xs
xsm
sm
md
lg

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
โชว์การเรียกนกยูงมากินอาหาร ไฮไลท์แห่งสวนป่าดงดิบ
“การไปเยือนสิบสองปันนา เป็นเหมือนกับการเดินทางไปเยี่ยมญาติที่มีรากเดียวกันแต่ว่าต้องพลัดพรากจากกันไปเป็นเวลานาน”

เพื่อนผมคนหนึ่งมันเคยกล่าวไว้ ไม่รู้ว่ามันคิดเองหรือไปจำขี้ปากใครมา แต่ก็จริงดังว่า เพราะชาวไทลื้อกับคนไทยล้วนมีรากมาจากชาว “ไท” หรือ “ไต” รวมถึงมีอะไรหลายๆอย่างคล้ายกัน นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์สายหนึ่งยังเชื่อว่าเดิมคนไทยน่าจะเคยมีรกรากอยู่ที่สิบสองปันนามาก่อน

อย่างไรก็ดี สมัยก่อนการเดินทาง(เสมือน)ไปเยี่ยมญาติจากไทยสู่สิบสองปันนาด้วยทางรถยนต์ ถือเป็นเส้นทางวิบากเส้นทางหนึ่ง โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) จากเมืองไทย จ.เชียงราย ต้องนำรถขึ้นแพขนานยนต์หรือ “บั๊ค” ข้ามโขงจากเชียงของไปขึ้นฝั่งลาวที่เมืองห้วยทราย จากนั้นต้องตะลุยถนนลูกรัง ทั้งขรุขระ ติดหล่ม เป็นหลุมเป็นบ่อไปอีกกว่า 200 กิโลเมตร กว่าจะไปถึงเมืองหลวงน้ำทาก็เย็นแล้ว ส่วนใครถ้าจะข้ามแดนไปจีนก็ค่ำมืด บางทีไปไม่ทัน เพราะด่านจีนปิด ก็ต้องวุ่นวายหาที่นอนกันระหว่างทาง
เมืองเชียงรุ่งยุคปัจจุบันที่ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็ว
แต่มาวันนี้ถนนหนทางในลาวทำดี ลาดยางรถวิ่งฉิว แถมเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 สร้างเสร็จ เปิดให้บริการเชื่อม 2 ฝั่งโขงไทย-ลาว ระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็ยิ่งทำให้เส้นทาง R3a สายนี้สะดวกสบายมากขึ้น นั่นจึงทำให้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ ได้จัดคาราวาน ไทย-ลาว-จีน เพื่อเป็นเส้นทางนำร่อง รับการเปิด AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ โดยพาไปสัมผัสกับ 2 เมืองท่องเที่ยวดังจีน-ลาว คือ “เชียงรุ่ง” และเมืองมรดกโลก “หลวงพะบาง”(หลวงพระบาง)

จากเมืองไทย คณะคาราวานออกเดินทางแต่เช้า จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปพักกินข้าวกลางวันที่เมืองหลวงน้ำทา สปป.ลาว จากนั้นก็ไปหม่ำมื้อค่ำกันที่เมืองเชียงรุ่ง หนึ่งในสองของเมืองท่องเที่ยวสำคัญประจำทริปนี้
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำโขงแห่งเมืองเชียงรุ่ง
1...

เชียงรุ่ง เป็นเมืองเอก(อำเภอเมือง) ของ“เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา”(จังหวัดสิบสองปันนาหรือสิบสองพันนา) มณฑลยูนนาน

เมืองแห่งนี้มีแม่น้ำโขงหรือที่ชาวไทลื้อแม่น้ำล้านช้าง ไหลผ่านเป็นเส้นเลือดหลัก ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเชียงรุ่งเปลี่ยนแปลง พัฒนา เติบโตไปมาก ขณะที่บริเวณริมน้ำปัจจุบันก็กำลังเติบโต มีตึกสูงทยอยขึ้น และคาดว่าจะผุดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ

นอกจากสิ่งก่อสร้าง ตึกรามที่สร้างขึ้นมาจนแน่นเมืองแล้ว ในเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทแมนเมด(Man Made) สร้างขึ้นทั่วไป ส่วนที่ฮือฮาและเป็นข่าวดังในบ้านเราก็คือ“โครงการ 9 จอม 12 เชียง”(Nine Tower & Twelve Walled) ที่เป็นการยกเมืองเชียงใหม่ และสถาปัตยกรรมแบบล้านในบ้านเรา มาสร้างไว้ที่จีน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเชียงใหม่จำลอง ซึ่งหลังภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” โด่งดังในจีนเป็นพลุแตก ที่นี่ก็พลอยโด่งดังไปด้วย โด่งดังถึงขนาด มีทัวร์ไทย คนไทยบางกลุ่ม ต้องการไปดูด้วยตา สัมผัสให้เห็นกันว่า เชียงใหม่ในเมืองจีนนั้นเป็นอย่างไร
พระพุทธรูปยืนองค์โตที่วัดหลวง
สำหรับอีกหนึ่งสถานที่สร้างใหม่ที่กำลังมาแรงก็คือ “วัดหลวง” วัดใหญ่ใจกลางเมือง ที่มีลักษณะคล้ายวัดไทยในบ้านเรา มากกว่าวัดแบบไทลื้อดั้งเดิมที่สิบสองปันนา เพราะมีทั้งยักษ์วัดแจ้ง พระพุทธเจ้าน้อย เทวรูปต่างๆ รูปพระบิณฑบาต เจดีย์ศิลปกรรมแบบไทย รวมถึงพระพุทธยืนปางประทานพรองค์โต ซึ่งมีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ผมอดคิดไม่ได้ว่า ต่อไปทัวร์จีนจำนวนหนึ่งอาจไม่เลือกมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว เพราะในเมืองจีนเองก็มีเมืองไทยทั้งเชียงใหม่ วัดไทย ให้เที่ยวกันถึงที่
สะพานแขวน ทางเดินสู่หมู่บ้านอีก้อ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวแมนเมดมาร่วมด้วยช่วยเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย แต่กับแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆที่เป็นจุดเด่นของเชียงรุ่งก็ยังคงเต็มไปด้วยความคึกคักอยู่เช่นเคย นำโดย“สวนป่าดงดิบ” ที่เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นในพื้นที่ของป่าจริงๆที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา แมกไม้เขียวชอุ่มร่มรื่น

ภายในสวนป่ามีหลายสิ่งหลายอย่างให้ทัศนากัน ไม่ว่าจะเป็นไฮไลท์อย่างโชว์การนกยูง ที่พอถึงเวลา เจ้าหน้าที่จะเป่านกหวีดส่งสัญญาณ จากนั้นสักพักก็จะมีมวลหมู่มหานกยูงนับร้อยบินมาจิกกินอาหาร สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มารอเฝ้าชม ครั้นเมื่อเสร็จสรรพพวกมันก็จะบินกลับข้ามบึงน้ำ แล้วเดินขึ้นบันได หลายตัวกลับไปนอนในป่า กลายตัวก็นอนในกรงที่ทางสวนป่าสร้างไว้
โชว์พาราณสี การแสดงไฮไลท์ประจำเมืองเชียงรุ่ง
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีจุดน่าสนใจ เด่นๆ ได้แก่ “น้ำตก(จำลอง)เก้ามังกร”, “หมู่บ้านอีก้อ(จำลอง)”(บ้านเราเรียกอาข่า อีก้อเป็นคำไม่สุภาพ) ที่ต้องเดินข้ามสะพานแขวนไปเพื่อชมการจัดแสดงของชนเผ่า ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมสนุกกับการเต้นร่วมกับสาวๆที่นี่ด้วย

ขณะที่ในส่วนการแสดงโชว์ความสามารถของสัตว์ อย่าง เสือ หมี หมา นั้น คนไทยหลายๆคนชมแล้ว นอกจากจะไม่ค่อยสนุกแล้วยังรู้สึกหดหู่กับสภาพของสัตว์พวกนี้มากกว่า
การแสดงศิลปวัฒนธรรม พาราณสี
ในเมืองเชียงรุ่งยังมีการแสดงที่ถือเป็นไฮไลท์ประจำเมืองนั่นก็คือ “โชว์พาราณสี” ที่เป็นโชว์ศิลปวัฒนธรรม การแสดง แสงสี ดนตรี ดูอลังการ พร้อมกับแฟชั่นสาวๆชาวไทลื้อ ชาวจีน ในชุดเอวลอยที่เหล่าป๋าๆ คุณปู่ คุณตา คุณลุง ทั้งชาวไทย จีน จะชอบกันมาก แต่โชว์นี้ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับเมืองพาราณสีของอินเดีย

ด้านใครที่ชอบบรรยากาศสีสันยามราตรี ที่นี่ก็มีร้านเหล้า บาร์เบียร์ ตกแต่งบรรยากาศแบบเรือนไทลื้อบริเวณถนนคนเดินริมแม่น้ำโขงให้นั่งดื่มด่ำบรรยากาศ หรือใครจะเลือกกินอาหาร เครื่องดื่มตามแผงข้างทาง ก็น่าสนใจไปอีกแบบ เพราะราคาถูกกว่า แถมได้บรรยากาศของชาวจีนดีทีเดียว โดยเฉพาะกับแผงปิ้ง-ย่างที่มีให้เลือกกันอยู่หลายเจ้าด้วยกัน
แผงขายหยกริมทางบนถนนคนเดิน หากใครจะซื้อต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ส่วนพวกที่ช้อปปิ้งในตัวเมืองเขามีถนนคนเดินขายสินค้าที่ระลึก หลากหลาย โดยเฉพาะกับหยกนี่มีให้เลือกกันเพียบ แต่งานนี้คงต้องคนที่ดูเป็นเลือกเป็น เพราะจีนนั้นขึ้นชื่อเรื่องของปลอมอยู่แล้ว ก็ขนาดไข่ ขาดเชียงใหม่ยังปลอมกันได้เลย

อ้อ!?! แต่สิ่งหนึ่งที่ยังปลอมสู้บ้านเราไม่ได้ก็คือ ผู้หญิงปลอม นั่นจึงทำให้วันนี้ที่เชียงรุ่งยังต้องอิมพอร์ตกระเทยไทยเพื่อไปแสดงโชว์ให้หนุ่มๆและผู้เฒ่าชาวจีนได้น้ำลายไหลกันตามสถานบันเทิงบางแห่ง
ปิ้ง-ย่าง ของอร่อย ราคาเยา ยามราตรี
2…

ในอดีตเชียงรุ่งคือหนึ่งในดินแดนในฝันของคนไทยเช่นเดียวกับหลวงพะบาง

ผมเคยได้อ่านหนังสือ บทความ ดูภาพ และพูดคุยกับนักเดินทางรุ่นพี่ที่มีโอกาสได้มาสัมผัสเชียงรุ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วขึ้นไป ล้วนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นี่ดูสงบงามไปด้วยวิถีของชาวไทลื้อ บ้านเมืองสวยงามไปสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ ทั้งวัดวาอาราม บ้านเรือน โดยเฉพาะบ้านทรงไทลื้ออันเป็นเอกลักษณ์กับเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ทรงปีกนกมีความลาดต่ำ หรือที่เรียกกันว่า “หงส์เรือน” หรือ “หงส์เฮือน

เมื่อเดินเข้าไปตามหมู่บ้านไทลื้อต่างๆ(สมัยก่อน) จะเห็นปลูกเรียงรายเป็นแถวสวยงาม หลังคาปีกนกอันสมส่วนที่ทอดปกคลุมหงส์เรือนนั้นดูสง่าราวปีกหงส์ หลายบ้านมีการประดับรูปนกยูง สัญลักษณ์ประจำเมืองไว้บริเวณหน้าบัน
ภาพถ่าย หมู่บ้านไทลื้อในอดีต ตีพิมพ์ในหนังสือ อสท. ปี 2539 โดย ธีรภาพ โลหิตกุล
เชียงรุ่งในยุคนั้นเปรียบดังสาวชนบทผู้ใสซื่อและงดงาม จากนั้นเมื่อจีนเดินหน้าพัฒนาเมืองอย่างเต็มตัว เมืองใหญ่ เมืองสำคัญจำนวนมาก ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง อาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างเก่าๆอันเป็นเอกลักษณ์ถูกรื้อ สร้างใหม่เป็นตึกราม คอนโด อาคาร สูงระฟ้า

สำหรับที่เชียงรุ่งนั้น ผมมีโอกาสไปเยือนครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในยุคเชียงรุ่งกำลังก่อร่างสร้างเมืองใหม่ เห็นเมืองที่กำลังขยายเติบโตไปในทางแนวราบ หมู่บ้านไทลื้อในเชียงรุ่งถูกโอบล้อมด้วยตึกราม แต่กระนั้นก็ยังมีภาพและบรรยากาศของหมู่บ้านไทลื้อตามธรรมชาติที่ไม่ใช่หมู่บ้านท่องเที่ยว ให้สัมผัสซึมซับกันอยู่ไม่น้อย
ตัวเมืองเชียงรุ่งวันนี้ ที่หาชมหมู่ไทลื้อแบบดั้งเดิมไม่ได้แล้ว
ครั้นมาเมื่อล่าสุดการกลับไปเยือนเชียงรุ่งอีกครั้ง โอ้โห เมืองนี้มีการพัฒนาทางวัตถุเปลี่ยนแปลง เติบโตไปมาก ภาพเมืองเชียงรุ่งที่ผมเห็นล่าสุดนี้ ถือเป็นเมืองไม่ใช่การพัฒนาในทางนอนแล้ว หากแต่เป็นการพัฒนาในทางตั้ง(เพราะทางนอนในเมืองหาพื้นที่ไม่ได้แล้ว) ตัวเมืองเชียงรุ่ง ทั้งเมืองเก่า เมืองใหม่ เต็มไปด้วยตึกสูง ทั้งที่พักอาศัย คอนโด อาคารพาณิชย์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ใครที่อยากสัมผัสกับกลิ่นอายหมู่บ้านไทลื้อในอดีต คงต้องไปตามหมู่บ้านท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ไว้ หรือไม่ก็ตามชนบทไกลๆ นับเป็นเชียงรุ่งยุคร่วมสมัยที่ต่างจากในอดีตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งน้องยิ้มไกด์ประจำทริปเรา บอกว่า ในช่วง 5 ปีหลังนี้ เชียงรุ่งเติบโตแบบก้าวกระโดด ถือเป็นเมืองดาวรุ่งแห่งการพัฒนาอีกเมืองหนึ่งของจีน
กลุ่มบ้านเรือนริมน้ำที่บ้านติ้ว
3…

แม้เชียงรุ่งจะเต็มไปด้วยตึกสูงสร้างใหม่ แต่เมืองนี้เขาก็ยังอนุรักษ์เก็บหมู่บ้านไทลื้อไว้บางส่วน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสบรรยากาศในกลิ่นอายแบบดั้งเดิมกัน โดยเฉพาะกับ “หมู่บ้านกาหลั่นป้า” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมเบอร์หนึ่งของสิบสองปันนา

แต่ในทริปนี้ผมไม่ได้กลับไปเยือนกาหลั่นป้า เพราะน้องยิ้มไกด์ของเราบอกว่าที่นั่นมีการปรับปรุงทาง ปรับปรุงหมู่บ้านจึงไม่สะดวก แต่เธอเลือกพาไปที่ “หมู่บ้านติ้ว” ต.กาดหลวง แทน
บ้านไทลื้อ หลังคาแบบดั้งเดิมที่บ้านติ้ว
บ้านติ้วเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีส่วนหนึ่งตั้งอยู่ริมบึงน้ำ ภายในหมู่บ้านมีบ้านไทลื้อแบบเก่าให้ทัศนากันไม่น้อย หลายหลังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม บางบ้านสามารถขึ้นไปชั้นสองได้ บางบ้านมีการจัดแต่งเป็นร้านขายของขายผ้า ขายสินค้าที่ระลึก บางบ้านมีคุณลุงคุณป้าแต่งชุดไทลื้อทำงานอยู่กับบ้านตามปกติ นักท่องเที่ยวไปเยือนก็ยิ้มทักทายด้วยมิตรไมตรี คนไทยทางเหนือใครที่เป็นชาวไทลื้อ สามารถคุยภาษาลื้อสื่อสารกับคุณลุงคุณป้าที่นี่ได้ตามสมควร
วิหารวัดบ้านติ้ว กะทัดรัด ทรงเสน่ห์แบบไทลื้อดั้งเดิม
ส่วนที่พูดไทจัดแจ๋วก็คือท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านติ้ว ที่ผมและคณะได้มีโอกาสเข้าไปกราบขอพรจากท่าน

วัดบ้านติ้ว เป็นวัดเล็กๆแบบไทลื้อดั้งเดิม ดูขรึมขลัง น่ายลทั้งตัวอาคาร สถาปัตยกรรม งานพุทธศิลป์ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนประดับทั้งด้านนอกด้านใน อ้อ!?! ที่วัดแห่งนี้หรืออีกหลายๆวัดในเชียงรุ่ง หากใครจะเห็นพระหรือเณรขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งฉิว ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
งานจิตรกรรมฝาผนังด้านนอก วัดบ้านติ้ว
บ้านติ้วไม่ใช่หมู่ท่องเที่ยวที่เซ็ทจัดแต่งขึ้นมา หากแต่เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีชาวบ้านอยู่ตามปกติ ที่นี่จึงมีบ้านเรือนไทลื้อทั้งแบบเก่า แบบใหม่ผสมกันไป

บ้านไทลื้อแบบใหม่ก็คือบ้านปูน 2 ชั้น บ้านตึก 2-3 ชั้น ผนังก่ออิฐฉาบปูนประดับกระเบื้องตามรสนิยมแบบจีน โดยหลังคายุคใหม่ในส่วนที่เป็นบ้านทรงไทลื้อมุงกระเบื้องลอน ส่วนที่เป็นบ้านตึกก็แปะกระเบื้องทรงหลังคาเข้าไป
คุณป้าชาวไทลื้อ บ้านติ้ว ยิ้มรับนักท่องเที่ยวอย่างอารมณ์ดี
น้องยิ้มบอกกับผมว่า เดี๋ยวนี้ไม้ราคาแพงและหายากขึ้น ทำให้การซ่อมแซมบ้านหรือปรับปรุงบ้านด้วยไม้มีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนหลังคากระเบื้องดินเผาก็หายากเช่นกัน หลายที่เลิกผลิตไปแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้มีคนมาตระเวนซื้อหลังคากระเบื้องดินเผา ซื้อบ้านเก่า เพื่อไปทำรีสอร์ท ทำแหล่งท่องเที่ยว ร้านเหล้า ผับบาร์ โดยมีบริการเปลี่ยนหลังคาใหม่ให้ถึงที่ นั่นจึงทำให้แนวโน้มของบ้านไทลื้อแบบใหม่นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บ้านไทลื้อแบบเก่านับวันก็ยิ่งถูกรื้อทิ้งสร้างใหม่มากขึ้น
บ้านเรือนไทลื้อแบบเก่าที่บ้านติ้วซึ่งถูกแทนที่ด้วยบ้านตึกแบบใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นการที่บ้านเรือนไทลื้อที่เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ถูกรื้อไปมากมาย มีสาเหตุมาทั้งจากรัฐบาลจีนรื้อ และคนไทลื้อด้วยกันเองรื้อ

อย่างไรก็ดีหากใครที่ไปเที่ยวเชียงรุ่ง แล้วอยากจะสัมผัสกับสถาปัตยกรรมบ้านไทลื้อ ก็ยังมีให้สัมผัสกันง่ายๆ แถวร้านริมแม่น้ำโขง
ร้านเหล้าริมแม่น้ำโขงกับหลังคาคล้ายวัดบ้านเรา
ร้านหลายแห่งผมเห็นแล้วถึงกับทึ่ง เพราะนอกจากจะตกแต่งอย่างสวยงามในศิลปกรรมแบบไทลื้อแล้ว บนหลังคาที่นอกจากจะทำรูปทรงคล้ายวัดเก่าของชาวไทลื้อและวัดเก่าในบ้านเราแล้ว บนหลังคายังประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งคนไทยเราถือว่าเครื่องยอดเหล่านี้เป็นของสูง ใช้เฉพาะกับวัด แต่คนจีนที่นี่เขาไม่ถือ

ที่สำคัญก็คืออาคารประดับช่อฟ้าจำนวนมากแถวนี้นอกจากจะไม่ใช่วัดแล้ว ยังเป็น ผับ บาร์ ร้านเหล้า อีกต่างหาก
ร้านเหล้าริมแม่น้ำโขงนิยมทำหลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา
****************************************
บ้านไทลื้อที่หมู่บ้านติ้ว
ที่มาของชื่อเมืองเชียงรุ่ง (ภาษาจีนเรียก “จิ่งหง” สำเนียงชาวไทลื้อเรียกว่า “เจียงฮุ่ง”)มาจากเรื่องราวในพุทธตำนานของชาวไทลื้อที่กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ดินแดนริมฝั่งโขงที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ก็เป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่พอดี เมืองนี้จึงถูกเรียกขานว่า “เชียงรุ่ง” ที่สื่อความว่าคือดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดีชื่อเชียงรุ่ง มีหลายคนในบ้านเรามักเรียกกันว่า “เชียงรุ้ง” ซึ่งก็มาจาก 2 ตำนานเรื่องเล่า ได้แก่ มาจากนกเหยี่ยวรุ้ง และสายรุ้งที่เกิดจากพญานาคใต้ลำน้ำโขงพ่นน้ำฟุ้งกระจายเป็นสีรุ้งสวยงาม

แต่ก็มีอีกข้อมูลหนึ่งที่ผมอ่านเจอในหนังสือ “จากเชียงรุ้งถึงฮอยอัน” ที่เขียนโดย “สมพงษ์ งามแสงรัตน์” ว่า “...คนที่กรมศิลป์บ้านเราไปเปลี่ยนให้เขาเสียเองเป็นเชียงรุ้ง...”

สำหรับบทความนี้ อ้างอิงตามคำพูดของชาวไทลื้อที่เรียกว่า “เชียงรุ่ง”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น