ข่าวการค้นพบช้างป่าที่คาดว่าจะเป็น “ช้างเผือก” ที่ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งกลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมา
ช้างตัวนี้ถูกบันทึกภาพไว้ได้โดย นายอภิชาต พวงน้อย ช่างภาพหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี ที่สามารถบันทึกภาพช้างป่าขนาดเล็กอายุประมาณ 3-4 ปี มีสีขาวนวลอมชมพู กำลังจะลงเล่นน้ำที่ริมอ่างเก็บน้ำกะหร่างสามไว้ได้เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
การค้นพบช้าง(เผือก)ป่าตัวนี้ถือเป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญของเมืองไทย เพราะปัจจุบันช้างเผือกหาในเมืองไทยได้ยากเต็มที อีกทั้งหากช้างป่าตัวนี้ ตรงตามตำราคชลักษณ์ ก็จะได้รับการน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทางผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไปทางสำนักงานเลขาธิการพระราชวังเพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาตรวจสอบเพื่อความชัดเจนของช้างป่าตัวนี้
สำหรับช้างเผือกมีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่ต้องการ และทำไมจึงต้องให้ทางสำนักงานเลขาธิการพระราชวังมาตรวจสอบ อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย นั่นก็เพราะช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลแห่งการบำเพ็ญบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะช้างเผือกที่ถือเป็นสัตว์หายาก และมีลักษณะต่างจากช้างธรรมดาทั่วไป คือมีสีผิว นัยน์ตา และเล็บขาว แม้ภาวะผิวเผือกนั้นจะเป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่มีมาแต่กำเนิดที่ทำให้บางส่วนหรือทั้งหมดของร่างกายขาดเม็ดสีหรือเมลานิน ทำให้บริเวณนั้นเป็นสีออกขาวแทนสีปกติ แต่ช้างเผือกกลับถือเป็นสัตว์มงคล ให้คุณแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ
ในเมืองไทยเราถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บุญของพระราชา ถือเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ หากใครพบเจอช้างเผือกหรือช้างที่มีลักษณะดีที่ใดจะต้องแจ้งแก่ทางการ เพื่อตรวจสอบว่าตรงตามตำราคชลักษณ์หรือไม่ หากเป็นช้างเผือกหรือช้างสำคัญก็ต้องมอบให้แก่ทางการเพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ และประกอบพระราชพิธีรับสมโภชเป็น “ช้างต้น” ซึ่งช้างต้นที่ได้รับการสมโภชขึ้นระวางแล้วจะมียศเทียบชั้นเจ้าฟ้าเลยทีเดียว
ก่อนอื่นขออธิบายคำว่า “ช้างต้น” ซึ่งหมายความถึงช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แต่เดิมช้างต้นแบ่งเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือช้างศึกที่ใช้ออกรบ สองคือช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน และสามคือช้างเผือกที่ลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ แต่ในระยะหลัง ความต้องการใช้ช้างศึกในการสงครามลดน้อยลงเพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ มาแทน ดังนั้น ช้างต้นในยุคนี้จึงมักหมายถึงเพียงช้างเผือก
ในอดีต พระมหากษัตริย์ไทยที่มีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีมากที่สุดจนประชาชนต่างขนานนามพระองค์ว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ก็คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์องค์ที่ 15 แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงมีช้างเผือกในครอบครองถึง 7 ช้าง
แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีถึง 19 ช้างด้วยกัน (ลักษณะนามของช้างต้นและช้างสำคัญเรียกเป็นช้าง 1 ช้าง) โดยนายภาสพล กนิษฐสุต เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้นอธิบายให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลปัจจุบันมีช้างสำคัญมากถึง 19 ช้าง ซึ่งเป็นช้างเผือกและช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียง 11 ช้าง ใน 11 ช้างนั้นเป็นช้างที่สมโภชขึ้นระวางแล้ว 5 ช้างด้วยกัน และทั้ง 11 ช้าง ยืนโรงอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร 4 ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง 6 ช้าง และที่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 ช้าง
ทั้งนี้ช้างต้นที่สำคัญที่สุดก็คือช้างต้นช้างแรกในรัชกาลที่ 9 มีนามว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า" ช้างเผือกช้างนี้พบที่จังหวัดกระบี่ ขณะนี้ก็มีอายุเกือบ 60 ปีแล้ว ยืนโรงอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล
ช้างป่าที่คาดว่าจะเป็นช้างเผือกที่พบในป่าแก่งกระจานตัวดังกล่าว จึงจะต้องได้รับการตรวจพิสูจน์ว่าเป็น ช้างเผือกที่ลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ 7 ประการหรือไม่ โดยลักษณะ 7 ประการ ได้แก่ ตาสีขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว ขนหางขาว ผิวหนังสีขาวหรือสีหม้อดินเผาใหม่ และมีอัณฑโกศ (อวัยวะเพศ) สีขาวหรือสีคล้ายหม้อดินเผาใหม่
และหากมีลักษณะถูกต้องตรงตามตำราคชลักษณ์จริง ก็จะถือเป็นเรื่องมงคลของบ้านเมือง และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจของชาวเพชรบุรีอีกครั้ง หลังจากที่เมืองเพชรได้เคยถวายช้างเผือก 3 ช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเมื่อปี 2521
อย่างไรก็ดีหลังมีข่าวการค้นพบช้างป่าตัวนี้ ได้มีข่าวเชิงลึกว่ามีการเสนอราคาค่าตัวในการจับช้างป่าตัวนี้สูงถึงกว่า 6 ล้านบาท ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานต้องเพิ่มกำลังคุ้มครองช้างมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคงต้องช่วยกันดูแลช้างเผือกตัวนี้รวมถึงช้างป่าตัวอื่นๆที่ป่าแก่งกระจานอย่างเข้มงวด อย่าให้เกิดกรณีพบช้างป่าตายโดยไม่สามารถจับมือคนผิดและผู้บงการได้อย่างที่ผ่านๆมา
***********************************************************
ผู้ที่สนใจเรื่องช้างต้นและช้างสำคัญ สามารถไปหาความรู้ได้ที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น" ตั้งอยู่บริเวณข้างรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพ 10300 เปิดทำการทุกวัน ในเวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชมคนละ 5 บาท มีบริการนำชมสำหรับผู้ที่มาชมเป็นหมู่คณะ สอบถามโทร.0-2282-3336