xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระ 9 วัดริมน้ำ สุขใจ เสริมมงคลรับปีใหม่ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระอุโบสถทรงขอม ที่วัดราชาธิวาสวิหาร
นอกจากเทศกาลสงกรานต์จะถือเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยแล้ว ก็ยังถือเป็น“วันปีใหม่ไทย” เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศักราชใหม่(ในวันเถลิงศก) โดยตามความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในแถบอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งได้รับอิทธิพลต่อมาจากอินเดีย จะถือกันว่า การเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่จะอยู่ในช่วงเดือน 5 หรือช่วงสงกรานต์ในปัจจุบัน นั่นเอง

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีอากาศร้อนจัด นอกจากการละเล่นสาดน้ำที่มีชื่อเสียงก้องโลกแล้ว หนึ่งในกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยในยุคนี้นิยมปฏิบัติกันก็คือ การเข้าวัดเข้าวา ไหว้พระทำบุญขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว และถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่อย่างเป็นมงคล เชื่อกันว่าในปีนั้นจะเจริญรุ่งเรือง มีความสุข และใช้ชีวิตอย่างราบรื่น

นี่ก็คือเส้นทางไหว้พระ 9 วัดริมน้ำ ที่ผสมผสานระหว่างริมแม่น้ำเจ้าพระยากับวัดตามริมคลองแยกย่อย ที่ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการทัวร์ธรรมะ ไหว้พระริมน้ำ ขอพรรับปีใหม่แบบไทยๆ
ซุ้มคูหา เหนือ พระสัมพุทธพรรณี ออกแบบเป็น พระราชลัญกรประยุกต์ ที่วัดราชาฯ
เริ่มจากวัดแรก “วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับท่าวาสุกรี สามเสน วัดแห่งนี้เป็นวัดที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ทรงสถาปนาจากวัดสมอราย หลังจากนั้นก็ได้รับการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวิหาร” และความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้ก็คือ เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 4 (เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ) ได้ทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดนี้ และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น
พระอุโบสถและมณฑปจตุรมุข วัดเทวราชฯ
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็คือ พระอุโบสถ ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบ โดยมีการประยุกต์แนวคิดสมัยใหม่ที่เน้นความงามทางทรวดทรงเรขาคณิตมาประกอบกับโครงสร้างแบบเดิม เป็นอาคารทรงขอม หน้าบันประยุกต์แบบศิลปะลพบุรี โดยภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานของ “พระสัมพุทธพรรณี” บริเวณรอบองค์พระประธานมีซุ้มเรือนแก้วขนาดใหญ่เป็นภาพตราพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 1-5 และมีภาพเทวดาและภาพจิตกรรมพระเวสสันดรชาดกที่ผนังพระอุโบสถ ซึ่งเขียนและลงสีด้วยเทคนิคแบบตะวันตก
พระพุทธเทวราชปฏิมากร
ต่อมาเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนถนนสามเสนเช่นเดียวกัน นั่นคือ “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” หรือชื่อเดิมว่า “วัดสมอแครง” เป็นวัดเก่าแก่ที่กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และพระองค์จึงทรงรับวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร”

ภายในวัดเทวราชฯ มีพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายกับพระอุโบสถวัดพระแก้ว และภายในพระอุโบสถนั้นประดิษฐาน “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม เป็นหมู่เทวดาชุมนุมขณะที่พระพุทธองค์ทรงโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังมีภาพภิกษุปลงอสุกรรมฐานซึ่งหาชมได้ยาก ใกล้กับพระอุโบสถ เป็นมณฑปจัตุรมุขที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระประธานยิ้มรับฟ้า วัดระฆัง
จากย่านสามเสน ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำวัดระฆัง เพื่อเข้าไปยัง “วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร” วัดดังที่มีความเชื่อกันว่า หากมาไหว้พระวัดนี้จะมีคนนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งเมื่อเข้าถึงวัดแล้วก็ตรงเข้าไปที่พระอุโบสถ เพื่อกราบสักการะ “พระประธานยิ้มรับฟ้า” ซึ่งเหตุที่ชาวบ้านเรียกพระประธานในชื่อนี้ก็เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." น่าจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น
ทิวทัศน์วัดอรุณฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ หากว่ากล่าวถึงวัดระฆัง ก็จะต้องนึกถึงหลวงพ่อโต และพระคาถาชินบัญชร เพราะหลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) สมเด็จพระราชาคณะที่มีชื่อเสียงของวัดนี้ เป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก และท่านยังเป็นผู้ที่นำเอาบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากลังกามาดัดแปลงแต่งเติมให้สมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นพระคาถาชินบัญชรที่รู้จักกันดี เราสามารถเข้าไปสักการะหลวงพ่อโตได้ที่วิหารด้านหน้าพระอุโบสถ
ยักษ์วัดแจ้ง
ถัดจากวัดระฆังก็เป็น “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” วัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ วัดแห่งนี้มีจุดเด่นที่เห็นกันได้ชัดเจนก็คือ พระปรางค์ ที่มีความสูงถึง 67 เมตร และล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศ และมณฑปทิศ ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีทำเป็นลวดลายต่างๆ

เข้ามาถึงวัดอรุณก็ต้องมากราบ “พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ พระประธานองค์นี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย วัดนี้จึงถือว่าเป็นวัดสำคัญ และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บริเวณด้านริมแม่น้ำ
หลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร
เมื่อมาวัดอรุณแล้วก็ต้องมาดูยักษ์วัดอรุณ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ยักษ์วัดแจ้ง" ที่มีเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์มาตีกับยักษ์วัดแจ้ง ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน เรื่องเล่ายังสรุปไม่ได้ว่ายักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ แต่ที่แน่ๆ ยักษ์วัดแจ้งนี้เป็นยักษ์ชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีจากเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือ ทศกัณฑ์ ยักษ์กายสีเขียว ส่วนอีกตนหนึ่งเป็นยักษ์กายสีขาว ชื่อว่า สหัสเดชะ ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พระบรมธาตุมหาเจดีย์แห่งวัดประยุรวงศาวาส
ต่อกันที่ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต ต้นสกุลกัลยาณมิตร) ที่เคยทำมาค้าขายกับรัชกาลที่ 3 มานานจนเป็นมิตรสนิทกัน ในเวลาต่อมาจึงได้อุทิศบ้านและบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างวัดขึ้นมาและถวายเป็นพระอารามหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามให้วัดแห่งนี้ว่า วัดกัลยาณมิตร

ผู้คนที่เข้ามายังวัดแห่งนี้ นิยมเข้ามาไหว้ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกง” โดยหลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากได้มาไหว้หลวงพ่อโตแล้วจะเจริญรุ่งเรืองด้านการค้า การเดินเรือ และเดินทางปลอดภัย
ภายในพระวิหารพระพุทธนาค
จากนั้นเราก็ยังล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาถึงบริเวณสะพานพุทธ ก็จะพบกับ “วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร” ที่สร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่าและสมุหพระกลาโหม ท่านได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้น และถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3

สิ่งสำคัญของวัดนี้อยู่ที่ “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สีขาวสะอาดตา ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากโครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัด โดยยูเนสโก เนื่องจากเหตุผลว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลานี้สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง
หลวงพ่อศาสดา พระประธานในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม
นอกจากองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์จะมีความสำคัญในเรื่องการได้รับรางวัลดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีความน่าสนใจในเรื่องของภูมิปัญญาระหว่างช่างสมัยเก่าและสมัยใหม่ที่สร้างและซ่อมแซมเจดีย์องค์นี้ โดยประชาชนสามารถเข้าไปชมได้ภายในองค์เจดีย์

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดก็มีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถที่ประดิษฐาน “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองเป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนพระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธนาค” พระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยคู่กับพระศรีศากยมุนี และยังมีภูเขามอ หรือเขาเต่า ซึ่งเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยหิน ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณด้านหน้าวัด
วัดศรีสุดาราม
จากแม่น้ำเจ้าพระยา เราย้ายมาล่องต่อไปในคลองบางกอกน้อย ซึ่งที่ลำคลองแห่งนี้ก็มีวัดที่น่าสนใจอยู่ด้วย เริ่มจาก “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในสมัยธนบุรี ได้ใช้ที่นี่เป็นลานประหารเชลยศึกพม่าที่จับได้จากค่ายบางแก้ว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้เป็นเมรุหลวงสำหรับพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่

สำหรับที่วัดสุวรรณาราม ต้องมาสักการะ “หลวงพ่อศาสดา” ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญมาจากสุโขทัยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 เนื่องจากหลวงพ่อศาสดานั้นเป็นฝีมือช่างเดียวกันกับที่หล่อพระศรีสากยมุนี ที่วัดสุทัศน์ ซึ่งนอกจากจะมากราบหลวงพ่อศาสดาแล้ว ก็อย่าลืมมาชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถือว่าเป็นเพชรน้ำงามสมัยรัตนโกสินทร์กันด้วย
ภายในพระอุโบสถวัดตลิ่งชัน
ตรงเข้ามาตามคลองบางกอกน้อยก็จะพบกับ “วัดศรีสุดารามวรวิหาร” หรือวัดชีปะขาว ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระราชทานนามว่า “วัดศรีสุดาราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้า

วัดแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับกวีเอกของไทย สุนทรภู่ โดยเป็นสถานศึกษาของสุนทรภู่เมื่อครั้งเยาว์วัย และยังมีอนุสาวรีย์ของสุนทรภู่ตั้งอยู่ด้วย โดยผู้ที่เข้ามายังวัดนี้ สามารมาสักการะพระประธานในพระอุโบสถ พระศรีอาริย์ภายในหอไตร พระเจดีย์ พระปรางค์ รวมถึงมาชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในวัดได้อีกมากมาย

ปิดท้ายกันที่ “วัดตลิ่งชัน” วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งริมคลองชักพระ ที่เชื่อมต่อกับคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ โดยสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย “พระพุทธมงคลสิทธิ์นิรมิตรประชานาถ” เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาสักการะ และบริเวณฝาผนังนั้นยังมีภาพเขียนพระพุทธรูปปางสมาธิ มีฐานกลีบบัวรองรับเรียงรายเป็นแถวทั้งสี่ด้าน

หากใครที่มาไหว้พระที่วัดตลิ่งชันในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถเดินออกมาชอปปิ้งของกินของใช้กันได้ที่ตลาดน้ำวัดตลิ่งชันอีกด้วย

วันหยุดหลายๆ วันในช่วงสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแบบนี้ ลองหาโอกาสเข้าวัดเข้าวา ทำบุญเพื่อให้เป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัวบ้าง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่สุขใจไม่น้อย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น