เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสไปเยือนเมืองจันท์ (จันทบุรี) เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องพลอย ว่าเป็นแหล่งค้าพลอยที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ทว่าการมาเยือนเมืองจันทร์ไม่เพียงแต่ว่าต้องมาดูพลอยเท่านั้น แต่ครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะไปเดินชมโบสถ์คริสต์ที่เป็นอันซีนไทยแลนด์ของเมืองจันท์ และเดินชมบ้านเรือนเก่าแก่ที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร
ครั้นเมื่อมาถึงโบสถ์คริสต์ หรือ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล “ตะลอนเที่ยว” ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงได้เป็นโบสถ์คริสต์ที่ถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ เนื่องจากโบสถ์แห่งนี้ ยังคงเป็นโบสถ์ที่มีความเก่าแก่และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ภายใน ยังคงรักษาของเก่าเอาไว้ได้อย่างดี
สำหรับโบสถ์คริสต์ หรือ “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” เป็นโบสถ์คาทอลิก ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองจันทบุรี ประวัติศาสตร์ของวัดแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 300 ปีก่อน เมื่อชาวคาทอลิกที่ลี้ภัยมาจากเวียดนามทางเรือ ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองจันท์ และได้ร่วมมือกับทัพพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติกู้แผ่นดินเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง ชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์นี้ได้สร้างชุมชนของตนขึ้น โดยได้สร้างอาสนวิหารหลังแรกขึ้นเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อปี พ.ศ.2253 ใช้ชื่อว่า "วัดน้อย" ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี
เมื่อยุคสมัยผ่านไป อาสนวิหารก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการซ่อมแซมและสร้างใหม่ขึ้นอีกหลายครั้ง รวมทั้งได้ย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี จนเมื่อปี พ.ศ.2452 ชุมชนชาวคริสต์ก็ได้สร้างอาสนวิหารหลังใหม่ขึ้นและได้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร
สำหรับตัวโบสถ์ภายนอกประดับลวดลายฉลุรอบตัวโบสถ์ มีหน้าต่างโค้งแหลม ด้านหน้าโบสถ์มีหอคอยสูงตั้งตระหง่านกระหนาบตัวอาคารทั้ง 2 ข้างโดยหอคอยด้านขวามือ(หากมองจากด้านหน้าเข้าไป) เป็นหอนาฬิกาและยอดโดมปลายแหลม ส่วนทางเข้าตรงกลางเป็นหลังคาจั่วมีช่องแสงและลวดลายประดับสวยงาม (ยอดโดมปลายแหลมอาสนวิหารฯ เคยถูกถอดออกในปี พ.ศ.2483 เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศ และได้นำยอดโดมมาใส่อีกครั้งในปี พ.ศ.2552 เนื่องในโอกาสฉลองอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล 100 ปี)
ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ยังคงเป็นโบสถ์ที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์อยู่มาก และถึงแม้ว่าจะถูกซ่อมแซมไปหลายครั้ง แต่ภายในอาสนวิหารฯ ก็ยังคงสภาพของเก่าเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของตัวโบสถ์ กระจกสี ที่เรียกว่า สเตนกลาส เป็นรูปภาพนักบุญต่างๆ ในคริสต์ศาสนา รูปปั้นต่างๆ และกระเบื้องที่ปูพื้นโบสถ์ก็คงเป็นกระเบื้องเก่าดั้งเดิมที่ส่งลงเรือมาจากประเทศฝรั่งเศส รวมถึงระฆังก็เป็นของเก่าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนนอาสนวิหารฯ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เมื่อเข้ามาในโบสถ์คือ องค์พระแม่ประดับพลอยกว่า 200,000 เม็ด โดยองค์แม่พระและฐานหล่อขึ้นด้วยเงินบริสุทธิ์ ประดับองค์ด้วยทองคำและพลอยชนิดต่างๆ เช่น พลอยสีขาว บลูแซฟไฟร์ และมรกต องค์พระแม่ยืนเหยียบอยู่บนตัวงู อันเป็นตัวแทนของซาตานและความชั่วร้าย ส่วนดวงตาของงูนั้นก็แดงก่ำด้วยเม็ดทับทิมที่ประดับไว้ ดูโดดเด่นและงดงามจริงๆ
และในช่วงคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ตามปฏิทินของชาวคริสต์ ที่โบสถ์แห่งนี้จะมีการจัดงาน “มรรคาศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ทางสู่กางเขน” ซึ่งเป็นการบรรยายถึงช่วงสุดท้ายในชีวิตของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่เดินทางสู่การตรึงกางเขน และหลังการตรึงกางเขน ที่เรียกกันว่า “พระทรมานของพระเยซูเจ้า” ทำขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงความทรมานและความเสียสละของพระองค์
ซึ่งที่อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ก็ได้นำเรื่องราวของมรรคาศักดิ์สิทธิ์ มาถ่ายทอดเป็นการจำลองเหตุการณ์พระทรมานของพระเยซู คริสตเจ้า ขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้ว (ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา) โดยมีการตกแต่งฉากและสถานที่ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกเฆี่ยน แบกไม้กางเขน ทรงหกล้ม ไปจนถึงการถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์บนกางเขน
โดยมีผู้คนในชุมชนเป็นผู้แสดง ภายในงานมีการตกแต่งฉากและสถานที่เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว และเดินทางผ่านชุมชนชาวคริสต์เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีการจุดเทียนตามทางเพื่อรอรับพระเยซู และตามบ้านเรือนจะตั้งโต๊ะบูชาพระเยซู และพระแม่มารี ประดับประดาตกแต่งกันอย่างสวยงามทีเดียว เรียกได้ว่างานมรรคาศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ ทำเอา “ตะลอนเที่ยว” อินและเศร้าไปกับการแห่ขบวนพระทรมานของพระเยซู อีกทั้งยังประทับใจในความร่วมมือร่วมใจในการจัดงานจนทำให้งานออกมาสวยงามสมบูรณ์แบบจริงๆ
ถัดออกมาจากโบสถ์คริสต์ เดินข้ามสะพานนิรมลมายังอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำด้านตรงข้ามกับโบสถ์ จะพบกับชุมชนเก่าแก่ เรียกกันว่า “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” โดยชุมชนแห่งนี้มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงย้ายเมืองจันทบูรจากบ้านหัววังมายังบ้านลุ่ม และชุมชนริมน้ำแห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบ้านลุ่ม มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณฝั่งแม่น้ำจันทบุรีตั้งแต่ท่าสิงห์ ท่าหลวง(ตลาดเหนือ) ตลาดกลาง และตลาดใต้ โดยมีถนนสุขาภิบาล ซึ่งเป็นถนนสายแรกของเมืองจันทบุรีและแม่น้ำจันทบุรีเป็นทางสัญจรหลัก
ย่านนี้ถือเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของคนหลายเชื้อชาติมาอยู่ด้วยกัน ทั้งไทย จีน และญวน จึงเกิดเป็นชุมชนที่มี 3 วัฒนธรรมผสมผสานกันอยู่ทั่วไป ซึ่งในอดีตจะเห็นได้ชัด เช่นเรื่องของการแต่งกาย การแสดงงิ้วเป็นภาษาไทย ภาษาพูด แต่ในตอนนี้ก็ผสมกลมกลืนกันจนไม่เห็นความแตกต่างแล้ว จะคงอยู่ก็เพียงศาสนสถานของแต่ละเชื้อชาติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าของชาวจีนอย่างศาลเจ้าตั้วเล่าเอี้ย ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าที่ตลาดล่าง ชาวญวนที่นับถือคริสต์ก็มีอาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล ส่วนชาวญวนที่นับถือพุทธก็ได้สร้างวัดฮกซั่งยี่ หรือวัดญวน หรือวัดเขตร์นาบุญญาราม (นามที่ ร.3 พระราชทาน) วัดสงฆ์อนัมนิกายขึ้น และชาวไทย ก็มีวัดโบสถ์และวัดจันทนารามขึ้นเพื่อเป็นจุดศุนย์รวมในชุมชนแห่งนี้
และในช่วงรัชกาลที่ 5 เมืองจันท์ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ช่วงที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบูรเป็นตัวประกันถึง 11 ปี ส่งผลให้งานสถาปัตยกรรมในชุมชนริมน้ำรับเอาอิทธิพลของตะวันตกเข้าไปด้วย เกิดเป็นย่านที่มีประวัติวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีงานสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานที่ควรค่าแก่การเดินชมเป็นอย่างยิ่ง
ทราบถึงความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้กันแล้ว ทำเอา “ตะลอนเที่ยว” อดใจไม่ไหว อยากจะไปเดินตะลอนเก็บภาพและบรรยากาศกันแล้ว เมื่อมาถึงชุมชนริมน้ำฯ สิ่งหนึ่งที่จะสังเกตเห็นคือ บ้านเรือนไม้เก่าแก่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี เรียงรายตลอดสองข้างทาง ให้ได้ชมกันอย่างเพลิดเพลินทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ทรงหลังคาปั้นหยา เรือนไม้สองชั้น เรือนขนมปังขิง ตึกฝรั่งแบบปีนังและสิงคโปร์ หรือตึกแบบยุโรป ที่ล้วนแล้วแต่มีความเก่าแก่คลาสสิกแตกต่างกันไป จนถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง และก็ถ่ายโฆษณากหลายครั้ง ทั้งเรื่องตั๊ดสู้ฟุด โหมโรง หรือโฆษณารังนก ดูดู๊ดู ดูเธอทำ
หากบ้านไหนมีประวัติน่าสนใจ หรือเป็นบ้านเก่าแก่ก็จะมีป้ายข้อมูลติดไว้ให้อ่านกันที่หน้าบ้าน ทำให้เราได้รู้ที่มาและนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ กันออกได้ ส่วนใครที่ชอบบ้านไม้เก่าแก่ พลาดไม่ได้กับบ้านโภคบาล บ้านนี้เป็นบ้านไม้ตะเคียนทั้งหลัง แต่เดิมเคยประกอบอาชีพค้าขายผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากกรุงเทพฯ และนำเครื่องสมุนไพรจากจันทบุรีไปขายที่กรุงเทพฯ ด้วย บ้านหลังนี้มีความน่าสนใจตรงที่ได้เก็บเอกสารเก่าแก่สมัยที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันท์ไว้ โดยร้านขายผ้าจะต้องอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศส จึงมีเอกสารรับรองว่า เจ้าของร้าน หรือคุณย่าทวดถิน โภคบาล เป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส ซึ่งเอกสารหายากฉบับนี้ก็ยังคงเก็บไว้ในบ้านหลังนี้ให้ลูกหลานได้ชมกันอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่สำคัญของชุมชนนี้ก็คือ ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรักษาบ้านเรือนเอาไว้ให้คงสภาพเดิม บ้านไหนมีการทรุดโทรมก็มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ โดยรักษารูปแบบและเค้าโครงเดิมเอาไว้อีกด้วย และนอกจากบ้านเรือนไม้เก่าแก่แล้ว ที่ชุมชนแห่งนี้ยังมีบางบ้านเปิดเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตกแต่งให้น่านั่ง ซึ่งเราก็ได้แวะไปชิมร้านก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดที่ไม่ว่าใครที่มาเยือนชุมชนริมน้ำจันทบูรนั้นต้องมาลองชิม “ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเล เจ๊อี๊ดริมน้ำ” (คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)รสชาติจี้ดจ้าด โดนใจ ที่ใครๆ ก็บอกว่ามาชุมชนริมน้ำฯ แล้วไม่มาชิมนั้นเหมือนมาไม่ถึง
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยผ่านไป ทั้ง “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” และ “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ยังคงสืบทอดและรักษาสิ่งต่างๆ ไว้ดั่งเช่นอดีต จึงทำให้ทั้งสองสถานที่นั้น ยังคงเป็นที่ที่มีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
กั้ง-ปู-กุ้ง เต็มๆ คำ “เจ๊อี๊ดริมน้ำจันทบูร”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com