จังหวัดนครพนม ร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีกำหนดจัด”งานประเพณีไหลเรือไฟและกาชาด จังหวัดนครพนม” ในระหว่างวันที่ 12 - 20 ตุลาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม ลานตะวันเบิกฟ้า และแนวเขื่อนริมโขง ถ.สุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อมุ่งปรารถนาที่จะถวายปัจจัยเป็นพุทธบูชา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม
นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครพนม กล่าวว่า “ไหลเรือไฟ” เป็นพิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ บางทีเรียกว่า“ล่องเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเรือไฟ” ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เรือไฟหรือเฮือไฟ หมายถึง เรือที่ทำด้วยท่อนกล้วย ไม่ไผ่ หรือวัสดุที่ลอยน้ำมีโครงสร้างเป็นรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้างเปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้นๆ จังหวัดที่เคยทำพิธีกรรมการไหลเรือไฟอย่างเป็นทางการได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย เลย มหาสารคามและอุบลราชธานี
ประเพณีไหลเรือไฟมีความเชื่อเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับข้อมูลความเป็นมาหลายประการ เป็นต้นว่า เนื่องจากการบูชารอยพระพุทธบาท การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา เป็นต้น นอกจากความเชื่อดังกล่าวแล้วอาจชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาในเชิงสร้างสรรค์ทางด้านเกษตรกรรมอีกด้วย เชื่อว่าการไหลเรือไฟจะทำให้ฝนตกในปีต่อไปดี เพราะการไหลเรือไฟเป็นการปล่อยไฟลงแม่น้ำทำให้พญานาคที่อยู่ในน้ำได้รับความร้อนแล้วหอบน้ำหนีขึ้นไปอยู่บนฟ้า ซึ่งหากเป็นไปตามความเชื่อนี้การไหลเรือไฟอาจนับเป็นหนึ่งในกลุ่มประเพณีเพื่อการไล่น้ำ และครั้นพอถึงเดือนหก (ไทย) น้ำในโลกมนุษย์จะแห้ง ผู้คนเดือดร้อนจึงพากันจุดบั้งไฟขอฝน พอมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไป พญาแถนจะสั่งให้พญานาคนำน้ำที่หอบขึ้นมาไปคืนโลกมนุษย์โดยตกลงมาเป็นฝน
ประเพณีการไหลเรือไฟโบราณ มักนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายเพล พลบค่ำชาวบ้านจะนำของกิน เสื้อผ้า เครื่องใช้ขนม ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย หมากพลู บุหรี่ ใส่ลงในกระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า ชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ หากพบเรือไฟลอยมาติดสามารถเก็บเอาข้าวของที่ติดมากับเรือไปใช้ได้
ในสมัยก่อน นิยมจัดทำกันในหมู่บ้านและหลายๆ หมู่บ้านที่รวมกันจัดทำเรียกว่า “คุ้ม” โดยมักใช้ชื่อวัดที่อยู่ใกล้หมู่บ้านในการตั้งชื่อคุ้ม เช่น “คุ้มวัดพระธาตุ” “คุ้มวัดป่าเหนือ” “คุ้มวัดโพธิ์งาม” เป็นต้น โดยในช่วงเทศกาลทำบุญออกพรรษา ชาวบ้านคุ้มวัดต่างๆ จะรวมใจกันทำเรือไฟ (เฮือไฟ) โดยการนำเอาต้นกล้วยหรือไม้ไผ่มาทำเป็นทุ่น ก่อโครงทำแผ่นตั้งบนทุ่นด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กและลวดตัดเป็นลายตามที่ต้องการแล้วใช้ผ้าเก่าๆ ขาดๆ มาฉีกเป็นริ้วๆ ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันโซลาใช้เป็นส่วนจุดไฟ ทั้งนี้ในสมัยก่อนการออกแบบมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ
ในปัจจุบันนั้น จะมีลักษณะที่เป็นงานประเพณีเอิกเกริก และเน้นไปที่การประดับตกแต่งเรือเพื่อความสวยงาม จังหวัดนครพนม ขอเชิญร่วมงานประเพณีไหลเรือไฟ ในวันที่ 12-20 ตุลาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดและแนวเขื่อนริมโขง กิจกรรมที่สำคัญในงาน ได้แก่ พิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนมของ 7 ชนเผ่าพื้นเมืองชาวนครพนมที่สวยสดงดงาม ในช่วงเช้าวันที่ 19 ต.ค. 2556 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณหน้าลานวัดพระธาตุพนมวรวิหาร เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ร่วมพิธีขอขมาพระแม่คงคาและลอยเคราะห์ไปพร้อมกับเรือไฟโบราณ ณ ลานตะวันเบิกฟ้า และชมขบวนเรือไฟที่ยิ่งใหญ่งดงามตระการตาเหนือลำน้ำโขง เพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งร่วมงานข้าวพาแลง ณ บริเวณหน้าตลาดอินโดจีน นอกจากนั้นยังมี การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ พิธีอันเชิญไฟพระฤกษ์ การประกวดขบวนแห่ การประกวดปราสาทผึ้ง กิจกรรมรำวงย้อนยุค พิธีทำบุญตักบาตรเทโว เที่ยวงานการกุศลสมทบทุนให้กาชาด การออกรางวัลสลากกาชาด การแสดงศิลปวัฒนธรรม พร้อมชมมหรสพภาพยนตร์และดนตรีสนุกสนานตลอดงาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดนครพนม โทร 0-4251-1515 เทศบาลเมืองนครพนม โทร 042 516 159 วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม โทร 042 516 050 หรือติดต่อได้ที่ ททท.สำนักงานนครพนม เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โทร 042 513 490-1