xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวจิตอาสา ปล่อยเต่า “เกาะทะลุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เต่ากระ” 1 ใน 5 ชนิดของเต่าทะเลที่พบในน่านน้ำไทย
“ท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา” หรือ “ท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร”(Voluntourism) อาจจะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทย แต่นี่ถือเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา

ท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ควบคู่ไปกับการทำในสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าต่อโลก หรือการทำประโยชน์ในพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ การปลูกป่า การอนุรักษ์สัตว์ การพัฒนาชุมชน การสอนหนังสือ งานอนุรักษ์ เป็นต้น
หาดทรายขาว น้ำใส แห่งเกาะทะลุ
ในบ้านเราท่องเที่ยวเชิงจิตอาสามีความโดดเด่นมากหลังเหตุการณ์สึนามิ ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งหลังจากนั้นการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ได้รับการสานต่อจากหน่วยงาน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จัดโครงการ “THE LITTLE BIG PROJECT” ขึ้นมา โดย ททท. ได้คัดเลือก 10 นักท่องเที่ยวอาสาสมัคร เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 คน และชาวไทย 5 คน มาเข้าร่วมทำกิจกรรมการแข่งขันภารกิจเชิงจิตอาสาในโครงการต่างๆ 5 โครงการ โครงการละ 2 คน ซึ่งล่าสุด คือ “โครงการอาสาอนุรักษ์ท้องทะเลและพันธุ์เต่าหายาก เกาะทะลุ” ที่ทาง ททท. ร่วมมือกับชมรมเกาะทะลุ และเกาะทะลุไอส์แลนด์ รีสอร์ท จัดกิจกรรมนี้ขึ้น

เกาะทะลุ เป็นเกาะกลางอ่าวไทยในเขต ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวเกาะอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถมองเห็นเกาะได้จากฝั่ง และใช้เวลาในการเดินทางจากท่าเรือประมาณ 20 นาที นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญที่มี “เต่ากระ” ขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี เกาะทะลุ
เต่ากระที่ทางศูนย์อนุบาลเต่าทะเลเกาะทะลุ อนุรักษ์ไว้
ด้วยเหตุนี้ทางกองทัพเรือ ชมรมเกาะทะลุ และเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท ที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ของเกาะทะลุ จึงร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์อนุบาลเต่าทะเลขึ้น โดยคาดหวังว่าจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ทำไป นอกจากจะสามารถช่วยให้ปริมาณเต่ากระเพิ่มมากขึ้นจากเดิมแล้ว ยังสามารถอนุรักษ์พันธุ์เต่ากระไว้ได้อีกด้วย

สำหรับ “เต่ากระ” เป็นเต่าทะเล 1 ใน 5 ชนิดที่พบในเมืองไทย คือ เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน (ไม่พบในเมืองไทยนานแล้ว คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย) เต่ามะเฟือง และเต่ากระ
ไข่เต่ากระ ที่ทางศูนย์ฯ นำมาดูแลเพื่อรอวันฟัก
“เต่ากระ” หรือ เต่าปากเหยี่ยว เป็นเต่าทะเลขนาดกลาง มีลำตัวไม่ใหญ่มาก มีลักษณะจะงอยปากแหลมงองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว มีเกล็ดบริเวณหัวด้านหน้า 2 คู่ และเกล็ดบริเวณด้านข้างข้างละ 4 เกล็ด กระดองของมันมีลวดลายและสีสันค่อนข้างทึบ ขอบกระดองเป็นหยักโดยรอบ

ปัจจุบันพบว่าเต่ากระจะกระจายพันธุ์อยู่ในเขตอบอุ่นในมหาสมุทรทั่วทั้งโลก โดยมักอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งที่สงบเงียบไม่มีการรบกวน จากการศึกษาพบว่า เต่ากระสามารถกินทั้งพืชและสัตว์ โดยใช้ปากที่งองุ้มนี้กินทั้งสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล ปลา รวมถึงสัตว์น้ำประเภทต่างๆ และปะการังด้วย
“ช่องทะลุ” จุดเด่นและที่มาของชื่อเกาะ
ในอดีตกระดองเต่ากระ มักจะถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับและข้าวของต่างๆ เช่น หวี และเครื่องประดับอย่างอื่น เป็นต้น แต่ปัจจุบันเต่ากระจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เจ้าของเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของทุกปี จะมีเต่ากระขึ้นมาวางไข่ โดยแต่ละครั้งเต่าจะวางไข่ประมาณ 120 - 180 ฟอง และใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ในการขุดหลุม วางไข่ และจะทำการกลบหลุมโดยใช้สองเท้าหลังเขี่ยคุ้ยทราย และกดทับเพื่อกลบหลุมไข่อย่างมิดชิด ก่อนที่จะเดินกลับลงสู่ท้องทะเล
เต่ากระมีจะงอยปากแหลมงองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว
“ในการวางไข่ เต่าจะเลือกพื้นที่ที่ไม่มีแสงสว่างและไม่มีเสียงรบกวน เมื่อเต่าพบจุดที่ต้องการแล้วก็จะใช้ขาคู่หลังขุดหลุม ในการขุดก็จะทำอย่างระวัง เต่าจะใช้พายข้างหนึ่งโกยทรายแล้วดีดออก เมื่อทรายที่ขุดมากขึ้นก็จะใช้พายอีกข้างช่วยโกยออก ต่อจากนั้นก็จะวางไข่ หลังจากไข่เสร็จแล้วก็จะกลบหลุม และพรางหลุม” นายเผ่าพิพัธ กล่าว
กิจกรรมปล่อยเต่ากระ คืนสู่ท้องทะเล
ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ทำการออกสำรวจรังที่เต่าทะเลตัวเมียขึ้นมาวางไข่ทิ้งไว้ และเมื่อพบรังไข่ทางศูนย์ฯ ก็จะค่อยๆ เก็บไข่เหล่านั้นมายังศูนย์เพื่ออนุบาล ระยะเวลาในการฟักไข่คือ 60 วัน เมื่อไข่เต่าฟักออกเป็นตัวแล้ว ทางศูนย์จะนำลูกเต่าที่ได้มาอนุบาลไว้จนมีอายุครบกำหนด มีขนาดที่เหมาะสม และแข็งแรงพอที่จะดูแลตัวเองได้ มีอายุประมาณ 7 – 10 เดือน จากนั้นจะทำการปล่อยเต่ากระคืนสู่ธรรมชาติ
นายโทมัส และ Ms.Thuy Thi Thanh อาสาสมัครภารกิจอาสาอนุรักษ์ท้องทะเลและพันธุ์เต่าหายาก เกาะทะลุ
ด้าน 2 อาสาสมัครจิตอาสา ทีมเกาะทะลุ ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ คือ โทมัส แบร์เร็ท หนุ่มลูกครึ่งจากประเทศไทย และ Ms.Thuy Thi Thanh อาสาสมัครสาวจากเวียดนาม เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสมาทำภารกิจที่เกาะทะลุ เนื่องจากปกติชอบทำกิจกรรมด้านอาสาสมัครอยู่แล้ว พอได้มาที่นี่ก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติของเต่า

“ปกติในการทำกิจกรรมอาสาสมัครส่วนมากจะทำเกี่ยวกับคน เป็นการไปช่วยเหลือคน แต่ครั้งนี้เลือกมาที่นี่เพราะได้ช่วยเหลือสัตว์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปด้วย” โทมัสกล่าว
ทัศนียภาพอ่าวไทยจากผาพบรัก
สำหรับโครงการอาสาอนุรักษ์ท้องทะเลและพันธุ์เต่าหายาก เกาะทะลุ มีกำหนดการดำเนินการ 2 สัปดาห์ โดยตอนนี้โครงการกำลังดำเนินอยู่ให้ทีมเกาะทะลุได้ปฏิบัติภารกิจจิตอาสาต่างๆ ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่แปลกแตกต่าง ที่นอกจากจะได้ท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วยังได้ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกอีกด้วย

********************************************************************

นอกจากที่เกาะทะลุแล้วยังมีอีก 4 ภารกิจท่องเที่ยวกับโครงการอาสาต่างๆ ได้แก่ โครงการอาสาพัฒนาชุมชนชาวเขา จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ International Student Volunteers (ISV), โครงการอาสาอนุรักษ์ช้าง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์บริบาลช้างไทย, โครงการอาสาพัฒนาชุมชนตามแนวชายหาด จังหวัดพังงา ร่วมกับกลุ่ม Andaman Discoveries, โครงการอาสาอนุรักษ์ท้องทะเล เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ กลุ่มรักษ์เกาะเต่า ที่กำลังจัดการแข่งขันภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ด้วย (ช่วงเวลาเดียวกัน)
********************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 
กำลังโหลดความคิดเห็น