเหมือนกับว่าท่านไม่ได้ใช้มือแกะ หากแต่ใช้“ใจ” บรรจงควักไม้เหล่านั้นออกมาอย่างน่าทึ่ง
หมีใหญ่ยืนโชว์ตัวในศูนย์ช่วยเหลือหมี
“น้ำตกตาดกวางสี” น้ำตกดังแห่งหลวงพระบาง

หลังเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบางมาครึ่งวัน(เช้า) ช่วงบ่ายคณะเราออกนอกเมืองไทยสัมผัสกับความชุ่มฉ่ำที่ “น้ำตกตาดกวางสี”(น้ำตกกวางสีหรือตาดกวางสี) เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงที่สุดของหลวงพระบาง โดยจากจุดจอดรถ จะมีทางเดินไปยังตัวน้ำตกประมาณ 300 เมตร ระหว่างทางมี “ศูนย์ช่วยเหลือหมี” ที่นำหมีบาดเจ็บ ถูกทำร้าย มาดูแลไว้ในพื้นที่ควบคุม ซึ่งเราจะได้ชมหมีในอิริยาบถต่างๆ ดูน่ารักไปอีกแบบ
น้ำตกตาดกวางสีชั้นล่างบริเวณแอ่งน้ำตก
หมีแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ดุร้ายแต่ที่โหดร้ายกว่าหมีก็คือมนุษย์(บางคน)ที่ทำร้ายหมี กินดีหมี กินอุ้งตีนหมีนั่นเอง

พ้นศูนย์หมีมา เดินเรื่อยๆไปตามทางที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ จะพบกับแอ่งน้ำตกชั้นล่าง เป็นชั้นเตี้ยๆมีสายน้ำตกไหลแผ่กว้างพอประมาณตกลงมาในแอ่งน้ำกว้างสีเขียวอมฟ้า ณ จุดนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนมาถอดเสื้อผ้าเล่นน้ำกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีคนมาวัดใจกระโดดน้ำตกกันทั้งชาย-หญิง
น้ำตกตาดกวางสีชั้นไฮไลท์
อย่างไรก็ดีสำหรับนักท่องเที่ยวสาวๆของทั้งลาวและไทยนั้น ส่วนใหญ่ที่มาลงแอ่งเล่นน้ำดูจะเหนียมๆ มีสวมเสื้อสวมยืดทับ ไม่กล้าใส่บิกินีโชว์หราแบบพวกฝรั่งหรือญี่ปุ่น ส่วนที่คาดไม่ถึงก็คือสาวๆชาวจีนที่เดี๋ยวนี้ใจถึง สวมบิกีนีลงเล่นน้ำกันอย่างมั่นใจ หลายคนนี่ดูบะรึ่มฮึ่มประหนึ่งปอดบวมเลยทีเดียว

จากจุดกระโดดน้ำ เมื่อเดินไปอีกไม่ไกลจะเป็นตัวน้ำตกอีกชั้นหนึ่งไหลแผ่สยายเป็นแนวกว้าง จากนั้นก็เป็นตัวน้ำตกชั้นไฮไลท์ที่มีความสูงกว่า 70 เมตร(สูงที่สุดในหลวงพระบาง) กับสายน้ำที่ไหลทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาสูง ดูสวยงาม ส่วนปริมาณน้ำนั้นก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในช่วงหน้าฝนน้ำเยอะ หน้าหนาวน้ำปานกลางแต่สวยงามสุด ส่วนหน้าร้อนอย่างนี้น้ำย่อมน้อยเป็นธรรมดา
ตึกเก่าในตัวเมือง
สีสันราตรี

ในตัวเมืองหลวงพระบางในช่วงบ่ายๆทั้งนักท่องเที่ยวและชาวหลวงพระบางจะใช้ชีวิตกันอย่างเนิบนาบ แต่ครั้นพอถึงยามเย็นที่นี่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวหนาตามาเดินทอดน่อง เที่ยววัด ชมเมือง โดยบรรดาตึกรามบ้านเรือนใจกลางเมือง ทั้งตึกสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส รวมถึงตึกแบบจีน และห้องแถวและบ้านเรือนแบบลาว ที่อยู่บนถนนหลัก ถนนรอง และตามซอกซอยนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันชวนสัมผัสของเมืองแห่งนี้

อย่างไรก็ดีตึกรามบ้านเรือนหลายๆแห่งในวันนี้ก็ได้แปรสภาพไปเป็น โรงแรมที่พัก เกสต์เฮ้าส์ ร้านกาแฟ ร้านอินเตอร์เน็ต บริการทัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯ อันถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามวงจรของโลกแห่งการท่องเที่ยวยุคโลกาภิวัตน์
พระธาตุหมากโม วัดวิชุน
ส่วนที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้อย่างเด่นชัดก็คือบรรดาวัดวาอารามต่างๆที่แทรกในใจกลางเมืองนี้มีวัดมากถึง 26 วัด ซึ่งนอกจากวัดเชียงทองที่เป็นวัดสำคัญสูงสุดแล้ว ในหลวงพระบางยังมีวัดน่าสนใจ ได้แก่ “วัดวิชุน” ที่โดดเด่นไปด้วย”พระธาตุหมากโม”ที่แตกต่างจากพระธาตุทั่วไปเป็นรูปทรงแตงโมผ่าครึ่ง,“วัดอาฮาม” ที่เก็บรักษาชุดปู่เยอ ย่าเยอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวเคารพนับถือเพราะเชื่อว่าเป็นเทวดารักษาเมือง,“วัดใหม่สุวันนะพูมาราม” หรือ“วัดใหม่” ที่ผนังสิมด้านนอกงดงามไปด้วยภาพฝีมือการสลักไม้ลงรักปิดทองฝีมือของสุดยอดช่าง“เพียตัน” และ“วัดแสนสุขาราม” ที่ประดิษฐาน “พระเจ้า 18 ศอก”ที่มีความสูง 18 ศอก พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่หนึ่งเดียวในหลวงพระบาง
สินค้าสารพัดสารพันที่ตลาดมืด
ครั้นเมื่อยามเย็นย่ำใกล้ค่ำมาถึง บริเวณสี่แยกใจกลางเมือง จะมีการปิดถนนเป็นถนนคนเดินเรื่อยไปจนถึงหอพิพิธภัณฑ์ ตลาดม้งหรือตลาดชาวเขาที่วางของขายในตอนกลางวันจะเปลี่ยนเป็น “ตลาดมืด” หรือ “ไนต์มาร์เก็ต” ที่มีสินค้ามากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอมือ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องเงิน ของที่ระลึกต่างๆ ขณะที่ในซอยเล็กๆช่วงต้นตลาดก็เป็นตลาดอาหารที่มีของกินราคาเยาให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจได้เข้าไปฝากท้องอิ่มท้องกัน ซึ่งผมเห็นมีนักท่องเที่ยวฝรั่งมานั่งกินอาหารกันเต็มไปหมด
ผ้าทอ สินค้ายอดนิยมของตลาดมืด
สำหรับตลาดมืดนั้นจะเปิดขายประมาณ 6 โมงเย็น ปิด 3 ทุ่ม ของทุกวัน สินค้าที่นำมาขายสามารถต่อรองราคากันได้

นอกจากตลาดมืดแล้ว สีสันราตรีที่หลวงพระบางยังมีร้านรวงต่างๆเปิดให้บริการ โดยเฉพะร้านอาหารตามริมแม่น้ำโขงนี่หลายร้านมีบรรยากาศน่านั่งไม่น้อย ส่วนผู้ที่อยากท่องราตรี นอกเมืองหลวงพระบางออกไปก็มีสถานบันเทิงอย่าง “ดาวฟ้า” และ “ราตรีเมืองซัว” ให้ได้สนุกสนานกัน ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันเมืองลาวที่นักท่องเที่ยวไทยชื่นชอบกันมาก

ใครจะปิดยามคืนในหลวงพระบางด้วยสีสันยามราตรีแบบไหน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดมืด ร้านริมโขง หรือที่ดาวฟ้า ราตรีเมืองซัว งานนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล ซึ่งนี่ถือเป็นเสน่ห์แห่งหลวงพระบางนับแต่เช้าจรดค่ำมืด

นับเป็นสีสันแห่งเมืองหลวงพระบางยุคใหม่ที่เดินหน้าเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ที่อาจจะไม่ถูกจริต ไม่สบอารมณ์ใครหลายๆคน แต่นี่คือโลกแห่งความเป็นจริงของเมืองท่องเที่ยวจำนวนมากบนโลกใบนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น