xs
xsm
sm
md
lg

หูตาไม่ดี...แต่เขาคือ “นักชีววิทยาวิวัฒนาการ” ผู้ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

 แม้หูตาจะไม่ดีแต่เขาคือนักชีววิทยาวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่
Edward Osborne Wilson เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1929 ที่เมือง Birmingham รัฐ Alabama ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กที่ Washington D.C. และในชนบทนอกเมือง Mobile ของรัฐ Alabama เพราะบิดาซึ่งมีอาชีพเป็นนักบัญชีย้ายสถานที่ทำงานบ่อย ดังนั้น Wilson จึงเปรียบเสมือนคนยิปซีที่เร่ร่อนไปพบเพื่อนใหม่ มีเพื่อนบ้านใหม่ เข้าโรงเรียนใหม่ และเผชิญสิ่งแวดล้อมใหม่ตลอดเวลา จนทำให้รู้สึกว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตจำเจไม่เป็น

เมื่ออายุ 7 ขวบ ขณะ Wilson ตกปลา (sea bream) ปลาได้ดิ้นหลุดจากมือจนครีบปลาแทงที่ตา ทำให้ตาข้างขวาเสีย จึงต้องใช้ตาซ้ายเพียงตาเดียวในการดู ทำให้ไม่สามารถกะระยะใกล้-ไกลได้ดี ต่อมาอีกไม่นานต่อมาประสาทหูก็เริ่มเสื่อม ทำให้ไม่สามารถยินเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงนก หรือเสียงกบได้ชัด ความพิการนี้อาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม ดังนั้นความสามารถในการศึกษาธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ของ Wilson จึงมีข้อจำกัดพอสมควร

Wilson เป็นคนที่รักธรรมชาติรอบตัวมาตั้งแต่เด็ก เพราะคิดว่าตนสามารถพึ่งพาพืชและสัตว์ได้ตลอดเวลา แต่กับคนความสัมพันธ์มักไม่ราบรื่น ดังนั้น เวลาไปทะเล และเห็นแมงกะพรุน Wilson จะจ้องมองมันเสมือนถูกสะกดจิต หรือเวลาเห็นผีเสื้อก็จะใช้ไม้ที่มีถุงตะปบตัวผีเสื้อมาดู หรือเวลาเห็นฝูงมดที่มีหลากหลายสายพันธุ์ Wilson จะตื่นเต้นและใคร่จะศึกษาสัตว์ชนิดนี้มาก

เมื่ออายุ 9 ขวบ ชีวิตสมรสของบิดาและมารดาของ Wilson ได้ถึงจุดสิ้นสุด บิดาจึงนำ Wilson ไปตั้งรกรากอยู่ที่กรุง Washington D.C. ซึ่งมีสวนสัตว์สาธารณะ เช่น National Zoological Park และ National Museum of Natural History รวมถึง Rock Creek Park ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านมาก และสถานที่เหล่านี้ล้วนมีพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมแมลง ผีเสื้อ และมด ฯลฯ เมื่อไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Wilson ได้เห็นมดตัวสีเหลือง ที่มีกลิ่นคล้ายมะนาวทำรังอยู่ใต้เปลือกไม้ผุ เพราะ Wilson ต้องการเรียนรู้ธรรมชาติของมดชนิดนี้มากจึงตัดสินใจจะเป็นนักกีฏวิทยาผู้รอบรู้ทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับมด (myrmecologist)

หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตพำนักอยู่ที่ Washington D.C. เป็นเวลานาน 3 ปี บิดากับ Wilson ได้เดินทางกลับไปที่รัฐ Alabama อีก ในช่วงเวลานี้ Wilson รู้สึกเบื่อหน่ายการเรียนหนังสือมาก เพราะรู้สึกว่าวิธีการสอนของครูที่โรงเรียนน่าเบื่อ และไร้ทิศทาง จึงจำใจเรียนไปอย่างแกนๆ เพียงเพื่อให้สอบผ่าน เมื่อใกล้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษา Wilson ได้พบว่าสุขภาพของบิดาเริ่มทรุดโทรมมาก จึงตระหนักว่า บิดาคงไม่สามารถส่งเสียให้สามารถเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยได้ จึงสมัครเข้ารับราชการทหาร เพราะต้องการจะได้ทุนการศึกษาต่อ แต่ไม่สามารถรับทุนได้ เพราะสายตาข้างหนึ่งของ Wilson พิการ จึงต้องสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Alabama ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตยากจนเข้าเรียน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่นั่นก็เก็บค่าเล่าเรียนถูกด้วย Wilson จึงเข้าเรียนชีววิทยาทั้งระดับปริญญาตรีและโท

ขณะเป็นนิสิตปริญญาตรีปีที่หนึ่ง อาจารย์หลายท่านได้เห็นว่า Wilson มีความรู้เรื่องมดคันไฟมาก จึงขอให้ Wilson วิจัยเรื่องมดคันไฟเพื่อจะได้นำเสนอเป็นผลงานของภาควิชาอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีววิทยา

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท Wilson ได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Tennessee แต่ไม่รู้สึกสนุกหรือตื่นเต้นเลย ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปได้เพียงหนึ่งปี Wilson จึงขอย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard เพราะพิพิธภัณฑ์ของ Harvard เป็นแหล่งที่มีข้อมูลของมดที่ดีที่สุดในโลก นอกจากชื่อเสียงของ Harvard จะดีเด่นแล้ว บรรยากาศวิชาการที่นั่นก็ดีกว่าที่มหาวิทยาลัยอื่นใดด้วย Wilson จึงตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องมดที่ Harvard ทำให้ต้องเดินทางไกลไปค้นหาและศึกษามดทั่วโลก เพื่อนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต

ในช่วงที่เรียนปริญญาเอกนี้เอง Wilson รู้สึกสนใจผลงานของ Konrad Lorenz และ Nikolaas Tinbergen มาก เพราะนักชีววิทยาทั้งสองท่านนี้คือผู้ให้กำเนิดวิทยาการด้านพฤติกรรมของสัตว์ คือพฤติกรรมวิทยา (ethology) และผลงานนี้ได้ทำให้บุคคลทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา และการแพทย์ประจำปี 1973 ร่วมกับ Karl von Frisch

นักพฤติกรรมวิทยานั้นเชื่อว่า พฤติกรรมของสัตว์เกิดจากสัญชาติญาณสนองตอบต่อสิ่งเร้า และเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สัตว์เกิด นั่นคือ พฤติกรรมถูกถ่ายทอดจากยีน ในทำนองเดียวกับลักษณะทางกายภาพ นั่นหมายความว่า พฤติกรรมของสัตว์ขึ้นกับอิทธิพลของกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีผลทำให้พฤติกรรมบางรูปแบบสาบสูญไป และบางพฤติกรรมถูกส่งต่อไปยังลูกและหลาน

Lorenz และ Tinbergen ได้พบองค์ความรู้นี้จากการศึกษาพฤติกรรมทำรังของห่าน (ส่วน von Frisch ศึกษาพฤติกรรมของผึ้ง) และได้พบว่า เวลาห่านต้องการทำรังเพื่อวางไข่ มันจะใช้เท้าของมันขุดดินเป็นแอ่งตื้นๆ แล้ววางไข่ แต่ถ้าเห็นไข่ฟองหนึ่งวางอยู่นอกรัง (อาจจะโดยมีคนเจตนาแกล้งวางหรือไข่กลิ้งออกไปเอง) ห่านจะใช้จะงอยปากผลักดันไข่ในนั้นกลับเข้ารังทันที และแม้ขณะดัน ไข่ฟองนั้นจะถูกคนหยิบไปแล้วก็ตาม ห่านก็จะใช้จะงอยปากดันต่อไปจน “งาน” ลุล่วง
ในวัยเยาว์
ทฤษฎีพฤติกรรมวิทยาของ Lorenz และ Tinbergen ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า ทันทีที่เห็นไข่วางอยู่นอกรัง ระบบประสาทของแม่ห่าน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กลไกการปลดปล่อยที่ห่านมีมาตั้งแต่เกิด (innate releasing mechanism) จะสั่งให้สมองห่านทำงานโดยการพยายามกลิ้งไข่กลับรัง และห่านจะแสดงพฤติกรรมนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยใช้จะงอยปากกลิ้งไข่มาก่อนเลยตั้งแต่เกิด

ผลงานที่โด่งดังของนักพฤติกรรรมวิทยาทั้งสองได้ชี้ให้ Wilson ใคร่ศึกษาว่า มดมีพฤติกรรมที่เห็นตั้งแต่เกิดเหมือนห่านหรือไม่

โดยทั่วไป มดเป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่งที่ชอบใช้ชีวิตเป็นฝูง อาณาจักรมดจะมีทั้งราชินีมด มดทหาร มดงาน และมดทาส ฯลฯ ซึ่งจะสื่อสารถึงกันตลอดเวลา เช่น บอกกล่าวเรื่องแหล่งอาหาร หรือรายงานเรื่องความก้าวหน้าของศัตรู เพราะรังมักอยู่ใต้ดินที่ไม่มีแสงอาทิตย์สาดส่องถึง และมดไม่มีหูที่จะได้ยินเสียง ดังนั้น Wilson จึงตั้งสมมติฐานว่ามดอาจใช้สารเคมีบางตัวในการสื่อสาร โดยให้ประสาทสัมผัสของมดรับโมเลกุลของสารเคมีไปกระตุ้นมดให้แสดงพฤติกรรม

Wilson เริ่มค้นหาสารเคมีที่มดใช้ในการกระตุ้นนี้ และพบว่า ในกรณีมดคันไฟเวลาเห็นแหล่งอาหาร มันจะคลานกลับรังและย่อตัวต่ำตลอดทาง พร้อมกันนั้นก็จะขับสารเคมีออกมาเพื่อให้มดตัวอื่นๆ ได้รับสารเคมีและรู้ทิศที่แหล่งอาหารอยู่

ในที่สุด Wilson ได้พบว่า มดใช้สารเคมี pheromone ในการสื่อสาร และสารนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมดตัวอื่นๆ โดยสารเคมีจะถูกขับออกไปเป็นระยะทางไกล และสัตว์อื่น ซึ่งอาจรวมถึงศัตรู ก็มิอาจใช้ประสาทสัมผัสรับสารเคมีที่ถูกขับออกมาได้ ส่วนมดชนิดเดียวกันเวลาได้รับ pheromone จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทันที เช่น ราชินีมดจะขับ pheromone ออกมาให้ประชากรมดในอาณาจักรของตนได้สูดดม เพื่อให้มดตัวเมียทุกตัวในอาณาจักรมดสูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ ดังนั้น ราชินีมดจึงเป็นเพียงหนึ่งเดียวในอาณาจักรที่สามารถสืบพันธุ์ได้

นอกจากจะพบ pheromone ที่มดใช้ในการสื่อสารแล้ว Wilson ยังพบ pheromone ชนิดอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นให้สัตว์ต่างๆ แสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่หลากหลายด้วย เช่น พบ pheromone ที่มดใช้ในการเตือนว่า กำลังจะมีศัตรูมารุกราน และยังได้พบอีกว่า มดบางสปีชีส์ใช้ pheromone ในการแสดงความเป็นมิตรด้วย

ในช่วงที่เรียนปริญญาเอกนี้เอง Wilson ได้พบ Renee Kelley ซึ่งเข้าใจความฝันและความทะเยอทะยานของ Wilson ดี ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสกัน และหลังจากนั้น Wilson วัย 26 ปี ก็ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Harvard

เมื่อเริ่มชีวิตอาจารย์ Wilson สนใจชีวภูมิศาสตร์ (biogeography) ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการกระจายสิ่งมีชีวิตสู่บริเวณต่างๆ ของโลก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นการศึกษาวิชานี้จึงต้องมีการสังเคราะห์วิทยาการหลากหลายสาขา เช่น ชีววิทยา ธรณีวิทยา ฟิสิกส์ ดึกดำบรรพ์วิทยา เคมี ฯลฯ ในที่สุด Wilson ก็ได้พบว่า บริเวณของโลกที่ถูกตัดขาดจากบริเวณอื่น เช่น เกาะที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ จึงไม่สามารถติดต่อทางกายภาพกับผืนแผ่นดินใหญ่เป็นเวลานานนับล้านปี การเป็นเอกเทศนี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนเกาะนั้นมีวิวัฒนาการ คือ เปลี่ยนแปลงไปโดยกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ Wilson ยังได้พบอีกว่า แม้บริเวณสองบริเวณที่อยู่แยกกันจะมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน แต่พืชและสัตว์ในบริเวณทั้งสองอาจมีรูปร่างที่แตกต่างกันได้ และสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยในต่างบริเวณอาจมีรูปร่างคล้ายกันได้ เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่คล้ายกันได้ เช่น ตัว coyote ในทวีปอเมริกาเหนือ กับตัว jackal ในทวีปแอฟริกา ต่างมีรูปร่างและนิสัยที่คล้ายกัน และได้ปรับตัวไปกินสัตว์และซากสัตว์เหมือน ในสมัยโบราณที่เคยใช้ชีวิตในทุ่งหญ้าเดียวกัน

Wilson จึงเสนอทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เป็นเกาะ ซึ่งเป็นผลงานที่ Wilson ทำร่วมกับ Robert H. McArthur ในปี 1963 ทฤษฎีนี้ได้ทำนายเหตุการณ์บนเกาะไว้สามประการคือ

(1) จำนวนสปีชีส์บนเกาะเป็นปฏิภาคโดยตรงกับขนาดของเกาะ
(2) จำนวนสปีชีส์บนเกาะแปรผกผันกับระยะทางที่เกาะอยู่ไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งตามปกติมักเป็นแหล่งอาศัยของสปีชีส์ที่แตกต่างออกไป
และ (3) แม้จะมีสปีชีส์ใหม่ที่อพยพขึ้นเกาะ เพื่อต่อสู้กับสปีชีส์เก่าอย่างดุเดือด แต่จำนวนสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็ยังคงตัว นั่นคือ จำนวนสปีชีส์ของสัตว์บนเกาะจะอยู่ในสมดุลตลอดเวลา

เพื่อทดสอบความถูกต้องของทฤษฎีนี้ Wilson กับนิสิตชื่อ Daniel Simberloff ได้ใช้เกาะๆ หนึ่งในแถบ Florida Keys เป็นสถานทดลอง เพราะเกาะตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย Harvard มาก ดังนั้น Wilson จึงสามารถนำครอบครัวไปพำนักบนเกาะได้เป็นเวลานาน ผลการสำรวจและการติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี แสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของ Wilson กับ McArthur ถูกต้องและเป็นจริงทุกประการ

Wilson กับ McArthur จึงตีพิมพ์ตำราเรื่อง The Theory of Island Biogeography ในปี 1967 ในความเป็นจริงทฤษฎีของ Wilson สำหรับเรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์กับพื้นที่อื่นได้ด้วย เพราะถ้าพื้นที่นั้นตั้งอยู่โดดเดี่ยว เช่น พื้นที่ขนาดเล็กในป่าซึ่งอยู่แยกอิสระจากป่าใหญ่ เป็นต้น ผลงานนี้จึงมีความสำคัญมากในการอนุรักษ์เชิงชีววิทยา และเชิงนิเวศวิทยา เพราะสามารถช่วยนักวางแผนสวนและนักอนุรักษ์ป่าให้ทำงานร่วมกันอย่างมีหลักการ คือทำให้รู้ว่า ถ้าป่ามีการเชื่อมโยงใดๆ กับสวน สปีชีส์ต่างๆ ของสัตว์และพืชจะได้รับการปกป้อง และอนุรักษ์ดีกว่ากรณีที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว และเมื่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลายโดยมนุษย์ตลอดเวลาเช่นนี้ Wilson จึงคิดว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สปีชีส์ต้องสูญพันธ์ คือ ป่าที่มีพื้นที่เหลือน้อยจนไม่สามารถใช้เป็นแหล่งอาศัยให้สปีชีส์อื่นๆ เข้ามาดำรงชีวิตร่วมกันได้อีกต่อไป

ดังนั้น Wilson จึงย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องพยายามจัดให้พลเมืองที่มีรายได้น้อยในประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือฟอกขาวแหล่งปะการัง และความเห็นของ Wilson ในเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบรรดาประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศบราซิล ซึ่งได้ประกาศควบคุมการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่าอย่างเป็นทางการทันทีที่ Wilson เสนอแนะ

Wilson ยังเห็นอีกว่า การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งกว่าการมีแผนที่ genome ของมนุษย์ เพราะทุกวันนี้นักชีววิทยามีความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตไม่ถึง 10% ของจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีในโลก เมื่อทั่วโลกมีการตัดไม้ทำลายป่าตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ในศตวรรษหน้า 50% ของสปีชีส์ที่มีในปัจจุบันจะสูญพันธุ์ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเข้าใจความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และต้องพิทักษ์ความหลากหลายนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะถ้าสิ่งมีชีวิตใดสูญพันธุ์ไปโลกเราจะไม่มีทางเรียกมันกลับมาได้ และเพื่อให้วัตถุประสงค์นี้เป็นจริง Wilson จึงเน้นว่า นักนิเวศวิทยา และนักชีววิทยาทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเร่งด่วน

นักชีววิทยาได้คำนวณโดยประมาณว่า ในปัจจุบันโลกมีสปีชีส์ตั้งแต่ 10 ถึง 100 ล้านสปีชีส์ แต่มีความรู้เกี่ยวกับสปีชีส์เพียง 2 ล้านสปีชีส์เท่านั้นเอง แต่ในเวลาเดียวกัน อัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ก็ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ใครจะคิด และข้อมูลที่สาบสูญไปนี้ อาจมีความสำคัญเพราะสิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์อาจมีกลไกภูมิต้านทานที่ดี จึงสามารถมีชีวิตรอดได้ ดังนั้น ถ้ามีการสกัดยาภูมิต้านทานได้ มนุษย์ก็อาจมีเภสัชภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคนานาชนิด หรือใช้ในการสร้างพืชที่ไม่มีวัชพืชหรือแมลงมารบกวนก็ได้
กับด้วงกว่างเฮอร์คิวลิส
ในช่วงปี 1970-1980 Wilson ได้เสนอทฤษฎีชีวสังคมวิทยา (Sociobiology) ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ายิ่งใหญ่และสำคัญมาก หลักการสำคัญของทฤษฎีมีว่า พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตมีพื้นฐานทางพันธุกรรม คือขึ้นกับยีน ซึ่งเปลี่ยนไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เช่น คนเราไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยได้ เพราะยีนของคนๆ นั้นไม่เปลี่ยน สำหรับเรื่องพฤติกรรมร่วมมือระหว่างสมาชิกในสังคมก็เช่นกัน Wilson เชื่อว่าเกิดขึ้นเพื่อจะทำให้โอกาสที่ยีนของสมาชิกจะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานมีค่ามากขึ้น

แม้ Wilson จะสร้างทฤษฎี Sociobiology โดยใช้มดเป็นกรณีศึกษา แต่เขาก็สรุปว่า พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดซึ่งรวมถึงคนด้วยขึ้นกับยีน

เมื่อตำรา Sociobiology ปรากฏในบรรณโลก Wilson ถูกโจมตีและถูกติเตียนโดยนักวิชาการและบุคคลในหลายวงการซึ่งได้กล่าวหาว่า เขาเป็นคนชอบเหยียดผิว ชอบดูถูกสตรี และเวลาปราศรัยเรื่องนี้เขาเคยถูกคนดูสาดน้ำ แต่เมื่อถึงวันนี้ กระแสต่อต้านได้ลดลงไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีนักชีววิทยา และนักพฤติกรรมศาสตร์มากมายที่ยังพยายามค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับพฤติกรรมอยู่

ในตำรา Sociobiology: The New Synthesis ที่ตีพิมพ์ในปี 1975 Wilson ได้เขียนบรรยายว่า หน้าที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตคือ ถ่ายทอดยีนของตนสู่ลูกหลาน เพื่อยืนยันความคิดนี้ Wilson ได้อ้างวิวัฒนาการของพฤติกรรมร่วมมือโดยใช้เทคนิคสื่อสารของมดว่า มดได้ถ่ายทอดพฤติกรรมนี้ตั้งแต่มดตัวแรกถือกำเนิดในโลก ในทำนองเดียวกับที่ได้ใช้ยีนในการถ่ายทอดรูปลักษณ์ และพฤติกรรมนี้มีวิวัฒนาการที่เป็นไปตามหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้มดประสบความสำเร็จในการอยู่คู่โลกจนทุกวันนี้

ในหนังสือ From Sociobiology to Biology ที่ Wilson เขียน เขาได้ศึกษาวิวัฒนาการของพฤติกรรมมนุษย์ และพบว่า นิสัยของคนจะเป็นไปในทำนองที่เอื้อให้พ่อ-แม่สามารถถ่ายทอดยีนของพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ดี ซึ่งล้วนดำเนินไปในลักษณะที่สามารถถ่ายทอดยีนได้ หรือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกสุดที่รักได้รอดชีวิต แล้วนำยีนของพ่อ-แม่ส่งต่อไปถึงหลาน หรือในกรณีชายที่มีภรรยาหลายคน นั่นก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้เขาแพร่ยีนไปสู่ลูกๆ หรือในบางพื้นที่ของโลกที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งทำให้สุขภาพของเด็กในพื้นที่ไม่ดี ดังนั้นการที่หญิงคนหนึ่งจะแต่งงานกับผู้ชายที่มีภรรยาหลายคนก็เป็นเรื่องดี เพราะผู้หญิงคนนั้นจะมีลูกจำนวนน้อยลง แล้วโอกาสรอดชีวิตของลูกของเธอก็จะมีมากขึ้น

แม้จะถูกนักวิชาการต่อต้านมาก แต่ Wilson ก็ไม่ยอมถอย เขาเชื่อมั่นมากว่า สิ่งที่เขาพบมีคุณค่า และถูกต้อง จึงเดินทางไปปรากฏตัว รวมถึงเขียนบรรยายลงในหนังสือพิมพ์ และออกในโทรทัศน์ อีกทั้งยังได้เขียนหนังสือเรื่อง “On Human Nature” ขึ้นมาเพื่ออธิบายทฤษฎีของเขาต่อประชาชนทั่วไป หนังสือเล่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนทำให้ Wilson ได้รับรางวัล Pulitzer ประจำปี 1979 เป็นครั้งแรก ในหนังสือเล่มนี้ Wilson ได้ยกตัวอย่างความกลัวของคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดเช่น บางคนกลัวความมืดและบางคนกลัวความสูง หนังสือยังกล่าวถึงการแสดงออกของอารมณ์บนใบหน้าที่ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อการอยู่รอดของคนๆ นั้น

หลังจากที่ได้ออกหนังสือเรื่อง Genes, Mind, and Culture: The Coevolutionary Process ในปี 1981 และหนังสือเรื่อง Promethean Fire: Reflections on the Origin of the Mind ในปี 1983 แล้ว Wilson ได้ขอถอนตัวจากการโต้วาทีกับฝ่ายตรงข้ามเรื่อง Sociobiology เพราะคิดว่าได้นำเสนอหลักฐานอย่างพอเพียงแล้ว และยืนยันว่าทฤษฎีของเขาถูกต้องจนไม่มีอะไรต้องโต้เถียงอีกต่อไป

ในปี 1990 Wilson ได้รับรางวัล Crafoord จาก Royal Swedish Academy of Sciences ด้านนิเวศวิทยา ซึ่งมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ารางวัลโนเบล และอีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้รับรางวัล Pulitzer เป็นครั้งที่สองร่วมกับ Bert Hölldobler จากผลงานเขียนหนังสือชื่อ The Ants ซึ่งเป็นตำราที่ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับมดที่ Wilson ได้ทำมาตลอดชีวิต หนังสือเล่มนี้หนากว่า 1,000 หน้า และหนักจน Wilson เตือนว่าถ้าทิ้งให้ตกจากที่สูง หากไปกระทบศีรษะใคร หนังสือจะสามารถฆ่าคนๆ นั้นได้

Wilson จึงแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ตรงที่ว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปจะแคบลงๆ แต่ Wilson กลับสนใจกว้างขึ้นๆ ในหนังสือ Consilience: The Unity of Knowledge ที่ตีพิมพ์ในปี 1998 Wilson ได้เขียนว่าวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต้องสัมพันธ์กัน เพราะวิทยาศาสตร์ต้องอธิบายให้ได้ว่า กิจกรรมที่มนุษย์กระทำไม่ว่าจะเป็นด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยาหรือเศรษฐศาสตร์มีสาเหตุมาจากชีววิทยา

คำ Consilience ที่ Wilson ใช้จึงหมายถึงการผนึกความรู้หลายสาขาเข้าเป็นหนึ่งเดียวและมีคำอธิบายที่เป็นเอกภาพ สำหรับในส่วนของวิทยาศาสตร์นั้น Wilson อ้างว่าได้ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น วิชาแพทยศาสตร์ต้องใช้ความรู้ด้านชีววิทยาโมเลกุล ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธุศาสตร์ และกฎพันธุศาสตร์ก็เป็นไปตามกฎฟิสิกส์ ดังนั้น Wilson จึงย้ำว่ามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็ควรสามารถอธิบายได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

โดยทั่วไป Wilson เป็นคนที่รักและเข้าใจธรรมชาติมาก ดังมีโครงการหนึ่งที่ Wilson ได้ทุ่มเทชีวิตดำเนินการมาเป็นเวลานานร่วม 40 ปี แล้ว นั่นคือ โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายในธรรมชาติ อนึ่งในการทำโครงการนี้ Wilson ได้สร้างคำใหม่ว่า biodiversity จาก biological diversity ที่แปลว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ซึ่งขึ้นกับองค์ประกอบของยีนหรือจำนวนสปีชีส์ในแต่ละบริเวณ ดังนั้นในภาพรวม ความหลากหลายทางชีวภาพจึงหมายถึงชีวิตบนโลก

Wilson ได้ชี้ให้เห็นว่าการอยู่รอดของมนุษย์ขึ้นกับการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นมนุษย์จึงควรอนุรักษ์ธรรมชาติในโลกให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา

Wilson ย้ำว่า เด็กทุกคนอาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จได้ ถ้าได้พบวิชาหรือสิ่งที่ตนรัก เช่น มด นก ต้นไม้ หรือแบคทีเรีย ฯลฯ และถ้าพบแล้วก็ควรทุ่มเทศึกษาจนรู้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นให้ความรู้อะไรแก่มนุษย์บ้าง สำหรับ Wilson เอง เขาเลือกศึกษามด

ผลงานของ Wilson มีมากมาย เช่น หนังสือกว่า 30 เล่ม บทความวิจัยกว่า 400 เรื่อง คุมวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับปริญญา 30 คน ให้กำเนิดวิทยาการ biogeography และ sociobiology ได้รับรางวัล Pulitzer 2 ครั้ง รวมถึงรางวัลระดับนานาชาติอีกมากมาย ในปี 1995 นิตยสาร Time ได้ยกย่อง Wilson เป็นหนึ่งในยี่สิบห้าคนอเมริกันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ในปี 2000 นิตยสาร Audubon ได้ยกย่อง Wilson เป็นนักนิเวศวิทยาชั้นนำหนึ่งในร้อยคนของโลก

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น