หลังเกิดวิกฤตน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง เป็นข่าวฉาวไปทั่วโลก ทำการท่องเที่ยวพังยับ หนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูของรัฐและบริษัทน้ำมันก็คือ การจัดอีเวนต์ การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ฟื้นฟูการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์อ่าวพร้าว การจัดกิจกรรม “เสม็ด...We Love” หรือการจัดก๊อกแก๊กทัวร์เกาะเสม็ด ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นี่ยังไม่นับรวมกิจกรรมดราม่าสร้างภาพของนักการเมืองบางคน อย่างเช่น การกินอาหารทะเลโชว์ การถอดเสื้อลงเล่นน้ำที่อ่าวพร้าว ซึ่งหลังจากนั้นก็มีข่าวสารปรอทปนเปื้อนในอ่าวพร้าวที่มีค่าเกินมาตรฐานไปมากเป็นข่าวครึกโครมตามมา
สำหรับสิ่งเหล่านี้จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่ประมาณการคร่าวๆ ณ วันนี้ เจ๊งไปกว่า 3 พันล้านให้กลับคืนมาหรือไม่ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้คนมาเที่ยวเสม็ด กินอาหารทะเลที่เสม็ดหรือบนฝั่งระยองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตามพิสูจน์กันต่อไป
เพราะแม้ด้านหนึ่งภาครัฐ บริษัทน้ำมันจะมุ่งเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น กระตุ้นการท่องเที่ยว แต่เสม็ดก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เป็นปัญหาใหม่และปัญหาเก่าจากน้ำมันรั่วที่ค้างคา เป็นปัญหาด้านความเป็นจริงที่ไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ
อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วดังกล่าว แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะคลี่คลายลงไป แต่เกาะเสม็ด ณ วันนี้ก็ยังทุกข์ระทมจากผลกระทบด้านต่างๆ ที่ยังค้างคาคงอยู่ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด
นายมนตรี สุขกระจ่าง ผู้จัดการรีสอร์ท อ่าวช่อแกรนด์วิวไฮด์อะเวย์ เกาะเสม็ด กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่น้ำมันรั่วมาถึงอ่าวพร้าวนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่เกาะเสม็ดน้อยลง อย่างที่รีสอร์ทนี้ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะยอดการจองห้องลดลงอย่างมากเกือบร้อยละ 50 จากปกติจะมียอดการจองห้องพักสม่ำเสมอ
“อย่างช่วงวันแม่ที่ผ่านมา เป็นวันหยุดยาว ก็ยังมีแขกเข้ามาพักเหมือนกันแต่น้อยลงจากเดิม ส่วนที่รีสอร์ทอื่นๆ ก็มียอดการจองน้อยลงเหมือนกัน ผมมองว่าปัจจัยในการตัดสินใจเลือกที่เที่ยวของแขกเปลี่ยนไป ปกติเสม็ดเป็นตลาดที่ใกล้ ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่มาก ทะเลก็สวย บรรยากาศก็ดี ทุกคนก็จะเลือกมาเสม็ดในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ตอนนี้ทุกคนเลือกที่จะไปเกาะล้าน หรือยอมไปไกลอีกหน่อย ไปเกาะช้างดีกว่า คือเหมือนแขกรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่เวิร์กแล้ว ผมมองว่ามันเป็นผลกระทบอย่างหนึ่งที่เราได้รับ”
สำหรับการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจบนเกาะเสม็ด นายมนตรีกล่าวว่า ในเบื้องต้นทางกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละรีสอร์ทได้ร่วมประชุมกันเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เพราะตอนนี้ภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ดเสียหายไปแล้ว เนื่องจากต่างประเทศก็มีข่าวออกไป การตัดสินใจเข้าพักของนักท่องเที่ยวก็น้อยลง จากในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ เสม็ดโตขึ้นมากประมาณร้อยละ 40 ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองหรือธรรมชาติ ปีนี้เสม็ดจะโตขึ้นมาก
“ในเรื่องการประชุมของผู้ประกอบการ เราประเมินค่าเสียหายโดยเปรียบเทียบจากปีที่ผ่านมาว่าเติบโตขึ้นแค่ไหน และความน่าจะเป็นว่าลูกค้าต่อคนเราจะเสียรายได้เท่าไหร่ ตอนนี้ก็ทำแบบฟอร์มประเมินค่าเสียหายให้เหมือนๆ กันทุกรีสอร์ท เวลายื่นเรื่องจะได้ง่ายต่อการตรวจสอบ ตอนนี้ทางกลุ่มของ ปตท. ก็เปิดโอกาสให้ยื่นเรื่องค่าเสียหาย ทางกลุ่มก็เลยยังไม่มีการยื่นฟ้อง แต่ถ้าเกิดมีการยื่นเรื่องไปแล้วเขาไม่โอเค เราก็จะให้ทนายของทางกลุ่มไปคุย”
ส่วนเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ นายมนตรีให้ความเห็นว่า ในอนาคตจะต้องมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน ตนคิดว่าทาง ปตท. จะต้องมาดูแลรับผิดชอบที่นี่อีกอย่างน้อย 10 ปี ต้องมีการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่าสภาพน้ำเป็นอย่างไร ปะการังเป็นอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่เห็น ปตท. ดำเนินการอะไรอย่างเป็นรูปธรรม หรือเขาอาจจะไปทำตรงอื่นก็ได้ ตรงนี้ตนไม่ทราบ แต่เห็นว่าช่วงนี้ข่าวเงียบไปแล้ว
“สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ยังไม่โอเคเท่าไหร่ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และกระแสข่าวก็เงียบไป แต่ผมไม่อยากให้เรื่องมันเงียบ เพราะอายุความการฟ้องร้องมีแค่ปีเดียว อายุความน้อยมากถ้าไม่ทำอะไรเลยคนที่เสียหายก็จะไม่ได้อะไร”
“ปตท.สะเพร่ากับเรื่องนี้มากไป วันแรกที่น้ำมันรั่วก็บอกว่าจัดการได้ แต่โผล่มาอีกทีก็คือน้ำมันมาถึงอ่าวพร้าวแล้ว เวลาระหว่างนั้นคุณทำอะไรกันอยู่ ถ้าเข้าไม่ประมาทแล้วรีบเคลียร์ให้จบตั้งแต่วันแรก น้ำมันก็มาไม่ถึงอ่าวพร้าว และเขาก็จะไม่สูญเสียเยอะขนาดนี้ ถึงตอนนี้ยังไม่เห็นปลาหรือสัตว์น้ำตายแถวๆ เกาะเสม็ด แต่ผมมองว่าสัตว์พวกนี้เขารู้ เขาก็รีบเปลี่ยนที่อยู่ แต่แหล่งอาหารเดิมก็เปลี่ยนไป เพราะระบบนิเวศเปลี่ยน ปะการังเปลี่ยน มันต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นฟูได้ และไม่ต้องคาดหวังเลยว่าจะมีปลาอยู่แถวนี้ เพราะสภาพที่เปลี่ยนไป ปลาก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว”
ด้านนายดนัย ดาวรัตน์ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะเสม็ด กล่าวว่า ตนจองที่พักล่วงหน้ามา 3 เดือนแล้ว หลังจากเกิดน้ำมันรั่วก็มีการติดตามข่าวสารมาเรื่อยๆ แล้วก็ตัดสินใจมาเที่ยวตามกำหนดเดิม เพราะว่าอ่าวลุงดำที่มาพักนี้เป็นคนละฝั่งกับอ่าวพร้าว ส่วนเรื่องอาหารทะเลนั้นตนได้สอบถามจากคนขับเรือว่ากินได้หรือไม่ ซึ่งก่อนมาก็คิดว่าอาจจะไม่กิน แต่พอมาถึงก็สามารถกินได้เพราะถ้ามาทะเลก็ต้องมากินอาหารทะเล
“ทางฝั่งนี้น้ำทะเลยังสะอาด ยังสามารถเที่ยวได้ตามปกติ แต่ก็อยากให้อ่าวพร้าวกลับมาสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์เร็วๆ เพราะพวกรีสอร์ตก็โดนกระทบสาหัสเหมือนกัน อยากฝากบอก ปตท. ว่ามีเหตุการณ์อะไรก็อย่าปิดข้อมูล อยากให้บอกข้อมูลเยอะๆ หน่อย ถึงน้ำมันรั่วจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ แต่ ปตท. ก็ต้องรับผิดชอบในส่วนที่เสียหาย เพราะยังไงคนไทยก็ใช้น้ำมันของ ปตท. และ ปตท. ก็ควรฟื้นฟูให้เร็วที่สุด และต้องบอกข่าวสารตามความเป็นจริง”
“เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ แต่ก็ต้องใช้เรื่องครั้งนี้มาเป็นบทเรียน ต้องศึกษาว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะมีเครื่องมือ หรือมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร อยากให้ตรวจกันให้รู้ไปเลยว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง นักท่องเที่ยวจะได้มีข้อมูลตัดสินใจ”
นี่ก็คือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าการท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ดรวมไปถึงบนฝั่งในระยองจะกลับมาคึกคักได้เหมือนเดิม ช้า-เร็วเพียงใด ส่วน PTTGC และกลุ่ม ปตท. ในฐานะที่เป็นต้นเรื่องของกรณีน้ำมันดิบรั่วนี้ จะดำเนินการชดเชยอย่างไรต่อไป
นี่ถือเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องติดตามตรวจสอบต่อไป อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นดังคลื่นกระทบฝั่งอ่าวพร้าวแล้วเงียบหายไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com